การชุมนุมประท้วงของนักเรียนมัธยม นักศึกษา และคนหนุ่มคนสาว พ.ศ. 2563
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู
พ.ศ. 2563 เป็นปีที่มีนักเรียนมัธยม นักศึกษามหาวิทยาลัย และคนหนุ่มคนสาวเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงรัฐบาลถี่มากที่สุดเท่าที่เคยปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะการออกมาชุมนุมประท้วงของนักเรียนระดับมัธยมโดยเอกเทศ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน[1] เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
หากติดตามความเคลื่อนไหวของ นักเรียน นักศึกษา และคนหนุ่มสาวในการจัดชุมนุมประท้วงรัฐบาล เราจะพบว่าเริ่มขึ้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรคอนาคตใหม่ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา ขบวนการชุมนุมประท้วงรัฐบาลได้อุบัติขึ้น กว้างขวางกระจายหลายจุดทั่วประเทศ[2] และการชุมนุมประท้วงเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่และถี่มาก[3] จะมีช่วงเวลายกเว้นก็เฉพาะระหว่างเดือน มีนาคม-มิถุนายน ที่รัฐบาลประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ห้ามการชุมนุมสาธารณะ เพราะโรคระบาดโควิด-19 ไม่เพียงเท่านี้ การชุมนุมประท้วงรัฐบาลยังกระจายไปถึงคนไทยในต่างประเทศ เช่น ที่นครลอนดอน นครนิวยอร์ค[4]
ทำไมคนหนุ่มคนสาวต้องเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงรัฐบาลด้วยเรื่องยุบพรรคอนาคตใหม่ หากยุบพรรคการเมืองอื่นพวกเขาจะเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงไหม คำตอบคงชัดเจนว่า “ไม่” และคงจะพอใจเป็นพิเศษหากมีการยุบพรรคที่เกี่ยวพันอยู่กับคณะรัฐประหาร แสดงว่าเยาวชนเหล่านี้มีใจผูกพันอยู่กับพรรคอนาคตใหม่ และคงเห็นว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการกระทำที่ “ไม่เป็นธรรม” ซึ่งพวกเขายอมรับไม่ได้ ที่กล่าวเช่นนี้ ไม่ได้เป็นการลงความเห็นว่าใครผิดใครถูก เป็นผลดีหรือผลร้ายต่อประเทศ แต่เป็นการพูดถึงสภาวะจิตใจของคนหนุ่มคนสาวที่เป็นเสมือนผ้าขาวบริสุทธิ์ มองอะไรแบบ “ดำ” กับ “ขาว” ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวพันได้เสียเหมือนกับผู้ใหญ่ที่ทำงานแล้ว มีตำแหน่งหน้าที่ มีผลประโยชน์เป็นเดิมพันได้เสีย ไม่มองปัญหาแบบคนหนุ่มสาวมอง มองว่าในดำมีขาว ในขาวมีดำ
ประเด็นในที่นี้มีว่าทำไมคนหนุ่มสาวจึงไม่พอใจรัฐบาล หากมองย้อนกลับไปในช่วงของการรัฐประหารใหม่ใน พ.ศ. 2557 รัฐบาลของคณะรัฐประหารได้โหมประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐบาลว่าจะรีบจัดการกับปัญหาของบ้านเมือง แล้วจะคืออำนาจให้ประชาชนโดยไม่ชักช้า ดังเนื้อร้องของเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” ที่ประพันธ์เนื้อเพลงโดย พลเอกประยุทธ์_จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหารครั้งดังกล่าวว่า
วันที่ชาติและองค์ราชา มวลประชาอยู่มาพ้นภัย ขอดูแลคุ้มครองด้วยใจ นี่คือคำสัญญา วันนี้ชาติเผชิญพาลภัย ไฟลุกโชนขึ้นมาทุกครา ขอเป็นคนที่เดินเข้ามา ไม่อาจให้สายไป เพื่อนำรักกลับมา ต้องใช้เวลาเท่าไร โปรดจงรอได้ไหม จะข้ามผ่านความบาดหมาง เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา เราจะทำอย่างซื่อตรง ขอแค่เธอจงไว้ใจและศรัทธา แผ่นดินจะดีในไม่ช้า ขอคืนความสุขให้เธอ ประชาชน วันนี้ต้องเหน็ดเหนื่อยก็รู้ จะขอสู้กับอันตราย ชาติทหารไม่ยอมแพ้พ่าย นี่คือคำสัญญา...[5]
จากเนื้อเพลงจะเห็นได้ว่า คสช. หรือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นสัญญาไว้อย่างมั่นเหมาะแก่ประชาชน ซึ่งแน่นอนมีความหลากหลายทั้งรักทั้งชัง แต่การให้คำมั่นสัญญาแล้วทำไม่ได้ตามสัญญาก็ทำให้คนรักเปลี่ยนใจเป็นชังได้และคนที่ชั่งอยู่แล้วยิ่งชังมากขึ้นไปอีก ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่คนหนุ่มคนสาวที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ย่อมถือคำมั่นสัญญาเป็นสำคัญ เมื่อรัฐบาลคณะรัฐประหารผิดสัญญา อีกทั้งยังคุกคามนักเรียนนักศึกษาที่สนใจการเมือง จึงเกิดปฏิกิริยาเป็นเรื่องธรรมดา[6] เพราะเรื่องการรักษาคำมั่นสัญญาเป็นเรื่องที่สังคมไทยให้คุณค่า และก็สั่งสอนกันต่อมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวิชาลูกเสือที่ว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์”
