เป็นเทคนิคการหาเสียง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:18, 6 สิงหาคม 2567 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''' ''':''' ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข '''ผู้ทรงคุณวุฒิ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

 

          “เป็นเทคนิคการหาเสียง” เป็นคำเรียกของสื่อมวลชนต่อการจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยในการแถลงข่าว เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 ซึ่งผู้สื่อข่าวได้ตั้งคำถามถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยเคยรณรงค์หาเสียงด้วยแคมเปญ “ไล่หนูตีงูเห่า” ก่อนที่จะจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งนายแพทย์ชลน่านได้ตอบว่า “การรณรงค์หาเสียงของเพื่อไทย บางครั้งบางโอกาสกับภูมิใจไทย อาจมีลักษณะกระทบกระทั่งกัน เช่น..การรณรงค์ว่าไล่หนูตีงูเห่า มันเป็นภาพของการรณรงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงเลือกตั้ง”    

 

ยุทธการ “ไล่หนูตีงูเห่า”

          ในวันที่ 18 มิถุนายน 2565 พรรคเพื่อไทยได้กำหนดจัดกิจกรรมครอบครัวเพื่อไทย บ้านหลังใหญ่ หัวใจเดิม ที่จังหวัดศรีสะเกษ "ครอบครัวเพื่อไทยไปศรีสะเกษ ตอน ไล่หนูตีงูเห่า" โดยเป็นรูปแบบการเดินสายพบปะพูดคุยกับประชาชนใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอราษีไศล และอำเภอขุนหาญ นำโดย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมพรรคเพื่อไทยและหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย พร้อมด้วย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. จังหวัดน่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายสุทิน คลังแสง ส.ส. จังหวัดมหาสารคามและรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย รวมทั้ง ส.ส. และสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งในกิจกรรมนี้มีการเปิดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยในจังหวัดศรีสะเกษด้วย[1]

          ที่มาของคำว่า "ไล่หนูตีงูเห่า" นั้น เป็นการเปรียบเปรย ส.ส. พรรคเพื่อไทยของจังหวัดศรีสะเกษ 3 คน ที่โหวตสวนมติพรรคอยู่หลายครั้งว่าเป็น "งูเห่า" ท่ามกลางกระแสข่าวลือในขณะนั้นว่า ส.ส. ทั้ง 3 รายนั้นกำลังจะย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่มีชื่อเล่นว่า "หนู" เป็นหัวหน้าพรรค "ไล่หนูตีงูเห่า" จึงหมายถึงการไล่ไม่ให้นายอนุทินมาดึง ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยอีก อีกทั้งพรรคเพื่อไทยก็ตั้งเป้าชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส. ยกจังหวัดศรีสะเกษด้วย[2]

          ในการปราศรัยที่อำเภออุทุมพรพิสัย ซึ่งเป็นพื้นที่ของ นายอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ ส.ส. พรรคภูมิใจไทย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้กล่าวความตอนหนึ่งว่า "ถ้าที่นี่มีหนูก็คงหนีไป ถ้ามีงูก็คงอกแตกตาย ส.ส. เรา 3 คน ที่พี่น้องเลือกเพราะเขาบอกไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ แต่วันดีคืนร้าย พรรคภูมิใจไทยมาตั้งเวที แล้วชวน ส.ส. เพื่อไทยขึ้นเวทีเปิดตัวว่า อยู่ด้วยกันแล้ว แล้วจะเอาที่เหลือไปด้วย แบบนี้ใครเป็นหนู ใครเป็นงูไม่รู้ แต่คนศรีสะเกษเป็นคน คนมันมีศักดิ์ศรี และถ้าเราไปกับเขา เขาจะเอา พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีก 4 ปี ดังนั้น เลือกตั้งรอบหน้าต้องรวมพลังกันให้เด็ดขาด"[3]

