การถวายสัตย์ปฏิญาณ
ผู้เรียบเรียง วิจิตรา ประยูรวงษ์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
ประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลกถือว่า การกระทำสัตย์ปฏิญาณสาบานตน ก่อนเข้ารับตำแหน่งที่สำคัญในการบริหารประเทศชาติ เช่น ตำแหน่งประธานาธิบดี หรือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต้องทำ สำหรับประเทศไทยซึ่งมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นายกรัฐมนตรีหรือบุคคลต่างๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินจะต้องกระทำสัตย์ปฏิญาณก่อนการเข้ารับหน้าที่เช่นกัน พิธีนี้เรียกว่า “การถวายสัตย์ปฏิญาณ”
ความหมาย
การถวายสัตย์ปฏิญาณ หมายถึง การแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงเป็นประมุขแห่งราชอาณาจักรไทย ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่ง องคมนตรี รัฐมนตรี ผู้พิพากษาและตุลาการ ต้องกระทำก่อนเข้ารับหน้าที่ การถวายสัตย์ปฏิญาณนี้ มีความแตกต่างจากการปฏิญาณตนตรงที่การถวายสัตย์ปฏิญาณต้องกระทำต่อหน้าพระพักตร์ขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณ ในขณะที่การปฏิญาณตนเป็นการกระทำต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ขององค์พระมหากษัตริย์[1]
ประวัติความเป็นมาของการถวายสัตย์ปฏิญาณ
ประเพณีการกระทำสัตย์ปฏิญาณสาบานตนมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ประเพณีนี้เรียกว่า “พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา” ในหนังสือพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวชื่อ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” เรียกว่า “พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล” หรือบางทีเรียกว่า“ถือน้ำพิพัฒน์สัจจา” [2] ภายหลังประเพณีนี้ถูกยกเลิกไปหลังจากที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ. 2475 ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล หรือพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยานี้ขึ้นใหม่ สำหรับผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ได้แก่ ทหารและตำรวจ ที่ได้ประกอบวีรกรรมด้วยความกล้าหาญ เสียสละ และมีความจงรักภักดีต่อประเทศชาติในการต่อสู้กับศัตรูของบ้านเมือง จนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีชั้นอัศวิน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถึงแม้ว่าพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาครั้งนี้ จะมิได้กระทำกันในบรรดาข้าราชการทั้งหมดดังเช่นเมื่อสมัยก่อนก็ตาม แต่ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นการฟื้นฟูพระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
กล่าวกันว่า คำสัตย์ปฏิญาณ หรือคำสาบานของผู้ที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2512 ปรากฏเป็นถ้อยคำที่ได้ปรับแต่งขึ้นใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้สมกับกาลสมัย เพราะเดิมนั้น ใช้ถ้อยคำที่เป็นภาษาไทยโบราณ สำหรับการอ่านโองการแช่งน้ำและการชุบพระแสงศาสตราวุธนั้น พระราชครูพราหมณ์เป็นผู้กระทำโดยขอให้น้ำพระพิพัฒน์สัตยา มีฤทธิ์มีอำนาจ อาจบันดาลให้ผู้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเป็นไปตามคำสาบานแล้ว ยังสาปแช่งผู้ที่คิดทรยศไม่ซื่อตรง แต่ได้ให้พรต่อผู้ที่ตั้งอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และมีความกตัญญู ส่วนคำสัตย์ปฏิญาณนั้น มีผู้อ่านนำ โดยให้ผู้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเป็นผู้ว่าตาม เพื่อที่จะให้มีความซื่อตรงจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ต่อชาติบ้านเมือง และต่อหน้าที่การงาน เมื่อจบแล้วให้นำพระแสงศาสตราวุธต่างๆ ลงชุบในน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ครั้นแล้ว ให้นำน้ำซึ่งผ่านพิธีกรรมต่างๆ แล้วนั้น ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้เสวยด้วย ถ้วยสำหรับตักน้ำพระพิพัฒน์สัตยานั้นเคยปรากฏจารึกเป็นอักษรขอมว่า “สจฺจํ เว อมตา วาจา” ฉะนั้นผู้ที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาจึงต้องถือว่าตนเป็นผู้ที่ได้ดื่มน้ำสาบานร่วมกับพระมหากษัตริย์ผู้เป็นจอมทัพ[3]
แม้ว่าในปัจจุบัน คนรุ่นหลังอาจจะไม่ค่อยได้เห็นพิธีการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาแล้วก็ตาม แต่การกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ หรือการสร้างความมั่นคงทางจิตใจซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกับการถือน้ำพิพัฒน์สัตยานี้ ก็ยังมีการกระทำในรูปการปฏิญาณหรือการสาบานอยู่อีกไม่น้อย เช่น ในวงราชการทหาร ตำรวจ ลูกเสือ แพทย์ และสถานศึกษาอื่นๆ เช่น เวลารับปริญญาบัตร เป็นต้น[4] อีกทั้งในรัฐธรรมนูญก็ได้บัญญัติไว้ให้กระทำด้วยเช่นกัน
