การถวายคืนพระราชอำนาจ
เรียบเรียงโดย : ดร.ชาติชาย มุกสง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
การถวายคืนพระราชอำนาจ
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของชาติมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่เก่าแก่ที่สุดประเทศหนึ่งของโลก สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยจึงเป็นสถาบันที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาโดยตลอดและเป็นสถาบันที่เก่าแก่ที่สุดยิ่งกว่าสถาบันใดๆ ภายหลังจากที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทยใน พ.ศ. 2475 พระมหากษัตริย์ได้ทรงลดบทบาทจากเดิมที่ทรงมีพระราชอำนาจอย่างกว้างขวางในการบริหารราชการแผ่นดินโดยพระองค์เอง มาทรงใช้พระราชอำนาจดังกล่าวผ่านทางฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ภายในกรอบของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จึงอาจทำให้เข้าใจได้ว่าพระมหากษัตริย์ของไทยนั้นไม่ทรงมีบทบาทใดๆ ในการบริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไป ความเข้าใจดังกล่าวนั้นอาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะหากได้มีการศึกษาอย่างถ่องแท้แล้วจะพบว่าบทบาทและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ของไทยในการบริหารราชการแผ่นดินนั้นมิได้หายไปแต่อย่างใด[1]
อาจกล่าวได้ว่า พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยส่วนใหญ่จะทรงใช้ผ่านฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นที่พึงสังเกตได้ว่า พระราชอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการบัญญัติไว้แต่เพียงบางส่วนเท่านั้น พระราชอำนาจที่มีอยู่แต่เดิมของพระมหากษัตริย์มิได้สูญหายไปเสียทั้งหมด เพียงแต่จะมีเหลืออยู่มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับว่า พระราชอำนาจนั้นสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ และการใช้พระราชอำนาจดังกล่าวขององค์พระมหากษัตริย์จะทรงใช้ได้มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับพระบรมเดชานุภาพของแต่ละองค์พระมหากษัตริย์ หากพระราชอำนาจใดมีลักษณะที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยก็เป็นอันยกเลิกเพิกถอนไปโดยปริยาย ซึ่งพระราชอำนาจในส่วนนี้ เรียกได้ว่าเป็นพระราชอำนาจดั้งเดิมของพระมหากษัตริย์ที่ทรงใช้โดยพระบรมเดชานุภาพ (Royal Charisma) ดังเช่น พระราชอำนาจในการพิจารณาฎีการ้องทุกข์ พระราชอำนาจที่ปรากฏให้เห็นได้เด่นชัดจากพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่_9 อันได้แก่ พระราชอำนาจที่ทรงใช้ในโครงการอันเนื่องพระราชดำริต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชอำนาจดั้งเดิมที่ทรงใช้ในสภาวะวิกฤตของชาติ ดังเช่นกรณีของ วิกฤตการณ์เดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 และวิกฤตการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 เป็นต้น [2]
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาตามทฤษฎีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งอาศัยกรณีของประเทศอังกฤษเป็นแบบอย่างแล้ว พบว่าพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญมีได้ทั้งส่วนที่เป็นพระราชอำนาจอันได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว และพระราชอำนาจในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเกิดจากธรรมเนียมปฏิบัติหรือจารีตประเพณีอีกเป็นจำนวนมิใช่น้อย พระราชอำนาจข้อที่สำคัญที่สุด เห็นจะได้แก่ พระราชอำนาจที่ทรงจะได้รับคำกราบบังคมทูลและการปรึกษาหารือจากรัฐบาล ซึ่งในกรณีของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงใช้พระราชอำนาจข้อนี้ตามครรลองประชาธิปไตยทุกครั้งที่รัฐบาลกราบบังคมทูลขอพระราชทาน หรือในโอกาสที่ทรงพิจารณาเห็นสมควร [3]
แนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทย
จากบทบัญญัติที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้” บทบัญญัติในลักษณะเช่นนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยทุกฉบับ แสดงให้เห็นถึงฐานะของพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยว่า ทรงดำรงอยู่ในฐานะสูงสุดของประเทศและเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนเสมอมา ผู้ใดจะทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทมิได้[4]
อาจจะกล่าวโดยสรุปได้ว่า ประเทศไทยได้มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาตั้งแต่โบราณกาล คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจแต่เพียงพระองค์เดียว การปกครองเป็นไปตามแบบประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมา พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงใช้อำนาจสูงสุดอย่างเด็ดขาด มิได้มีการแบ่งแยกออกใช้ต่างหากจากกัน (นอกจากที่พระมหากษัตริย์จะได้ทรงมอบหมายให้อำนาจไว้) กล่าวอีกนัยหนึ่งไม่มีบทลายลักษณ์อักษร ณ ที่ใด แสดงขอบเขตแห่งอำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้ในการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระบรมเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเป็นที่ล้นพ้น ไม่มีข้อกำหนดหรือบทกฎหมายใดจำกัดพระราชอำนาจ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานแจกเนื่องในงานทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว ในวันตรงกับวันเสด็จสวรรคตที่ 23 ตุลาคม 2470 มีความดังต่อไปนี้
“อนึ่ง พระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามนี้ไม่ได้มีปรากฏในกฎหมายอันหนึ่งอันใดด้วยเหตุถือว่าเป็นที่ล้นพ้น ไม่ข้อสิ่งอันใด หรือผู้ใดจะเป็นผู้บังคับขัดขวางได้ แต่เมื่อว่าตามความที่เป็นจริงแล้ว เพราะเหตุฉะนั้นข้าพเจ้าไม่มีความรังเกียจอันใดเลยซึ่งจะมีกฎหมายกำหนดพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดิน [5]
ระบอบการเมืองของประเทศไทยในสมัยที่มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ เป็นศูนย์รวมและเป็นที่มาแห่งอำนาจทุกๆ อย่างในราชอาณาจักร พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุดในด้านการปกครอง การตุลาการ และการออกกฎหมาย พระมหากษัตริย์จึงมีพระราชอำนาจเด็ดขาด เป็นทั้งเจ้าชีวิตและเจ้าแผ่นดิน กิจการและความเป็นไปทุกอย่างในราชอาณาจักร ย่อมขึ้นอยู่กับพระราชอัธยาศัยและพระราชประสงค์ ตามอุดมคติพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนพระองค์ แต่เพื่อประโยชน์ของอาณาประชาราษฎร์ทั้งหลายให้ร่มเย็นเป็นสุขทั่วราชอาณาจักร เท่ากับว่าความเจริญรุ่งเรือง หรือความเสื่อมโทรมตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับราชอาณาจักรตกเป็นพระราชภาระโดยตรงของพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ พระมหากษัตริย์ไม่อาจจะทรงปกครองบริหารราชอาณาจักรทั้งหมดด้วยพระองค์เองเพียงลำพังจึงทรงมอบหมายพระราชอำนาจส่วนหนึ่งให้บรรดาพระราชวงศ์เหล่าขุนนาง-ข้าราชการทั้งหลายปฏิบัติหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณ ขุนนาง-ข้าราชการจึงเปรียบเสมือนเป็นแขนขาของพระมหากษัตริย์ แต่พระองค์จะทรงเรียกพระราชอำนาจคืนจากบรรดาพระราชวงศ์เหล่าขุนนาง-ข้าราชการเมื่อไรก็ได้ อีกทั้งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ตัดสินนโยบาย ขุนนางมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราโชบายเท่านั้น ซึ่งเป็นการรวมศูนย์อำนาจในการสั่งการบังคับบัญชาไว้ที่องค์ พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว ขุนนางทุกฝ่ายทุกกรมกองมีหน้าที่สนองพระบรมราชโองการและรับผิดชอบในหน้าที่ราชการโดยตรงต่อพระมหากษัตริย์ [6]
พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ
ตามแนวคิดของการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบของประเทศอังกฤษ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจ 3 ประการ คือ ประการแรก ทรงมีพระราชอำนาจที่จะทรงรับการปรึกษาหารือจากรัฐบาล (The Right to be consulted) ประการที่สอง ทรงมีพระราชอำนาจที่จะสนับสนุนรัฐบาล (The Right to encourage) และประการสุดท้าย ทรงมีพระราชอำนาจที่จะทรงตักเตือน (The Right to warn) หรือกล่าวโดยย่อคือ พระราชอำนาจที่จะได้รับคำกราบบังคมทูลและการปรึกษานั่นเอง (The Right to be informed and the right to be consulted.) ประเทศไทยเราเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขก็เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในข้อนี้ แม้จะมิได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ตาม แต่ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เข้าใจตรงกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า พระราชอำนาจในเรื่องที่มีอยู่จริง และอาจกล่าวได้ว่าเป็นพระราชอำนาจส่วนที่สำคัญที่สุดในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน[7]
อย่างไรก็ดี ถ้าเราติดตามเหตุการณ์บ้านเมืองโดยปกติธรรมดา การใช้พระราชอำนาจในข้อนี้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คงไม่เด่นชัดเป็นรูปธรรมที่แจ่มแจ้งนัก ทั้งนี้ เนื่องจากตามหลักการแห่งทฤษฎีประชาธิปไตยที่แท้จริงแล้ว เมื่อใดก็ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงพระกรุณาพระราชทานคำแนะนำหรือข้อพระราชดำริอย่างใดแก่รัฐบาลแล้วก็เป็นหน้าที่ต่อไปของรัฐบาลที่จะรับพระราชดำรินั้นใส่เกล้าใส่กระหม่อมและศึกษาทบทวนดูว่าจะเป็นการสมควรเพียงใดที่จะสนองพระราชดำรินั้นกล่าวอย่างง่ายๆ ว่า การตัดสินใจขั้นสุดท้ายเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารโดยตรง เพราะเมื่อตัดสินใจอย่างใดลงไป และเกิดผลติดตามมาไม่ว่าจะเป็นผลในทางบวกหรือทางลบ ก็ควรเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลโดยแท้ เพื่อจะมิให้พระมหากษัตริย์ต้องอยู่ในฐานะที่จะทรงกระทำผิดนั่นเอง[8]
หลักการทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่ภายหลังที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา แนวความคิดในเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ได้ถูกกำหนดให้สอดคล้องกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา กล่าวคือ จากแนวคิดเดิมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เปลี่ยนแปลงมาสู่การเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งแนวคิดเกี่ยวกับพระราชอำนาจ และการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้ถูกกำหนดเป็นหลักการทั่วไปอันเป็นสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญเป็น 2 ประการ คือ
ก. หลักการที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจสูงสุด
ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญทุกฉบับนั้นพระมหากษัติริย์ทรงอำนาจสูงสุดในฐานะประมุข ดังในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติไว้ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”[9] บทบัญญัติดังกล่าวนี้เป็นลักษณะของการบัญญัติเพื่อถวายพระเกียรติในฐานะที่ทรงเปรียบเสมือนตัวแทนของชาติ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงของการเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยนั้น การใช้อำนาจอธิปไตยตามมาตราดังกล่าวข้างต้นนี้ มิใช่เป็นไปในลักษณะของการที่จะทรงใช้พระราชอำนาจทั้งสามทางดังกล่าวอย่างที่จะเป็นพระราชสิทธิเด็ดขาดของพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด แต่การใช้พระราชอำนาจได้ถูกจำกัดขอบเขตอย่างชัดเจนว่าต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
ข.หลักการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
เรื่องการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในการทำการใดๆ ของกษัตริย์ และด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในกรณีของพระมหากษัตริย์มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ เพื่อเป็นการรับรองว่าพระปรมาภิไธยที่แท้จริง และเพื่อมิให้พระมหากษัตริย์ทรงต้องรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามหลักที่สืบเนื่องมาจากหลักพระมหาบรมราชโองการนี้ เกิดขึ้นจาก “ความไม่ต้องรับผิดชอบของประมุขแห่งรัฐ” ซึ่งเป็นหลักการสำคัญส่วนหนึ่งของการปกครองโดยรัฐสภา ประมุขแห่งรัฐนี้ย่อมหมายความรวมทั้งพระมหากษัตริย์และประธานาธิบดีของสาธารณรัฐด้วย[10]
