พระราชธรรมนิเทศ
ผู้เรียบเรียง สุเทพ เอี่ยมคง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
บุคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรของไทยแต่ละยุคสมัยนอกเหนือจากการมีประสบการณ์ทางการเมืองที่เป็นหัวใจสำคัญแล้ว แต่ละคนอาจจะมีพื้นฐานความรู้ความสามารถที่แตกต่างกัน ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านได้สร้างสีสันเกิดขึ้นจนเป็นเสน่ห์ของการใช้อำนาจในตำแหน่งของบุคคลที่น่าสนใจยิ่ง และหากจะพิจารณาว่าในบรรดาผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรของไทยที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษาไทยแล้วมีจำนวนไม่มากนัก และ“นายเพียร ราชธรรมนิเทศ” หรือ “พระราชธรรมนิเทศ” คือหนึ่งในจำนวนนั้น และถือว่าเป็นปราชญ์ภาษาไทยแห่งยุคสมัยเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่างแท้จริง
ปฐมวัย
ในวัยเด็ก เพียร ราชธรรมนิเทศ เข้ารับการศึกษาที่วัดทรงธรรม พระอารามหลวงแห่งจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นวัดที่ให้การเรียนการสอนแก่ภิกษุ สามเณรเป็นหลักจึงสอนด้วยภาษาบาลี แต่หากจะทำการสอนแก่บุตรหลานในชุมชนจะใช้บริเวณใต้ถุนกุฏิพระครูเจ้าอาวาสเป็นห้องเรียน นักเรียนแห่งสำนักวัดทรงธรรมเมื่อจบการศึกษาออกไปจึงซึมซับภาษาบาลีออกไปด้วย และนายเพียร ราชธรรมนิเทศ เองก็ได้รับเอาวิชานี้ติดตัว พร้อมทั้งพัฒนาเป็นฐานความรู้จนกลายเป็นผู้ที่มีความแตกฉานทางภาษาคนหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญทั้งทางวัฒนธรรมและทางการเมืองในกาลต่อมา
ปราชญ์คู่บารมีท่านจอมพล
เป็นที่ทราบกันดีว่าในยุคแห่งอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการปรับโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมของประเทศครั้งใหญ่ไม่ด้อยไปกว่าการ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ในแผ่นดินจีนยุคต้น ของเติ้ง เสี่ยว ผิง เรืองอำนาจ รัฐนิยมฉบับแล้วฉบับเล่าที่ประกาศใช้ล้วนเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไทยทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ “วัธนธัมไทย” ทางภาษา ที่ยังคงทิ้งร่องรอยไว้ในปัจจุบัน ที่มาของเรื่องเริ่มต้นขึ้นเมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2485 ประกอบด้วยกรรมการ จำนวน 26 คน ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีชื่อเสียง มีบทบาทหน้าที่สำคัญในทางวัฒนธรรมทั้งสิ้น โดยตนเองเป็นประธานกรรมการ และในจำนวนนี้นายเพียร ราชธรรมนิเทศ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานกรรมการด้วย คณะกรรมการนี้มีหน้าที่ปรับปรุงภาษาไทยและชำระปทานุกรมแห่งราชบัณฑิตยสถานด้วย เมื่อดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การปรับปรุงตัวอักษรไทย ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2485 ให้มีพยัญชนะไทย 31 ตัว ประกอบด้วย “ก ข ค ง จ ฉ ช ซ ญ ด ต ถ ท ธ น บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ส ห อ ฮ “ ตลอดจนตัดสระ ใ (ไม้ม้วน) ออก ส่วนตัว “ทร” ให้ใช้ “ซ” แทน และได้ตัดเชิงล่างของ “ญ” ออก ในการปรับปรุงภาษาไทยครั้งนี้ ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากเพราะบางคำ หรือบางประโยคในหลักภาษาไทย เมื่อเปลี่ยนตัวสะกดย่อมทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลงไปได้ แต่หากพิจารณาบนพื้นฐานข้อมูลและบริบทรอบด้านแห่งยุคสมัยแล้ว