พันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 21:14, 6 พฤษภาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (Apirom ย้ายหน้า พระยาทรงสุรเดช (อรรถสิทธิ์ พานแก้ว) ไปยัง [[พันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ :  ศ.นรนิติ เศรษรบุตร


 “ผู้ที่ทราบความจริงแห่งรายละเอียด
ของการปฏิวัติครั้งนี้มีอยู่เพียงไม่มากนัก
และในจำนวนนี้ยังไม่พูดความจริงเสียอีกส่วนหนึ่งด้วย”

พันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)[1]

พันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)

          “ความจริง” เป็นสิ่งที่ถูกอ้างถึงอยู่ตลอดเวลา เมื่อต้องบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ แต่ความจริงดังกล่าว ก็ได้บิดพลิ้วไปเมื่อผ่านกาลเวลา ดังนั้น เรื่องราวที่ปรากฏขึ้น อาจสร้าง “ความจริง” ได้หลายชุด เมื่อเป็นดังนั้น “นักประวัติศาสตร์” จึงผ่านการเคี่ยวกรำเพื่อให้สามารถสังเคราะห์ “ความจริง” ของเหตุการณ์ที่เคยปรากฏขึ้นในอดีต “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475” ก็ไม่ต่างจากเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจาก “ความจริง” ที่ผ่านการจดจารจารึกในแต่ละส่วน ล้วนแตกต่างกัน ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของตัวแสดงในเหตุการณ์ดังกล่าวแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง กรณีของ “พันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)” ก็เช่นเดียวกัน เรื่องราวของนายทหารผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยเยอรมนี เป็นผู้สร้างทางรถไฟสายสำคัญหลายสาย และเป็นผู้วางแผนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 24_มิถุนายน_พ.ศ._2475 ให้คณะราษฎร ถือเป็น 1 ใน “สี่เสือคณะราษฎร” และเป็นแกนนำฝ่ายทหารบกชั้นผู้ใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ภายหลังแม้แผนการจะลุล่วงไปได้ แต่ก็เกิดความขัดแย้งภายในคณะราษฎร ส่งผลให้พันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ต้องไปอยู่ต่างประเทศช่วงหนึ่ง กระทั่งความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น จนนำไปสู่เหตุการณ์ “กบฏพระยาทรงสุรเดช” ซึ่งได้ปิดฉากชีวิตทางการเมืองของนายทหารผู้ลงอย่างสิ้นเชิง เหลือเพียงภาพจำของนายทหารผู้เคร่งขรึม ที่เต็มไปด้วย “ความจริง” ที่หลากหลายให้จดจำ

 

ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว

          พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) เกิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2435 ณ บ้านริมสวนเจ้าเชษฐ์ ถนนเจริญกรุง จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของร้อยโท ไท้ พันธุมเสน นายทหารสังกัดกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 กับนางพุก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ต้องเป็นกำพร้ามาตั้งแต่เด็กเนื่องจากบิดาของท่านได้ถึงแก่กรรมไปตั้งแต่ท่านยังจำความไม่ได้ และต่อมาไม่นานมารดาของท่านก็เสียชีวิตตามบิดาไปอีกคนหนึ่ง พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้รับการเลี้ยงดูโดยนางแก้ว จันทรินทร์ ผู้เป็นพี่สาวต่างมารดาและมีอาวุโสกว่ามาก ที่บ้านแถวสะพานขาวริมคลองผดุงกรุงเกษม[2]

          พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้สมัครเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2447 ขณะมีอายุได้ 12 ปี โดยคำแนะนำของ พันตรี หลวงนฤสารสำแดง (วัน พันธุมเสน) พี่ชายของพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) และเป็นอาจารย์สอนอยู่ในโรงเรียนนายร้อย พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) สอบไล่ได้จนจบหลักสูตรนักเรียนนายร้อย และเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยสำรองราชการเมื่อมีอายุย่างเข้า 15 ปี พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)[3]

          พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษาวิชาทหารต่อยังประเทศเยอรมนี โดยออกเดินทางเพื่อไปศึกษาต่อเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2450 และใช้เวลา 2 ปีแรกไปในการเรียนภาษา และขนบธรรมเนียมประเพณี ต่อมาใน พ.ศ. 2453 ได้เข้าเรียนวิชาช่างทหารในโรงเรียนคะเด็ด (Cadet) เป็นเวลา 2 ปี เมื่อ พ.ศ. 2455 สอบไล่ได้และออกเป็นนายสิบประจำกรมทหารช่างที่ 4 เป็นเวลา 9 เดือน ในพ.ศ. 2455 เข้าเรียนในโรงเรียนรบเป็นเวลา 9 เดือน จนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2456 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศนายทหารเป็นร้อยตรีในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2456 และได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นนายร้อยตรีทหารบกประจำกองทหารในเมืองมันเดเบอร์กจนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2457 ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2457 ได้เกิดสงครามขึ้นในยุโรป (สงครามโลกครั้งที่_1) เป็นเหตุให้ถูกลดเงินเดือนลงจนกระทั่งเดินทางกลับมายังประเทศไทยในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2458 รวมแล้วพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) อาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีเป็นเวลาเกือบ 8 ปี[4]

          พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) สมรสกับคุณหญิงทรงสุรเดช (ห่วง พันธุมเสน) มีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น 3 คน ได้แก่ นายทศ พันธุมเสน นางเทพี เศวตนาค (พันธุมเสน) และนายทวีวงศ์ พันธุมเสน พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ถึงแก่อนิจกรรมลงในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2487 ที่บ้านพักในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาด้วยอาการโลหิตเป็นพิษ สิริรวมอายุ 52 ปี[5]

หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ

          พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) เข้ารับราชการประจำกรมทหารบกช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ในปี พ.ศ. 2457 ต่อมาได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็น ร้อยเอก ในปี พ.ศ. 2459 และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในปี พ.ศ. 2561 ตามลำดับ ในปีเดียวกันนั้นพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้รับคำสั่งย้ายจากกรุงเทพฯ ให้ไปประจำที่จังหวัดนครราชสีมา ในตำแหน่งผู้บังคับกองพันที่ 2 ช่างรถไฟ กรมทหารบกช่างที่ 3 พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้รับผิดชอบการวางทางรถไฟใน 3 เส้นทาง ได้แก่ ทางรถไฟสายเหนือ จากถ้ำขุนตาลถึงเชียงใหม่, ทางรถไฟสายตะวันออก จากแปดริ้วถึงอรัญประเทศ และทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ จากโคราชถึงท่าช้าง พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้รับการเลื่อนยศเป็นพันตรีในปี พ.ศ. 2463 และยศพันโทในปี พ.ศ. 2466 ขณะที่ดำรงตำแหน่งอยู่ที่นครราชสีมา[6]

          หลังจากประจำตำแหน่งที่นครราชสีมาได้ 5 ปีเศษ พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้ย้ายมาประจำกรมทหารช่างที่ 2 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2467 พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้ฝึกฝนวิชาทหารอย่างจริงจัง และได้เรียบเรียงนำแนวสอนยุทธวิธีจากตำรายุทธวิธีของเยอรมันมาถ่ายทอดเป็นภาษาไทย หลังจากประจำตำแหน่งที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ 6 เดือนเศษ กระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งย้ายพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) เข้ามาเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาการทหาร กรมยุทธศึกษาทหารบกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2467 พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) เป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนในแบบดั้งเดิมอย่างจริงจังเป็นคนแรก กล่าวคือพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ผู้เรียนต้อง “ท่องจำ” ให้เป็นการให้ผู้เรียนได้ “คิด” ตามหลักเหตุและผล ต่อมาในปี พ.ศ. 2470 พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้เดินทางไปดูและศึกษาการทหารในต่างประเทศร่วมกับพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) โดยใช้เวลาประมาณ 3 ปี พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) กลับเข้ารับตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาการทหารตามเดิมในปี พ.ศ. 2473 หลังจากเดินทางกลับจากการศึกษาการทหารในต่างแดน[7]

          พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) รับราชการในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาการทหารเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 จนกระทั่งถึงหลังเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการราษฎร (รัฐมนตรี) โดยคณะผู้ก่อการฯ ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทยฉบับถาวรฉบับแรก และพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ก็ได้เข้าร่วมรัฐบาลในตำแหน่งรัฐมนตรีลอยอีกครั้งหนึ่ง ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีลอยพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ยังดำรงตำแหน่งข้าราชการเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นผู้บัญชาการทหารบก[8]