เรื่องเกี่ยวกับการเสียสัตย์ทางการเมืองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่คราวที่ พลเอกสุจินดา_คราประยูร สัญญากับประชาชนว่า “จะไม่สืบทอดอำนาจหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2534” แต่แล้วก็กลับคำหลังเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2535 กลับเข้ารับตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล ทำให้เกิดการประท้วงอย่างกว้างขวางและยืดเยื้อในใจกลางกรุงเทพฯ จนบานปลายกลายเป็นเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”
อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วงรัฐบาลของนักเรียนระดับมัธยมโดยตรง คือ การที่ครูและอาจารย์ในโรงเรียนปฏิบัติตัวอยู่ในโอวาทของกระทรวงศึกษาอย่างเคร่งครัดในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของนักเรียนในการแสดงออกทางการเมือง ทำให้นักเรียนไม่พอใจต่อครูและโรงเรียนที่ขาดความตระหนัก และความตื่นตัวในทางการเมือง ยอมให้คณะรัฐประหารและนักการเมืองกดหัว ในขณะที่สื่อสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์โจมตีรัฐบาล และคณะรัฐประหารอย่างหนักอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังมีเรื่องซุบซิบในทางลบเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันเบื้องสูงอยู่มากบ้างน้อยบ้างเสมอมา ในสื่อสังคมออนไลน์ประกอบกับความไม่พอใจของนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่มองว่าครูและโรงเรียนเคร่งครัดในเรื่องการแต่งกายและทรงผมของนักเรียนมากเกินไป ในขณะที่ไม่ทุ่มเทพัฒนาในเรื่องคุณภาพการเรียนการสอนให้ทันยุคทันสมัย ห่วงใยแต่เฉพาะความก้าวหน้ามั่นคงของตัวเอง ไม่ห่วงใยอนาคตของนักเรียน
สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ของไทยได้ทำการสัมภาษณ์นักเรียนและครูโรงเรียนมัธยมจำนวนหนึ่งมีข้อสรุปว่า นักเรียนชุมนุมประท้วงรัฐบาลเป็นเพราะ “ถูกคุกคาม จึงต้องลุกขึ้นมาพูด อยากเห็นอนาคตที่ดี ท่ามกลางชีวิตที่สิ้นหวัง เหตุผลนักเรียนมัธยมฯ ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในโรงเรียน ครูบางส่วนพร้อมเปิดพื้นที่รับฟัง แต่ครูส่วนหนึ่งยังมองว่าโรงเรียนควรเป็นกลางทางการเมือง”[7]
ตามสถิติที่ของ BBC ในช่วงหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 มีนักเรียนนักศึกษาของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจัดชุมนุมประท้วงรัฐบาล กระแสความไม่พอใจของกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่มียอดทวิต มากกว่า 1 ล้านครั้ง[8] และเมื่อรัฐบาลยกเลิกการใช้บังคับพระราชการกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ห้ามการชุมนุมสาธารณะ เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน ในปีเดียวกันการชุมนุมในเดือนถัด ๆ มาของนักเรียนนักศึกษาก็อุบัติขึ้นเกือบจะเป็นรายวัน โดยเป็นการชุมนุมแบบแฟลชม็อบในลักษณะของการแสดงสัญลักษณ์ชูป้าย ชู 3 นิ้ว ผูกโบว์ขาว คัดค้านรัฐบาล พร้อมทั้งเรียกร้อง 3 ข้อ คือ หยุดคุกคามประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญ และยุบสภา แล้วเลิกราในวันเดียว ส่วนการนัดหมายการชุมนุมทำแบบกะทันหันผ่านทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ นัดสถานที่ นัดเวลาชุมนุม เพื่อหลีกเลี่ยงการขัดขวางของตำรวจ
จุดเด่นในการชุมนุมของนักเรียนมัธยมในครั้งนี้ประการหนึ่ง คือ มีการชุมนุมเรียกร้องและชุมนุมประท้วงหน้ากระทรวงศึกษาธิการ โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม โดยกลุ่มที่เรียกตัวเองแบบประชดว่า กลุ่ม “นักเรียนเลว” เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ประชุมครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2563 มีนักเรียนระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายกว่า 30 โรงเรียน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ต่อรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ คือ
1. หยุดคุกคามนักเรียน[9]
2. ยกเลิกกฎระเบียบล้าหลัง และ
3. ปฏิรูปการศึกษา พร้อมกับเงื่อนไขว่าหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการทำไม่ได้ให้ลาออก[10]