          ส่วนปฏิกิริยาจากพรรคภูมิใจไทยนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ถึงยุทธการดังกล่าว่า"พื้นที่ในแต่ละจังหวัดไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ทุกจังหวัดก็มีผู้แทนของพี่น้องประชาชน คนที่จะเสนอตัวเองเป็นผู้แทนต้องมีวิธีและกลยุทธ์เป็นของตัวเอง ที่จะทำให้ประชาชนเลือกเขาเข้ามา พรรคภูมิใจไทยก็จะมีกลยุทธ์ในแบบของตน พรรคอื่นก็มีกลยุทธ์อื่น ๆ สุดท้ายอยู่ที่การตัดสินใจของประชาชน"[4] ส่วนนายศิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส. ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า “จะมาไล่หนู จะมาตีงู ทำไมคิดชื่อแคมเปญ อย่างนี้ละครับ ฟังดูสะใจนะ แต่มันสะท้อนอะไรให้เห็น ปกติเวลาจะหาเสียง มันก็ควรจะชูนโยบาย แล้วก็มาขอให้ชาวบ้านชาวช่องเขาให้โอกาสป่ะ นี่ทำไมแสดงตัวเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ...ชาวบ้านละเอาคนจังหวัดไหนบ้างก็ไม่รู้ มาด่าคนในพื้นที่ เอาแค่เรื่องปัญหาชาวบ้านก่อน รู้เท่าคนในพื้นที่เขารึเปล่า บอกว่าคนย้ายพรรคเป็นงูเห่า แล้วคนมาพูดบางคน ย้ายมากี่พรรคแล้ว บางเขต เอาคนจังหวัดอื่นมาลงสมัครด้วยซ้ำ....ยิ่งคิดชื่อแคมเปญแบบนี้ ผมยิ่งรู้สึกว่า ดูถูกคนที่เขาอยากพัฒนาบ้านเกิดนะ อุดมการณ์อาจต่างกัน แต่อย่ากล่าวหาว่าคนอุดมการณ์ต่างน่ารังเกียจ วันก่อน มีเพื่อนผู้บริหารพรรคนี้ มาแซวผมว่า พวกคุณจะมาแย่ง จ.ศรีสะเกษ ไปเร๋อ....ผมเลยแหย่ไปขำ ๆ ว่า ไม่นะ ทำไมต้องแย่ง ในเมื่อผมเป็นคนศรีสะเกษ บ้านผมอยู่นี่ คุณอะเป็นคนที่ไหน ทำไมต้องบอกผมมาแย่งคุณ อันนี้คุยกันขำ ๆ แบบเพื่อนนะ การเมืองใหม่ คนรุ่นใหม่ อย่าคิดชื่อที่มันเผ็ดร้อน จนสะท้อนความคิดว่า ทุกอย่างเป็นของตัวเองหมด"[5]

 

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 14 พฤษภาคม 2566

          การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ผลปรากฏว่า มีพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งทั้งหมด 18 พรรค โดยที่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง โดยได้จำนวน ส.ส. มากที่สุด 151 คน ส่วนพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคอันดับ 2 ได้จำนวน ส.ส. ทั้งหมด 141 คน ในขณะที่พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคอันดับ 3 ได้จำนวน ส.ส. ทั้งหมด 68 คน[6] ส่วนในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษนั้น ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. ทั้งหมด 7 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ 1 (นายธเนศ เครือรัตน์) เขตเลือกตั้งที่ 2 (นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์) เขตเลือกตั้งที่ 4 (นายภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ) เขตเลือกตั้งที่ 5 (นายอมรเทพ สมหมาย) เขตเลือกตั้งที่ 6 (นายวีระพล จิตสัมฤทธิ์) เขตเลือกตั้งที่ 7 (นางสาววิลดา อินฉัตร) และเขตเลือกตั้งที่ 9 (นางสาวนุชนาถ จารุวงษ์เสถียร) ส่วนพรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส. ทั้งหมด 2 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ 3 (นายธนา กิจไพบูลย์ชัย) และเขตเลือกตั้งที่ 8 (นายอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ)[7]

 