          ต่อมาเค้าโครงการเศรษฐกิจที่หลวงประดิษฐ์มนูญธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ร่างขึ้นนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการเช่นกัน ภายหลังเมื่อคณะกรรมการหาข้อยุติไม่ได้จึงได้เสนอเรื่องเข้าไปยังรัฐสภา อย่างไรก็ดีรัฐบาลเกรงว่าจะเกิดความวุ่นวายและก่อความรุนแรงในรัฐสภา รัฐบาลจึงให้มีการตรวจค้นอาวุธก่อนเข้าประชุม โดยผู้ที่ได้รับคำสั่งคือพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) จากเหตุการณ์นี้ทำให้พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ถูกกล่าวหาว่าได้ใช้อำนาจทางทหารเพื่อจะครอบงำพลเรือน พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้ลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองและการทหารเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2476 โดยเหตุผลด้านสุขภาพประกอบกับบ้านเมืองพ้นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแล้ว เมื่อไม่มีตำแหน่งผูกมัดในช่วงเวลาดังกล่าว พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) และพระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) จึงได้ออกเดินทางไปต่างประเทศ ระหว่างนั้นได้เกิดเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” ขึ้นในประเทศไทย แม้ไม่ได้อยู่ในประเทศยังมีเสียงว่าพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) รู้เรื่องกบฏอยู่แล้ว เพราะเป็นเพื่อนสนิทกับพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ)[9]

          พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้งในเดือนเมษายน พ.ศ. 2479 ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนรบ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในสมัยรัฐบาลของพระยาพหลฯ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2481 ทางราชการ (รัฐบาลในสมัยหลวงพิบูลสงคราม) ได้มีคำสั่งให้พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) และนายทหารอีก 2 นาย ออกจากราชการโดยไม่ได้รับเบี้ยหวัด พร้อมกันนี้ทางการยังได้จับกุมผู้ต้องหาจำนวน 40 กว่านายในข้อหาเป็นกบฏ เช่นนั้นแล้วพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) จึงตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศไปยังเขมร (ประเทศกัมพูชา) พร้อมกับ ร้อยเอก สำรวจกาญจนสิทธิ์ ผู้เป็นนายทหารคนสนิท[10]

ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง

          ผลงานของพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) สามารถแบ่งได้เป็น   ช่วงหลัก ๆ ได้แก่ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475, การวางแผนและยุทธศาสตร์ที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

          ช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) เข้ารับราชการประจำกรมทหารบกช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ในปี พ.ศ. 2457 ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้รับคำสั่งย้ายจากกรุงเทพฯ ให้ไปประจำที่จังหวัดนครราชสีมา และได้รับผิดชอบการวางทางรถไฟใน 3 เส้นทาง ได้แก่ ทางรถไฟสายเหนือ จากถ้ำขุนตาลถึงเชียงใหม่, ทางรถไฟสายตะวันออก จากแปดริ้วถึงอรัญประเทศ และทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ จากโคราชถึงท่าช้าง[11] พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) เข้ามาเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาการทหาร กรมยุทธศึกษาทหารบกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2467 พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ถือเป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนในแบบดั้งเดิมอย่างจริงจังเป็นคนแรก คือให้ผู้เรียนได้ “คิด” ตามหลักเหตุและผล แทนที่จะ “ท่องจำ” ดังเช่นที่ผ่านมา[12]

          พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) เป็นทั้งผู้รับผิดชอบด้านยุทธศาสตร์ทางการทหารและชักชวนพรรคพวกเข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) เห็นว่าลักษณะกองทัพไทยในสมัยนั้นฝึกทหารให้เป็นเครื่องจักร ต้องทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เห็นดังนี้แล้วพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) จึงใช้วิธีเกลี้ยกล่อมชักชวนให้นายทหารชั้นผู้บังคับบัญชากองพันและผู้บังคับการกรมเข้าเป็นพรรคพวก โดยเริ่มแรกได้ปรารภถึงสถานการณ์บ้านเมืองโดยทั่ว ๆ ไป ต่อมาจึงได้ชี้ให้เห็นข้อดี ข้อเสีย โดยเปรียบเทียบกับในต่างประเทศ หลังจากดูท่าทีของพรรคพวกที่ไปชักชวนแล้วพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) จึงได้ถามความเห็นในการแก้ไขปัญหา และชักชวนเข้าร่วมในกลุ่มผู้ก่อการ[13]

