พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ

 

ความเป็นมา

          ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนตำบล_พ.ศ._2499 ซึ่งได้จัดตั้งสภาตำบลและคณะกรรมการตำบลให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล เพื่อให้องค์การบริหารส่วนตำบลมีความสามารถในการจัดหารายได้ ภายใต้หลักการปกครองตนเองตามหลักการปกครองส่วนท้องถิ่น ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 ได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 326 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515[1] ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนตำบล พ.ศ. 2499 และ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนตำบล พ.ศ. 2499 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2511 กำหนดยกเลิกฐานะความเป็นนิติบุคคลของสภาตำบล ให้สภาตำบลทำหน้าที่บริหารราชการหรืองานอื่นที่ได้รับมอบหมายบังคับใช้เรื่อยมา จนกระทั่งกระแสในการปฏิรูปทางการเมืองได้ก่อตัวขึ้นอีกครั้งหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬใน ปี พ.ศ. 2535 ด้านหนึ่ง คือ การเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจ เป็นผลให้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2537 มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นผลให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2538[2] กฎหมายฉบับนี้มีจำนวน 95 มาตรา จัดแบ่งโครงสร้างออกเป็น 2 หมวด และบทเฉพาะกาล ดังนี้

               - ข้อความเบื้องต้นอันประกอบด้วยชื่อกฎหมาย วันที่มีผลใช้บังคับ ข้อกำหนดให้ยกเลิกกฎหมายเดิม คำนิยาม และรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย

               - หมวด 1 สภาตำบล

                    ส่วนที่ 1 สมาชิกสภาตำบล

                    ส่วนที่ 2 อำนาจหน้าที่ของสภาตำบล

                    ส่วนที่ 3 รายได้และรายจ่ายของสภาตำบล

                    ส่วนที่ 4 การกำกับดูแลสภาตำบล

               - หมวด 2 องค์การบริหารส่วนตำบล

                    ส่วนที่ 1 สภาองค์การบริหารส่วนตำบล

                    ส่วนที่ 2 คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล

                    ส่วนที่ 3 อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล

                    ส่วนที่ 4 รายได้และรายจ่ายขององค์การบริหารส่วนตำบล

                    ส่วนที่ 5 การกำกับดูแลองค์การบริหารส่วนตำบล

               - บทเฉพาะกาล

 

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

          1. สภาตำบล

          การประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 เป็นผลให้สภาตำบลมีฐานะเป็นนิติบุคคลอีกครั้งหนึ่ง[3]ประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท คือ[4]

          1. สมาชิกโดยตำแหน่ง ประกอบด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน และแพทย์ประจำตำบล

          2. สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎรในแต่ละหมู่บ้านในตำบลนั้น หมู่บ้านละ 1 คน ให้นายอำเภอจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาตำบล[5]สมาชิกสภาตำบลที่มาจากการเลือกตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี[6]

               1.1 องค์ประกอบของสภาตำบล

               สภาตำบลประกอบด้วยกำนันเป็นประธาน รองประธานสภาตำบลคนหนึ่งมาจากการแต่งตั้งของนายอำเภอจากสมาชิกสภาตำบลตามมติของสภาตำบล[7] ให้ประธานทำหน้าที่ดำเนินการประชุมตามข้อบังคับการประชุมที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด[8] และให้มีเลขานุการสภาตำบลคนหนึ่งแต่งตั้งจากข้าราชการในตำบลนั้นหรือบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด[9] ทำหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการและการจัดการประชุมและงานอื่นใดตามที่สภาตำบลมอบหมาย[10]

               1.2 อำนาจหน้าที่ของสภาตำบล

               ในการดำเนินกิจการภายในตำบลในด้านต่าง ๆ อย่างทั่วถึงในการให้บริการสาธารณะต่าง ๆ ทั้งในแง่สาธารณูปโภค สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่ด้อยโอกาส[11] อย่างไรก็ดี สภาตำบลอาจทำกิจการนอกเขตพื้นที่ได้ ในกรณีที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดในกิจการที่จำเป็นต้องดำเนินการและเกี่ยวเนื่องกับกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาตำบล[12]

               1.3 รายได้และรายจ่ายของสภาตำบล

               สภาตำบลมีรายได้จากการจัดสรรจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด[13] จากงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรเป็นเงินอุดหนุน[14] และรายได้อื่น ๆ จากทรัพย์สิน จากสาธารณูปโภคที่สภาตำบลดำเนินการ จากเงินและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ รวมถึงเงินอุดหนุนและรายได้อื่นตามที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐจัดสรรให้[15] อนึ่ง สภาตำบลต้องจัดทำร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมโดยผ่านการอนุมัติของนายอำเภอ[16]

