มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:13, 13 ธันวาคม 2562 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ฐิติกร สังข์แก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


 

ความนำ

          มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย หรือ “มูลนิธิ กปปส.” เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยแปลงสภาพจากคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งมีบทบาทเคลื่อนไหวต่อต้าน “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน” หรือรู้จักกันในชื่อ “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” หรือ “นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย” ที่เสนอโดยนายวรชัย เหมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยและคณะ รวมถึงการต่อต้านรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์_ชินวัตร ในช่วงปลายปี 2556 อันสร้างผลสะเทือนต่อการเมืองไทยอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พร้อมกับยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กลุ่ม กปปส. จึงลดบทบาททางการเมืองลงและดำเนินการเคลื่อนไหวในรูปแบบมูลนิธิเพื่อการปฏิรูปประเทศ อันประกอบด้วยสมาชิกที่มาจาก กปปส. เป็นหลัก จึงกล่าวได้ว่ามูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยเป็นเสมือนมรดกตกทอดทางการเมืองของวิกฤติการเมืองไทยช่วง 2556-2557

 

'สภาพการณ์วิกฤตการเมืองไทย ('2556-2557)

          วิกฤตการเมืองไทยช่วงปลายปี 2556 ที่ประทุลุกลามบานปลายจากความขัดแย้งกรณีการเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน จนกระทั้งจบลงด้วยการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557[1] หนึ่งในตัวแสดงสำคัญทางการเมืองในห้วงวิกฤตการเมืองครั้งนี้ ก็คือ กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ (อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์) เป็นเลขาธิการ ปฏิบัติการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองต่อต้านการกระทำของรัฐบาลและรัฐสภา อันได้แก่ กรณีการผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาสมาชิกวุฒิสภา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เรื่องการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ โครงการจำนำข้าวชาวนา โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ทั้งยังกดดันให้นายกรัฐมนตรียุบสภา คัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ที่จะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ด้วยข้อเสนอให้มีการปฏิรูปประเทศ 5 ด้าน ก่อนที่จะให้มีการเลือกตั้งตามปกติ (การรณรงค์ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง")[2] ครั้นเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศยึดอำนาจการปกครองและล้มเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 นำพาประเทศให้ตกอยู่ภายใต้การประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร[3] และห้ามมิให้ชุมนุมในทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป[4] กลุ่ม กปปส. ก็ลดบทบาทลงเฉกเช่นเดียวกับกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองอื่นๆ

 

การก่อตั้งมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ

          ภายหลังจากการประการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557[5] ซึ่งกำหนดให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฝดอิน-จัน) เป็นองค์กรหลักในการดำเนินการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ นั้น บทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ระบุให้รับฟังความคิดเห็น ทั้งจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณาด้วย (มาตรา 34) กปปส. ในฐานองค์กรก็กลับมามีบทบาทอีกครั้งทว่าปรับแปรงไปสู่รูปแบบมูลนิธิเพื่อการปฏิรูปประเทศ ซึ่งนอกจากจะไม่ขัดกับข้อห้ามการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้ว ยังมีบทบาทแข็งขันในการนำเสนอประเด็นปฏิรูป 5 ประเด็น ของกลุ่ม กปปส. เมื่อครั้งที่เคยเคลื่อนไหวชุมนุมก่อนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ทั้งนี้ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ว่า "แนวทางการปฏิรูปของ กปปส. ที่ได้กำหนดหัวข้อการปฏิรูปไว้ 5 ด้านในช่วงการชุมนุม ได้มีการรวบรวมให้เกิดความชัดเจน และเสนอต่อ คสช. ไปแล้วโดยมีการนำไปจัดอยู่ในหัวข้อการปฏิรูปของ คสช. ทั้ง 11 ด้าน ซึ่งแกนนำ กปปส. จะเป็นตัวแทนประชาชนที่จะร่วมสร้างพลังและสานต่อเจตนารมณ์ในการปฏิรูปประเทศให้ประสบผลสำเร็จก่อนตัดสินใจอนาคตทางการเมืองต่อไป"[6]

