พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน)
ผู้เรียบเรียง : ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
“พล.ร.อ. สินธุ์ ฯ เป็นผู้มีความดีเด่นในผลงานของท่าน
ทั้งในด้านการทหารในกองทัพเรือ
และในด้านการเมืองดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
ชื่อของท่านเป็นที่รู้จักกันดีในบรรดาข้าราชการ
ในวงการทหาร พลเรือน และประชาชน”
คำไว้อาลัย...พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน)[1]
พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน)
“ทหารเรือ” ในอดีต มีบทบาททางการเมืองไม่แพ้ทหารบก ทหารเรือมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดย “คณะราษฎร” ซึ่งประกอบด้วย สายทหารบก สายทหารเรือ และสายพลเรือน สายทหารเรือนั้นมี “พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน)” เป็นหัวหน้า นายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ท่านนี้ ได้ปฏิบัติงานปกป้อง ชาติ ศาสนา กษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีความขยันขันแข็งในการทำงาน เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ มีนิสัยเป็นครูบาอาจารย์ เป็นนายทหารเรือที่ได้มีโอกาสไปศึกษาวิชาการทหารเรือโดยเฉพาะมาจากต่างประเทศเป็นเวลานานปี เป็นผู้ที่มีบุคลิกลักษณะดี และมีส่วนริเริ่มคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองกับคณะราษฎรมาตั้งแต่ระยะต้นในประเทศฝรั่งเศส จนกระทั่งได้เป็นผู้นำฝ่ายทหารเรือในที่สุด นอกจากนี้ พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัยยังได้เป็นผู้นำในกิจการทหารเรือในกาลต่อมา มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ทั้งในด้านกิจการพลเรือน และกิจการทางทหาร แต่น่าเสียดายที่ชีวิตข้าราชการต้องจบลง ณ เวลาอันสั้น ด้วยความไม่ไว้วางใจจากผู้ที่ร่วมก่อการใหญ่มาด้วยกัน
ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว
พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) เกิดวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2444 ที่ตำบลบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นบุตรของนายเล็ก และนางจู[2] มีศักดิ์เป็นน้องชายของพระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน)[3]
เมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยแล้วได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายเรือ ต่อมาได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศเดนมาร์ก ใน พ.ศ. 2462 เนื่องจากในสมัยก่อน บุตรชายคนโตของนายพลเรือทุกคนมีสิทธิ์ได้รับทุนไปศึกษาต่อด้านวิชาทหารเรือที่ต่างประเทศ ประกอบกับที่ พลเรือโท พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) ไม่มีบุตรชาย จึงได้โอนกรรมสิทธิ์นี้ให้แก่น้องชายแทน พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย จึงได้มีโอกาสไปศึกษาในโรงเรียนนายเรือเดนมาร์ก และสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ ใน พ.ศ. 2471[4]
พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัยสมรสกับนางสาวจินตนา นุติประภา มีบุตรธิดา ทั้งสิ้น 4 คน พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัยถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 รวมอายุ 74 ปี 10 เดือน 21 วัน[5]
หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ
สำหรับตำแหน่งในกองทัพเรือนั้น พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัยรับราชการในกองทัพเรือเป็นว่าที่เรือตรี เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 และได้เลื่อนยศสูงสุดเป็นพลเรือเอก ส่วนตำแหน่งราชการทหารได้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญคือ นายธงเสนาธิการทหารเรือ ผู้อำนวยการโรงเรียนนายเรือ เสนาธิการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารเรือและเป็นแม่ทัพเรือ (กรณีพิพาทกับอินโดจีนฝรั่งเศส วันที่ 13_พฤศจิกายน_พ.ศ._2483) และในคราวสงครามมหาเอเชียบูรพา (วันที่ 18_พฤศจิกายน_พ.ศ._2484)[6] พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2481 และดำรงตำแหน่งนี้เป็นเวลาถึง 13 ปี[7]
