การเลือกตั้ง ส.ส. และการแต่งตั้ง ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:59, 4 ตุลาคม 2554 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ชาย ไชยชิต และ รองศาสตราจารย์ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ความเป็นมา

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ ได้ใช้อยู่เป็นระยะเวลาไม่นานนัก ก็เกิดการรัฐประหารภายใต้การนำของ พลโท ผิน ชุณหวัณ เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นเหตุการการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวสิ้นสุดลงด้วยระยะเวลาเพียง ๑๘ เดือน วันรุ่งขึ้นหลังจากการรัฐประหาร คณะรัฐประหารได้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และการประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้มีฉายาเรียกขานกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม เนื่องจากก่อนหน้านั้น พลโท หลวงกาจสงคราม (กาจ เก่งระดมยิง) หนึ่งในสมาชิกคณะรัฐประหาร ได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นแล้วนำไปซ่อนไว้ใต้ตุ่มน้ำ เพราะเกรงว่าความจะแตกถ้าหากมีใครมาพบเข้า


รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ มีบทบัญญัติรวม ๙๘ มาตรา กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย 2 สภาคือ วุฒิสภา และสภาผู้แทน มีสมาชิกจำนวนเท่ากันทั้งสองสภา สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง โดยห้ามมิให้ข้าราชการประจำเป็นสมาชิกวุฒิสภา ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน โดยวิธีการเลือกตั้งแบบรวมเขตเลือกตั้ง คือถือเอาเขตจังหวัดหนึ่งเป็นเขตเลือกตั้งหนึ่ง แต่ละเขตมีจำนวนผู้แทนได้ตามสัดส่วนจำนวนราษฎร ๒๐๐,๐๐๐ คนต่อผู้แทน ๑ คน


บทบัญญัติที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านั้นคือ บทบัญญัติที่ให้มีคณะอภิรัฐมนตรีคณะหนึ่งจำนวน ๕ นาย มีหน้าที่บริหารราชการแทนพระองค์ และถวายคำปรึกษาแก่พระมหากษัตริย์ และในบางกรณีอาจได้รับแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกด้วย คณะอภิรัฐมนตรีจำนวน ๕ นาย ดังกล่าว ประกอบด้วย พระบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นประธานคณะอภิรัฐมนตรี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ เป็นอภิรัฐมนตรี พลโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกฎ เป็นอภิรัฐมนตรี พระยามานวราชเสวี เป็นอภิรัฐมนตรี และพลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส เป็นอภิรัฐมนตรี


รัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่ก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมถึง ๓ ครั้งด้วยกัน กล่าวคือ ครั้งที่ ๑ วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ แก้ไขเพิ่มเติมในบทเฉพาะกาล เพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวาระเริ่มแรกเป็นแบบรวมเขตจังหวัด และกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปี นอกจากนั้น ยังอนุญาตให้พระบรมวงศานุวงศ์ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ด้วย ครั้งที่ ๒ วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน ๔๐ คน ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้แล้วเสร็จภายใน ๑๘๐ วัน และเพื่อบัญญัติให้ประธานวุฒิสภา เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ครั้งที่ ๓ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อบัญญัติให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมีเอกสิทธิและความคุ้มครองเช่นเดียวกับสมาชิกรัฐสภา รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้มีอายุการบังคับใช้เป็นระยะเวลา ๑ ปี ๔ เดือน ๑๓ วัน เมื่อถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๙๒ เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๒


การแต่งตั้งวุฒิสภาเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐

สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ตามบทบัญญัติมาตรา ๙๖ แห่งรัฐธรรมนูญนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๔๙๐ มีจำนวนทั้งสิ้น ๑๐๐ คน ดังรายชื่อต่อไปนี้