การจัดตั้งรัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทย

          ภายหลังจากที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566[8] และที่ประชุมประชุมรัฐสภา วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ลงมติตีความและวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เพื่อลงมติให้ความเห็นชอบดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ถือเป็นญัตติซ้ำและต้องตกไป[9] ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 พรรคก้าวไกลได้แถลงส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยที่จะเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยในการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป[10] อย่างไรก็ตาม ในวันต่อมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้เดินทางมายังพรรคเพื่อไทยเพื่อเจรจาการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับแกนนำพรรคเพื่อไทย โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่มีพรรคก้าวไกลในรัฐบาล[11] ก่อนที่ในวันที่ 2 สิงหาคม 2566 พรรคเพื่อไทยแถลงถอนตัวจาก 8 พรรคร่วมเดิม และเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคร่วมใหม่[12]

          ต่อมา ในวันที่ 7 สิงหาคม 2566 พรรคเพื่อไทยได้แถลงจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคภูมิใจไทย โดยในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่มีการจัดกิจกรรม "ไล่หนูตีงูเห่า" แต่วันนี้พรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคภูมิใจไทย จะอธิบายประชาชนอย่างไร นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า "ไล่หนูตีงูเห่า มันเป็นภาพของการรณรงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงเลือกตั้ง กิจกรรมแต่ละครั้งจัดบนวัตถุประสงค์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ๆ มิติทางการเมือง เราไปขอเสียงสนับสนุนจากพี่น้องประชาชน เราไม่เคยประกาศว่าเราเป็นศัตรูกับใคร เราเป็นคู่แข่งกันจริง เทคนิคการหาเสียง วิธีการหาเสียง ต่างฝ่ายต่างมี อันนี้เรียนด้วยความเคารพว่า เราไม่เคยคิดว่าเป็นศัตรูกัน"[13]

          ส่วนนายอดิศร เพียงเกษ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ในวันที่ 8 สิงหาคม 2566 ว่า "วันนั้นตนเองเป็นหนึ่งในแกนนำ คิดขึ้นปราศรัยในเวทีอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ในแคมเปญ "ไล่หนูตีงูเห่า" เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2565 ยอมรับว่า การปราศรัยในวันนั้น ดุเดือด เนื่องจาก สส. ของพรรคเพื่อไทย ย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย จึงทำให้ต้องมีความพยายามดึงคะแนนที่เสียไปกลับมา ซึ่งผลการเลือกตั้ง ส.ส.จังหวัดศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่งกลับมาเกือบหมด ยกเว้น แค่ 1 เขต ที่เป็นของพรรคภูมิใจไทย แต่เมื่อผ่านการเลือกตั้งไป จบก็คือจบ เพราะสิ่งที่ทำไปทำให้ได้ ส.ส. คืนกลับมา"[14]

          ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์จัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค โดยมีจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 314 คน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย (141 ที่นั่ง) พรรคภูมิใจไทย (71 ที่นั่ง) พรรคพลังประชารัฐ (40 ที่นั่ง) พรรคชาติไทยพัฒนา (16 ที่นั่ง) พรรคประชาชาติ (9 ที่นั่ง) พรรคชาติพัฒนากล้า (2 ที่นั่ง) พรรคเพื่อไทยรวมพลัง (2 ที่นั่ง) พรรคเสรีรวมไทย (1 ที่นั่ง) พรรคท้องที่ไทย (1 ที่นั่ง) และพรรคพลังสังคมใหม่ (1 ที่นั่ง)[15] ก่อนที่ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเลือก นายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียง และไม่ลงคะแนน 19 เสียง[16]

           “เป็นเทคนิคการหาเสียง” จึงกลายเป็นคำเรียกขานการจับมือกันเป็นพันธมิตรกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 14 พฤษภาคม 2566 ถึงแม้ว่าจะเคยมีการกระทบกระทั่งกันในการรณรงค์หาเสียงก่อนหน้าการเลือกตั้ง แต่การรณรงค์ดังกล่าวเป็นแต่เพียงวิธีการได้มาซึ่งคะแนนเสียง ก่อนที่ต่อมาจะนำมาสู่การจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันในท้ายที่สุด

 