               1.4 การกำกับดูแลสภาตำบล

               ภายใต้หลักการปกครองส่วนท้องถิ่นที่กำหนดให้สภาตำบลมีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นผลให้สภาตำบลมีอำนาจบริหารดำเนินกิจการได้ภายใต้ขอบอำนาจในเขตพื้นที่ของตนเอง ซึ่งการดำเนินกิจการสาธารณะต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามหลักความชอบด้วยกฎหมาย ทำให้นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของสภาตำบลให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบงคับของทางราชการหากการดำเนินการไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของทางราชการ นายอำเภอมีอำนาจยับยั้งการดำเนินการดังกล่าวได้[17]หรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาจสั่งยุบสภาตำบลได้ตามคำเนอแนะของนายอำเภอ[18]

          2. องค์การบริหารส่วนตำบล

          กฎหมายกำหนดให้ยกฐานะของสภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลภายใต้เงื่อนไข คือ ต้องเป็นสภาตำบลที่มีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกัน 3 ปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 150,000 บาท สามารถจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลได้ โดยออกเป็นประกาศของกระทรวงมหาดไทยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา[19]

          องค์การบริหารส่วนตำบลมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น[20] บทบัญญัตินี้จึงเป็นผลให้องค์การบริหารส่วนตำบลกลับมาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับตำบลอีกครั้งหนึ่งและให้องค์การบริหารส่วนตำบลมีพนักงานตำบลเป็นของตนเอง[21] ทั้งนี้ เมื่อจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลแล้วให้สภาตำบลพ้นสภาแห่งสภาตำบลนั้น[22]

          องค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วย สภาองค์การบริหารส่วนตำบล และ “คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล”[23] มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม[24] ภายในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้งนี้ ยังคงรักษาอำนาจหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม หรือองค์การหรือหน่วยงานของรัฐในการดำเนินกิจการใดเพื่อประโยชน์ของประชาชนในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลได้[25]

               2.1 องค์ประกอบของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

               สภาองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท คือ[26]

               1. สมาชิกโดยตำแหน่ง ประกอบด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน และแพทย์ประจำตำบล

               2. สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎรในแต่ละหมู่บ้านในตำบลนั้น หมู่บ้านละ 2 คน

               ข้อสังเกต องค์ประกอบของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลกับองค์ประกอบของสภาตำบลมีความแตกต่างกันในจำนวนสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎรในแต่ละหมู่บ้านในตำบลนั้น หมู่บ้านละ 2 คน ส่วนสภาตำบลจะให้มีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎรในแต่ละหมู่บ้านในตำบลนั้น หมู่บ้านละ 1 คน เท่านั้น

               2.2 คณะกรรมการบริหารขององค์การบริหารส่วนตำบล    

               ส่วนคณะกรรมการบริหารขององค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วยกำนันเป็นประธานโดยตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้านอีกไม่เกิน 2 คน และสมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้งอีกไม่เกิน 4 คน รวมแล้วมีคณะกรรมการบริหารได้ไม่เกิน 7 คน[27] มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบล จัดทำแผนพัฒนาตำบลและงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อเสนอสภาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาให้ความเห็นชอบทั้งตรวจสอบรายงานผลการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายเงินให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบล[28]

               2.3 ข้อบังคับตำบล

               องค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจออกข้อบังคับตำบลเพื่อใช้บังคับภายในเขตพื้นที่ของตนได้ โดยจะกำหนดค่าธรรมเนียมและกำหนดโทษปรับผู้ฝ่าฝืนได้แต่มิให้เกิน 500 บาท โดยคณะกรรมการบริหารหรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้เสนอให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาและส่งให้นายอำเภอให้ความเห็นชอบ[29]

               2.4 รายได้และรายจ่ายขององค์การบริหารส่วนตำบล

               เมื่อองค์การบริหารส่วนตำบลมีฐานะเป็นนิติบุคคลจึงมีอำนาจในการจัดหารายได้เพิ่มเติมนอกเหนือจากเงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาล โดยการจัดเก็บจากภาษีท้องถิ่นประเภทต่าง ๆ เช่น ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีดรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย อากรการฆ่าสัตว์ ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์และล้อเลื่อนภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการเล่นการพนัน อากรรังนกอีแอ่น ค่าภาคหลวงแร่ ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจรายได้จากทรัพย์สิน รายได้จากการให้บริการเกี่ยวกับพาณิชย์ต่าง ๆ หรือ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้

