กฎมณเฑียรบาล (โดม ไกรปกรณ์)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ดร.โดม ไกรปกรณ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


กฎมณเฑียรบาล

1. ความหมายและวัตถุประสงค์ของกฎมณเฑียรบาล

          กฎมณเฑียรบาลเป็นกฎหมายรูปแบบหนึ่งในระบบกฎหมายไทยตั้งแต่โบราณโดยตามรูปศัพท์แล้วคำว่า “มณเฑียร” แปลว่าเรือนหลวงหรือพระราชวังอันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ อีกทั้งยังหมายรวมถึงพระราชฐานอันเป็นอาณาบริเวณที่ประทับของพระราชวงศ์ ตลอดจนหมายถึงระเบียบการปกครองในราชสำนักด้วย ดังนั้น “มณเฑียรบาล” จึงหมายถึง การดูแลรักษาระเบียบแห่งพระราชวังและพระราชฐาน ส่วน “กฎมณเฑียรบาล” หมายถึง กฎที่กำหนดขึ้นเพื่อดูแลรักษาระเบียบแห่งพระราชวังและพระราชฐาน หรือกล่าวตามพระราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ว่า กฎมณเฑียรบาลเป็นกฎหรือระเบียบว่าด้วยการดูแลรักษา “เรือนเจ้าแผ่นดิน”[1]

          ความหมายที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่ากฎมณเฑียรบาลถูกตราขึ้นเพื่อใช้ในการดูแลรักษาระเบียบของพระราชวังและพระราชฐาน จากการศึกษาของ วรพร ภู่พงศ์พันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยา ได้ชี้ว่าการตรากฎมณเฑียรบาลมีวัตถุประสงค์หลักๆ 2 ประการคือ

  1. เพื่อรับรองและส่งเสริมสถาบันกษัตริย์ 
  2. เพื่อเป็นแนวทางให้ราษฎรและขุนนางข้าราชการ (โดยเฉพาะพวกหลัง) ปฏิบัติต่อพระมหากษัตริย์ได้อย่างถูกต้อง[2] 

          นอกจากวัตถุประสงค์ทั้ง 2 ข้อนี้แล้วนักวิชาการบางท่าน เช่น เอช.จี. ควอริช เวลส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทยสมัยโบราณได้เสนอว่า กฎมณเฑียรบาลยังเป็นเรื่องของการสืบราชสมบัติด้วยโดย เวลส์ กล่าวว่า กฎมณเฑียรบาลมีบทบัญญัติให้พระราชโอรสองค์แรกของพระอัครมเหสีเป็น “รัชทายาท”[3] แต่คำอธิบายของ เวลส์ ไม่สอดคล้องกับเนื้อความในกฎมณเฑียรบาลที่กำหนดว่า พระราชโอรสที่เกิดด้วยอัครมเหสีมีศักดิ์หรือมีตำแหน่งเป็น “สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า” ซึ่งหมายถึงตำแหน่งพระเจ้าอยู่หัวฝ่ายหน้าหรือผู้ที่มีโอกาสเป็นกษัตริย์ในอนาคต แต่ตามข้อเท็จจริงแล้วไม่ใช่ว่าพระราชโอรสของอัครมเหสีจะมีโอกาสได้เป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ และเอกสารร่วมสมัยของชาวต่างชาติที่เขียนขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 22 –ต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ส่วนใหญ่ยืนยันว่าพระอนุชาคือทายาทอันชอบธรรมในการขึ้นครองราชย์ ดังนั้นกฎมณเฑียรบาลจึงไม่น่าเขียนขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ที่การกำหนดตำแหน่งรัชทายาท[4]

2. อายุของกฎมณเฑียรบาล

          ที่ผ่านมามีนักปราชญ์และนักวิชาการหลายท่านได้อธิบายถึงความเป็นมาของกฎมณเฑียรบาลโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายว่ากฎมณเฑียรบาลตราขึ้นเมื่อจุลศักราช 720 (พ.ศ. 1901) ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนพระทัยแก้ปีกำกับศักราชในบานแผนกของกฎมณเฑียรบาลเป็นจุลศักราช 722 ให้ตรงกับปีนักษัตรที่ปรากฏในบานแผนก ขณะที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเห็นว่ากฎมณเฑียรบาลตราขึ้นเมื่อ จ.ศ. 830 (พ.ศ. 1911) ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา  ส่วนวินัย พงศ์ศรีเพียร เห็นว่ากฎมณเฑียรบาลตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่สามารถระบุให้ชัดเจนได้ว่าตราขึ้นในปีศักราชใด  ด้านไมเคิล วิกเคอรี เห็นว่ากฎมณเฑียรบาลเป็นสิ่งที่เขียนขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เพื่อใช้ในการสร้างสิทธิธรรมให้แก่การขึ้นครองราชย์ของพระองค์[5]

