การเลือกตั้งระบบผสม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


การเลือกตั้งระบบผสม

การเลือกตั้งระบบผสม (Mixed Electoral Systems) เป็นการใช้ระบบเลือกตั้งสองระบบพร้อมกันในการเลือกตั้งครั้งเดียวกัน ระบบเลือกตั้งแบบผสมสามารถใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนพร้อมกับระบบเสียงข้างมากธรรมดา หรือแบบสัดส่วนพร้อมกับระบบเสียงข้างมากเด็ดขาดก็ได้ บางประเทศให้มีผู้แทนทั้งสองประเภทในจำนวนเท่าๆ กัน แต่มีบางประเทศกำหนดให้ผู้แทนประเภทหนึ่งมากกว่าอีกประเภทหนึ่ง


ประวัติความเป็นมาของการเลือกตั้งระบบผสม

เยอรมนีตะวันตกเป็นประเทศแรกที่ใช้ในระบบการเลือกตั้งแบบผสม โดยเป็นการกำหนดให้ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากรอบเดียวกับระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนตามระบบดองต์ อย่างละจำนวนครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ผู้ออกเสียงลงคะแนนหนึ่งคนจะมีสิทธิเลือกตัวแทนทั้งสองระบบ วัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อมิให้มีพรรคการเมืองขนาดเล็กมากเกินไป โดยกฎหมายการเลือกตั้ง ค.ศ. 1956 กำหนดให้พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตามระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนผู้ออกเสียงลงคะแนนที่เป็นบัตรดีทั้งหมด เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาล ผลกระทบที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การเป็นกลไกลสำคัญในการรักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในกรณีของเยอรมนีทั้งนี้เนื่องจากพรรคนาซีใหม่ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาสุดได้รับคะแนนนิยมในระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนไม่ถึงร้อยละห้าของจำนวนผู้ออกเสียงลงคะแนนที่เป็นบัตรดีทั้งหมดในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 1969

การแบ่งประเภทของการเลือกตั้งระบบผสม

(1) แบบผสมการแบ่งเขตกับสัดส่วน (Mixed Member Proportional หรือ MMP) หมายถึง ระบบที่การจัดสรรผู้ชนะในเขตเลือกตั้งจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองได้รับจากระบบบัญชีรายชื่อในเขตนั้น โดยคะแนนจากบัญชีรายชื่อของพรรคจะถูกนำไปชดเชย ให้สัดส่วนที่เสียไปของพรรคการเมืองนั้นในระดับเขต เช่น หากพรรคการเมืองหนึ่งได้รับคะแนนเสียงจากระบบบัญชีรายชื่อร้อยละ 15 แต่ไม่ได้รับที่นั่งจากการเลือกตั้งในระบบเขตเลย พรรคการเมืองนั้นก็จะได้รับการชดเชยในระบบบัญชีรายชื่อให้มีตัวแทนเท่ากับร้อยละ 15 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเทศที่ใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้ เช่น นิวซีแลนด์ เยอรมัน และอิตาลี

(2) แบบคู่ขนานระหว่างการแบ่งเขตและสัดส่วน ในระบบนี้การจัดสรรที่นั่งของผู้สมัครในระบบเขตเลือกตั้งและระบบสัดส่วนจากบัญชีรายชื่อของพรรค จะเป็นอิสระจากกัน โดยไม่นำคะแนนจากระบบเลือกตั้งสองระบบมาคิดรวมกัน และไม่มีการชดเชยคะแนนเพื่อให้ที่นั่งที่พรรคการเมืองได้รับสะท้อนสัดส่วนคะแนนที่แท้จริงของพรรคการเมืองจากระบบบัญชีรายชื่อ ระบบนี้พบได้ในญี่ปุ่น และไทย เป็นต้น ทั้งนี้ระบบคู่ขนานระหว่างการแบ่งเขตและสัดส่วน ได้รับความนิยมมากกว่าระบบผสมเขตและสัดส่วน เนื่องจากมีความสลับซับซ้อนน้อยกว่า และง่ายต่อการทำความเข้าใจของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ภายใต้ระบบผสมการแบ่งเขตกับสัดส่วนจะทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กมีโอกาสได้ที่นั่งมากขึ้น