การถวายสัตย์ปฏิญาณตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนการเข้ารับตำแหน่งขององคมนตรี รัฐมนตรี ผู้พิพากษาและศาล ไว้ดังนี้
มาตรา 15 บัญญัติว่า
“ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ””[5]
มาตรา 175 บัญญัติว่า
“ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ””[6]
มาตรา 201 บัญญัติว่า
“ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้พิพากษาและตุลาการต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้ “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยปราศจากอคติทั้งปวงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน และความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายทุกประการ”” [7]
การปฏิญาณตนของสมาชิกรัฐสภา
ปฏิญาณตนของสมาชิกรัฐสภา คือ การปฏิญาณตนในที่ประชุมสภาก่อนเข้ารับหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา โดยสมาชิกทุกคนต้องยืนขึ้นในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกและกล่าวปฏิญาณต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งประทับอยู่เหนือบัลลังก์ประธานสภา คำกล่าวปฏิญาณตนในที่ประชุมสภาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ มีความแตกต่างกับการถวายสัตย์ปฏิญาณขององคมนตรี รัฐมนตรี ผู้พิพากษาและตุลาการ โดยคำกล่าวปฏิญาณของสมาชิกรัฐสภาจะเน้นในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและการปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญทุกประการ[8]
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการปฏิญาณตนก่อนการเข้ารับตำแหน่งของสมาชิกรัฐสภา ไว้ดังนี้
มาตรา 123 บัญญัติว่า
“ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ””[9]
การปฏิญาณตนครั้งแรกของสมาชิกรัฐสภา
การปฏิญาณตนของสมาชิกรัฐสภาเริ่มขึ้นครั้งแรกในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2475 ในวันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นการปฏิญาณตนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นผู้นำปฏิญาณ ดังนี้
“ข้าพเจ้า (ออกนามผู้ปฏิญาณ) ขอให้คำปฏิญาณว่าจะซื่อสัตย์ต่อคณะราษฎรและจะช่วยรักษาหลัก 6 ประการของราษฎรไว้ให้มั่นคง
1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
2.จะรักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3.จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาลใหม่จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถจะร่างโครงการณ์เศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4.จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน
5.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพมีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลักการ 4 ประการ ดั่งกล่าวแล้วข้างต้น
6.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” [10]
จากนั้นเป็นต้นมา ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเกือบทุกฉบับจะมีบทบัญญัติให้สมาชิกรัฐสภาต้องปฏิญาณตนก่อนเข้ารับตำแหน่ง โดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาได้แสดงปณิธานและความตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน โดยรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญและไม่กระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ[11] ซึ่งการปฏิญาณตนของสมาชิกรัฐสภาในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับนั้นอาจมีถ้อยคำและบทบัญญัติที่แตกต่างกันไปบ้างตามยุคสมัย
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการถวายสัตย์ปฏิญาณหรือการปฏิญาณตนก็แล้วแต่ สาระสำคัญของการกระทำดังกล่าวนั้น คือการให้คำมั่นสัญญาอันศักดิ์สิทธิ์และจริงจังว่า จะปฏิบัติตามคำปฏิญาณอย่างเคร่งครัด เพราะคำปฏิญาณคือคำสัญญาที่ให้ไว้เพื่อการแสดงความซื่อสัตย์สุจริตและความจงรักภักดี ในการที่จะปฏิบัติตามหน้าที่ในฐานะที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งอันสำคัญ ขณะเดียวกันคำปฏิญาณนั้นก็เป็นการให้คำสัญญากับตนเองว่า จะธำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์แห่งคำปฏิญาณทุกคำพูด[12] คำปฏิญาณจึงไม่ใช่สิ่งที่ทำกันโดยไร้ความหมาย แต่ขึ้นอยู่กับผู้กระทำว่าจะให้ความสำคัญกับคำสัตย์ปฏิญาณที่ให้ไว้เพียงใด
อ้างอิง
- ↑ คณิน บุญสุวรรณ. ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548. หน้า 404
- ↑ พัฒน์ นีลวัฒนานนท์. “การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา”. รัฐสภาสาร. 4, 25 (มิถุนายน 2499),หน้า 15.