(๑) พระยากฤตราชทรงสวัสดิ์ (๒) พล.ท. หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต (๓) พระยาโกมารกุลมนตรี (๔) พลเรือตรี พระจักรานุกรกิจ
(๕) พลเรือตรี เจริญ นายเรือ (๖) นายจรินทร์ กฤษณษภักดี (๗) พระยาจินดารักษ์ (๘) ม.จ. เฉลิมศรีจันทรทัต จันทรทัต
(๙) พลโท พระยาเฉลิมอากาศ (๑๐) หลวงชลนุสสร (๑๑) ม.จ. ชัชวลิต เกษมสันต์ (๑๒) นายเชวง เคียงศิริ
(๑๓) พระยาไชยยศสมบัติ (๑๔) พระยาชัยสุรินทร์ (๑๕) พระชัยปัญญา (๑๖) พันโท หลวงชัยอัศวรักษ์
(๑๗) พันตำรวจตรี ชั้น รัศมิทัต (๑๘) พันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์ (๑๙) พระยาดรุพันพิทักษ์ (๒๐) พลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณ
(๒๑) พระตีรณสารวิศวกรรม (๒๒) พระยาทรงสุรรัชฎ์ (๒๓) พระทิพปัญญา (๒๔) พระยาเทพวิทูรฯ
(๒๕) พระยาโทณวณิกมนตรี (๒๖) พระยานายกนรชน (๒๗) พระนิตินัยประสาน (๒๘) นาวาตรี หลวงนิเทศกลกิจ
(๒๙) พระยาบริรักษ์เวชการ (๓๐) พระยาบุรณศิริพงศ์ (๓๑) พระยาบำเรอภักดี (๓๒) นายบรรจง ศรีจรูญ
(๓๓) ม.ร.ว. ประยูร อิศรศักดิ์ (๓๔) พระยาประชาศรัยสรเดช (๓๕) หลวงประกอบนิติสาร (๓๖) นายปรีดานฤเบศร์
(๓๗) นายผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา (๓๘) นายเผดิม อังสุวัฒน์ (๓๙) พระยาเพ็ชรดา (๔๐) พระยาพนานุจร
(๔๑) น.อ. ม.จ. พรปรีดา กมลาศน์ (๔๒) พลตรี พระยาพิไชยสงคราม (๔๓) พระยาพิพิธภักดี (๔๔) พระพิพัฒนธนากร
(๔๕) พระเพ็ชรคีรี (๔๖) พระยาภะรตราชา (๔๗) พระยาภิรมย์ภักดี (๔๘) พลตรี เภา เพียรเลิศ บริภัณฑยุทธกิจ
(๔๙) พระยาเมธาบดี (๕๐) พระมนูภาณวิมลศาสตร์ (๕๑) พระยามโหสถศรีพิพัฒน์ (๕๒) พันโท เจ้าราชบุตร ณ เชียงใหม่
(๕๓) พันเอก พระยาฤทธิ์อัคเนย์ (๕๔) นายเล้ง ศรีสมวงศ์ (๕๕) พลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (๕๖) พลเรือตรี พระยาวิจารณ์จักรกิจ
(๕๗) พลตรี พระยาวิบูลอายุรเวท (๕๘) พันเอก วิทยาสารรณยุต (๕๙) พระยาเมธาธิบดี (๖๐) พล.ท. ม.จ. เศรษศิริ กฤดากร
(๖๑) เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (๖๒) พระยาศรีธรรมราช (๖๓) พันเอก พระยาศรีพิชัยสงคราม (๖๔) พระยาศรีราชโกษา
(๖๕) พลโท พระยาศรีสรราชภักดี (๖๖) พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (๖๗) พันเอก หม่อมสนิทวงศ์เสนี (๖๘) นายสง่า วรรณดิษฐ์
(๖๙) นายสวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ (๗๐) พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ (๗๑) พระยาสาริกพงศ์ธรรมพิลาส (๗๒) พันโท พระสารสาสน์พลขันธ์
(๗๓) พลตรี พระยาเสนีณรงค์ฤทธิ์ (๗๔) ม.จ. สฤษดิเดช ชยางกูร (๗๕) พลโท พระยาสีหราชเดโชไชย (๗๖) พลโท พระยาสีหราชฤทธิไกร
(๗๗) พระยาสุพรรณสมบัติ (๗๘) พลตรี พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ (๗๙) พระยาสุริยราชวราลัย (๘๐) พระยาสุริยานุวงศ์ประวัติ
(๘๑) พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (๘๒) พลตรี พระสุริยสัตย์ (๘๓) หลวงสุริยพงศ์พิสุทธิแพทย์ (๘๔) นายสัญญา ยมะสมิต
(๘๕) นาวาเอก หลวงสำรวจวิถีสมุทร (๘๖) พล.ต. ม.ล. อภิรุม ชุมสาย (๘๗) พระยาอภิบาลราชไมตรี (๘๘) พลโท พระยาอภัยสงคราม
(๘๙) พระยาอมาตยพงศ์ธรรมพิศาล (๙๐) พล.ต. พระยาอานุภาพไตรภพ (๙๑) พระยาอาณาจักรบริบาล (๙๒) นายอาทร สังขวัฒน์
(๙๓) พระยาอัชราชทรงศิริ (๙๔) พ.อ. ม.ล. อังกาบ สนิทวงศ์ (๙๕) พลตรี พระอุดมโยธาธิยุต (๙๖) พระยาอรรถกรมมนุตตี
(๙๗) พระยาอรรถกฤตนิรุตติ์ (๙๘) พระอัพภันตราพาธพิศาล (๙๙) พลตรี พระยาอินทรวิชิต (๑๐๐) ม.จ. อุปสีสาน ชุมพล