หลังการประชุมครั้งดังกล่าวนี้ยังมีการชุมนุมไล่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของนักเรียนในโอกาสต่าง ๆ เช่น การชุมนุมเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน[11] วันที่ 21 พฤศจิกายน และวันที่ 1 ธันวาคม[12]
โรงเรียนที่เป็นหัวหอกในการชุมนุมประท้วงที่โดดเด่น ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนศึกษานารี โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โรงเรียนบดินทร์เดชา โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) ฯลฯ ในส่วนของมหาวิทยาลัยของรัฐ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ต่างมีการจัดชุมนุมกันต่อเนื่องเป็นระลอกตลอดปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 ก็ยังไม่หยุด
ส่วนการชุมนุมที่จุดประเด็นร้อนแรงในสังคมไทย คือ การชุมนุมช่วงเย็นถึงหัวค่ำของ วันที่ 7 สิงหาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ภายใต้ชื่อ “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” มีผู้เข้าร่วมจากหลายกลุ่มและหลายมหาวิทยาลัย ประมาณ 3,000 คน ใช้คำขวัญว่า “เราไม่ทนต่อการปฏิรูป เราต้องการปฏิวัติ” มีการประกาศข้อเสนอ 10 ข้อ เพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และวันที่ 26 สิงหาคม กลุ่มนักศึกษายื่นข้อร้องเรียน รวมทั้งข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อสภาผู้แทนราษฎร นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้คนในบ้านเมืองตกใจอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ไม่กล้าทำ แต่เด็กนักเรียนนักศึกษาทำไปอย่างไร้เดียงสาตามที่ทฤษฎีชี้นำ[13] นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงในลักษณะต่าง ๆ นานา ทั้งในด้านบวกและด้านลบ
ในด้านบวกมองว่า หากมีการปฏิรูปตามข้อเสนอจะเป็นการธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ยืนยาวและมั่นคง เพราะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองอันจะทำให้สถาบันถูกโจมตีวิพากษ์วิจารณ์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ อุปมาการเรียกร้องให้ปฏิรูป 10 ข้อ ดังกล่าวเสมือนเด็กที่ไปตะโกนว่า “The king is naked” ในนิทานอีสปเรื่อง “พระราชากับชุดล่องหน”[14] ในแง่ลบมองว่าเป็นการล่วงละเมิดพระราชอำนาจ เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งนำไปสู่การจับกุมฟ้องร้องนักเรียนนักศึกษาและผู้ชุมนุมในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจำนวนหลายราย
การชุมนุมเรียกร้องให้ปฏิรูปทางการเมืองและการศึกษาต่าง ๆ เหล่านี้ กดดันรัฐบาลและนักการเมืองให้ต้องแสดงท่าทีสนองตอบต่อข้อเรียกร้องของนักเรียนและนักศึกษาไม่มากก็น้อย และเป็นผลให้พรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 และที่ประชุมรัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 18 พฤศจิกายน[15] แต่การรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะมีผลให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยอย่างที่นักเรียนนักศึกษาเรียกร้องหรือไม่คงต้องรอดูกันต่อไป เพราะกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นยากและยาวนานมาก บางเสียงก็บอกว่า “เป็นเกมซื้อเวลา” ฝันคงเป็นจริงยาก
อ้างอิง
[1] 2563..ปีแห่งการชุมนุม ทลายเพดานและคดีความทางการเมือง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights), tlhr2014.com, 14/06/2021
[2] “แฟลชม็อบนักเรียน-นักศึกษา ประกายไฟในกระทะหรือเพลิงลามทุ่ง” BBC News I ไทย 28 กุมภาพันธ์ 2020 (bbc.com) 13/06/2564
[3] จากช่วงเวลาที่มีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ถึง 31 กรกฎาคม 2563 มีการชุมนุมหรือกิจกรรมประท้วง 75 ครั้ง ใน 44 จังหวัดของประเทศ การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563-2564.. การแสดงอาระขัดขืนต่อรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และผู้เกี่ยวข้อง (th.m.wikipedia.org) 13/06/2564
[4] การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563-2564.. การแสดงอาระขัดขืนต่อรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และผู้เกี่ยวข้อง (th.m.wikipedia.org) 13/06/2564
[5] บทเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” นี่คือคำสัญญาจากสัญญาจากใจพลเอก ประยุทธ์ 16 มิถุนายน 2557 (https://www.voicetv.co.th>content) 13/06/2564.