          การศึกษาวิเคราะห์อายุของกฎมณเฑียรบาลและพระไอยการต่างๆในกฎหมายตราสามดวงอย่างเป็นระบบมากที่สุดที่มีอยู่ในปัจจุบันได้แก่การศึกษาของมานพ ถาวรวัฒน์สกุล ซึ่งได้ตรวจสอบอายุของกฎหมายโดยวิเคราะห์ระบบศักราช ระบบพระนามของพระมหากษัตริย์ และส่วนย่อยอื่นๆที่ปรากฏในบานแผนกของพระไอยการต่างๆในกฎหมายตราสามดวง สำหรับกฎมณเฑียรบาลนี้งานศึกษาของมานพ ถาวรวัฒน์สกุล ชี้ว่าศักราชที่ถูกต้องของบานแผนกได้แก่ จุลศักราช 830 หรือ 842 ซึ่งตรงกับพ.ศ. 2012 หรือ พ.ศ. 2024 ตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ[6]

          นอกจากนี้แม้ว่ากฎมณเฑียรบาลและพระไอยการต่างๆในกฎหมายตราสามดวงจะถูกชำระในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่สาระสำคัญของกฎหมายไม่ต่างจากกฎหมายที่ใช้ในสมัยอยุธยาเท่าไรนัก เนื่องจากคณะกรรมการชำระกฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงแต่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2347 ใช้เวลาในการชำระกฎหมายไม่ถึง 11 เดือน ด้วยเวลาเพียงช่วงสั้นๆนี้คณะกรรมการชำระกฎหมายไม่สามารถสะสางกฎหมายเก่าได้บริบูรณ์ ยังมีบทกฎหมายที่ซ้ำๆกันและขัดกันอยู่ในประมวลกฎหมายตราสามดวงที่ชำระขึ้นใหม่ บทกฎหมายที่ควรจัดรวมเข้าเป็นหมวดหมู่เดียวกันยังมีที่กระจัดกระจายกันอยู่[7]  ดังนั้นหากอายุของกฎมณเฑียรบาลที่ปรากฏในบานแผนกว่าตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ขณะที่การชำระกฎหมายตราสามดวงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่สาระสำคัญของกฎมณเฑียรบาลและพระไอยการอื่นๆในกฎหมายตราสามดวงไม่ได้แตกต่างไปจากกฎหมายสมัยอยุธยาเท่าไรนัก

3. โครงสร้างและสาระของกฎมณเฑียรบาล

          กฎมณเฑียรบาลมีทั้งหมด 184 มาตรา โดยเนื้อหาสาระแบ่งออกเป็น 3 แผนกได้แก่[8]

1)พระตำรา ว่าด้วยแบบแผน ประกอบด้วย ตำราพระราชานุกิจ ซึ่งแบ่งย่อยได้อีก 2 ประเภทคือ พระราชภาระในการปกครองประเทศและพระราชกิจส่วนพระองค์

2)พระธรรมนูญว่าด้วยตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ซึ่งเป็นข้อบัญญัติเกี่ยวกับพระราชฐานและพระราชวงศ์

3)พระราชกำหนด เป็นข้อบังคับสำหรับราชสำนักว่าด้วยการปกครองภายในและการรักษาความปลอดภัย

ปรีดี พิศภูมิวิถี อาจารย์ประจำสาขาฝรั่งเศส คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งเป็นนักวิจัยในโครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ฯ ได้กำหนดโครงสร้างของกฎมณเฑียรบาลโดยพิจารณาจากขอบเขตการบังคับใช้กฎมณเฑียรบาลต่อกลุ่มบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับกฎมณเฑียรบาล 3 กลุ่มดังแผนภูมิที่ 1[9]

 

RTENOTITLEแผนภูมิที่ 1

แผนภูมิโครงสร้างรวมกฎมณเฑียรบาล


          จิราธร ชาติศิริ และพิมพ์พรรณ ลำยอง นักวิจัยในโครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกว. “กฎหมายตราสามดวง: ประมวลกฎหมายไทยในฐานะมรดกโลก” ได้กำหนดโครงสร้างของกฎมณเฑียรบาลโดยพิจารณาจากบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดองค์พระมหากษัตริย์ 2 กลุ่ม ดังแผนภูมิที่ 2 และแผนภูมิที่ 3[10]