ควรให้ความเป็นธรรมแก่คณะกรรมการชุดนี้ เพราะคงไม่มีใครอยากเปลี่ยนแปลงวิถีแห่งวัฒนธรรมทางภาษาที่เป็นอัตลักษณ์ของชนชาวสยามที่มีมาอย่างยาวนานเป็นแน่ หากไม่ได้รับแรงกดดัน และที่สำคัญใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์เพื่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สาเหตุที่ต้องเร่งรีบและปรับเปลี่ยนอย่างฉับพลัน เพราะเหตุว่าญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยเพื่อทำสงครามปลดปล่อยชนผิวเหลืองในสงคราม มหาเอเชียบูรพา และแจ้งแก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีว่าภาษาไทยเรียนยากเพราะมีพยัญชนะและสระมากมายเหลือเกิน จึงเห็นสมควรให้ใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาราชการแทน ด้วยอำนาจที่เหนือกว่าจึงยากที่จะปฏิเสธได้ จอมพล ป. จึงหาทางออกว่าประเทศไทยมีภาษาอยู่สองชุด ชุดแรกสำหรับใช้ในราชการอาจจะเรียนยากสักหน่อย ส่วนอีกชุดสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันและสามัญชนทั่วไปนิยมใช้กัน ซึ่งชุดนี้ตรงกับความต้องการของญี่ปุ่น แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยมิได้แบ่งภาษาออกเป็นสองชุดอย่างที่แจ้งแก่ญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีและแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา และจอมพล ป. เป็นประธานกรรมการเอง โดยมีพระยาอนุมานราชธน (เสถียรโกเศศ) และนายเพียร ราชธรรมนิเทศ เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 และ 2 ตามลำดับ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและต้องแข่ง กับเวลาโดยมีความอยู่รอดปลอดภัยของชาติ และวัฒนธรรมไทยเป็นเดิมพัน คณะกรรมการได้ประชุมเพียง สองครั้งในวันที่ 23 และวันที่ 26 พฤษภาคม 2485 และประกาศใช้ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2485
หลังจากที่ญี่ปุ่นยอมรับความพ่ายแพ้และหมดอิทธิพลในภูมิภาคอุษาคเนย์ คณะรัฐมนตรีหลังสงครามโลกได้ยกเลิกประกาศฉบับนี้ การใช้ภาษาไทยแบบเดิมได้รับการนำกลับมาใช้ใหม่
นี่คือหนึ่งในกุศโลบายนำชาติพ้นภัยของ “สี่ปุโรหิต” คู่บารมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มาของชื่อเรียกนี้ มาจากการที่จอมพล ป. มักพูดอยู่เสมอว่า ในมโหสถชาดกนั้น มีปุโรหิตอยู่สี่คนที่ช่วยว่าราชการงานต่าง ๆ ให้กับมโหสถ และตัวท่านเอง ก็มี “ปราชญ์” ถึงสี่คนคอยช่วยงานการด้วยเช่นกัน คือ “ยง เถียร เพียร นวล” หมายถึง พระยาอนุมานราชธน (ยง) หลวงวิเชียรแพทยาคม (เถียร) พระราชธรรมนิเทศ (เพียร) และหลวงสารานุประพันธ์ (นวล)
ต้องคดีประวัติศาสตร์ “อาชญากรสงคราม”
การได้ร่วมงานกับผู้มีอำนาจนั้นเปรียบได้กับดาบสองคมที่มีอันตรายรอบด้าน เมื่อยามที่อำนาจนั้นสูญสิ้นดาบนั้นอาจทำร้ายตนเองไห้ได้รับอันตรายได้ นายเพียร ราชธรรมนิเทศ ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากคำเปรียบเปรยนี้ เพราะเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องยอมรับผลจากการนำประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ พร้อมทั้งยังประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ เมื่อสงครามยุติลงประเทศไทยตกอยู่ในสถานะประเทศผู้แพ้สงคราม มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามจึงบีบบังคับให้หาตัวผู้กระทำการดังกล่าวมาลงโทษในฐานะอาชญากรสงคราม ด้วยเหตุนี้จอมพล ป. พิบูลสงคราม