[6] คำสัมภาษณ์ของน้องบี (นามสมมุติ) นักเรียน ม. 6 แห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “ผมออกไปชุมนุมนอกโรงเรียนนั่งแถวหน้าสุด แต่ถูกถ่ายภาพไปออกข่าวจนคนที่โรงเรียนรู้ แล้วมาบอกว่าผมจะจัดม็อบในโรงเรียน ทั้งที่ผมยังไม่รู้เรื่องวันต่อมาก็มีตำรวจมาตามถึงที่บ้าน โรงเรียนไม่ออกมาปกป้องหรือพูดอะไรเลย” Q&A: นักเรียนกำลังคิดอะไรอยู่- ครูรู้สึกแบบไหน ? #ชุมนุมใน รร. (ข่าวไทยพีบีเอส 23 สิงหาคม 2563)
[7] Q&A: นักเรียนกำลังคิดอะไรอยู่- ครูรู้สึกแบบไหน ? #ชุมนุมใน รร. (ข่าวไทยพีบีเอส 23 สิงหาคม 2563)
[8] “แฟลชม็อบนักเรียน-นักศึกษา ประกายไฟในกระทะ หรือ เพลิงลามทุ่ง” BBC News/ ไทย 28 กุมภาพันธ์ 2020 (bbc.com) 14/06/2564
[9] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่ามีนักเรียนและนักศึกษาอย่างน้อย 103 คนที่ถูกคุกคามหลังร่วมชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง หรือแสดงออกทางการเมืองในเดือนสิงหาคม 2563 โครงการอินเทอร์เน๊ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่ามีนักเรียนอย่างน้อย 34 คน ในกรุงเทพฯ นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ราชบุรี ร้อยเอ็ด ฯลฯ ถูกคุกคามในรูปแบบต่างๆ ดู “นักเรียนเลว..การศึกษาห่วยแตก เราจึงต้องเรียกร้องให้ปฏิรูป ข่าวจริง วันที่ 13 ตุลาคม 2020 (benarnews.org) 14/06/2564
[10] “กลุ่มนักเรียนเลว” ยื่น 3 ข้อเสนอ กร้าวถ้าทำไม่ได้ รมว.ศธ.ต้องลาออก” MGR ONLINE, 6 กันยายน 2563 (mgronline.com) 14/06/2564
[11] “กลุ่มนักเรียนเลวยกระดับเคลื่อนไหว นัดชุมนุมใหญ่ 21 พ.ย.นี้ ให้เสียงนักเรียนไปถึงนายกฯ หลัง รมว.ศึกษาฯ ไม่ตอบสนอง” The Standard Team 06/11/2020
[12] “กลุ่มนักเรียนเลว นัดรวมตัวทำกิจกรรมหน้า ก. ศึกษาธิการ” ข่าวไทยพีบีเอส 1 ธันวาคม 2563 ค้นคว้า 14/06/2564
[13] การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563-2564.. การแสดงอาระขัดขืนต่อรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และผู้เกี่ยวข้อง (th.m.wikipedia.org) 13/06/2564
[14] “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน”.. นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์ปรากฏการณ์ “ขยับเพดาน” BBC News/ ไทย 11 สิงหาคม 2020 (bbc.com) 14/06/2564
[15] “ประชุมรัฐสภา..รัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขรธน.มาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร. ของฝ่ายค้านและรัฐบาล” BBC News/ไทย 18 พฤศจิกายน 2020 (bbc.com) ค้นคว้า 14/06/2564