- ↑ มนตรี ชลายนเดชะ. “พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา”. รัฐสภาสาร. 17,9 (สิงหาคม 2512), หน้า 10-11.
- ↑ มนตรี ชลายนเดชะ. “พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา”. รัฐสภาสาร. 17,9 (สิงหาคม 2512), หน้า 15.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550,” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 124 ตอนที่ 47ก , 24สิงหาคม 2550, หน้า 15.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550,” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 124 ตอนที่ 47ก , 24สิงหาคม 2550, หน้า 66.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550,” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 124 ตอนที่ 47ก , 24สิงหาคม 2550, หน้า 73-74.
- ↑ คณิน บุญสุวรรณ. พระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ. 2547, หน้า 117.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550,” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 124 ตอนที่ 47ก , 24สิงหาคม 2550, หน้า 44.
- ↑ รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2475 (2475) 28 พฤศจิกายน 2475. หน้า 6-7.
- ↑ สภาร่างรัฐธรรมนูญ. คณะกรรมาธิการวิสามัญบันทึกเจตนารมณ์ จดหมายเหตุ และตรวจรายงานการประชุม. เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550. กรุงเทพฯ : สำนักกรรมาธิการ 3. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550, หน้า 123.
- ↑ ลิขิต ธีรเวคิน. “คำปฏิญาณอันศักดิ์สิทธิ์”. ผู้จัดการรายวัน. 10 กรกฎาคม 2551. หน้า13.
แนะนำหนังสือให้อ่านต่อ
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักกรรมาธิการ 3. เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 - 2549 เล่ม 1. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550.
ประมวล รุจนเสรี. พระราชอำนาจ. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : สุเมธ รุจนเสรี, 2545.
ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี 2475-2517, กรุงเทพฯ : ช.ชุมนุมช่าง, 2517.
บรรณานุกรม
คณิน บุญสุวรรณ. ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548.
_______________. พระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ. 2547.
แนวคานธี. “คำสาบาน ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา.” รัฐสภาสาร. 12, 9 (สิงหาคม 2507).
ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี 2475-2517. กรุงเทพฯ : ช.ชุมนุมช่าง, 2517.
พัฒน์ นีลวัฒนานนท์. “การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา.” รัฐสภาสาร. 4, 25 (มิถุนายน 2499).
มนตรี ชลายนเดชะ. “พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา.” รัฐสภาสาร. 17, 9 (สิงหาคม 2512).
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2475 (2475) 28 พฤศจิกายน 2475.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 124 ตอนที่ 47ก , 24สิงหาคม 2550.
ลิขิต ธีรเวคิน. “คำปฏิญาณอันศักดิ์สิทธิ์”. ผู้จัดการรายวัน. 10 กรกฎาคม 2551.
สภาร่างรัฐธรรมนูญ. คณะกรรมาธิการวิสามัญบันทึกเจตนารมณ์ จดหมายเหตุ และตรวจรายงานการประชุม. เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550. กรุงเทพฯ : สำนักกรรมาธิการ 3. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักกรรมาธิการ 3. เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 - 2549 เล่ม 1. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550.