อ้างอิง

[1] "‘ครอบครัวเพื่อไทย’ ลุย ‘ศรีสะเกษ’ เปิดมหกรรมไล่หนูตีงูเห่า ‘แพทองธาร-ณัฐวุฒิ’ นำทัพ." มติชนสุดสัปดาห์ (16 มิถุนายน 2565). เข้าถึงจาก <https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_567057>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[2] "ทวนความจำ "ไล่หนูตีงูเห่า" ยุทธการหาเสียงพรรคเพื่อไทย." ฐานเศรษฐกิจ (8 สิงหาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.thansettakij.com/thailand-elections/insight-election/572875>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[3] เรื่องเดียวกัน

[4] "อนุทิน มอง พท. บุกไล่หนูตีงูเห่า แค่กลยุทธ์ไม่ขัดแย้ง ยกบิ๊กตู่-ชัชชาติ ยังชื่นมื่น." มติชนออนไลน์ (17 มิถุนายน 2565). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_3405580>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[5] "ภูมิใจไทย เดือด! ซัด พท.แคมเปญ “ไล่หนูตีงูเห่า” สะท้อนความคิด ดูถูกคนที่อยากพัฒนาบ้านเกิด." มติชนสุดสัปดาห์ (18 มิถุนายน 2565). เข้าถึงจาก <https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_567856>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[6] "เลือกตั้ง 2566 : กกต. รายงานผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ก.ก. เหลือ 151 ส.ส. ส่วน ปชป. ได้เพิ่มเป็น 25 ส่งจุรินทร์ผ่านคุณสมบัติเป็นนายกฯ." BBC News ไทย (25 พฤษภาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/articles/c1d34xlzvrlo>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[7] "ศรีสะเกษ ผลการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อไทย กวาด 7 เขต แบ่ง ภูมิใจไทย 2 เขต." กรุงเทพธุรกิจ (15 พฤษภาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/politics/1068404>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[8] "เกาะติดรัฐสภา 13 ก.ค. วันโหวต พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ." BBC News ไทย (13 กรกฎาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/live/thailand-66177028>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[9] "โหวตนายกฯ รอบ 2 "พิธา" ล่ม มติสภา 395 ต่อ 312 เป็นญัตติต้องห้าม ตกไป." ไทยรัฐออนไลน์ (19 กรกฎาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/2710727>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[10] "ก้าวไกลแถลง ส่งไม้ต่อให้ ‘เพื่อไทย’ เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ระบุเป้าหมายไม่ให้รัฐบาลเดิมสืบทอดอำนาจยังอยู่." The Matter (21 กรกฎาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://thematter.co/brief/208967/208967>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[11] "เพื่อไทย-ภูมิใจไทย โชว์ชนช็อกมิ้นต์! ภท. ยื่นเงื่อนไขเขี่ยก้าวไกล ร่วม รบ." Post Today (22 กรกฎาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politics/697447>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[12] "ฉีก MOU แยกทางก้าวไกล เพื่อไทยตั้งรัฐบาลผสมขัวเก่า เสนอ "เศรษฐา" เป็นนายกฯ." ไทยรัฐออนไลน์ (3 สิงหาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/2714274>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[13] "‘ชลน่าน’ ลั่นไล่หนูตีงูเห่า แค่เทคนิคหาเสียง ยืนยัน ภท.เป็นคู่แข่ง แต่ไม่คิดเป็นศัตรูกัน." มติชนออนไลน์ (7 สิงหาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/election66/news_4117650>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[14] "อดิศร" ยัน "ไล่หนูตีงูเห่า" แค่ต้องการดึงคะแนนกลับ เลือกตั้งจบ ก็คือจบ." ไทยรัฐออนไลน์ (8 สิงหาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/2715779>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[15] "เปิดรายละเอียด ‘เพื่อไทย’ แถลงจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค รวม 314 เสียง." Today (21 สิงหาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://workpointtoday.com/formgov-pheuthai/>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[16] "มติรัฐสภา 482:165 โหวต เศรษฐา ทวีสิน นั่งนายกฯ 100 วันหลังเลือกตั้ง." BBC News ไทย (22 สิงหาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/articles/cjjzl7119zqo>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.