การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา พ.ศ. 2489
ผู้เรียบเรียง อารีรัตน์ วิชาช่าง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
เมื่อประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 จนถึงปีพุทธศักราช 2489 รวมเวลาถึง 14 ปีเศษ ที่อำนาจนิติบัญญัติของประเทศไทยประกอบด้วยสภาเพียงสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร จนกระทั่งเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ในหมวด 3 อำนาจนิติบัญญัติ ส่วนที่ 1 บททั่วไป มาตรา 17 บัญญัติให้รัฐสภาประกอบด้วย พฤฒสภา(พรึด-สะพา) และสภาผู้แทน โครงสร้างอำนาจนิติบัญญัติของประเทศไทยจึงมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น รวมทั้งมีการเลือกตั้งที่เรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งเดียวของประเทศไทย คือ การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา
ที่มาของการเลือกตั้งพฤฒสภา
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญ ครั้งที่ 7 สมัยที่ 2 ชุดที่ 4 เมื่อวันพฤหัสบดีที่21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง จำนวน 6 คน ประกอบด้วย พระยามานวราชเสวี นายทองเย็น หลีละเมียร พลโท หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายยล สมานนท์ และนายดิเรก ชัยนาม ได้ร่วมกันเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยมีเหตุผลว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ได้ใช้มาเป็นเวลานาน 14 ปีเศษแล้ว เหตุการณ์บ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก และการปกครองระบอบประชาธิปไตย ได้ยังความเจริญให้แก่ประเทศชาติเป็นเอนกประการ บัดนี้รู้สึกว่าประชาชนชาวไทย ต่างได้ซาบซึ้งถึงคุณประโยชน์ของการปกครองในระบอบนี้เป็นอย่างดี พยานในข้อนี้จะเห็นได้จากการสมัครรับเลือกตั้งและการเลือกผู้แทนในสมัยหลัง ๆ นี้ ประชาชนได้มีความสนใจขึ้นเป็นลำดับ ฉะนั้นจึงควรจะได้มีการสังคายนารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ของชาติไทยในขณะนี้และเพื่อให้ระบอบการปกครองประชาธิปไตย ได้เป็นไปโดยสมบูรณ์เยี่ยงอารยประเทศทั้งหลาย ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องนี้ต่อเนื่องกัน 2 คราวประชุม และเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 ที่ประชุมลงมติรับหลักการ แล้วตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง มีจำนวน 15 คน นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับเลือกเป็นประธานกรรมาธิการ และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเลขานุการกรรมาธิการการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จและลงมติในวาระที่สาม เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2489[1]
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 จึงเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 โดยมีบทบัญญัติรวมทั้งสิ้น 96 มาตรา รวมทั้งมีบทเฉพาะกาลที่สำคัญเกี่ยวข้องกับพฤฒสภาด้วย ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่เคยใช้มา คือ อำนาจนิติบัญญัติ มีสภาสองสภา ประกอบด้วย พฤฒสภา และ สภาผู้แทน ส่วนสมาชิกประเภทที่ 2 เป็นอันเลิกไป กล่าวคือ พฤฒสภา ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 80 คน ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้ง การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาให้ใช้วิธีลงคะแนนออกเสียงโดยทางอ้อมและลับ คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้เลือกตั้ง ทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา พฤฒสภามีอำนาจหน้าที่ คือ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทน และควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังกำหนดให้ประธานพฤฒสภาเป็นประธานของที่ประชุมร่วมกันของสภาทั้งสอง และให้ประธานสภาผู้แทนเป็นรองประธาน[2]
วิธีการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 กำหนดให้ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา แต่ในวาระเริ่มแรกของพฤฒสภา สมาชิกสภาผู้แทนประเภทที่ 1 ที่มีอยู่เดิมก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ (คือ สมาชิกสภาผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489) เป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาไปก่อน[3] ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับพฤฒสภา คือ พฤฒสภา ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งองค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาเป็นผู้เลือกตั้งภายในกำหนด 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ องค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ประกอบด้วยผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนที่อยู่ในวันสุดท้ายก่อนใช้รัฐธรรมนูญนี้ สำหรับวิธีการเลือกตั้งให้องค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภากำหนดขึ้น สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนเป็นที่ทำการขององค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ที่ประชุมแห่งองค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ได้ลงมีมติตั้ง นายแนบ พหลโยธิน เป็นประธานองค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา นายเจริญ ปัณฑโร เป็นเลขาธิการองค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา[4] นอกจากนั้นที่ประชุมแห่งองค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาได้ลงมติตั้งกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามความในประกาศวิธีการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ขึ้น 2 คณะ คือ 1. กรรมการวินิจฉัยการคัดค้านการรับสมัครและการคัดค้านการเลือกตั้งมีจำนวน 5 คน 2.กรรมการตรวจคะแนน มีจำนวน 9 คน[5] และได้มีประกาศวิธีการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489[6] ซึ่งกำหนดวิธีการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ดังนี้ ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องยื่นใบสมัครต่อเลขาธิการองค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ภายในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ให้ทำการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ณ สำนักงานเลขาธิการองค์การเลือกตั้งตามที่ที่ได้จัดไว้ ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 นอกจากนี้ยังได้กำหนดถึงวิธีการสมัครรับเลือกตั้ง กรรมการตรวจคะแนน การลงคะแนนเลือกตั้ง การตรวจและรวมคะแนน การคัดค้านการเลือกตั้งไว้ด้วย สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 คือ ต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป และต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเคยดำรงตำแหน่งทางราชการมาแล้วไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากองหรือเทียบเท่าหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว และต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ สำหรับสมาชิกสภาพของพฤฒสภา คือ อยู่ในวาระคราวละ 6 ปี และเมื่อครบ 3 ปี ให้มีการเปลี่ยนสมาชิกกึ่งหนึ่งโดยวิธีจับสลาก แต่ผู้ที่ออกไปมีสิทธิได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาอีก สมาชิกภาพแห่งพฤฒสภาสิ้นสุดลงเมื่อ 1. ถึงคราวออกตามวาระ 2.ตาย 3. ลาออก 4. ขาดคุณสมบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา[7]
การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา
การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ทำการเลือกตั้ง ณ สำนักงานเลขาธิการองค์การเลือกตั้ง พระที่นั่งอนันตสมาคม ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ตั้งแต่เวลา 9.00 นาฬิกา ถึง 16.00 นาฬิกา ดำเนินการจัดการเลือกตั้งโดยเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีการรับสมัคร ทำบัญชีรายชื่อ กำหนดเลขหมายประจำตัวผู้สมัคร จัดนับคะแนน โดยดำเนินการทุกขั้นตอนเสมือนหนึ่งเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย สำหรับรายชื่อผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกพฤฒสภาทั้ง 80 คน มีดังต่อไปนี้