ข้อสังเกตของการเลือกตั้งระบบผสม

- มีการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบผสมประมาณ 1 ใน 10 ของประเทศที่มีการเลือกตั้ง

- มีผลดีในการสร้างความยุติธรรมให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมือง โดยจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับทุกพรรคการเมือง

- มีข้อจำกัดในแง่ของการตัดสินผลการเลือกตั้ง ที่มีความซับซ้อนซึ่งอาจนำไปสู่ข้อจำกัดเรื่องของประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการเลือกตั้งในที่สุด

การเลือกตั้งแบบผสมในประเทศไทย

ประเทศไทย ได้มีการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบผสม ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นับตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา กล่าวคือ ได้จำแนกการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ออกเป็น 2 กลุ่ม

(1) ส.ส. แบบแบ่งเขต (400 คน จาก 400 เขตเลือกตั้ง) โดยกำหนดเขตเลือกตั้งให้ในหนึ่งจังหวัดมี 1 -17 เขต ยกเว้นกรุงเทพมหานคร มี 37 เขต ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนเสียงเลือกผู้สมัครได้ 1 คน โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง

(2) ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (100 คน ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนเสียงเลือกได้ 1 พรรคการเมือง โดยบัญชีรายชื่อต้องได้คะแนนขั้นต่ำ ร้อยละ 5 ของคะแนนรวมทั้งประเทศ

ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ยังคงลักษณะระบบการเลือกตั้งแบบผสมไว้ โดยกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 480 คน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจำนวน 400 คน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนจำนวน 80 คน รายละเอียดดังนี้

(1) ส.ส. แบบเบ่งเขต (400 คน จาก 76 จังหวัด) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้สมัครได้เท่ากับจำนวน ส.ส. ที่จะพึงมีได้ในแต่ละเขตเลือกตั้ง โดยการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น กระทำโดยนำจำนวน ส.ส. 400 คน ไปหารจำนวนประชากรตามที่สำนักทะเบียนกลางประกาศเพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ยประชากรต่อ ส.ส. 1 คน แล้วนำไปคำนวณจำนวน ส.ส. ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี โดยจังหวัดที่มี ส.ส. ได้ไม่เกิน 3 คน ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งและจังหวัดที่มี ส.ส.ได้มากกว่า 3 คน ให้แบ่งเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งโดยแต่ละเขตจะมี ส.ส.ได้ไม่เกิน 3 คน กรณีแบ่งเขตเลือกตั้งให้มี ส.ส. ครบ 3 คน ให้แบ่งเขตเลือกตั้งไม่ได้ ให้แบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละเขตมี ส.ส.เขตเลือกตั้งละ 3 คนก่อนและเขตเลือกตั้งที่เหลือต้องมี ส.ส. ไม่น้อยกว่า 2 คน

(2) ส.ส. แบบสัดส่วน (80 คน จาก 8 กลุ่มจังหวัด) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองจัดทำได้เพียงหนึ่งบัญชีรายชื่อเท่านั้น และการกำหนดเขตเลือกตั้งแบบสัดส่วน โดยแบ่งบัญชีราชชื่อของแค่ละพรรคการเมืองออกเป็นกลุ่มจังหวัด จำนวน 8 กลุ่ม ๆ ละ 10 คน

ที่มา

โคทม อารียา.สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่อง ระบบการเลือกตั้ง.กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2544 หน้า 18

ธโสธร ตู้ทองคำ,”หน่วยที่ 8 กระบวนการเลือกตั้ง” ใน เอกสารการสอนชุดวิชา สถาบันและกระบวนการทางการเมืองไทย หน่วยที่ 1-8.สาขาวิชารัฐศาสตร์ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,2548 หน้า 553 และ 566.

“ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2550” มติชน ( 3 พฤศจิกายน 2550) หน้า 22.

สิริพรรณ นกสวน, “การเลือกตั้งและระบบเลือกตั้ง” ใน เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา และ ม.ร.ว. พฤทธิสาน ชุมพล (บรรณาธิการ). คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย (Concepts in contemporary political science). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550 หน้า 107.