4. พัฒนาการของกฎมณเฑียรบาล

          วิษณุ เครืองาม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายของไทยได้ชี้ว่า กฎมณเฑียรบาลมีพัฒนาการเป็น 5 ช่วงเวลาดังนี้[11]

กฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยา

  • กฎมณเฑียรบาลสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (เนื้อหาของกฎมณเฑียรบาลสมัยนี้ได้พูดถึงในตอนต้นของบทความแล้ว)

กฎมณเฑียรบาลสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

  • ประกาศต่างๆในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งส่วนใหญ่ว่าด้วยพระราชนิยมในเรื่องต่างๆอันมีพระราชประสงค์จะให้ประชาชนปฏิบัติ ประกาศบางเรื่องว่าด้วยความประพฤติของข้าราชการในราชสำนัก เช่น ประกาศ จ.ศ. 1216 ว่าด้วยเวลากราบทูลข้อราชการและกิจธุระ ประกาศ จ.ศ. 1217 ว่าด้วยห้ามมิให้เรือที่โดยเสด็จตัดกระบวน ดังนั้น ประกาศเหล่านี้จึงถือว่าเป็นกฎมณเฑียรบาลได้ทั้งสิ้น

กฎมณเฑียรบาลสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

  • พระบรมราชโองการเรื่องวิธีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและวิธีถวายบังคมที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท เมื่อคราวพระองค์ทรงบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ในพ.ศ. 2417 และในเวลาต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติขึ้นมารองรับพระบรมราชโองการเรื่องนี้ ดังนั้นพระบรมราชโองการและพระราชบัญญัติเรื่องวิธีการเข้าเฝ้าฯ จึงเป็นกฎมณเฑียรบาลอย่างหนึ่ง เรียกกันทั่วไปว่า กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่

RTENOTITLE

 

แผนภูมิที่ 3

โครงสร้างกฎมณเฑียรบาลหมวดขุนนางในราชสำนัก

RTENOTITLE


กฎมณเฑียรบาลสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

  • กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในราชสำนัก พ.ศ. 2457 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาบดี เสนาบดีกระทรวงวังรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯประกาศกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในราชสำนัก เพื่อบังคับใช้แก่ข้าราชการในราชสำนัก 12 ประเภทในเรื่องการจดทะเบียนครอบครัวและเคหสถาน การมีครอบครัวและเคหสถาน ครอบครัวของคนโสดคนหม้ายและคนไม่มีเคหสถาน รวมทั้งโทษต่างๆตั้งแต่สถานเบาจนถึงสถานหนัก เช่น ตัดออกจากราชการ ถอดจากยศบรรดาศักดิ์ โดยศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเหล่านี้คือ ศาลรับสั่งกระทรวงวัง
  • กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการค้าขายและการสมาคมแห่งข้าราชการในราชสำนัก  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาบดี เสนาบดีกระทรวงวังรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯประกาศกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการค้าขายและการสมาคมแห่งข้าราชการในราชสำนัก  เพื่อบังคับใช้แก่ข้าราชการในราชสำนัก 12 ประเภทในเรื่องการลงทุนค้าขายจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท เข้าเป็นสมาชิกสโมสรหรือร้านการเล่นต่างๆ เนื่องจากทรงเห็นว่าหากข้าราชการในราชสำนักทำการเหล่านี้โดยมิชอบจะเป็นโทษแก่ตนเอง ซ้ำยังเป็นเหตุให้พระองค์ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติ
  • พระราชกฤษฎีการว่าด้วยพระราชวงศ์และผู้มีบรรดาศักดิ์ทำลายชีพตนเอง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯให้ตราขึ้นเมื่อพ.ศ. 2458 ภายหลังจาก พ.ต. หลวงโลหะอาวุธ (ม.ร.ว.ชาย ทินกร ณ กรุงเทพ) สมุห์บัญชีกรมแสงสรรพยุทธ ซึ่งมีมลทินในข้อหาหนึ่งได้ปลิดชีพตนเองในที่คุมขัง เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบเรื่องจึงมีพระราชดำริว่า การปลงชีพตนเองไม่เป็นที่นิยมทั้งในพระพุทธศาสนาและในทางโลก จึงทรงโปรดเกล้าฯให้ตั้งพระราชกฤษฎีกานี้ขึ้นโดยระบุว่า หากผู้หนึ่งผู้ใดในราชตระกูลหรือเป็นผู้มียศบรรดาศักดิ์ถึงแก่มรณภาพด้วยการปลงชีพตนเอง ห้ามไม่ให้เจ้าพนักงานจัดเครื่องประดับเกียรติยศพระราชทานเป็นอันขาด โดยพระราชกฤษฎีกานี้เป็นกฎมณเฑียรบาลชนิดหนึ่ง
  • กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาธรรมธิกรณาบดี เสนาบดีกระทรวงวัง ประกาศกฎมณเฑียรบาลฉบับนี้เมื่อ พ.ศ. 2461  สาระสำคัญคือ กำหนดให้เจ้านายตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปเมื่อจะทำการเสกสมรสต้องนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน
  • กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯให้ตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้นเนื่องจากพระองค์ไม่มีพระราชโอรสและพระราชอนุชาร่วมพระครรภ์ก็เสด็จทิวงคตไปเป็นลำดับ จึงทรงเห็นว่าจำเป็นต้องตรากฎหมายว่าด้วยกฎเกณฑ์การสืบราชสมบัติให้ชัดเจนเพราะจะใช้กฎเกณฑ์ตามกฎมณเฑียรบาลสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถไม่ได้แล้ว ขณะที่หลักเกณฑ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ตั้งสยามมงกุฎราชกุมารจะเกิดปัญหาในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่มีพระราชโอรส