พระราชธรรมนิเทศ และนายสังข์ พัฒโนทัย จึงถูกตั้งข้อหาตามพระราชบัญญัติอาญากรสงคราม พุทธศักราช 2488 อันเป็นที่มาของคดีประวัติศาสตร์ทางตุลาการของไทย โดยคดีนี้คณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ได้ยื่นฟ้องบุคคลทั้งสามมีใจความว่า สมัครใจเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น และโฆษณาชักชวนให้ประชาชนเห็นชอบกับการทำสงครามรุกรานสันติภาพของภูมิภาคระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2486 ขอให้ลงโทษริบทรัพย์และเพิกถอนสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย ประการสำคัญมีบทบัญญัติคุ้มครองว่าการกระทำอันบัญญัติเป็นอาชญากรสงครามนั้น ไม่ว่าจะกระทำก่อนหรือหลังวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ผู้กระทำได้ชื่อว่าเป็นอาชญากรสงครามและจะต้องได้รับโทษดังที่กำหนดไว้ทั้งสิ้น
ศาลฎีกาโดยพระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ ผู้ซึ่งเป็นทั้งประธานศาลฏีกาและเป็นเจ้าของสำนวน ร่วมวินิจฉัยกับองค์คณะประกอบด้วยพระยาเลขวณิชธรรมวิทักษ์ พระยาธรรมบัณฑิตสิทธิศฤงคาร และพระชัยประชา ได้ชี้ขาดว่าพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เฉพาะที่บัญญัติย้อนหลังว่าการกระทำก่อนวันประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ คือวันที่ 11 ตุลาคม 2488 เป็นความผิดด้วยนั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 และเป็นโมฆะ อันจะทำให้ลงโทษจำเลยทั้ง 3 ไม่ได้ จึงต้องปล่อยจำเลยให้พ้นข้อหาไป นายเพียร ราชธรรมนิเทศ จึงพ้นบ่วงกรรมที่ประเทศมหาอำนาจพันธมิตรหยิบยื่นให้
และผลจากการวินิจฉัยของศาลฎีกาครั้งนี้ ในการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ได้เป็นแนวคิดให้ตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยว่ากฎหมายใดมีบทบัญญัติขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างองค์กรดังเช่นพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488
บทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญ
ความใกล้ชิดสนิทสนมกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้มีอำนาจในขณะนั้น ทำให้นายเพียร ราชธรรมนิเทศ เข้าไปมีบทบาทและมีส่วนร่วมทุกด้าน หนึ่งในผลงานที่สานต่ออำนาจให้แก่ท่านผู้นำนั้นก็คือ การร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2492) และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พุทธศักราช 2475 เพื่อจัดวางอำนาจใหม่ให้แก่จอมพล ป พิบูลสงคราม ในปี 2495
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 “คณะผู้บริหารประเทศชั่วคราว” ซึ่งมีพลโท ผิน ชุณหะวัณ เป็นผู้นำกระทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ แห่งพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ที่อุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกับพรรคสหชีพ ของกลุ่มหลวงประดิษฐมนูธรรม การยึดอำนาจครั้งนี้นับเป็นการสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน และเป็นยุคเริ่มต้นของการใช้อำนาจนิยมทุกรูปแบบเพื่อปูทางไปสู่อำนาจของคณะปฏิวัติในต้นปีกึ่งพุทธกาล โดยการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” อย่างแท้จริง กล่าวคือ ให้รัฐสภาเป็นแบบสภาคู่ ประกอบด้วยสภาผู้แทน และพฤฒสภา สมาชิกของทั้งสองสภาให้มาจากการเลือกตั้งของราษฎร หมายความว่า