หลวงสินธุสงครามชัย เข้าร่วมขบวนการกับ “คณะราษฎร” ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จากการชักชวนของ นายทวี บุณยเกตุ ผู้เป็นสหาย ตั้งแต่เมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ต่างประเทศ และได้รับการยกย่องให้เป็นหัวหน้าคณะราษฎรฝ่ายทหารเรือ เนื่องจากมีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสายทหารเรือ และเป็นอาจารย์สอนวิชาทหารของโรงเรียนนายเรือ[8]
หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองพลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัยได้เข้ารับตำแหน่งทางการเมือง ควบคู่ไปกับการรับราชการทหาร เริ่มตั้งแต่เข้าร่วมคณะกรรมการราษฎร ในรัฐบาลชุดแรกของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และเป็นรัฐมนตรีไม่ประจำกระทรวง (รัฐมนตรีลอย) ในสมัยต่อมา กระทั่งเมื่อมีการยึดอำนาจในวันที่ 20_มิถุนายน_พ.ศ._2476 พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัยได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีไม่ประจำกระทรวง (รัฐมนตรีลอย) ในรัฐบาลพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์_พหลโยธิน) เป็นนายกรัฐมนตรี และร่วมในคณะรัฐมนตรีจนกระทั่งถึง พ.ศ. 2477[9] ต่อมาได้เลื่อนไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) ในคณะรัฐมนตรีของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ใน พ.ศ. 2477-2480[10]
ต่อมาได้เข้าร่วมคณะรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงคราม (แปลก_พิบูลสงคราม) โดยพลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ก่อนจะย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ ต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ใน พ.ศ. 2485 จนกระทั่งสิ้นสุดรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม ใน พ.ศ. 2487[11] ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดยมี นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัยก็ได้ร่วมคณะรัฐมนตรีด้วย โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงกลาโหม ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ พร้อมกัน 2 ตำแหน่ง ในคณะรัฐมนตรีนั้นจนกระทั่งสิ้นสุดรัฐบาล[12]
นอกจากนี้พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัยยังได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และยังได้เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยควบคู่กันไปด้วย โดยพลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัยอยู่ในตำแหน่งนี้ในช่วง พ.ศ. 2486 - 2488[13] ซึ่งขณะนั้นพลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัยได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการอยู่ด้วย
พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัยสิ้นสุดตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากความพ่ายแพ้ของคณะก่อการกบฏแมนฮัตตัน ในการพยายามโค่นอำนาจของคณะรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามส่งผลให้เกิดการกวาดล้างทหารเรือครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2494 มีทหารเรือถูกจับกุมตัวมากกว่า 700 นาย รวมทั้งมีคำสั่งปลดนายทหารคนสำคัญออกจากราชการหลายคน แม้กระทั่ง พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัยผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น[14] ก็ยังไม่พ้นถูกฝ่ายรัฐบาลสงสัยว่ามีส่วนรู้เห็นกับฝ่ายกบฏ ถือเป็นภัยต่อความมั่นคง จึงถูกปลดออกจากตำแหน่งในขณะอายุประมาณ 50 ปีเท่านั้นเอง และถูกลงโทษจำคุกเป็นเวลานานถึง 3 ปี[15]
ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง
การที่ พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัยได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนานถึง 11 สมัย ท่านได้ประกอบคุณงามความดีให้แก่ประเทศไทยในหลาย ๆ บทบาทที่แตกต่างกัน นอกเหนือไปจากการรับราชการทหาร ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นด้านต่าง ๆ คือ ผลงานในด้านการศึกษา ผลงานในด้านกิจการการเกษตร และผลงานในด้านกองทัพเรือ