          จนกระทั่ง วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศและงานทั่วไป ประเภท ง เล่ม 132 ตอน 16 ปรากฏการจดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย" โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้ขอขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 ด้วยทุนเริ่มแรกเป็นเงินสด 1,000,000 บาท และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 79/46 หมู่บ้านภัทรา ซอยรามคำแหง 76 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ[7] ซึ่งได้จัดงานเปิดตัวมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2558 ณ โรงแรมคอนติเนนทัล ราชประสงค์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กล่าวย้ำถึงการดำเนินงานภายใต้คำสั่ง คสช. และรัฐบาล ว่า "ถือโอกาสประกาศว่า มูลนิธิ กปปส. จะปฏิบัติตามกฎหมายทุกอย่าง และให้ความร่วมมือกับ คสช. กับรัฐบาล ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ในการที่จะขับเคลื่อนประเทศไทย ไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าของประเทศและประชาชน นี่เป็นจุดยืนที่ขอเรียนกับท่านทั้งหลายให้ทราบในเบื้องต้น"[8] ขณะเดียวกันให้ความเชื่อมั่นว่ามูลนิธิมีการดำเนินการที่โปร่งใสสามารถตรวจสอบที่มาของเงินได้ เพราะเป็นเงินที่มาจากประชาชนผู้รักชาติอันปราศจากการแทรกแซงของกลุ่มการเมืองและต่างชาติ แต่หากเกิดกรณีที่ต่างประเทศ หรือองค์กรต่างๆ เข้าใจสภาพของประเทศไทยเบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริงก็พร้อมที่จะส่งตัวแทนไปอธิบายทำความเข้าใจกับภาครัฐและสื่อมวลชนของประเทศนั้น[9]

 

วัตถุประสงค์มูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ

          มูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ ก่อตั้งขึ้นในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อกลุ่มการเมืองทุกฟากฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการดำเนินการทางการเมืองนั้นเป็นไปในทิศทางที่ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของ คสช. อย่างเปิดเผย ซึ่งส่งผลให้ถูกจับตามองจากฝ่ายความมั่นคงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มก่อตั้งมูลนิธิก็ได้ระบุวัตถุประสงค์สำคัญกว้างๆ ไว้ 4 ประการ[10] ได้แก่

  1. เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการศึกษา วิจัย สัมมนา ประชุม หรือการระดมและรวบรวมความรู้และหรือความคิดเห็นในรูปแบบใดๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทย ในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เกี่ยวกับอนาคตของประเทศในทุกๆ ด้าน
  2. ติดตามศึกษารวบรวมและวิเคราะห์ตลอดจนรายงานข้อมูลและสถานะของประเทศเป็นระยะๆ
  3. ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
  4. ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยความเป็นกลางโดยไม่ให้การสนับสนุนด้านการเงินหรือทรัพย์สินแก่นักการเมือง หรือพรรคการเมืองใด

คณะกรรมการดำเนินงาน

          การจัดตั้งมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการภายหลังมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการดำเนินงานมูลนิธิ ประกอบด้วยบุคคล[11] ดังนี้

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ             ประธานกรรมการ

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย          รองประธานกรรมการ

นายวิทยา แก้วภราดัย               รองประธานกรรมการ

นายอิสสระ สมชัย                    รองประธานกรรมการ

นายถาวร เสนเนียม                  รองประธานกรรมการ

นายชุมพล จุลใส                     กรรมการ

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์              กรรมการ

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์           กรรมการ

นายสกลธี ภัททิยกุล                 กรรมการ

นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ           กรรมการและเหรัญญิก

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์              กรรมการและเลขานุการ

นางสาวจิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร       กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

 

