ก้าวหน้า (พ.ศ. 2489)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
(เปลี่ยนทางจาก ก้าวหน้า (พ.ศ.2489))

ผู้เรียบเรียง ชาย ไชยชิต


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พรรคก้าวหน้า (พ.ศ. 2489)

ภายหลังนายปรีดี พนมยงค์ ได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกประมาณเดือนเศษ และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ซึ่งมีบทบัญญัติรับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง ปรากฏว่าได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือ หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ริเริ่มก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นชื่อว่า “พรรคก้าวหน้า” โดยมีกลุ่มบุคคลผู้ร่วมก่อตั้งพรรค ได้แก่ นายสุวิชช์ พันธเศรษฐ นายสอ เศรษฐบุตร พระยาสุรพันธ์เสนีย์ ดร.โชติ คุ้มพันธ์ และหม่อมราชวงศ์นิมิตมงคล นวรัตน์

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพรรคก้าวหน้าก็เพื่อที่จะรวบรวมบุคคลที่มีความคิดเห็นตรงข้ามกับคณะราษฎร เพื่อต่อต้านคณะราษฎรตามวิถีทางการเมืองต่อไป พรรคการเมืองนี้ได้รับความสนใจจากบรรดานักการเมืองทั้งหลายทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักโทษการเมืองที่เคยมีความเห็นไม่ตรงกับคณะราษฎร ซึ่งได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระภายหลังที่รัฐบาลชุดจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องพ้นตำแหน่งไปใน พ.ศ. 2487 บรรดาอดีตนักการเมืองที่ได้รับโทษทางการเมือง เมื่อได้รับการปลดปล่อยออกมา ผู้ที่มีความประสงค์ที่จะเข้าสู่เวทีการเมืองอีก จึงเข้าอาศัยการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองในสภาต่อไป

การก่อตั้งพรรคก้าวหน้าในครั้งนั้น มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่า ดูเหมือนผู้ก่อตั้งจะไม่ได้คิดดำเนินงานทางการเมืองอย่างจริงจังเท่าใดนัก หากแต่เข้าใจกันว่าประสงค์จะลองหยั่งท่าทีของนายปรีดี พนมยงค์มากกว่า เพราะในเวลานั้นได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์เป็นหัวหน้า และเป็นฝ่ายสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ กำลังรวบรวมสมาชิกดำเนินงานทางการเมืองในรูปพรรคการเมืองอยู่เงียบ ๆ ฉะนั้น เมื่อมีข่าวว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนริเริ่มจัดตั้งพรรคก้าวหน้าขึ้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ จึงได้เริ่มมีการเคลื่อนไหวด้วยการจัดตั้งพรรคการเมืองชื่อ “สหชีพ” ขึ้นอย่างเปิดเผย

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวหน้าก็ตั้งอยู่ไม่ได้นาน เพราะต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้น พรรคก้าวหน้าก็ยุบมารวมกับพรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านรัฐบาลชุดนายปรีดี พนมยงค์ กล่าวคือ เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ ดำเนินการจัดตั้งพรรคสหชีพขึ้น ทางฝ่ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคยอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับนายปรีดี พนมยงค์ และให้การสนับสนุนนายควง อภัยวงศ์ ก็เริ่มมองเห็นความจำเป็นที่ต้องมีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแข่งขันกันในสภา เช่นเดียวกับระบบพรรคการเมืองในต่างประเทศ กลุ่มบุคคลดังกล่าวซึ่งรวมถึงสมาชิกพรรคก้าวหน้า จึงได้เชิญนายควง อภัยวงศ์เข้าร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมือง โดยมอบให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และตั้งชื่อพรรคการเมืองใหม่นี้ว่า “พรรคประชาธิปัตย์” โดยทำหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้านในรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์


ที่มา

ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, กำเนิดพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2510

ประจวบ ทองอุไร, พรรคการเมืองไทย, พระนคร : สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2508