“ผลงานในด้านการศึกษา” ในสมัยที่พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ได้เปลี่ยนแปลงหลักสูตร และโครงสร้างการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ได้ยกเลิกระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 และ มัธยมศึกษาปีที่ 8 เป็นระดับเตรียมอุดมศึกษา มีการจัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาขึ้นในปี พ.ศ. 2481 ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”[16] นอกจากนี้ พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัยยังมีการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงธรรมการ โดยยุบกรมศึกษาธิการและกรมวิชาการ และให้มีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ได้แก่ กรมสามัญศึกษา มีหน้าที่จัดการศึกษาสายสามัญ และกรมอาชีวะ มีหน้าที่จัดการศึกษาในสายอาชีพ ในปี พ.ศ. 2484 นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งกองการศึกษาผู้ใหญ่ และกองฝึกหัดครูในกรมสามัญศึกษา ใน พ.ศ. 2483 และเปลี่ยนชื่อ กระทรวงธรรมการ เป็น “กระทรวงศึกษาธิการ” ในปีถัดมา[17]
“ผลงานในด้านกิจการการเกษตร” ในสมัยที่พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ได้มีการแยกกองสัตวบาลและกองสัตวรักษ์ไปตั้งเป็นกรมใหม่ ได้แก่ กรมปศุสัตวและสัตว์พาหนะ ประกอบด้วยส่วนราชการ 4 หน่วย ได้แก่ สำนักงานเลขานุการกรม กองสัตวบาลน์ กองสัตวรักษ์ และกองสัตวศาสตร์ นอกจากนี้ พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัยได้เล็งเห็นความสำคัญของการกสิกรรมว่าเป็นส่วนสำคัญของประเทศ จึงเข้าหารือกับรัฐบาล ซึ่งนำโดยหลวงพิบูลสงคราม เพื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น ในปี พ.ศ. 2486 โดยการโอนวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในกรมเกษตร รวมกับโรงเรียนวนศาสตร์ในกรมป่าไม้ แบ่งการศึกษาและการปกครองเป็น 4 คณะ ได้แก่ คณะเกษตรศาสตร์ คณะวนศาสตร์ คณะประมง และคณะสหกรณ์ มีการเรียนการสอนส่วนใหญ่ที่เกษตรกลาง บางเขน อันเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาก่อน กับมีวิทยาลัยวนศาสตร์ของคณะวนศาสตร์ ที่จังหวัดแพร่ พร้อมทั้งจัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่[18] โดยในสมัยแรกนั้น พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ รับตำแหน่งเป็นอธิการบดีและนายกสภามหาวิทยาลัยฯ คนแรก[19]
“ผลงานในด้านกองทัพเรือ” พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือยาวนานถึง 13 ปี ได้ปรับปรุงโครงสร้างกองทัพเรือไว้มากมาย โดยประการแรก คือ พัฒนาการฝึกและพัฒนาหลักสูตรของนักเรียนทหารเรือให้มีความทันสมัยและมีความเป็นสากล โดยท่านได้แต่งและเรียบเรียงตำราไว้จำนวน 13 เล่ม เป็นตำราถาวร 9 เล่ม และเป็นตำราชั่วคราวพิมพ์ด้วยวิธีอัดสำเนาอีก 4 เล่ม ทั้งนี้ยังมีคู่มือ รวมไปถึงเอกสารการฝึกอีกมากมาย[20] นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ริเริ่มการศึกษาดูงานต่างประเทศของกองทัพเรือ และริเริ่มการส่งนายทหารและนักเรียนนายเรือไปศึกษาต่อในต่างประเทศ มีการคัดเลือกโดยการสอบแข่งขันชิงทุนทุกปี ปีละ 15 ทุน
ประการต่อมา เรื่องยกฐานะกองอุตุนิยมวิทยา สังกัดกรมอุทกศาสตร์ ขึ้นเป็นกรมอุตุนิยมวิทยา สังกัดกองทัพเรือ ใน พ.ศ. 2485[21] นอกจากนี้ ยังดำเนินการสร้างสถานีทหารเรือสัตหีบ ให้เป็นฐานทัพเรืออย่างจริงจัง ใช้ชื่อว่า มณฑลทหารเรือที่ 2 สร้างถนนเชื่อมต่อไปยังจังหวัดชลบุรีกับจังหวัดระยอง และดำเนินการติดตั้งปืนใหญ่รอบบริเวณ เพื่อปกป้องฐานทัพเรือสัตหีบ และจัดตั้งกองทหารปืนใหญ่ ใช้ชื่อว่า กองปืนรักษาชายฝั่ง และขยายการสนับสนุนหลักสูตรนาวิกโยธิน จากกองพันพาหะ ทำหน้าที่เป็นทหารฝีพายตามงานราชพิธี หรือกระจัดกระจายกันเป็นทหารรักษาการณ์ ให้มีลักษณะเป็นกรมผสม ให้มีความรู้ความสามารถหลากหลายเพื่อสนับสนุนภารกิจของทหารเรือ และจัดตั้งพื้นที่บริเวณทุ่งไก่เตี้ย อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นที่ตั้งถาวรให้กับกรมนาวิกโยธิน[22]
ประการสุดท้าย พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัยเป็นประธานกรรมการการเดินเรือแห่งประเทศไทยคนแรก[23] เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการสร้างท่าเรือสินค้าขนาดใหญ่ขึ้นที่คลองเตย เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัทไทยเดินเรือทะเล และบริษัทเดินเรือไทย เพื่อความก้าวหน้าทางการพาณิชย์ทางทะเล และสนับสนุนกองทัพเรือ บริษัทเดินเรือดังกล่าวเป็นกิจการเดินเรือแห่งแรกๆของไทยที่ลงทุนโดยรัฐบาลเพื่อลดการพึ่งพาบริษัทเดินเรือของต่างชาติ นอกจากนี้ พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย ยังเป็นผู้ก่อตั้งหลักสูตรพาณิชย์นาวี และริเริ่มการส่งนายทหารเรือลงไปฝึกในเรือพาณิชย์อีกด้วย[24]
บรรณานุกรม
คุรุสภา, ประมวลประวัติครู, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2535).