ประธานวุฒิสภา คือ เจ้าพระยาธรรมาธิเบศ รองประธานสภา ๒ คน คือ พระยาอภิบาลราชไมตรี รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และ พลโท พระยาสีหราชเดโชไชย รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง การประชุมวุฒิสภาครั้งแรกมีขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ต่อมาในวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ประธานแจ้งต่อที่ประชุมว่า พระยาเพชรดา กับ พระยามโหสถศรีพิพัฒน์ พ้นจากตำแหน่งเพราะถึงแก่อนิจกรรม และมีผู้ลาออกอีก ๑๐ คน คือ พระยาโกมารกุลมนตรี พระยาบุรณศิริพงศ์ นายเล้ง ศรีสมวงศ์ พระยาชัยสุรินทร์ พระพิทักษ์ชินประชา พล.ท. หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต พ.อ. หลวงชำนาญยุทธศิลป์ พล.ท. ชั้น รัศมิทัต พ.ท. พระสารสาสน์พลขันธ์ พล.ต. เจ้าราชบุตร ณ เชียงใหม่


วันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๒ มีการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก แทนวุฒิสมาชิกที่ว่างลง ประกอบด้วย

ม.จ. ดิศานุวัตร ดิศกุล พล.ท. มังกร พรหมโยธี พันเอก เสงี่ยม รามณรงค์ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม
นางเลขา อภัยวงศ์ ม.จ. วิวัฒนไชย ไชยันต์ นาวาเอก พระยาวิชิตชลธี พลตรี สวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย สวัสดิ์เกียรติ
พันเอก พระยาสุรพันธเสนี พระยาศรีวิสารวาจา พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ พระยาอนุมานราชธน

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๙๐ จัดขึ้นภายใต้รัฐบาลนำโดยนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร เพื่อทำหน้าที่ดำเนินการจัดการเลือกตั้งตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยการเลือกตั้งมีขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑


การเลือกตั้งครั้งที่นี้เป็นการเลือกตั้งทางตรง โดยวิธีรวมเขตเรียงเบอร์ โดยถือเอาจังหวัดหนึ่งเป็นเขตการเลือกตั้งหนึ่ง จำนวนผู้แทนราษฎรในแต่ละจังหวัดคำนวณโดยถือเอาจำนวนประชาชน ๒๐๐,๐๐๐ คน ต่อผู้แทนราษฎร ๑ คน ทำให้มีจำนวนผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งครั้งนี้จำนวน ๙๙ คน ในการจัดการเลือกตั้งพบว่า จากจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด ๗,๑๗๖,๘๙๑ คน มีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจำนวน ๒,๑๑๗,๔๗๔ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๖.๕๔ ของจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดคือ จังหวัดระนอง มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งคิดเป็นร้อยละ ๕๘.๖๙ จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิน้อยที่สุดคือ จังหวัดสมุทรปราการ คิดเป็นร้อยละ ๑๕.๖๘


ผลการเลือกตั้งพบว่า พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ๕๓ ที่นั่ง พรรคประชาชน ได้ ๑๒ ที่นั่ง พรรคธรรมาธิปัตย์ ได้ ๕ ที่นั่ง และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่สังกัดพรรคใด จำนวน ๓ ที่นั่ง ซึ่งต่อมาสมาชิกที่ไม่สังกัดพรรคใดได้เข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในสภา

อ้างอิง

ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ ๕๖ เล่มที่ ๖๔ ลงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐

บุญทัน ดอกไธสง, การเปลี่ยนแปลงทางการบริหารและการเมืองไทย, กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๒๒

ฝ่ายพัฒนาการเมืองและการปกครอง สำนักนโยบายและแผนมหาดไทย, อนุสารการเมือง, มีนาคม ๒๕๒๒

ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, การเมืองและพรรคการเมืองไทยนับแต่ยุคแรกถึงปัจจุบัน, พระนคร: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, ๒๕๑๑

คณิน บุญสุวรรณ, ประวัติรัฐธรรมนูญไทย, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ภูมิปัญญา, ๒๕๔๒


ดูเพิ่มเติม