การเมืองภาคพลเมือง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ดร.ถวิลวดี บุรีกุล


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ. นรนิติ เศรษฐบุตร


การเมืองภาคพลเมือง (civil politics)

การเมืองภาคพลเมือง เป็นการเมืองหรือสถานการณ์ที่ประชาชนได้รับสิทธิและเสรีภาพในการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางนโยบาย มีการกระจายอำนาจให้ประชาชนสามารถกำหนดวิถีชีวิตของตนเองโดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยกิจกรรมใดทางนโยบายที่อาจเกิดผลกระทบต่อประชาชน ประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มแรก และประชาชนสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆทางการเมืองได้ด้วยตนเอง

ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้มีเจตนารมณ์สำคัญในการเปลี่ยนการเมืองของนักการเมืองเป็นการเมืองของพลเมืองโดยส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ประชาชนมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครอง เป็นการเมืองภาคพลเมืองที่ควบคู่ไปกับการเมืองของนักการเมือง (politician politics) โดยการส่งเสริมการเมืองภาคพลเมืองให้มีประสิทธิผล ต้องมีการสนับสนุนการติดตามและตรวจสอบกระบวนการปฏิรูปการเมือง การเกิดองค์กรประชาชน การรณรงค์เพื่อการเรียนรู้ประชาธิปไตยของประชาชน การสร้างสำนึกพลเมือง เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้งและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทั้งนี้ ต้องมีการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมเช่นกฎหมายที่ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนหรือการเมืองภาคพลเมืองเพื่อให้ประชาชนสามารถทำกิจกรรมการเมืองภาคพลเมืองได้อย่างเต็มที่ เข้มแข็ง ต่อเนื่อง อิสระ มีต้นทุนต่ำ และไม่เป็นภาระแก่ตนเองมากเกินจำเป็น