               อนึ่ง องค์การบริหารส่วนตำบลต้องจัดทำร่างข้อบังคับ เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมโดยผ่านการอนุมัติของนายอำเภอ[30]

               2.5 การกำกับดูแลองค์การบริหารส่วนตำบล

               ภายใต้หลักการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้องค์การบริหารส่วนตำบลมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีบุคลากรของตนเอง มีรายได้ที่หาได้เอง กฎหมายจึงควบคุมให้องค์การบริหารส่วนตำบลต้องดำเนินการภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการบังคับบัญชาองค์การบริหารส่วนตำบลได้ คงทำได้เพียงยับยั้งการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและอำนาจในการยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหากกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย[31]

 

บทส่งท้าย

          พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ถูกใช้เรื่อยมาจนกระทั่งใน ปี พ.ศ. 2542 ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 (ฉบับที่ 3) เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย_พุทธศักราช_2540 มาตรา 285 กำหนดให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะผู้บริหารหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น จึงถือเป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้ฝ่ายบริหารขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีที่มาได้ 2 ทาง คือ มาจากมติของสภาท้องถิ่น หรือมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน เป็นผลให้ต้องแก้ไขบทบัญญัติในกฎหมายสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลให้สมาชิกสภาทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และให้คณะกรรมการบริหารมาจากความเห็นชอบของสภา

          การแก้ไขที่สำคัญอีกครั้ง คือ การแก้ไขพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546 โดยการเปลี่ยนแปลงชื่อคณะกรรมการบริหารและกรรมการบริหารเป็น “คณะผู้บริหาร” และชื่อเรียกประธานกรรมการบริหารเปลี่ยนเป็น “นายกองค์การบริหารส่วนตำบล” ตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารเปลี่ยนเป็น “รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล” เปลี่ยนแปลงชื่อเรียกข้อบังคับตำบลเป็น “ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล” และยกเลิกไม่ให้ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเลขานุการคณะผู้บริหาร[32] 

          การบังคับใช้พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ยังคงใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ด้วยการปรับปรุงแก้ไขถึง 7 ครั้ง ดังนี้

               - พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2538

               - พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542

               - พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546

               - พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546

               - พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2552

               - พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562

          ทั้งนี้ สาระสำคัญในการแก้ไขและประกาศใช้ ฉบับที่ 7 อันเป็นปัจจุบันด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบลให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งแก้ไขการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล การพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล การกระทำอันเป็นการต้องห้ามของนายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ตลอดจนอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลและการกำกับดูแลองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อให้เป็นตามหลักธรรมาภิบาล

 

บรรณานุกรม

ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ/เล่มที่ 89/ตอนที่ 190/13 ธันวาคม 2515.ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 326.

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 111/ตอนที่ 53 ก/2 ธันวาคม 2537. พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537.

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114/ตอนที่ 55 ก/11 ตุลาคม 2540. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540.

สถาบันพระปกเกล้า. สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย หมวด 3 พัฒนาการและรูปแบบการปกครองท้องถิ่นไทย ลำดับที่ 4 องค์การบริหารส่วนตำบล. กรุงเทพ : ธรรมดาเพรส, 2547.

 

อ้างอิง

[1] ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 326, ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 89 ตอนที่ 190 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515, หน้า 122.

[2] มาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[3] มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[4] มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[5] มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[6] มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[7] มาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[8] มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[9] มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[10] มาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[11] มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[12] มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[13] มาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[14] มาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[15] มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[16] มาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[17] มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[18] มาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[19] มาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[20] มาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[21] มาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[22] มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[23] มาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[24] มาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[25] มาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[26] มาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[27] มาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[28] มาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[29] มาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[30] มาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[31] มาตรา 90 - 91 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[32] สถาบันพระปกเกล้า, สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย หมวด 3 พัฒนาการและรูปแบบการปกครองท้องถิ่นไทย ลำดับที่ 4 องค์การบริหารส่วนตำบล, กรุงเทพ : ธรรมดาเพรส, 2547, หน้า 7 -8