นักเรียนเลว
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และ ธีทัต จันทราพิชิต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
นักเรียนเลวเป็นชื่อกลุ่มการเคลื่อนไหวที่เน้นขับเคลื่อนในประเด็นสิทธิเกี่ยวกับระบบการศึกษา และกลุ่มนักเรียนเลวได้ก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในกลุ่มเคลื่อนไหวที่มีบทบาทโดดเด่นและเป็นที่สนใจอย่างมากในช่วงการชุมนุมประท้วงในประเทศไทยในช่วง ปี 2563
กำเนิดและเป้าหมายของการเคลื่อนไหว
กลุ่มนักเรียนเลวก่อตั้งในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 โดยวางเป้าหมายสำคัญของการเคลื่อนไหวไปในประเด็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของนักเรียนในระบบการศึกษา โดยกลุ่มนักเรียนเลวเป็นกลุ่มหลักที่จัดกิจกรรมเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษาใน วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2563 [1] กิจกรรมบ๊ายบายไดโนเสาร์ [2]และกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ชูสามนิ้วร้องเพลงชาติ และใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน[3]
จุดเด่นของกลุ่มนักเรียนเลว
กลุ่มนักเรียนเลวมองว่าระบบการศึกษาของไทยมีปัญหาเป็นอย่างมาก แต่ส่วนมากปัญหาที่กลุ่มนักเรียนเลวสนใจเป็นพิเศษจะเป็นปัญหาเชิงวัฒนธรรมอย่างเช่น ประเด็นการไว้ทรงผม การแต่งชุดนักเรียน การเข้าแถวเคารพธงชาติ ไปจนถึงประเด็นเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน หรือสิทธิเสรีภาพทางเพศในวัยเรียน
กิจกรรมที่กลุ่มนักเรียนเลวจัดเป็นกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการแย่งชิงความหมายทางวัฒนธรรมเสียเป็นส่วนมาก ตัวอย่างเช่นกิจกรรมการเข้าแถวเคารพธงชาติ ทั่วไปแล้วกิจกรรมของนักเรียนเลวจะมีความหมายในเชิงชาตินิยม จนไปถึงอำนาจนิยม กลุ่มนักเรียนเลวเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ใช้วิธีการชูสามนิ้วขณะเข้าแถวเคารพธงชาติจนในหลาย ๆ โรงเรียนไม่กล้าที่จะจัดกิจกรรมเคารพธงชาติไปพักหนึ่ง นอกจากนั้นกลุ่มนักเรียนเลวยังมีกิจกรรมอย่างเชิญชวนให้นักเรียนทุกโรงเรียนทำการใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนโดยนัดเป็นวันโดยเฉพาะ ซึ่งทำให้หลายโรงเรียนต้องออกแถลงการณ์ตามระเบียบ โดยส่วนหนึ่งก็แสดงท่าทียอมรับได้ แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่แสดงท่าทียอมรับกิจกรรมดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้หนึ่งในประเด็นที่กลุ่มนักเรียนเลวขับเคลื่อนอย่างหนักคือ ประเด็นเรื่องเพศทั้งกลุ่มหลากหลายทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นจุดเด่นที่สำคัญที่สุดจุดหนึ่งของกลุ่มนักเรียนเลว
การเคลื่อนไหวใน ปี 2563
กลุ่มนักเรียนเลวได้ปรากฏการเคลื่อนไหวผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊คในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 โดยกิจกรรมแรกที่ทางกลุ่มนักเรียนเลวได้ทำการเคลื่อนไหวเป็นการเคลื่อนไหวในเรื่องของทรงผมใน วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2563[4] ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊คเป็นการออกแถลงการณ์ถึงกรณีผู้ประกอบอาชีพครูทำการกล้อนผมเด็ก โดยกลุ่มนักเรียนเลวได้อธิบายว่าได้เคลื่อนไหวในทวิตเตอร์ก่อนหน้านั้นประมาณ 2 เดือนแล้ว[5]