เสนาอำมาตย์ทั้งหลายที่เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง ก็จะไม่มีโอกาสเข้ามาใช้อำนาจแทนปวงชนชาวไทยได้อีกต่อไป เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 จึงได้จัดวางโครงสร้างของรัฐสภาเสียใหม่ แม้ว่าจะยังคงเป็นแบบสภาคู่ แต่ให้สภาผู้แทน มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งของราษฎร และวุฒิสภา มีสมาชิกมาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญนี้มีสถานะบังคับใช้ “ชั่วคราว” เพื่อรอการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ใช้บังคับเป็นการถาวรต่อไป และนายเพียร ราชธรรมนิเทศ ได้เข้ามามีบทบาทในการจัดทำรัฐธรรมนูญตรงนี้นี่เอง
ในปี พ.ศ. 2491 ได้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 40 คน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดโครงสร้างการทำงานออกเป็นคณะ กรรมาธิการ 5 คณะ หนึ่งในนั้นคือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยกรรมาธิการ 9 คน มีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน มีนายหยุด แสงอุทัย เป็นเลขานุการ และนายเพียร ราชธรรมนิเทศ เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการนี้ด้วย คณะกรรมาธิการนี้ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการเมืองการปกครองของประเทศ เพราะเมื่อยกร่างอย่างไรเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (แต่ทำหน้าที่คล้ายกับกรรมาธิการ) ก็ยากยิ่งที่จะมีผู้ใดคัดค้าน เพราะบุคคลที่จัดวางไว้สำหรับชี้แจงนอกจาก 3 คนดังกล่าวแล้ว ยังประกอบด้วย (1) พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (2) พระยาศรีวิสารวาจา (3) พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี (4) หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช (5) หลวงประกอบนิติสาร และ (6) นายสุวิชช์ พันธุ์เศรษฐ บุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นปรมาจารย์ทางกฎหมายของประเทศทั้งสิ้น เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญร่างเสร็จแล้ว ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492
อีกครั้งหนึ่งที่นายเพียร ราชธรรมนิเทศ เข้าไปมีบทบาทในการจัดทำรัฐธรรมนูญ คือ เมื่อจอมพล ผิน ชุณหะวัณ กระทำการยึดอำนาจ (อีกครั้ง) ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 เพื่อจัดระบบการเมืองเสียใหม่ตามที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้นำตัวจริงต้องการ คือ ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 โดยการนำเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 กลับมาใช้ใหม่ แต่ได้แก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับภาวการณ์ของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป และนายเพียร ราชธรรมนิเทศ ได้เข้าไปมีบทบาทในการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ด้วย โดยปรับโครงสร้างของรัฐสภาเป็นแบบสภาเดี่ยว ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดี่ยว แต่มีสมาชิกสองประเภท คือ สมาชิกประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้งของราษฎร และสมาชิกประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ ทั้งสองประเภทให้ทำหน้าที่ร่วมกัน และประชุมร่วมกัน