     เนื้อหาของกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ส่วนหนึ่งคือการกำหนดลำดับชั้นผู้สืบราชสันตติวงศ์ ไล่เรียงจาก

1. สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าหรือสยามมงกุฎราชกุมาร

2. พระราชโอรสองค์ใหญ่ในสยามมงกุฎราชกุมาร (ในกรณีที่สยามมงกุฎราชกุมารเสด็จทิวงคตไปก่อนจะได้ขึ้นครองราชย์) หรือพระราชโอรสองค์รองๆต่อไป (ในกรณีที่พระราชโอรสองค์ใหญ่ของสยามมงกุฎราชกุมารสิ้นพระชนม์ไปก่อน)

3. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอัครมเหสี

4. สมเด็จพระอนุชาร่วมพระราชชนนี (ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีพระราชโอรสและพระราชนัดดา)

5. พระราชโอรสของสมเด็จพระอนุชาที่ควรได้เป็นรัชทายาท (ในกรณีที่สมเด็จพระอนุชาองค์นั้นๆสิ้นพระชนม์ไปแล้ว)

6. สมเด็จพระเชษฐาหรือสมเด็จพระอนุชาต่างพระราชชนนีกับพระมหากษัตริย์หรือพระโอรสของสมเด็จพระเชษฐาหรือสมเด็จพระอนุชาองค์นั้นๆ

     นอกจากนี้กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ยังกำหนดลักษณะของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ให้ยกเว้นจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ไว้ 6 ประการคือ

1. มีพระสัญญาวิปลาส

2. ต้องราชทัณฑ์เพราะประพฤติผิดพระราชกำหนดกฎหมายในคดีมหันตโทษ

3. ไม่ทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก

4. มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว

5. เป็นผู้ถูกถอนออกแล้วจากตำแหน่งรัชทายาท ไม่ว่าการถูกถอนนี้จะเป็นไปในรัชกาลใดๆ

6. เป็นผู้ที่ได้ถูกประกาศยกเว้นออกจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์

 

กฎมณเฑียรบาลสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

  • กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2475

     ภายหลังคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภว่ากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตราขึ้นควรเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมแก่ยุคสมัย สภาผู้แทนราษฎรขณะนั้นและรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเห็นชอบด้วยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีการประกาศกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการสมรสของพระราชวงศ์ โดยเนื้อหาสำคัญที่เพิ่มเติมอยู่ในมาตราที่ 3 มาตราที่ 4 และมาตราที่ 5 กล่าวคือ

     มาตรา 3 กำหนดให้พระราชวงศ์ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป ถ้าจะสมรสกับผู้ใดต้องนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน

     มาตรา 4 เจ้าหญิงองค์ใดถ้าจะทำการสมรสกับผู้อื่นซึ่งไม่ใช่เจ้านายในพระราชวงศ์ เจ้าหญิงองค์นั้นจะต้องกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรแห่งพระราชวงศ์ก่อน เนื่องจากการสมรสกับผู้ที่ไม่ใช่พระราชวงศ์ถือเป็นการอันไม่ถูกต้องตามพระราชประเพณีนิยม

     มาตรา 5 ถ้าพระราชวงศ์องค์ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรา 3 และมาตรา 4 ให้ถอดออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์

     กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2475 เป็นกฎมณเฑียรบาลฉบับเดียวที่ตราขึ้นสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยยังคงใช้คำว่า “กฎมณเฑียรบาล” หลังจากกฎมณเฑียรบาลฉบับนี้แล้วได้มีการปรับปรุงระบบการบริหารราชการส่วนกระทรวง ทบวง กรม ทำให้มีการยกเลิกอำนาจการพิจารณาคดีของกระทรวงวัง กฎมณเฑียรบาลในส่วนของความผิดและโทษจึงถูกยกเลิกไป สำหรับกฎมณเฑียรบาลในส่วนที่เป็นประเพณีตามพระราชนิยมยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมา

 

บรรณานุกรม

จิราธร ชาติศิริ และพิมพ์พรรณ ลำยอง. “แผนภูมิโครงสร้างกฎมณเฑียรบาล”. ใน วินัย พงศ์ศรีเพียร (บรรณาธิการ). กฎมณเฑียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ผลงานวิจัย, หน้า 291-320.

ปรีดี พิศภูมิวิถี. “กฎมณเฑียรบาล: ความสำคัญ โครงสร้าง และเนื้อหา”. ใน วินัย พงศ์ศรีเพียร (บรรณาธิการ), กฎมณเฑียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ผลงานวิจัย, หน้า 259-290. กรุงเทพฯ: โครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกว. “กฎหมายตราสามดวง: ประมวลกฎหมายไทยในฐานะมรดกโลก”. 2548.

มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. “ขุนนางกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการปกครองในสมัยอยุธยา”. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529.

แลงกาต์,ร. ประวัติศาสตร์กฎหมายเล่ม 1. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2526.

วรพร ภู่พงศ์พันธุ์. สถาบันกษัตริย์ในกฎมณเฑียรบาล.  นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555

วิษณุ เครืองาม.  กฎมณเฑียรบาลในระบบกฎหมายไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2553.

วีระยุทธ ปีสาลี. “บันทึกรักท่านหญิง: ความรักและการแต่งงานของเจ้าหน้าที่สตรีหลัง พ.ศ. 2475”. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 37 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2559): 74-101.

เวลส์, ควอริช. การปกครองและการบริหารของไทยสมัยโบราณ. กาญจนี ละอองศรี และยุพา ชุมจันทร์ (แปล).กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2527.

 

อ้างอิง

[1] วิษณุ เครืองาม, กฎมณเฑียรบาลในระบบกฎหมายไทย, กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2553, หน้า 6.

[2] วรพร ภู่พงศ์พันธุ์, สถาบันกษัตริย์ในกฎมณเฑียรบาล, นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555, หน้า 17-18.

[3] ควอริช เวลส์, การปกครองและการบริหารของไทยสมัยโบราณ, กาญจนี ละอองศรี และยุพา ชุมจันทร์ (แปล), กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2527, หน้า 20.

[4] วรพร ภู่พงศ์พันธุ์, สถาบันกษัตริย์ในกฎมณเฑียรบาล, หน้า 18.

[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 7-9.

[6] มานพ ถาวรวัฒน์สกุล, “ขุนนางกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการปกครองในสมัยอยุธยา,” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529, หน้า 353-373.

[7] ร. แลงกาต์, ประวัติศาสตร์กฎหมายเล่ม 1, กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2526, หน้า 22.

[8] ปรีดี พิศภูมิวิถี, “กฎมณเฑียรบาล: ความสำคัญ โครงสร้าง และเนื้อหา,” ใน วินัย พงศ์ศรีเพียร (บรรณาธิการ), กฎมณเฑียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ผลงานวิจัย, กรุงเทพฯ: โครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกว. “กฎหมายตราสามดวง: ประมวลกฎหมายไทยในฐานะมรดกโลก”, 2548, หน้า 274.

[9] เรื่องเดียวกัน, หน้า 276-277.

[10] จิราธร ชาติศิริ และพิมพ์พรรณ ลำยอง, “แผนภูมิโครงสร้างกฎมณเฑียรบาล,” ใน วินัย พงศ์ศรีเพียร (บรรณาธิการ), กฎมณเฑียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ผลงานวิจัย, หน้า 305, 312

[11] วิษณุ เครืองาม, กฎมณเฑียรบาลในระบบกฎหมายไทย, หน้า 37-46, 62-79; เฉพาะเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวกับกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2475 ผู้เรียบเรียงได้เพิ่มเติมจากคำอธิบายของ วิษณุ เครืองาม โดยค้นคว้าเพิ่มเติมจาก วีระยุทธ ปีสาลี, “บันทึกรักท่านหญิง: ความรักและการแต่งงานของเจ้านายสตรีหลัง พ.ศ. 2475,” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 37 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2559), หน้า 82-83.