พรรคท้องที่ไทย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          พรรคท้องที่ไทย (ท.) ชื่อภาษาอังกฤษ The Party of Thai Counties (PTC) เป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นโดยการประชุมร่วมกันที่ตำบลหนองหลวง อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ และนายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง_(กกต.) ตามมติในการประชุม ครั้งที่ 20/2565 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ได้จดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรคท้องที่ไทยตาม มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งในการก่อตั้งพรรคช่วงแรกมี ดาบตำรวจวีระ หมีทอง เป็นหัวหน้าพรรค และมีนายอรรถษิธ ชื่นสงวน เป็นเลขาธิการพรรค มีคณะกรรมการบริหารพรรคในช่วงแรก จำนวน 11 คน [1]ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ได้มีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคเป็น นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล อดีตกำนันตำบลหนองหลวง อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ และประธานสมาพันธ์กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แห่งประเทศไทย[2] และนายอรรถษิธ ชื่นสงวน เลขาธิการพรรค มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรคอยู่ที่ เลขที่ 991/4-6 ต.หนองหลวง อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์

          นอกจากนี้ พรรคท้องที่ไทยยังถือได้ว่าเกิดจากการรวมตัวของอดีตกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นต้น ซึ่งมีภูมิลำเนาในท้องที่ต่าง ๆ อดีตข้าราชการและข้าราชการบำนาญจากฝ่ายพลเรือน และฝ่ายทหาร และจากหน่วยงานของรัฐที่เรียกรวมกันว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ซึ่งมีความรับผิดชอบด้านบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ประชาชนในท้องที่ชนบทต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร กับภาคธุรกิจ-เอกชน ผู้ประกอบสัมมาชีพและวิชาชีพต่าง ๆ ที่ได้ร่วมเสียสละสนับสนุนภารกิจและกิจกรรมสงเคราะห์และดูแลเติมเต็มชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแก่พี่น้องประชาชนในท้องที่ชนบทต่าง ๆ ตลอดมา นอกจากนี้ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคยังเชื่อว่าราชการบริหารส่วนภูมิภาคและการปกครองท้องที่เท่านั้น เป็นที่พึ่งเดียวของพี่น้องประชาชนในท้องที่ชนบทอย่างแท้จริง ประกอบกับยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่ประกาศตนร่วมรับผิดชอบด้านบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่พี่น้องประชาชนในท้องที่ชนบทต่าง ๆ เลย ทั้งที่ยังมีประชาชนในชนบทอีกมากมายที่รอคอยการเอาใจใส่จากพรรคการเมืองที่มีความรู้และเข้าใจธรรมชาติความต้องการของพี่น้องประชาชนในท้องที่ชนบทอย่างแท้จริง[3] 

          ทั้งนี้ พรรคท้องที่ไทยมีอุดมการณ์ของพรรคที่ว่า “นักปกครองท้องที แก่นความดีของสังคม รวมพลังสามัคคี เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองและประเทศชาติมั่นคง” และคำขวัญ “ทำทันที ทุกท้องที่ที่มีเรา”

 

ตราสัญลักษณ์และการให้ความหมาย

The Party of Thai Counties (1).png
The Party of Thai Counties (1).png

 

          พรรคท้องที่ไทย ใช้เครื่องหมายแผนที่ประเทศไทยสีเขียวเข้มขอบสีขาวลอยดุนนูน สีขาวจากพื้นวงกลมสีฟ้าในวงกลมซ้อนกันสองวง วงนอกมีข้อความครึ่งวงกลมโค้งส่วนบนชื่อพรรคเป็นภาษาไทย “พรรคท้องที่ไทย” ตัวอักษรสีน้ำเงินบนพื้นสีเทาอ่อน และข้อความครึ่งวงกลมโค้งส่วนล่างชื่อพรรคเป็นภาษาอังกฤษ “THE PARTY OF THAI COUNTIES” ตัวอักษรสีขาวบนพื้นสีเขียวเข้มเช่นเดียวกับสีแผนที่ประเทศไทย ชื่อย่อภาษาไทย “ท.” โดย “ท” สีเขียวมะกอกลอยดุนนูนขอบในสีขาวขอบนอก และจุดสีน้ำเงินบนพื้นหกเหลี่ยมสีขาว และชื่อย่อภาษาอังกฤษ “PTC” ตัวอักษร “T” ตรงกลางสีเขียวมะกอกขอบนอก สีขาวและสีน้ำเงินสูงกว่าตัวอักษร “P” และตัวอักษร “C” โดยตัวอักษร “P” และตัวอักษร “C” เป็นสีน้ำเงินลอยดุนนูนขอบในสีขาวขอบนอกสีน้ำเงินบนพื้นหกเหลี่ยมสีขาว โดยมีความหมายดังนี้