          สำหรับคณะกรรมการดำเนินงานมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ ทั้ง 12 ราย ล้วนแล้วแต่เคยเป็นผู้มีบทบาทโดดเด่นทางการเมืองในขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. ระหว่างช่วงปลายปี 2556 ก่อนที่จะเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ด้วยกันทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความสัมพันธ์กับพรรคประชาธิปัตย์โดยตรง โดยเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) รองหัวหน้าพรรค (นายวิทยา แก้วภราดัย, นายอิสสระ สมชัย, นายถาวร เสนเนียม และนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์) กรรมการบริหารพรรค (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย และนายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและอดีตผู้สมัครในนามพรรค (นายชุมพล จุลใส, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์, นายสกลธี ภัททิยกุล, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ และนางสาวจิตภัสร์ กฤดากร)

 

นัยสำคัญต่อการเมืองไทย

          การปรับแปลงบทบาททางการเมืองของกลุ่ม กปปส. จากขบวนการเคลื่อนไหวชุมนุมบนท้องถนนต่อต้านรัฐบาลมาสู่การจัดตั้ง "มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย" อันมีวัตถุประสงค์การดำเนินการปฏิรูปประเทศนั้น สอดคล้องกับเจตนารมณ์และนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการให้กลุ่มการเมืองต่างๆ (ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง พรรคการเมืองและบุคคลทางการเมือง) ลดระดับและชะลอบทบาททางการเมืองลงเพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดมีขึ้นในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม ในขณะที่กลุ่ม กปปส. ประกอบกันขึ้นจากการรวมตัวกันของหลายภาคส่วนสังคมอันมีจุดมุ่งหมาย อุดมการณ์ และผลประโยชน์แตกต่างกัน หากแต่มีจุดร่วมกันเพื่อต่อต้าน "พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง" และรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ กลับมีคณะกรรมการดำเนินงานจำกัดวงอยู่เฉพาะอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ 12 คนเท่านั้น

          แม้ว่าภายหลังจะมีคณะทำงานและที่ปรึกษา ตลอดจนเปิดรับการบริจาคจากใครก็ตามที่นิยามตนว่าเป็น "ผู้รักชาติ" แต่การจัดตั้งมูลนิธิถือกำเนิดขึ้นในสถานการณ์ที่ถูกบีบบังคับให้สงบราบคาบจากคำสั่ง ประกาศ และบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ อันส่งผลให้เหตุการณ์คลี่คลายตัวลงไม่มากก็น้อย ข้อเสนอแนวทางของมูลนิธิจึงไม่เปิดโอกาสให้ความเห็นที่แตกต่างห่างเหินจากความปรารถนาของผู้อยู่ในอำนาจ ดังที่ปรากฏความขัดแย้งระหว่างนายกษิต ภิรมย์ ที่ปรึกษามูลนิธิ กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิ ในกรณีที่ฝ่ายแรกไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ชุดที่มี ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน โดยเฉพาะกรณีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ซึ่งมีลักษณะบริหารแบบ "รัฐซ้อนรัฐ" หรือ "อภิรัฐบาล" จึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาฝ่ายการต่างประเทศของมูลนิธิ[12] ยิ่งไปกว่านั้น การดำเนินกิจกรรมของมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ จะบรรลุสัมฤทธิ์ผลได้ก็แต่โดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากเพียงพอเท่านั้น แต่ก็ปรากฏชัดว่าประชาชนที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. ก็ลดความสนใจทางการเมืองลงอย่างเห็นได้ชัด มูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ จึงอาจกลายเป็นเพียงองค์กรที่รอพักฟื้นการคืนตัวของนักการเมืองชั้นนำหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงจากอำนาจอีกองค์กรหนึ่งก็เป็นได้

 

บรรณานุกรม

“กปปส. ร่วมขบวนปฏิรูป." เดลินิวส์. (1 กันยายน 2557), 2.

“ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557 เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ." ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 131 ตอนพิเศษ 83 ง. 26 พฤษภาคม 2557, หน้า 1-2.

“ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 2/2557 เรื่อง การประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร." ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 131 ตอนพิเศษ 84 ง. 26 พฤษภาคม 2557, หน้า 1.

“ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 131 ตอนที่พิเศษ 84 ง. 26 พฤษภาคม 2557, หน้า 6.

“ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย"." ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 132 ตอนที่ 16 ง. 19 กุมภาพันธ์ 2558, หน้า 45-46.

“เปิดตัวมูลนิธิ กปปส.'สุเทพ'ลั่น คสช.ต้องดูแล ปท.-ปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง." สำนักข่าวอิศรา. (30 กรกฎาคม 2558). เข้าถึงจาก <http://www.isranews.org/isranews-news/item/40275-kpps_888888.html>. เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559.

“มูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ ระส่ำ 'กษิต' แยกทาง สุเทพ หลังมองต่างมุม คปป..” ไทยรัฐออนไลน์. (23 กันยายน 2558). เข้าถึงจาก <http://www.thairath.co.th/content/527304>. เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559.

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนที่ 55 ก (22 กรกฎาคม 2557).

“สุเทพ เทือกสุบรรณเสนอแผน 1 ปี 5 ปฏิรูป แล้วจัดเลือกตั้ง.” ประชาไท. (17 ธันวาคม 2556). เข้าถึงจาก <http://www.prachatai.com/journal/2013/12/50482>. เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559.

“สุเทพ เปิดตัวมูลนิธิ-ลั่นหนุนคสช.." ผู้จัดการรายวัน. (31 กรกฎาคม 2558), 11.

 

อ้างอิง

[1] "ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557 เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ," ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 131 ตอนพิเศษ 83 ง, 26 พฤษภาคม 2557, หน้า 1-2.

[2] โปรดดูรายละเอียดข้อเสนอการปฏิรูปใน “สุเทพ เทือกสุบรรณเสนอแผน 1 ปี 5 ปฏิรูป แล้วจัดเลือกตั้ง,” ประชาไท, (17 ธันวาคม 2556). เข้าถึงจาก <http://www.prachatai.com/journal/2013/12/50482>. เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559.

[3] "ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 2/2557 เรื่อง การประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร," ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 131 ตอนพิเศษ 84 ง, 26 พฤษภาคม 2557, หน้า 1. ต่อมาประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้ก็ถูกยกเลิกไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 โดยหันไปใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งให้อำนาจแก่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแทน

[4] “ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 131 ตอนที่พิเศษ 84 ง, 26 พฤษภาคม 2557, หน้า 6.

[5] “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนที่ 55 ก (22 กรกฎาคม 2557).

[6] "กปปส. ร่วมขบวนปฏิรูป," เดลินิวส์, (1 กันยายน 2557), 2.

[7] "ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย"," ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 132 ตอนที่ 16 ง, 19 กุมภาพันธ์ 2558, หน้า 45-46.

[8] "เปิดตัวมูลนิธิ กปปส.'สุเทพ'ลั่น คสช.ต้องดูแล ปท.-ปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง," สำนักข่าวอิศรา, (30 กรกฎาคม 2558). เข้าถึงจาก <http://www.isranews.org/isranews-news/item/40275-kpps_888888.html>. เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559.

[9] "สุเทพ เปิดตัวมูลนิธิ-ลั่นหนุนคสช.," ผู้จัดการรายวัน, (31 กรกฎาคม 2558), 11.

[10] "ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย"," ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 132 ตอนที่ 16 ง, 19 กุมภาพันธ์ 2558, หน้า 45-46.

[11] "ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย"," ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 132 ตอนที่ 16 ง, 19 กุมภาพันธ์ 2558, หน้า 45-46.

[12] “มูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ ระส่ำ 'กษิต' แยกทาง สุเทพ หลังมองต่างมุม คปป.,” ไทยรัฐออนไลน์, (23 กันยายน 2558). เข้าถึงจาก <http://www.thairath.co.th/content/527304>. เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559.