28 มิถุนายน พ.ศ. 2475
ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้นเป็นวันการเมืองที่มีเรื่องสำคัญหลายเรื่องรวมทั้งเป็นวันที่ประเทศไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 มีรัฐบาลตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 คณะผู้บริหารประเทศชุดนี้เรียกว่า คณะกรรมการราษฎร และหัวหน้ารัฐบาลคือ ประธานคณะกรรมการราษฎร เทียบได้กับ นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้แก่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา
พระยามโนปกรณ์นิติธาดานั้นไม่ได้ร่วมเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย แต่เป็นคนที่ได้รับการเสนอชื่อจากหัวหน้าคณะราษฎรและผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร คือ นายพันเอกพระยาพหลพยุหเสนา รัฐบาลของพระยามโนฯ ประกอบด้วยกรรมการราษฎร 14 คนตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองฯ
1. นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ
5. นายพันเอก พระยาฤทธิ์อัคเนย์
7. นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ
9. นายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย
11. หลวงเดชสหกรณ์
12. นายตั้ง ลพานุกรม
14. นายแนบ พหลโยธิน
สมัยนั้นทุกกระทรวงยังมีเสนาบดีเป็นผู้ดูแลในระดับสูงสุด และมีปลัดทูลลอองดูแลข้าราชการในลำดับถัดมา จึงเป็นโครงสร้างของฝ่ายบริหารที่มีลักษณะเฉพาะตัว
เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลนั้น พระยามโนฯ ไม่ได้แถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งนี้ ถือเอาว่าหลัก 6 ประการของคณะราษฎรที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิญาณตนจะปฏิบัตินั้นเป็นนโยบายงานสำคัญที่แม้จะเป็นงานของสภาผู้แทน แต่รัฐบาลก็ได้ร่วมทำอย่างแข็งขัน โดยประธานคณะกรรมการราษฎรได้เป็นประธานคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะอนุกรรมการฯ นี้ได้ทำงานเพียง 5 เดือน ก็ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ สามารถนำร่างรัฐธรรมนูญเสนอสภาผู้แทนฯ ให้พิจารณาได้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกนี้ได้ผ่านสภาผู้แทนฯ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนี้ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 แล้วพระยามโนฯ ได้พ้นจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการราษฎร และได้เป็นหัวหน้ารัฐบาลต่อมาในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันเป็นชื่อตำแหน่งที่ปรากฏใหม่ในรัฐธรรมนูญ ท่านได้ตั้งรัฐบาลบริหารประเทศต่อมา และก็ได้เผชิญกับความขัดแย้งในรัฐบาลและในบรรดาผู้นำของคณะราษฎรเอง จนมีการปิดสภาผู้แทนฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา จนนำไปสู่การยึดอำนาจของคณะทหารที่นำโดยนายพันเอก พระยาพหลฯ นายพันโทหลวงพิบูลสงคราม และนายนาวาโท หลวงศุภชลาศัย ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 และพระยามโนฯ ถูกเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้ที่เป็นนายกฯ ต่อจากพระยามโนฯ ก็คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา นั่นเอง