          แผนที่ประเทศไทยในวงกลมในสีฟ้า มีจุดเล็ก ๆ สีเขียวเข้มจำนวนมากมายหนาแน่นเต็มพื้นที่จนเป็นพื้นสีเขียวบนภาพแผนที่ประเทศไทย คือ จุดเล็ก ๆ สีเขียวเข้มจำนวนมากมายหนาแน่นเต็มพื้นที่ หมายถึง ทุกท้องที่ที่เป็นหมู่บ้าน ตำบลในทุกพื้นที่ที่มีการจัดการปกครองท้องที่ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 กระจายเต็มพื้นที่ทุกท้องที่ตามแผนที่ราชอาณาจักรไทยอันอุดมสมบูรณ์และเจริญรุ่งเรือง หมายถึง ทุกท้องที่ทุกหนทุกแห่งมีนักปกครองท้องที่ที่จงรักภักดี สนองคุณแผ่นดิน ทำงานต่างพระเนตร พระกรรณ บำบัดทุกข์ บำรุงสุขเพื่อประชาชน อยู่ในพื้นวงกลมสีฟ้า หมายถึง นักปกครองท้องที่ทั้งปวงรวมกันเป็นหนึ่งเดียวอย่างมีเอกภาพ เฉลียวฉลาดเฉียบแหลม มุ่งมั่นทำงานรักษาความสงบเรียบร้อย อนุรักษ์นิยมในวัฒนธรรม จารีตประเพณี เทิดทูนชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์

          หกเหลี่ยมพื้นสีขาวแต่ละด้าน ซ้าย-ขวา ในวงกลมนอก หมายถึง รูปทรงเรขาคณิตที่สมมาตรเป็นโครงสร้างโดยธรรมชาติที่แข็งแรงที่สุดในการจับตัวกันของโมเลกุลตามธรรมชาติ โดยทุกสิ่งอย่างได้จัดเรียงตัวพอดีจึงมีทั้งความยืดหยุ่นและความแข็งแกร่ง แต่ละด้านทั้งหกด้าน หมายถึง การรวมพลังสามัคคีทั้งหกด้าน ประกอบด้วย ด้านที่ 1 นักปกครองท้องที่และประชาชนทุกกลุ่มอาชีพทุกท้องที่ ทั่วราชอาณาจักรไทย ด้านที่ 2 เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนของรัฐทุกหน่วยงานทุกองค์กร ด้านที่ 3 ตำรวจ ด้านที่ 4 ทหารบก ด้านที่ 5 ทหารเรือ และด้านที่ 6 ทหารอากาศ สมัครสมานสามัคคีรวมใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อพัฒนาชาติบ้านเมือง รักษาความสงบเรียบร้อยและอธิปไตยของชาติ

          สีเขียวเข้ม หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์

          สีเขียวมะกอกหรือสีกากีแกมเขียว หมายถึง สีแห่งแผ่นดิน

          สีเทา หมายถึง ความเป็นมิตร อ่อนน้อมถ่อมตน มีศักดิ์ศรี มีไหวพริบปฏิภาณ ปัญญา และสง่างาม

          สีขาว หมายถึง ความดี ความบริสุทธิ์ ความสะอาด ความสว่าง ความมีเมตตา และความจริง

          สีน้ำเงิน หมายถึง ความสุขุม หนักแน่น ละเอียดรอบคอบและสถาบันพระมหากษัตริย์[4]

 

ปัจจุบันคณะกรรมการบริหารพรรคท้องที่ไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 25 คน โดยได้รับการแต่งตั้งตั้งแต่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ดังมีรายนามต่อไปนี้