ข้อสรุปที่ดีที่สุดในเรื่องการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ก็คือคำกล่าวที่ท่านศาสตราจารย์ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้กล่าวไว้ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 15/2517 ว่า “วัตถุประสงค์ของการรับสนองพระบรมราชโองการมาประการใด ก็มาจากหลักที่ว่า The King can do no wrong หมายความว่า พระมหากษัตริย์ไม่มีการกระทำความผิดใดๆ ทั้งสิ้น ต้องมีผู้รับผิดแทนและต้องเข้าหลักถ่วงดุล เพราะฉะนั้นผู้ที่จะมารับสนองพระบรมราชโองการตามความเห็นของผม มี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหารและฝ่ายรัฐสภา ไม่ว่าเรื่องอะไรที่พระมหากษัตริย์ทำไปแล้ว ถ้าฝ่ายบริหารเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ สมาชิกรัฐสภาจะตั้งกระทู้ถามและฝ่ายบริหารจะต้องชี้แจงได้ และในขณะเดียวกันถ้าฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ลงนามรับสนองก็จะชี้แจงได้เชนกัน อันนี้มาจากหลักที่ว่า The King can do no wrong”[11]
กล่าวโดยสรุปแล้วพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์อังกฤษ และพระมหากษัตริย์ของไทยที่มีประเพณีการปกครองกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้นมีลักษณะสำคัญๆ ที่เหมือนกันคือ ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ ทรงเป็นที่มาแห่งความยุติธรรม และทรงเป็นที่มาแห่งเกียรติยศ ซึ่งในหลักการแล้วจะเหมือนกัน จะแตกต่างในส่วนของแนวคิดที่มาและรายละเอียดปลีกย่อย[12]
อำนาจพระมหากษัตริย์ในการแก้ไขวิกฤตในสังคมไทย
การถวายคืนพระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์เพื่อยุติวิกฤตความขัดแย้งรุนแรงเกิดขึ้นในห้วงปี 2547-2549 ซึ่งมีกระแสเรียกร้องให้ถวายคืนพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตามมาตรา 7 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
ดังที่ปรากฏในข้อเขียนของประมวล รุจนเสรี ผู้ออกมาเรียกร้องเรื่องนี้อย่างจริงจังว่า คนไทยทราบดีว่า ยามที่เกิดวิกฤติการณ์ใดๆ ขึ้นในบ้านเมืองเกินกว่ากำลังความสามารถที่จะใช้กลไกตามปกติของทางราชการและกฎหมายเยียวยาได้ พระมหากษัตริย์ของคนไทยจะทรงแก้ไขวิกฤติการณ์เหล่านั้นได้เสมอ[13] เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ฉบับพ.ศ. 2540) ที่กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ดูแล้วดี แต่วันนี้สร้างปัญหาทำให้เกิด การเมืองรัฐสภาที่ผูกขาด ไม่สามารถตรวจสอบได้ สร้างความวิตกห่วงใยขึ้นในหมู่คนไทยว่าจะเกิดวิกฤติการณ์รัฐธรรมนูญขึ้นอีก ในที่สุดคนไทยก็คงต้องพึ่งพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าอยู่หัวฯ ให้ทรงแก้ไขเยียวยาให้ เหมือนวิกฤติการณ์ทุกครั้งที่ผ่านมา
โดยยังอ้างว่านิติราชประเพณีทางการเมืองการปกครองของไทยมีมากมายและมีมานานช้า เป็นนิติราชประเพณีที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน ที่ยังมิได้มีนักรัฐศาสตร์ผู้ใด มหาวิทยาลัยใดหยิบยกขึ้นมาพิจารณาว่า มีนิติราชประเพณีใดบ้างที่มีสามารถนำมาใช้อย่างเหมาะสมพอดีกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 มาตรา 7 ก็กล่าวไว้ว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัตินั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นั่นก็หมายความว่า ประเพณีการปกครองเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงและต้องศึกษากำหนดให้ชัดเจน ซึ่งในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทย เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นและมีกรณีต่างๆ ที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ก็ทรงใช้นิติราชประเพณีในอดีตที่มีมาปรับใช้อย่างแนบเนียนกลายเป็นวัฒนธรรมอำนาจอย่างหนึ่ง[14]
