คณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการปกป้องฯ
บทนำ
ภายใต้พิมพ์เขียวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อมีการรวมตัวกันและเปิดประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2015 ก็จะก่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างประเทศสมาชิกในด้านต่างๆมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือความร่วมมือในด้านของแรงงานฝีมือ[1] ด้วยความต้องการแรงงานที่มีมากขึ้นส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่นฐานของแรงงานจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่งมาก ปัญหาสำคัญที่ตามมาจากการโยกย้ายนี้ก็คือ ปัญหาด้านการคุ้มครองแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะส่งผลต่อกำลังการผลิตและคุณภาพของแรงงานได้ รวมไปถึงปัญหาการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานและการกระทำอันไม่ยุติธรรมต่อแรงงาน ซึ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ทุกชาติสมาชิกในอาเซียนควรจะร่วมมือกันแก้ไขเพื่อให้การพัฒนาของประชาคมอาเซียนเป็นไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน [2]
ประวัติความเป็นมา
ก่อนจะมีการก่อตั้งคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการปกป้องและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ (ACMW) อาเซียนมีความพยายามในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ด้วยการออกแผนปฏิบัติการหรือความตกลงร่วมกันในเรื่องต่างๆ เช่น ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ (1997) ซึ่งมุ่งที่จะควบคุมดูแลการตรวจคนผ่านเข้าเมืองให้เป็นไปอย่างถูกต้องและป้องกันการค้ามนุษย์ แผนปฏิบัติการฮานอย (1998) ที่เน้นไปที่การป้องกันการค้าเด็กและสตรี และ ความตกลงกรุงเทพว่าด้วยเรื่องการโยกย้ายที่ผิดปกติ มุ่งที่จะให้การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาตินั้นเป็นไปตามกฎหมายและขั้นตอนที่ใช้ยับยั้งการค้ามนุษย์ [3]
ต่อมาในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 12 ในปี ค.ศ.2007 ได้มีการออกปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติขึ้น ซึ่งเนื้อหาโดยรวมของปฏิญญาฉบับคือการให้ประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่งแรงงานนั้นส่งเสริมความสามารถและให้เกียรติแก่แรงงานข้ามชาติทั้งหลาย ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาแรงงานที่เสียใบอนุญาตทำงานไปโดยมิใช่ความผิดของตัวเองและสร้างความมั่นคงให้แก่แรงงานและครอบครัวของเขาที่อาศัยอยู่ในประเทศผู้รับ [4]
และเพื่อให้มีการดำเนินการตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติ และช่วยให้การดำเนินการนั้นเป็นไปโดยสะดวก จึงได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการปกป้องและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ (ACMW) ขึ้น
โครงสร้างของคณะกรรมการACMW
ประกอบไปด้วยผู้แทนอาวุโสจากแต่ละประเทศสมาชิกและตัวแทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติของแต่ละประเทศเป็นผู้ที่คอยช่วยผู้แทนอาวุโสเหล่านี้ในการดำเนินการต่างๆ ส่วนหัวหน้าคณะทำงานนั้นให้ตัวแทนที่มาจากประเทศที่เป็นประธานคณะกรรมการประจำอาเซียนหรือประเทศที่เป็นประธานอาเซียนในปีนั้นๆ และมีเลขานุการที่คอยให้ความช่วยเหลือจากสำนักเลขาธิการอาเซียน [5]
หน้าที่ของคณะกรรมการ ACMW
1. ศึกษาแนวทางในการดำเนินงานเพื่อให้วัตถุประสงค์ตามปฏิญญาสำเร็จลุล่วงไปได้
2. อำนวยความสะดวกในการแบ่งปันแนวทางปฏิบัติต่างๆเพื่อให้เป็นประโยชนต่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ
3. ส่งเสริมความร่วมมือในทั้งในระดับภูมิภาคและทวิภาคีเพื่อให้เกิดความช่วยเหลือกันในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ
4. อำนวยความสะดวกในการแบ่งข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาต่างๆเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดทำนโยบายและโครงสร้างที่จะคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติทั้งในประเทศผู้ส่งและผู้รับ
5. ส่งเสริมกลไกการประสานงานระหว่างประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่งให้มีการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติในเรื่องของการป้องกันการค้ามนุษย์
6. ส่งเสริมให้องค์กรระหว่างประเทศซึ่งเป็นคู่เจรจาของอาเซียนและประเทศอื่นๆเคารพหลักการและสนับสนุนพร้อมให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรการที่ประกาศใช้