ลำดับ

ชื่อ-สกุล

ตำแหน่ง

1

นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล

หัวหน้าพรรค

2

นายประสิทธิ์ ศรีสิงห์

รองหัวหน้าพรรค

3

นายอรรถษิธ ชื่นสงวน

เลขาธิการพรรค

4

นางสาวศิรประภา สอนชม

เหรัญญิกพรรค

5

นายสมพร นนท์จันทร์

นายทะเบียนสมาชิกพรรค

6

นายพลังบุญ ศรีนุต

โฆษกพรรค

7

นายทนงศักดิ์ ศิริรัตน์

กรรมการบริหารพรรค

8

นางสาวกันยา ศศิบุตร

กรรมการบริหารพรรค

9

นายกิตติ สาทองขาว

กรรมการบริหารพรรค

10

นางสาวเกศณฐพร ขุนทรง

กรรมการบริหารพรรค

11

นายจำลอง มาลี

กรรมการบริหารพรรค

12

นายเอนก เขียวเกษม

กรรมการบริหารพรรค

13

นายบุญเพ็ง ศรีนวล

กรรมการบริหารพรรค

14

นายชวลิต เกริกชัยวัน

กรรมการบริหารพรรค

15

นายเมธี ฉัตรทอง

กรรมการบริหารพรรค

16

นายเมธี ฉัตรทอง

กรรมการบริหารพรรค

17

นายวีระชัย ผงพิลา

กรรมการบริหารพรรค

18

นายวีระศักดิ์ จำปาพันธ์

กรรมการบริหารพรรค

19

นายสังเวียน อยู่เพชร     

กรรมการบริหารพรรค

20

นายสุรพล ฉิมสุข

กรรมการบริหารพรรค

21

นายอานุภาพ ธีรณิศรานนท์

กรรมการบริหารพรรค

22

นายอุเทน สว่างจิต

กรรมการบริหารพรรค

23

นางฐานิภัทร จินตนปัญญา

กรรมการบริหารพรรค

24

จ่าโททิตา แสงพิทักษ์

ผู้ช่วยนายทะเบียนสมาชิกพรรค

25

จ่าโททิตา แสงพิทักษ์

ผู้ช่วยเหรัญญิกพรรค

 

          จากฐานข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งพบว่า ข้อมูลสมาชิกพรรคท้องที่ไทยมีสมาชิกทั้งหมด 7,387 คน โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ จำนวน 4,693 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 1,137 คน ภาคกลาง 868 คน และภาคใต้ จำนวน  689 คน ทั้งนี้ มีข้อมูลสาขาพรรคทั้งหมด 4 แห่ง โดยกระจายอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ภาคละ 1 แห่ง นอกจากนี้ด้านข้อมูลตัวแทนทั้งหมด 3 แห่ง โดยทั้งหมดอยู่ในภาคเหนือ[5]

 

พรรคท้องที่ไทยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566

          ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกของพรรคท้องที่ไทย ได้ส่งผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต จำนวน 3 เขตเลือกตั้ง ในจังหวัด กำแพงเพชร เชียงราย และนครสวรรค์ โดยส่งผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 14 คน และมีนายบัญชา เดชเจริญศิริกุล หัวหน้าพรรคเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

          ด้านนโยบายที่ใช้ในการหาเสียง ได้แก่ การแก้ปัญหาที่ดินทำกินประชาชนต้องมีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน แก้ปัญหายาเสพติดด้วยเครือข่ายกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จำนวน 75,038 แห่ง การดูแลปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐ-เงินเดือน สวัสดิการ เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ ด้านเศรษฐกิจ เกษตรกร ทำนา ทำไร่ ทำสวน ปรับค่าตอบแทนกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน มีสถาบันเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนและความสงบสุขของบ้านเมือง ให้ความรู้ต่อยอดการทำมาหากินอาชีพต่าง ๆ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ ช่วยทำข้าวให้มีราคาช่วยชาวนาให้มีกิน เป็นต้น[6]

          ส่วนนโยบายที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างมาก ได้แก่ นโยบาย “งานศพไม่เศร้า เขย่าได้” ที่ตนตั้งใจนำเสนอในเรื่องของงานศพของชาวบ้าน สามารถไปขออนุญาตให้เปิดการตั้งวงเล่นพนัน อย่างวงไพ่ และไฮโลได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งนายบัญชา เดชเจริญศิริกุล หัวหน้าพรรค นำเสนอว่านโยบายดังกล่าวเกิดจากการที่ตนลงพื้นที่พบปะชาวบ้านและขอให้พรรคช่วยนำเสนอชูนโยบายนี้ และถือเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านชนบทที่จะได้นำเงินบางส่วนในการเล่นได้เสีย ไปมอบช่วยเหลือให้กับเจ้าภาพเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงาน[7]

 

ภาพ : แสดงสื่อและการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคท้องที่ไทยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566[8]

The Party of Thai Counties (2).jpg
The Party of Thai Counties (2).jpg
The Party of Thai Counties (3).png
The Party of Thai Counties (3).png
The Party of Thai Counties (4).jpg
The Party of Thai Counties (4).jpg

 

          ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 แม้ว่าพรรคท้องที่ไทยจะไม่ได้รับการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต แต่ได้รับคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 197,543 คะแนน คิดเป็น ร้อยละ 0.50 เป็นผลให้ นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล ผู้สมัครบัญชีรายชื่อ อันดับ 1 ของพรรคได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงคนเดียวของพรรค

 

ตาราง : แสดงผลคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต สังกัดพรรคท้องที่ไทย[9]

ชื่อ-สกุลผู้สมัคร

จังหวัด

เขตเลือกตั้ง

คะแนนที่ได้รับ (ร้อยละ)

นายสังวาลย์ แววนำ

กำแพงเพชร

เขต 3

395 0.42%

นายวิฑูรณ์ ราชตรี

เชียงราย

เขต 2

362 0.35%

นายธวัชชัย สุขีโสตร์

นครสวรรค์

เขต 5

446 0.43%

 

          อย่างไรก็ดี ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกใน วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 พรรคท้องที่ไทยลงมติไม่เห็นชอบให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะที่การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง ซึ่งที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นว่าการเสนอชื่อนายพิธา เป็นการเสนอญัตติซ้ำส่งผลให้การเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำอีกครั้งไม่สามารถทำได้ ต่อมาในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566 พรรคท้องที่ไทยได้ร่วมลงมติเลือก นายเศรษฐา ทวีสิน ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ถือเป็นหนึ่งใน 11 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย (ส.ส. 141 คน), พรรคภูมิใจไทย (ส.ส. 71 คน), พรรคพลังประชารัฐ (ส.ส. 40 คน), พรรครวมไทยสร้างชาติ (ส.ส. 36 คน), พรรคชาติไทยพัฒนา (ส.ส. 10 คน), พรรคประชาชาติ (ส.ส. 9 คน), พรรคชาติพัฒนากล้า (ส.ส. 2 คน), พรรคเพื่อไทรวมพลัง (ส.ส. 2 คน), พรรคเสรีรวมไทย (ส.ส. 1 คน), พรรคพลังสังคมใหม่ (ส.ส. 1 คน), พรรคท้องที่ไทย (ส.ส. 1 คน)[10]

 

อ้างอิง

[1] “ข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ ณ วันที่8 มีนาคม 2566 ”, สืบค้นจาก  https://www.ect.go.th/ect_th/download/ article/article_20230309130907.pdf(11 กรกฎาคม 2566).

[2] “‘บัญชา เดชเจริญศิริกุล’ ผู้ทิ้งตำแหน่ง ‘กำนัน’ หันมาลุยการเมืองทั้งที่ตัวเองไม่ชอบ”, สืบค้นจาก  https://www.thepeople. co/politics/politician/51761(11 กรกฎาคม 2566).

[3] “ข้อมูลพรรค”, สืบค้นจาก  https://ptc.or.th/(11 กรกฎาคม 2566).

[4] “ตราเครื่องหมายพรรคการเมืองและความหมาย”, สืบค้นจาก https://ptc.or.th/about/(11 กรกฎาคม 2566).

[5] “พรรคท้องที่ไทย”, สืบค้นจาก https://party.ect.go.th/dataparty-detail/144(11 กรกฎาคม 2566).

[6] “ท้องที่ไทย”, สืบค้นจาก https:// www.vote62.com/party/ท้องที่ไทย/(11 กรกฎาคม 2566).

[7] “นโยบาย "งานศพไม่เศร้าเขย่าได้" โดนใจชาวบ้าน ทำพรรคท้องที่ไทยได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 ที่นั่ง”, สืบค้นจาก https://www. amarintv.com/news/detail/176059(11 กรกฎาคม 2566).

[8] “นโยบาย "งานศพไม่เศร้าเขย่าได้" โดนใจชาวบ้าน ทำพรรคท้องที่ไทยได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 ที่นั่ง”, สืบค้นจาก https://www. amarintv.com/news/detail/176059(11 กรกฎาคม 2566).

[9]“ผลการเลือกตั้งปี 2566 อย่างไม่เป็นทางการ”, สืบค้นจาก https://www2.ectreport.com/by-party(11 กรกฎาคม 2566).

[10] “เพื่อไทยปิดดีลรัฐบาล 314 เสียง แจกเก้าอี้ ครม. 6 พรรค มั่นใจเสียงโหวตหนุนเศรษฐานั่งเก้าอี้นายกฯ”, สืบค้นจาก https:// www.bbc.com/thai/articles/cjeq4qdnyq2o (31 สิงหาคม 2566).