(1) พันตรี หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์
(2) เรือเอก กำลาภ กาญจนสกุล
(3) พันโท ก้าน จำนงภูมิเวท
(4) นายแก้ว สิงหะคเชนทร์
(5) พันเอก กาจ เก่งระดมยิง
(6) พล.ร.ต. กระแส ประวาหะนาวิน ศรยุทธเสนี
(7) พลโท หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต
(8) นายเขียน กาญจนพันธ์
(9) พลโท จิระ วิชิตสงคราม
(10) นายจรูญ สืบแสง
(11) นายจิตตะเสน ปัญจะ
(12) พันโท เจือ สฤษฎิราชโยธิน
(13) นายจำรัส สุวรรณชีพ
(14) นายจินดา พันธุมจินดา
(15) นายจำลอง ดาวเรือง
(16) พลโท จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
(17)นายเฉลียว ประทุมรส
(18) พันเอก หลวงชาญสงคราม
(19) พันเอก ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม
(20) หลวงชำนาญนิติเกษตร
(21) นายพันตำรวจโท ชั้น รัศมิทัต
(22) นายชาญ บุนนาค
(23) นายชุณฑ์ ปินฑานนท์
(24) พลตรี ไชย ประทีประเสน
(25) นายช่วย สุคันธมัต
(26) ร้อยโท เชย กลัญชัย
(27) นายดิเรก ชัยนาม
(28) นายเดือน บุนนาค
(29) นายไต๋ ปาณิกบุตร
(30) พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
(31) นายถวิล อุดล
(32) เรือเอก ทิพย์ ประสานสุข
(33) นายทองม้วน สถิรบุตร
(34) พันเอก ทวน วิชัยขัทคะ
(35) พันเอก เทศ กิตติรัต
(36) เรือตรี เที่ยง เฉลิมศักดิ์
(37) นายทัน พรหมมิทธิกุล
(38) นายเธียรไท อภิชาติบุตร
(39) พระยานลราชสุวัจน์
(40) พระยานิติศาสตร์ไพศาล
(41) พระยานิติการณ์ประสม
(42) นายบรรจง ศรีจรูญ
(43) นายประเสริฐ ศรีจรูญ
(44) นายปรีดี พนมยงค์
(45) นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร
(46) เรือเอก ประเสริฐ สุขสมัย
(47) พลตรี ปลดปรปักษ์ พิบูลภาณุวัฒน์
(48) พลโท ประจน มหาดิลก ประจนปัจจนึก
(49) นายปพาฬ บุญ-หลง
(50) หลวงประสิทธินรกรรม
(51) พลตรี ประยูร ภมรมนตรี
(52) นายประทุม รมยานนท์
(53) นายผูก ปาลธรรมี
(54) นายพันตำรวจเอก พระพิจารณ์พลกิจ
(55) นายพึ่ง ศรีจันทร์
(56) พลโท มังกร พรหมโยธี
(57) พระยามานวราชเสวี
(58) นายมิ่ง เลาห์เรณู
(59) พันเอก หม่อมราชวงศ์ลาภ หัสดินทร
(60) นายเล้ง ศรีสมวงศ์
(61) นายวิจิตร ลุลิตานนท์
(62) นายวิลาศ โอสถานนท์
(63) ร้อยเอก วิมล วิมลสรกิจ
(64) เรือเอก วัน รุยาพร
(65) เรืออากาศโท วิริยะ วิริยะเหิรหาว
(66)พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร
(67) พลตรี เศียร สู่ศิลป
(68) นายศิริ ชาตินันท์
(69) นายสงวน จูฑะเตมีย์
(70) พระสุธรรมวินิจฉัย
(71) พันตรี สมาน เทพหัสดิน ณ อยุธยา
(72) นายสนิท เจริญรัฐ
(73) นายสุรินทร์ ชิโนทัย
(74) นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์
(75) นายไสว อินทรประชา
(76) พันตรี สเหวก นิรันดร
(77) พันโท พระอภัยพลรบ
(78) นายเอก สุภโปฎก
(79) หลวงอรรถกัลยาณวินิจ
(80) นายอรุณ แสงสว่างวัฒนะ[8]
การสิ้นสุดของพฤฒสภา
เมื่อมีการประชุมพฤฒสภาครั้งแรกใน วันที่ 3 มิถุนายน 2489 ณ พระที่นั่งอภิเษกดุสิต ที่ประชุมได้เลือก นายวิลาศ โอสถานนท์ เป็นประธานพฤฒสภา นายไต๋ ปาณิกบุตร เป็นรองประธานพฤฒสภา[9] ต่อมานายวิลาศ โอสถานนท์ ลาออกจากตำแหน่ง เพราะได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ วันที่ 31 สิงหาคม 2489 ที่ประชุมพฤฒสภา เลือก พลเรือตรี กระแส ประวาหะนาวิน ศรยุทธเสนี เป็นประธานพฤฒสภา[10] พฤฒสภาที่ได้รับการเลือกตั้งมาชุดนี้ได้ปฏิบัติงานตั้งแต่ วันที่ 24 พฤษภาคม 2489 ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เนื่องจากเกิดการรัฐประหารนำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 คำว่า พฤฒสภา จึงเปลี่ยนเป็น วุฒิสภา และใช้ต่อมาจวบจนปัจจุบัน โดยไม่มีการนำกลับมาใช้อีกเลย
อ้างอิง
- ↑ ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (พ.ศ. 2475-2517). กรุงเทพฯ : ช.ชุมนุมช่าง, 2517. หน้า 502.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 63 ตอนที่ 30 วันที่ 10 พฤษภาคม 2489. หน้า 79.