สู่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 6 วันที่ 29 มกราคม 2491 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 นายเพียร ราชธรรมนิเทศ ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปทุมธานี แต่ครั้งกระนั้นยังมิได้สนใจที่จะเสนอตัวเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะถูกวางตัวไว้สำหรับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 แล้ว มีผลให้ต้องจัดการเลือกตั้งเพิ่มเติมขึ้นในวันที่ 5 มิถุนายน 2492 เพราะการกำหนดสัดส่วนราษฎรต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคนลดลงจากสองแสนคนเป็นหนึ่งแสนห้าหมื่นคน ในคราวประชุมสภาผู้แทน (ไม่มีคำว่า “ราษฎร” ต่อท้าย) ครั้งที่ 1/2492 สมัยสามัญ วันพุธ ที่ 15 มิถุนายน 2492 หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ผู้ซึ่งมีอายุสูงสุดเป็นประธานการประชุมชั่วคราว เพื่อทำหน้าที่เลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทน ในการเสนอชื่อผู้เป็นประธานและรองประธานนั้นจะต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 4 คน โดยนายใหญ่ ศวิตชาติ เสนอชื่อพลโท ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ และนายกว้าง ทองกวี เสนอชื่อนายเพียรราชธรรมนิเทศ ให้เป็นประธานสภาผู้แทน นอกจากนี้ยังมีผู้เสนอหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร และนายเกษม บุญศรี แต่บุคคลทั้งสองขอถอนตัว จึงเหลือเพียงสองรายให้สมาชิกเลือก ในการเลือกประธานและรองประธานให้กระทำเป็นการลับโดยให้สมาชิกเขียนชื่อผู้ที่ต้องการเลือกลงในบัตรที่เจ้าหน้าที่จัดให้ และนำไปหย่อนลงหีบบัตรเรียงตามลำดับอักษร โดยมีกรรมการนับคะแนน 6 คน เมื่อนับคะแนนเสร็จแล้วปรากฏว่านายเพียร ราชธรรมนิเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี ได้รับการเลือกเป็นประธานสภาผู้แทน และที่ประชุมได้เลือกนายยกเสียง เหมะภูติ ได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาผู้แทน
เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้ว ในคราวประชุมสภาผู้แทนครั้งที่ 2/2492 สมัยสามัญ วันพฤหัสบดี ที่ 23 มิถุนายน 2492 นายประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ ทำหน้าที่แทนเลขาธิการรัฐสภาเชิญพระราชธรรมนิเทศ นายยกเสียง เหมะภูติ ขึ้นนั่งบนบัลลังก์ประธานและรองประธาน และพระราชธรรมนิเทศได้กล่าวต่อที่ประชุมอันเหมือนเป็นการประกาศเจตนารมณ์ของการทำหน้าที่ว่า “...ข้าพเจ้าทั้งสองรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงยิ่ง ที่ได้รับความเมตตาที่ท่านทั้งหลายได้เลือกข้าพเจ้าทั้งสองขึ้นมา ข้าพเจ้าทั้งสองสำนึกตัวอยู่เสมอว่า ที่ได้มามีที่นั่งในสภาผู้แทนนี้ ก็โดยที่ว่าราษฎรชุบข้าพเจ้าขึ้นมา และที่ได้มานั่งในบัลลังก์นี้ เพราะท่านทั้งหลายกรุณาชุบข้าพเจ้าทั้งสองขึ้นมา ข้าพเจ้าทั้งสองขอให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความเป็นกลาง ไม่ใช่เป็นกลางแต่ปากแต่เป็นกลางอย่างเที่ยงธรรมคือทางจิตใจด้วย...ข้าพเจ้าจะให้ความเป็นธรรมแก่ทุก ๆ คน โดยไม่เอนเอียงแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ข้าพเจ้าจะต้องรักษาเสรีภาพในการพูด เอกสิทธิของสมาชิกตามระบอบรัฐธรรมนูญ...” และให้คำยืนยันอีกว่า “...หากว่าเมื่อใดข้าพเจ้าได้รับฟังว่าข้าพเจ้าปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหรือไม่เป็นที่พอใจแก่ท่าน ในฐานะที่ท่านไม่เห็นด้วยโดยบริสุทธิ์ใจแล้ว ข้าพเจ้าพร้อมจะขอสละตำแหน่งโดยทันที...”