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. '2475,' (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2553).
นายหนหวย, ทหารเรือปฏิวัติ, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2555).
วีณา มโนพิโมกษ์, ความขัดแย้งภายในคณะราษฎร, (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2519).
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2534).
อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน ม.ป.ช., ม.ว.ม.(หลวงสินธุสงครามชัย), (กรุงเทพฯ : กรมสารบรรณทหารเรือ, 2520).
เว็บไซต์
ทำเนียบอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, เข้าถึงจาก <http://archives.psd.ku.ac.th/kuout/p040.html> เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2559.
ทำเนียบผู้บัญชาการทหารเรือ, เข้าถึงจาก <http://www.navy.mi.th/newwww/code/picture/hpict21.htm> เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2559.
อ้างอิง
1 คำไว้อาลัยพลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) โดย พลเรือตรี บุรินทร์ พงศ์สุพัฒน์ , ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน ม.ป.ช., ม.ว.ม. (หลวงสินธุสงครามชัย), (กรุงเทพฯ : กรมสารบรรณทหารเรือ, 2520), น. 201.
2 คุรุสภา, ประมวลประวัติครู, (กรุงเทพ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2535), น. 234.
[3] นายหนหวย, ทหารเรือปฏิวัติ, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2555), น. 15.
[4] ทำเนียบอธิการบดี, เข้าถึงจาก <http://archives.psd.ku.ac.th/kuout/p040.html> เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2559.
[5] เพิ่งอ้าง.
[6] เพิ่งอ้าง.
[7] ทำเนียบผู้บัญชาการทหารเรือ, เข้าถึงจาก <http://www.navy.mi.th/newwww/code/picture/hpict21.htm> เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2559.
[8] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2553), น. 464.
[9] วีณา มโนพิโมกษ์, ความขัดแย้งภายในคณะราษฎร, (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2519), น. 69-72.
[10] เพิ่งอ้าง.
[11]อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอก สินธุ์ กมลนาวิน ม.ป.ช., ม.ว.ม. (หลวงสินธุสงครามชัย), อ้างแล้ว, น. 195-197.
[12] เพิ่งอ้าง.
[13] ทำเนียบอธิการบดี, เข้าถึงจาก <http://archives.psd.ku.ac.th/kuout/p040.html> เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2559.
[14] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2534), น. 222.
[15] อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน ม.ป.ช., ม.ว.ม. (หลวงสินธุสงครามชัย), อ้างแล้ว, น. 202.
[16] เพิ่งอ้าง, น. 198.
[17] เพิ่งอ้าง.
[18] อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน ม.ป.ช., ม.ว.ม. (หลวงสินธุสงครามชัย), เพิ่งอ้าง, น. 200.
[19] ทำเนียบอธิการบดี, เข้าถึงจาก <http://archives.psd.ku.ac.th/kuout/p040.html> เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2559.
[20] อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน ม.ป.ช., ม.ว.ม. (หลวงสินธุสงครามชัย), เพิ่งอ้าง, น. 4.
[21] เพิ่งอ้าง, น. 242.
[22] เพิ่งอ้าง, น. 31.
[23] เพิ่งอ้าง, น. 215.
[24] เพิ่งอ้าง, น. 228.