นอกจากการเคลื่อนไหวทางโซเซียลมีเดียแล้วนักเรียนเลวยังได้เคลื่อนไหวผ่านการจัดการชุมนุม โดยช่วงแรกการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนเลวมักจะเป็นการชุมนุมที่ใช้กระทรวงศึกษาเป็นที่นัดชุมนุม โดยในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ทางกลุ่มนักเรียนเลวก็ได้ทำการประกาศจะนัดชุมนุมในช่วงเย็นของ วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มนักเรียนในระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา โดยมีชื่อกิจกรรมว่า “นักเรียนไทยไม่ไหวแล้วโว๊ย” โดยมีจุดยืนด้วยกัน 3 ข้อ ได้แก่
1. คุณครูต้องไม่ทารุณกรรมนักเรียน
2. กฎระเบียบต้องไม่ละเมิดสิทธินักเรียน
3. นักเรียนต้องสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างมีเสรีภาพ
กิจกรรมการแสดงออกในวันดังกล่าวทางแฟนเพจนักเรียนเลวได้ทำการอธิบายใน วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ได้แก่ การปราศรัยปัญหาการศึกษาไทยไม่ว่าจะเชิงโครงสร้างหรือที่เห็นเป็นที่ประจักษ์ ส่งของหายคืนกระทรวงศึกษาซึ่งเป็นการส่งสิ่งของที่ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ไม่ว่า ไม้เรียว หรือ ชุดนักเรียน ร้องเพลงลามะลิลาเสียดสีการศึกษา แล้วก็แจวเรือตามหาการศึกษาที่มีคุณภาพ[6]
ต่อมาใน วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ก็ได้มีการนัดชุมนุมอีกครั้งโดยทางกลุ่มนักเรียนเลวได้พุ่งเป้าไปที่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา โดยการชุมนุมนั้นผู้ชุมนุมจำนวนมากแต่งชุดนักเรียนโดยใช้เทปกาวปิดชื่อสถาบันหรือชื่อนามสกุลของผู้เข้าร่วม มีการชูสามนิ้วตอนเคารพธงชาติ พร้อมกันนั้นก็ใช้การเป่านกหวีดเพื่อทำการแสดงความไม่พอใจต่อ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ซึ่งเคยเป็นแกนนำกลุ่ม กปปส. ในการใช้นกหวีดเป็นสัญลักษณ์[7]
ในวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2563 ทางกลุ่มนักเรียนเลวก็ได้รวมตัวกับเครือข่ายกลุ่มการเคลื่อนไหวที่อยู่ตามโรงเรียนต่าง ๆ แล้วจัดม็อบหน้ากระทรวงศึกษาอีกครั้งโดยพุ่งเป้าไปที่การอภิปรายปัญหาระหว่างสมาชิกกลุ่มนักเรียนเลวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา[8]
ในช่วง ปี 2563 นอกจากที่กลุ่มนักเรียนเลวจะพยายามเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาหรือ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ต่อมายังได้เคลื่อนไหวขยายประเด็นไปสู่เรื่องอื่น ๆ โดยในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ทางกลุ่มนักเรียนเลวได้ทำการจัดกิจกรรมบ๊ายบายไดโนเสาร์[9] มีประเด็นทั้งการละเมิดทางเพศในสถานศึกษา เรื่องของเพศทางเลือกในระบบการศึกษาไปจนถึงประเด็นอื่น ๆ อย่างงบกระทรวงกลาโหมและการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือของรัฐ
ในช่วงปลาย ปี 2563 กิจกรรมหนึ่งที่กลุ่มนักเรียนเลวได้รณรงค์ให้ใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนใน วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยทางกลุ่มนักเรียนเลวได้เข้าร่วมกับกลุ่มภาคีนักเรียน KKC ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับจากนักเรียนบางส่วน แต่สามารถสร้างพื้นที่บนโซเซียลมีเดียได้ค่อนข้างมากโดย #1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ ได้ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในวันนั้น[10]
การเคลื่อนไหว ปี 2564
ช่วงต้น ปี 2564 ทางกลุ่มนักเรียนเลวได้พยายามจะจัดการชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษา โดยได้จัดครั้งแรกในวันครูแห่งชาติ วันที่ 16 มกราคม 2564 ต่อมาหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เลวร้ายลง ทำให้กลุ่มนักเรียนเลวได้หันมาเคลื่อนไหวผ่านการอธิบายประเด็นเกี่ยวกับการศึกษาต่าง ๆ ทางโลกออนไลน์เสียเป็นส่วนมาก