          ในด้านยุทธศาสตร์ทางการทหาร พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้รับมอบหมายในการประชุมพบปะกันระหว่างหัวหน้าสายที่สำคัญในปลายปี พ.ศ. 2474 ให้เป็นผู้วางแผนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อนำมาเสนอต่อที่ประชุมในคราวต่อไป โดยแผนการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผนแรกที่พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) เสนอต่อที่ประชุมคือคณะผู้ก่อการ “จำต้องได้องค์ประมุข-พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาไว้เป็นองค์ประกันเสียก่อน! แล้วจากนั้นเรื่องอื่น ๆ ก็จะได้ดำเนินการตามมาภายหลัง” โดยต้องใช้กำลังทหารบุกแบบสายฟ้าแลบเพื่อให้ได้องค์ประมุขและถวายอารักขาแก่พระองค์ท่านไว้ไจนกว่าเหตุการณ์จะเรียบร้อย[14] อย่างไรก็ดีพระยาฤทธิอัคเนย์ได้คัดค้านแผนการนี้ โดยให้เหตุผลว่าหากคณะผู้ก่อการดำเนินการตามแผนดังกล่าวจะต้องเกิดการนองเลือดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          ต่อมาพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) จึงได้เสนอแผนการยึดอำนาจมาให้ที่ประชุมได้พิจารณาพร้อมกันถึง 3 แผน โดยที่ประชุมได้ลงมติเลือกแผนปฏิบัติการอันดับที่ 3 คือ ลวงเอากำลังทหารไปปราบกบฏ โดยชุมนุมที่ลานพระบรมรูปแล้วอ่านประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองที่นั่น และกำหนดให้กำลังอีกหน่วยทำการเชิญเสด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ มาประทับยังพระที่นั่งอนันต์ฯ เพื่อเป็นองค์ประกันความปลอดภัยของคณะผู้ก่อการ[15]

          ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการราษฎร (รัฐมนตรี) โดยคณะผู้ก่อการฯ ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทยฉบับถาวรฉบับแรก และพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ก็ได้เข้าร่วมรัฐบาลในตำแหน่งรัฐมนตรีลอยอีกครั้งหนึ่ง ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีลอยพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ยังดำรงตำแหน่งข้าราชการเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นผู้บัญชาการทหารบก[16]

          ต่อมาพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการในการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจที่หลวงประดิษฐ์มนูญธรรม (ปรีดี_พนมยงค์) อย่างไรก็ตามคณะกรรมการไม่สามารถหาข้อยุติได้จึงได้เสนอเรื่องเข้าไปยังรัฐสภา รัฐบาลเกรงว่าจะเกิดความวุ่นวายและก่อความรุนแรงในรัฐสภา รัฐบาลจึงให้มีการตรวจค้นอาวุธก่อนเข้าประชุม โดยผู้ที่ควบคุมการตรวจค้นคือพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) จากเหตุการณ์นี้ทำให้พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ถูกกล่าวหาว่าได้ใช้อำนาจทางทหารเพื่อจะครอบงำพลเรือน พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้ลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองและการทหารเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2476 โดยเหตุผลด้านสุขภาพประกอบกับบ้านเมืองพ้นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแล้ว เมื่อไม่มีตำแหน่งผูกมัดในช่วงเวลาดังกล่าว พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) และพระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) จึงได้ออกเดินทางไปต่างประเทศ ระหว่างนั้นได้เกิดเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” ขึ้นในประเทศไทย แม้ไม่ได้อยู่ในประเทศยังมีเสียงว่าพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) รู้เรื่องกบฏอยู่แล้ว เพราะเป็นเพื่อนสนิทกับพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ)[17]

          พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้งในเดือนเมษายน พ.ศ. 2479 ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนรบ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในสมัยรัฐบาลของพระยาพหลฯ ต่อมาในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2481 รัฐบาลภายใต้หลวงพิบูลสงคราม ได้มีคำสั่งให้พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) และนายทหารอีก 2 นาย ออกจากราชการโดยไม่ได้รับเบี้ยหวัด พร้อมกันนี้ทางการยังได้จับกุมผู้ต้องหาจำนวน 40 กว่านายในข้อหาเป็นกบฏ นักโทษเหล่านั้นถูกจำคุกในเรือนจำบางขวาง และ 18 นายถูกพิพากษาประหารชีวิต[18] เหตุการณ์ในครั้งนี้รู้จักกันในชื่อ “กบฏพระยาทรงสุรเดช” หรือ “กบฏ_18_ศพ” อย่างไรก็ตามคำพิพากษาดังกล่าวนั้นมาจากศาลพิเศษที่หลวงพิบูลสงครามตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาคดีนี้โดยเฉพาะจึงไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน เช่นนั้นแล้วพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) จึงตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศไปยังเขมร (ประเทศกัมพูชา) พร้อมกับ ร้อยเอก สำรวจ กาญจนสิทธิ์ ผู้เป็นนายทหารคนสนิท โดยครอบครัวของพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้ตามมาในภายหลัง[19] พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ดำรงชีพในพนมเปญโดยการค้าขายและรับซ่อมจักรยาน จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2487 อัฐิของท่านจึงมีโอกาสได้กลับมายังประเทศไทย[20]

 

บรรณานุกรม

นรนิติ เศรษฐบุตร และ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บันทึกพระยาทรงสุรเดชเมื่อปฏิวัติ '2475', (กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์แพร่พิทยา, 2527).

วิชัย บำรุงฤทธิ์, บันทึกนักปฏิวัติไทย, (กรุงเทพฯ : สารสยาม, 2517).

วีณา มโนพิโมกษ์, ความขัดแย้งภายในคณะราษฎร, (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520).

สำรวจ กาญจนสิทธิ์, ท.ส. เจ้าคุณทรงสุรเดช, (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ประมวลสาส์น สยาม, ม.ป.ป.).

เสทื้อน ศุภโสภน, ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดช, (กรุงเทพฯ : คณะอนุกรรมการจัดพิมพ์หนังสือ โครงการ 60 ปี ประชาธิปไตยไทย, 2535).

อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงทรงสุรเดช (ห่วง พันธุมเสน), (กรุงเทพฯ : ม.ป.พ., 2520).

 

อ้างอิง

[1] วิชัย บำรุงฤทธิ์, บันทึกนักปฏิวัติไทย, (กรุงเทพฯ : สารสยาม, 2517). น. 17-60.

[2] เสทื้อน ศุภโสภน, ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดช, (กรุงเทพฯ : คณะอนุกรรมการจัดพิมพ์หนังสือ โครงการ 60 ปีประชาธิปไตยไทย, 2535). น. 1-3.

[3] เพิ่งอ้าง.

[4] เพิ่งอ้าง.

[5] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงทรงสุรเดช (ห่วง พันธุมเสน) (กรุงเทพฯ : ม.ป.พ., 2520), น.13-15.

[6] เสทื้อน ศุภโสภณ, อ้างแล้ว, น. 4-7.

[7] เสทื้อน ศุภโสภณ, อ้างแล้ว, น. 8-13.

[8] นรนิติ เศรษบุตร และ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บันทึกพระยาทรงสุรเดชเมื่อปฏิวัติ 2475, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา, 2527). น. 1-20.

[9] เสทื้อน ศุภโสภณ, อ้างแล้ว, น. 269-285.

[10] สำรวจ กาญจนสิทธิ์, ท.ส. เจ้าคุณทรงสุรเดช, (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ประมวลสาส์น สยาม, ม.ป.ป.). น. 217-252.

[11] เสทื้อน ศุภโสภณ, อ้างแล้ว, น. 4-7.

[12] เสทื้อน ศุภโสภณ, อ้างแล้ว, น. 8-13.

[13] วิชัย บำรุงฤทธิ์, อ้างแล้ว.

[14] วิชัย บำรุงฤทธิ์, อ้างแล้ว.

[15] เสทื้อน ศุภโสภณ, อ้างแล้ว, น. 30-39.

[16] นรนิติ เศรษฐบุตร และ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อ้างแล้ว.

[17] เสทื้อน ศุภโสภณ, อ้างแล้ว, น. 30-39.

[18] วีณา มโนพิโมกษ์, ความขัดแย้งภายในคณะราษฎร (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520) น. 115-135.

[19] สำรวจ กาญจนสิทธิ์, อ้างแล้ว.

[20] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงทรงสุรเดช (ห่วง พันธุมเสน), อ้างแล้ว, น. 16-18.