นิติราชประเพณีทั้ง 6 ประการอันเป็นพระราชจริยวัตรอันงดงามของพระมหากษัตริย์ไทยหากนำมาพิจารณาอย่างละเอียดถ่องแท้และลึกซึ้งแล้วต้องยอมรับว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยเป็นศูนย์รวมของความคิด จิตใจ การบริหาร และการครองบ้านเมืองอย่างแท้จริง หาใช่รัฐธรรมนูญหรือสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา คณะรัฐมนตรีหรือองค์กรอิสระต่างๆ แต่อย่างใด ความเป็นศูนย์กลางของความคิด จิตใจ การบริหารและการปกครองบ้านเมืองนี้เอง ทำให้เกิดพระราชอำนาจ และได้ทรงใช้พระราชอำนาจตามนิติราชที่มิได้มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้[15]
สุดท้ายแล้วการเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจจากการเรียกว่าถวายคืนพระราชอำนาจให้ทรงแก้วิกฤตการเมืองของประเทศในครั้งนั้นไม่ได้เกิดการใช้พระราชอำนาจตามมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แต่วิกฤตการเมืองครั้งนั้นจบลงด้วยการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้ข้อเรียกร้องต่อการให้ใช้อำนาจตามประเพณีการปกครองในมาตรา 7 ที่ประชาชนจะถวายพระราชอำนาจคือให้พระมหากษัตริย์ทรงแก้วิกฤตของประเทศไม่ได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด
บรรณานุกรม
เจษฎา พรไชยา. พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ของไทยกับประเทศอังกฤษ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556.
ธงทอง จันทรางศุ. พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ: บริษัท เอส.ซี พริ้นท์แอนด์แพค จำกัด, 2537.
ประมวล รุจนเสรี. พระราชอำนาจ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: จัดพิมพ์โดยสุเมธ รุจนเสรี, 2548.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก วันที่ 6 เมษายน 2560.
[1] เจษฎา พรไชยา. พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ของไทยกับประเทศอังกฤษ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556. คำนำ.
[2] เจษฎา พรไชยา. พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ของไทยกับประเทศอังกฤษ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556. หน้า คำนำ.
[3] ธงทอง จันทรางศุ. พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ: บริษัท เอส.ซี พริ้นท์แอนด์แพค จำกัด, 2537. หน้า 13.
[4] เจษฎา พรไชยา.พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ของไทยกับประเทศอังกฤษ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556. หน้า 196.
[5] เจษฎา พรไชยา. พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ของไทยกับประเทศอังกฤษ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556. หน้า 198.
[6] เจษฎา พรไชยา. พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ของไทยกับประเทศอังกฤษ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556. หน้า 202.
[7] ธงทอง จันทรางศุ. พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ: บริษัท เอส.ซี พริ้นท์แอนด์แพค จำกัด, 2537. หน้า 74-75.
[8] ธงทอง จันทรางศุ. พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ: บริษัท เอส.ซี พริ้นท์แอนด์แพค จำกัด, 2537. หน้า 74-75.
[9] ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก วันที่ 6 เมษายน 2560. หน้า 3.
[10] เจษฎา พรไชยา. พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ของไทยกับประเทศอังกฤษ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556. หน้า 242-243.
[11] อ้างใน เจษฎา พรไชยา. พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ของไทยกับประเทศอังกฤษ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556. หน้า 247.
[12] เจษฎา พรไชยา. พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ของไทยกับประเทศอังกฤษ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556. หน้า 307.
[13] ประมวล รุจนเสรี. พระราชอำนาจ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: จัดพิมพ์โดยสุเมธ รุจนเสรี, 2548. หน้า 8.
[14] ประมวล รุจนเสรี. พระราชอำนาจ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: จัดพิมพ์โดยสุเมธ รุจนเสรี, 2548. หน้า 98.
[15] ประมวล รุจนเสรี. พระราชอำนาจ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: จัดพิมพ์โดยสุเมธ รุจนเสรี, 2548. หน้า 103-104.