ต่อมาในเดือนกันยายน 2564 ทางกลุ่มนักเรียนเลวก็ได้เริ่มกิจกรรมสไตร์คหยุดเรียนออนไลน์[11] [12] เพื่อที่จะผลักดันให้เกิดมาตรการทางการศึกษาในช่วงโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการลดตัวชี้วัดในการเรียนหรือเรื่องของค่าเทอม พร้อมกันนั้นก็แสดงความไม่พอใจในการจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ทางรัฐบาลได้เห็น
ความเกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวอื่น ๆ
กลุ่มนักเรียนเลวมีลักษณะการเคลื่อนไหวที่ต่อต้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มนักเรียนนักศึกษากลุ่มอื่น ๆ เช่น เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม Mob Fest และ กลุ่มราษฎร ทว่าแม้จะเป็นเช่นนั้น แต่เป้าหมายหลัก ๆ ของกลุ่มนักเรียนเลวจะพุ่งไปที่ระบบการศึกษามากกว่า การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะมีน้อยกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวในช่วงเดียวกัน แต่จะพุ่งเป้าไปที่กระทรวงศึกษาธิการเสียเป็นส่วนมาก
อ้างอิง
[1] ไทยรัฐ, 2563, กลุ่มนักเรียนเลวตระเวนติดไวนิล "1 ธันวาบอกลาเครื่องแบบ" หลายจุด. เข้าถึงจาก https://www.thairath.co.th/news/local/1986701
[2] Thai PBS, 2563, กลุ่มนักเรียนเลว จัดกิจกรรม #บ๊ายบายไดโนเสาร์. เข้าถึงจาก https://news.thaipbs.or.th/content/298539
[3] Thai PBS, 2563, เช้านี้ นร.บางส่วนแต่งไปรเวท-หลายโรงเรียนสั่งห้ามชี้ขัดระเบียบ. เข้าถึงจาก https://news.thaipbs.or.th/content/298804
[4] นักเรียนเลว, 2563, *แถลงการณ์องค์กรนักเรียนเลว* .เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/Badstudent.th/photos/a.104556561336297/104561244669162/
[5] นักเรียนเลว, 2563, จากนักเรียนเลวอาศัยอยู่แต่ในทวิตเตอร์มา 2 เดือนกว่า ๆ ตอนนี้พวกเรามีเพจบนเฟสบุ๊กอย่างเป็นทางการแล้วนะคะ.เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/Badstudent.th/posts/104576331334320
[6] นักเรียนเลว, 2563 #นักเรียนไทยไม่ไหวแล้วโว้ย เย็นนี้พบกับ 4 กิจกรรมที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ. เข้าถึงจากhttps://www.facebook.com/Badstudent.th/photos/a.104556561336297/123086426149977/
[7] บีบีซี ไทย, 2563, "องค์กรนักเรียนเลว": นักเรียนบุกกระทรวงศึกษาฯ เป่านกหวีดไล่ รมว. ณัฏฐพล อดีต กปปส. . เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-53837728
[8] นักเรียนเลว, 2563, เปิดตัวผู้ดีเบทกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ. เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/Badstudent.th/photos/a.104556561336297/140274537764499/
[9] Thai PBS, 2563, กลุ่มนักเรียนเลว จัดกิจกรรม #บ๊ายบายไดโนเสาร์. เข้าถึงจาก https://news.thaipbs.or.th/content/298539
[10] ไทยรัฐ, 2563, เช้านี้ เด็กบางส่วนแต่งชุดไปรเวต แฮชแท็ก #1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ ติดเทรนด์. เข้าถึงจาก https://www.thairath.co.th/news/local/1986681
[11] ไทยโพสต์, 2564, เริ่มแล้ว 'นักเรียนเลว' ชวนสไตรค์หยุดเรียนออนไลน์วันแรก. เข้าถึงจากhttps://www.thaipost.net/main/detail/115755
[12] Thai Pbs, 2564, ปรากฏการณ์ “สไตรค์” หยุดเรียนออนไลน์วันแรก 6-10 ก.ย.. เข้าถึงจาก https://news.thaipbs.or.th/content/307639