- ↑ กลุ่มงานพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. พฤฒิสภา. [ออนไลน์] แหล่งที่มา http://library2.parliament.go.th/museum/know.html. (15 กันยายน 2552).
- ↑ ประกาศองค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ เรื่อง ตั้งประธานองค์การเลือกตั้งและเลขาธิการองค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา. ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 63 ตอนที่ 33 ง วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2489. หน้า 690.
- ↑ ประกาศองค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เรื่อง ตั้งกรรมการวินิจฉัยการคัดค้านการรับสมัครและการคัดค้านการเลือกตั้งกับกรรม การตรวจคะแนน. ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 63 ตอนที่ 33 ง 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2489. หน้า 691.
- ↑ ประกาศวิธีการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาตามบทฉะเพาะกาลของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489. ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 30 ตอนที่ 33 ง วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 หน้า 359.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 . ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 63 ตอนที่ 30 วันที่ 10 พฤษภาคม 2489. หน้า 65.
- ↑ ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (พ.ศ. 2475-2517). กรุงเทพฯ : ช.ชุมนุมช่าง, 2517. หน้า 528.
- ↑ ประกาศตั้งประธานและรองประธานพฤฒสภา. ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 63 ตอนที่ 40 วันที่ 10 มิถุนายน 2489. หน้า 358-359.
- ↑ ประกาศตั้งประธานพฤฒสภา. ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 63 ตอนที่ 58 วันที่ 3 กันยายน 2490. หน้า 454-455.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
กนก วงษ์ตระหง่าน. คู่มือการเมืองไทย 2475-2525 : ข้อมูลพื้นฐานทางการเมืองไทย . กรุงเทพฯ : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2526.
การเมือง - เพื่อนสนิท : เปิดปูมตำนานการเมืองไทย พ.ศ.2489 – ปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : สยามรัฐ, 2533.
ข้อมูลพื้นฐาน 66 ปี ประชาธิปไตยไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สถาบันนโยบายการศึกษา, 2541.
เชาวนะ ไตรมาศ. ข้อมูลพื้นฐาน 75 ปี ประชาธิปไตยไทย 2475-2550. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : 2550.
รัฐสภา. คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึกในงานสโมสรสันนิบาตสมาชิกรัฐสภา. 67 ปี สมาชิกรัฐสภาไทย พ.ศ.2475-2542. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2542.
บรรณานุกรม
คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติฯ. รัฐสภาไทยใต้ร่มพระบารมี 60 ปี ทรงครองราชย์. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2549.
ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (พ.ศ. 2475-2517). กรุงเทพฯ : ช.ชุมนุมช่าง, 2517.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 . ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 63 ตอนที่ 30 วันที่ 10 พฤษภาคม 2489.
ดูเพิ่มเติม
ข้อบังคับพฤฒสภา ว่าด้วยการลา การจ่ายเงินประจำตำแหน่ง ค่าพาหนะของสมาชิกพฤฒสภา และเบี้ยประชุมของ กรรมาธิการพฤฒสภา พ.ศ. 2490. ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 64 ตอนที่ 6 วันที่ 28 มกราคม 2490. หน้า 203.
ข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของพฤฒสภา พ.ศ. 2490. ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 64 ตอนที่ 4 วันที่ 21 มกราคม 2490. หน้า 141.
ข้อบังคับ การแต่งกายสมาชิกพฤฒสภา ออกตามความ ในพระราชบัญญัติเครื่องแบบสมาชิกพฤฒสภาและสมาชิกสภาผู้แทน พ.ศ. 2490. ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 64 ตอนที่ 3 วันที่ 14 มกราคม 2490. หน้า 130.
ข้อบังคับการแต่งกายสมาชิกสภาผู้แทนออกตามความ ในพระราชบัญญัติเครื่องแบบสมาชิกพฤฒสภาและสมาชิก สภาผู้แทน พุทธศักราช 2490. ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 64 ตอนที่ 2 วันที่ 7 มกราคม 2490. หน้า 26.