7. ทำงานร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียนในการจัดทำรายงานส่งให้แก่ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
8. พัฒนาเครื่องมือต่างๆที่จะใช้ในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ [6]
แผนการทำงานของคณะกรรมการ ACMW
1. เพิ่มระดับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติจากการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบหรือการกระทำอันไม่เป็นธรรม
2. สร้างความเข็มแข็งให้กับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติโดยการพัฒนาหลักการเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวในภูมิภาคอาเซียน
3. ร่วมมือกันในระดับภูมิภาคเพื่อต่อสู้กับองค์กรค้ามนุษย์
4. พัฒนาเครื่องมือในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ [7]
ที่ประชุมเสวนาอาเซียนเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ (AFML)
ในการดำเนินการตามแผนงานทั้ง 4 ข้างต้นนั้นมีหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องมากมาย ที่ประชุมเสวนาอาเซียนเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ
ที่ประชุมเสวนาอาเซียนเกี่ยวกับแรงงานข้ามแดนถูกจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2008 โดยที่ประชุมของคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการปกป้องและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ(ACMW) ณ ประเทศสิงคโปร์เพื่อที่จะส่งเสริมความเข้มแข็งในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติภายใต้แผนการดำเนินงานข้อที่2 ของ ACMW [8]
วัตถุประสงค์ของหน่วยงานนี้มี 3 ประการหลัก คือ
1.ติดตามการดำเนินการตามคำแนะนำที่ทางหน่วยงานมีโดยการให้สมาชิกร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์ ความท้าทาย และแนวทางการปฏิบัติที่เกิดขึ้น
2.การตรวจสอบรายละเอียดของบทบัญญัติในปฏิญญาเซบูเกี่ยวกับหน้าที่ของประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่ง
3.การร่างข้อแนะนำที่ได้จากการหารือกันภายในหน่วยงาน [9]
โครงการหลักของหน่วยงานนี้ก็คือ Tripartite Action for the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers in the ASEAN Region (ASEAN TRIANGLE project) ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งให้การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากตัวแรงงานข้ามชาตินั้นลดน้อยลงผ่านการทำให้แรงงานเหล่านั้นกลายเป็นแรงงานถูกกฎหมายและส่งเสริมความปลอดภัยควบคู่ไปกับการพัฒนาการคุ้มครองสิทธิแรงงานเหล่านั้น โดยโครงการดังกล่าวมีทั้งการสร้างความเข้มแข็ง การพัฒนาปรับปรุง และการเพิ่มขีดความสามารถของนโยบาย การปฏิบัติงานของรัฐบาล กฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงความร่วมมือจากสังคม [10]
ผลของการประชุมที่น่าสนใจ อาทิ
การประชุมเสวนาอาเซียนเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติครั้งที่ 4 ณ อินโดนีเซีย ที่ต้องการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่แรงงานข้ามชาติ และส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสิทธิของแรงงานเหล่านี้ นอกจากนี้ยังหายุทธวิธีที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้แรงงานข้ามชาติที่กลับสู่ถิ่นฐานเดิมมีความมั่นคงได้ [11]
การประชุมเสวนาอาเซียนเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติครั้งที่ 5 ณ กัมพูชา พยายามส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิในที่ทำงานตามหลักสากล ส่งเสริมให้มีการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างโปร่งใส มีความรับผิดชอบ และลดค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนแรงงาน รวมไปถึงการแบ่งปันข้อมูลและสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนในเรื่องของการเป็นแรงงานในต่างแดน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายและการทำเอกสารทางราชการต่างๆเช่น วีซ่า ใบอนุญาตทำงาน และเพิ่มศักยภาพในการตรวจสอบและรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ พร้อมกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากหลายๆภาคส่วนในเรื่องของแรงงานข้ามชาติ [12]
การประชุมเสวนาอาเซียนเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติครั้งที่ 6 ณ บรูไน ส่งเสริมการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติผ่านการรวบรวม แบ่งปัน และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลระหว่างประเทศผู้ส่งและประเทศผู้รับ รวมทั้งการเข้าถึงระบบกฎหมายและการพิจารณาคดีของแรงงานด้วย นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีกลไกในการรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย [13]
การประชุมเสวนาอาเซียนเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติครั้งที่ 7 ณ เมียนมาร์ ส่งเสริมให้มีการจ้างงานอย่างดี เป็นธรรม และเหมาะสมทั้งในแง่ของค่าจ้าง การเข้าถึงงานและสภาพความเป็นอยู่ พร้อมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในการย้ายถิ่นฐานของแรงงานข้ามชาติไม่ว่าจะไปในการย้ายออกหรือกลับคืนสู่ถิ่นฐานเดิมพร้อมกับการเตรียมความพร้อมในการทำงานให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ [14]
การประชุมเสวนาอาเซียนเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติครั้งที่ 8 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งล่าสุดที่จัดขึ้น ณ มาเลเซีย ในเดือนตุลาคม ค.ศ.2015 ที่ประชุมได้พูดคุยกันใน 2 ประเด็นหลัก คือ การส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีและปลอดภัย และ การคุ้มครองสิทธิขั้นต่ำให้แก่แรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นการพัฒนาในสอดคล้องกับปฏิญญาเซบู [15]
บรรณานุกรม
น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล. 2014. “แรงงานข้ามชาติ CLMV : ปัญหาที่อาเซียนต้องร่วมกันแก้ไข.” http://www.itd.or.th/research-article/577-ar (accessed June 22, 2015)
FORUM-ASIA.2013. “ASEAN Committee on Migrant Workers.” http://humanrightsinasean.info/asean-committee-migrant-workers/about.html (accessed June 20,2015)
International Labour Organization. ASEAN Forum on Migrant Labour (AFML) : Background information booklet. Bangkok: ILO, 2014.
International Labour Organization (ILO), 2014 “Tripartite Action for the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers in the ASEAN Region (ASEAN TRIANGLE project).” http://www.ilo.org/asia/whatwedo/projects/WCMS_193023/lang--en/index.htm (accessed June 22, 2015)
Kelegama Saman. Migrant,Remittances and Development in South Asia. India: SAGE Publications, 2011.
อ้างอิง
- ↑ AEC Blueprint (2003)
- ↑ น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล. 2014. “แรงงานข้ามชาติ CLMV : ปัญหาที่อาเซียนต้องร่วมกันแก้ไข.” http://www.itd.or.th/research-article/577-ar (accessed June 22, 2015)
- ↑ FORUM-ASIA.2013. “ASEAN Committee on Migrant Workers.” http://humanrightsinasean.info/asean-committee-migrant-workers/about.html (accessed June 20,2015)
- ↑ Kelegama Saman. Migrant,Remittances and Development in South Asia. (India: SAGE Publications, 2011.), page 316.
- ↑ Statement of the Establishment of the ASEAN Committee on the Implementation of the ASEAN Declaration on the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers (2007)
- ↑ Statement of the Establishment of the ASEAN Committee on the Implementation of the ASEAN Declaration on the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers (2007)
- ↑ ASEAN Committee on the Implementation of the ASEAN Declaration on the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers (ACMW) Work Plan (2008)
- ↑ International Labour Organization. ASEAN Forum on Migrant Labour (AFML) : Background information booklet. (Bangkok: ILO, 2014.), page 2
- ↑ Ibid 8, page 3.
- ↑ International Labour Organization (ILO), 2014 “Tripartite Action for the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers in the ASEAN Region (ASEAN TRIANGLE project).” http://www.ilo.org/asia/whatwedo/projects/WCMS_193023/lang--en/index.htm (accessed June 22, 2015)
- ↑ Ibid 8, page 14-17.
- ↑ Ibid 8, page 18-21.
- ↑ Ibid 8, page 23-27.
- ↑ RECOMMENDATIONS THE 7th ASEAN FORUM ON MIGRANT LABOUR 20-21 November 2014, Nay Pyi Taw, Myanmar. (2014).
- ↑ International Labour Organization (ILO), 2015 “8th ASEAN Forum on Migrant Labour National Tripartite Preparatory Meetings.” http://www.ilo.org/jakarta/whatwedo/eventsandmeetings/WCMS_407760/lang--en/index.htm (accessed Jan 12, 2016.)