24 สิงหาคม พ.ศ. 2550

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 นับมาถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 5 ปีเต็มที่ใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มา

นึกย้อนหลังถึงที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ต้องย้อนไปถึงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 อันเป็นวันที่คณะทหารที่นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน นำกำลังเข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาลและยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2549 ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 นั่นเอง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2549 นี้ ระบุไว้ชัดเจนในวงเล็บหลังคำรัฐธรรมนูญว่า “(ฉบับชั่วคราว)” จึงต้องแสวงหา “รัฐธรรมนูญใหม่”

ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2549 นี้ มีบทบัญญัติที่จะเกี่ยวกับการที่จะให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ ดังเช่น มาตรา 19 ที่ว่า

“ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มีจำนวนหนึ่ง ร้อยคน”

การได้มาตาม “วิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” นั้นเมื่อดูในมาตราถัดไปคือมาตรา 20 ก็พบว่า

“ให้มีสมัชชาแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด อายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี มีจำนวนไม่เกินสองพันคน”

การที่ให้มีสมัชชาแห่งชาตินั้นก็เพื่อให้สมัชชานี้คัดเลือกสมาชิกด้วยกันเองจำนวนสองร้อยคน พอได้จำนวนนี้ก็จะดำเนินการไปตามมาตรา 23

“เมื่อได้รับบัญชีรายชื่อที่ได้รับการคัดเลือกจากสมัชชาแห่งชาติแล้ว ให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติคัดเลือกบุคคลตามบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้เหลือหนึ่งร้อยคน และ นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับนี้ ถูกกำหนดเวลาให้สมาชิกสภาร่างช่วยกันทำให้เสร็จภายในเวลา “180 วัน” นับแต่วันเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2500 ซึ่งก็ทำได้ภายในกำหนดเวลา โดยได้ไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามภาค ต่าง ๆ ของประเทศด้วย

นอกจากจะต้องร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในเวลาที่จำกัด 180 วันแล้ว เรื่องที่สำคัญของรัฐธรรมนูญนี้ก็คือยังมีความเป็นประชาธิปไตยอยู่หรือไม่ และเปิดทางให้มีการสืบทอดอำนาจของคณะผู้ยึดอำนาจหรือไม่

สิ่งใหม่ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็คือร่างเสร็จแล้วก็ยังไม่เสร็จ ต้องดำเนินการออกเสียงลงประชามติด้วย และก็เป็นการออกเสียงลงประชามติเป็นครั้งแรกในประเทศ โดยจัดขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ผลจากการออกเสียงลงประชามติที่มีผู้มีสิทธิออกเสียง 45,092,955 คนนั้น มีผู้มาใช้สิทธิ 25,987,954 คน โดยมีผู้เห็นชอบ 14,727,306 คน กับผู้ไม่เห็นชอบ 10,747,441 คน ถือว่ารัฐธรรมนูญผ่าน

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 นี้ได้ประกาศใช้ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 จึงเป็นการนำการเมืองหลังการยึดอำนาจวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 กลับมาสู่ภาวะการเมืองก่อนการยึดอำนาจ และเปิดทางให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2550 คือ ในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550

การเลือกตั้งที่พรรคการเมืองและนักการเมืองเข้าไปแข่งขันกันให้ประชาชนผู้เลือกตั้งเป็นผู้ตัดสิน

ระบบการเมืองของไทยตามรัฐธรรมนูญนี้ก็ยังเป็นระบบรัฐสภาคือให้ประชาชนเลือกผู้แทนราษฎรและให้ผู้แทนราษฎรหรือสภาผู้แทนสภาราษฎรเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นหัวหน้ารัฐบาลไปตั้งรัฐมนตรีมาร่วมรัฐบาล

รัฐสภาก็เป็นสภาคู่ที่ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่สภาผู้แทนราษฎรที่แบ่งเป็นแบบแบ่งเขตและแบบสัดส่วนนั้นมีที่แตกต่างไปกว่าที่ใช้อยู่ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็คือการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตได้กลับไปใช้เขตขนาดใหญ่มีผู้แทนได้มากที่สุดถึง 3 คน ต่างจากที่ใช้อยู่หลัง พ.ศ. 2540 ที่เป็นเขตเดียวขนาดเล็กมีผู้แทนคนเดียว แต่จำนวนผู้แทนราษฎรก็มีเท่าเดิมคือ 400 คน

ที่มาของสมาชิกวุฒิสภาก็มีสองประเภทมีทั้งจากการเลือกตั้งจากการสรรหา โดยจากเลือกตั้งนั้นมีจำนวนจังหวัดละ 1 คน และจากสรรหานั้นก็เป็นจำนวนที่เหลือจากการเลือกตั้ง ซึ่งรวมกันแล้วจำนวนเต็มคือ 150 คน

หลังจากใช้รัฐธรรมนูญมาได้ 5 ปี ก็มีการเลือกตั้งทั่วไปมาแล้ว 2 ครั้ง คือ นอกจากการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2550 แล้วก็เป็นการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อ พ.ศ. 2554 ได้มีนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลมาได้ไม่น้อยกว่า 4 คน และได้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภามาแล้วหนึ่งครั้ง กับมีการสรรหาสมาชิกวุฒิสภามาแล้วสองครั้ง

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นก็มีการแก้ไขได้เรียบร้อยมาแล้วสองครั้ง โดยการแก้ไขที่มีผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ. 2554 เป็นการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตที่เป็นเขตเล็กโดยลดจำนวนผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตลงเหลือ 375 คน และการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่เป็นเขตใหญ่ ทั้งประเทศเหมือนเดิม มีจำนวนผู้แทนเพิ่มขึ้นเป็น 125 คน