ช่วงเวลาที่นายเพียร ราชธรรมนิเทศ เป็นประธานสภาผู้แทนนั้น มีเหตุการณ์ที่ควรบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่า เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2492 ที่เมืองโลซานน์ สวิสเซอร์แลนด์ เมื่อความทราบมายังประเทศไทย นายเพียร ราชธรรมนิเทศ ได้มีโทรเลขถวายพระพรในนามสภาผู้แทนราษฎร ว่า “ขอเดชะฝ่าละอองธุลี พระบาท สภาผู้แทนได้รับทราบเรื่องพิธีหมั้นของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกับหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ กิติยากร ด้วยความชื่นชมยินดีโดยพร้อมเพรียงกัน ในนามของสภาผู้แทน ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานตั้งสัตยาธิษฐานขอให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท อีกทั้งคู่หมั้นของพระองค์จงทรงประสพแต่ความสุขสำราญและเจริญด้วยพระชนมายุยิ่งยืนนาน เทอญ” และในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสรงมุรธาภิเษกแล้วทรงเครื่องต้นเสด็จออกประทับเหนือพระที่นั่งอิฐทิศภายใต้ศตปฏลเศวตฉัตร (ฉัตร 7 ชั้น) พราหมณ์ทำพิธีถวายน้ำเทพมนต์เวียนครบ 8 ทิศ แล้ว เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานวุฒิสภา ถวายพระพรเป็นภาษมคธ และนายเพียร ราชธรรมนิเทศ ประธานสภาผู้แทน ถวายพระพรเป็นภาษาไทย จากนั้นพระราชครูวามเทพมุนี จึงถวายนพปฏลมหาเศวตฉัตร (ฉัตร 9 ชั้น) ถวายพระสุพรรณบัฏ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธ อันแสดง ถึงการเข้าสู่พระราชสถานะพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ พระราชพิธีครั้งนั้น นับว่าเป็นมหามงคลอย่างยิ่งของสามัญชนที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่อย่างใกล้ชิด ที่ให้สัญญาไว้กับสมาชิกในคราวเข้ารับตำแหน่ง แต่ก็เพียงชั่วระยะเวลาไม่นานนักก็ต้องสิ้นสุดลง เมื่อมีการรัฐประหารในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ฉบับที่นายเพียร ราชธรรมนิเทศ มีส่วนร่วมในการร่างขึ้นมา
นายเพียร ราชธรรมนิเทศ เมื่อพ้นจากหน้าที่ประธานสภาผู้แทนแล้ว ยังคงได้รับความไว้วางใจจาก “ท่านผู้นำ” เสนอชื่อแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 และได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกเลือกเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร อีกถึงสองสมัยเพื่อใช้ประสบการณ์ช่วยเหลือและสนับสนุนงานพระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนต่อมา
บทส่งท้าย : ปราชญ์แห่งภาษา
ด้วยความที่มีพื้นฐานทางภาษาไทยดีเลิศคนหนึ่ง และมีความแตกฉานด้านภาษาอังกฤษ และใช้ชีวิตความเป็นครูมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง จึงมีบทกวีที่ถ่ายทอดและแปลออกมาเป็นภาษาไทยอย่างไพเราะมากมาย โดยเฉพาะการถ่ายทอดความรัก ความผูกพันของ “แม่” เช่น “What is home without a mother” ท่านได้ถ่ายทอดออกมาเป็น “ไม่มีแม่ บ้านนั้นเป็นไฉน” หรือบทกวีที่ชื่อว่า “My Mother” ของ Ann Taylor บทที่ว่า “Who ran to help when I fell, And would some pretty story tell. Or kiss the place to make it well. My Mother.” ท่านได้แปลออกมาไพเราะอย่างจับใจว่า
เมื่อล้มกลิ้งใครหนอวิ่งเข้าช่วย | และปลอบด้วยนิทานกล่อมขวัญให้ |
หรือจูบที่เจ็บชะมัดเป่าปัดไป | ผู้นั้นไซร้ที่แท้แม่ฉันเอง |
Somebody’ Mother
She ‘s somebody’ mother, boy, you know,
For all She ‘s aged and poor and slow.
เด็กเอ๋ยเด็กรู้ไหมยายคนนั้น | ถึงงงงันงุ่มง่ามตามประสา |
ถึงยากจนเข็ญใจวัยชรา | แกก็เป็นมารดาของบางคน. |
หนังสือแนะนำอ่านต่อ
- สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย
- รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475 - 2517)
บรรณานุกรม
ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. “รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475 - 2517)” ช.ชุมนุมช่าง, พระนคร : 2517
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. “จดหมายข่าวชมรมผู้สูงอายุ” ปีที่ 14 : ฉบับที่ 9 : กันยายน 2551.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2492 (สมัยสามัญ) วันพุทธ ที่ 15 มิถุนายน 2492
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2/2492 (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดี ที่ 23 มิถุนายน 2492
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20/2492 (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดี ที่ 8 กันยายน 2492
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21/2492 (สมัยสามัญ) วันจันทร์ ที่ 12 กันยายน 2492
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. “สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย”. รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1999). กรุงเทพฯ : 2548