คณะราษฎร คือใคร
ผู้เรียบเรียง ปิยะวรรณ ปานโต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
คณะราษฎร คือใคร
คณะราษฎร คือกลุ่มบุคคล ที่ดำเนินการปฏิวัติยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามประเทศ (เป็นชื่อของประเทศไทยในสมัยนั้น) จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวที่ต้องการเห็นบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียน และนักเรียนทหารที่ศึกษาและทำงานอยู่ในทวีปยุโรป
แผนเตรียมการปฏิบัติงานของคณะราษฎร
เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2469 ณ หอพัก Rue du summerard ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้มีการประชุมกลุ่มผู้ต้องการเห็นบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นครั้งแรก คือ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ร.ท.แปลก ขิตตะสังคะ (หลวงพิบูลสงคราม) ซึ่งกำลังศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่ ในโรงเรียนนายทหาร ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี ศึกษาวิชาการทหารม้า โรงเรียนนายทหาร ของฝรั่งเศส นายตั้ว ลพานุกรม นักศึกษาวิทยาศาสตร์ ระดับปริญญาเอก ในสวิตเซอร์แลนค์ หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) ผู้ช่วยเลขานุการทูตสยาม ประจำกรุงปารีส นายแนบ พหลโยธิน เนติบัณฑิตอังกฤษ และนายปรีดี พนมยงค์ ได้ทำการตกลงกันที่จะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่กษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย โดยมีการตกลงที่ใช้วิธีการ “ยึดอำนาจโดยฉับพลัน” รวมทั้งพยายามหลีกเลี่ยงการนองเลือด ทั้งนี้เพื่อป้องกันการถือโอกาสเข้ามาแทรกแซง ยกกำลังทหารมายึดครองดินแดนเอาไปเป็นเมืองขึ้น จากประเทศมหาอำนาจที่มีอาณานิคมอยู่ล้อมรอบสยามประเทศ ในสมัยนั้น คือ อังกฤษ และฝรั่งเศส
หลังจากการประชุมกลุ่มผู้ต้องการเห็นบ้านเมือง มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้กลับมาประเทศสยาม และได้ติดต่อประชาชนทุกอาชีพ ประกอบด้วยข้าราชการฝ่ายทหารบก ทหารเรือ พลเรือน และราษฎร โดยใช้นามว่า “คณะราษฎร” ได้ร่วมทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีรัฐธรรมนูญใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ ซึ่งบุคคลคณะนี้มีจำนวน 99 นาย และสามารถรวบรวมได้โดยแบ่งเป็นสายดังนี้ คือ
![]() |
![]() |
![]() | |
สายนายทหารชั้นยศสูง | สายทหารบกชั้นยศน้อย | สายทหารเรือ | สายพลเรือน |
นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นหัวหน้า |
นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) เป็นหัวหน้า |
นายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) เป็นหัวหน้า |
อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นหัวหน้า |
ครั้นเมื่อถึงเวลาย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ตรงกับวันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก จุลศักราช 1294 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลนั้น และนับเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 7 ในพระราชวงศ์จักรี ซึ่งเป็นวันที่คณะราษฎรได้วางแผนและนัดหมายที่ลานพระบรมรูปทรงม้าหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ได้มีกำลังทหารบก ทหารเรือ และหน่วยรถถังพร้อมด้วยอาวุธตั้งแถวเพื่อรอฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้ควบคุมโดยกรมยุทธศึกษาทหารบกมีคำสั่งให้ทหารทุกหน่วยไปพร้อมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าก่อนเวลา 6 นาฬิกา ครั้นถึงเวลา 6 นาฬิกาตรงตามนัดหมาย นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้อ่านประกาศคำแถลงการณ์ของคณะราษฎรฉบับแรก ต่อหน้าราษฎร ความในประกาศฉบับนั้นมีว่า [1]
“...ราษฎรทั้งหลาย เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อจากพระเชษฐานั้น ในขั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้คงจะปกครองให้ราษฎรได้ร่มเย็น แต่การก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจเหนือกฎหมายตามเดิม...เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเมืองที่ได้รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังกันตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของกษัตริย์ไว้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภาได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลาย ๆ ความคิด ดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้นคณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้ขออัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้...” ทั้งนี้คณะราษฎรได้ตั้งปณิธาน ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้ที่พึงกระทำก็คือจะต้องจัดวางโครงการ อาศัยหลักวิชาเพื่อให้สยามบรรลุเป้าหมาย
เป้าหมายหลัก 6 ประการ
1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
2. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุก ๆ คนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4. จะต้องให้ราษฎรได้สิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)
5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
เมื่อนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา อ่านแถลงการณ์จบลง ทหารทุกเหล่า ตลอดจนประชาชนที่อยู่ ณ ที่นั้นก็เปล่งเสียงไชโยโห่ร้องให้การสนับสนุนคณะราษฎร ต่อจากนั้นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้แยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่ได้ตกลงนัดหมายกันไว้ เช่น แยกย้ายกันไปอ่านให้ประชาชนฟัง ณ ที่ชุมนุมชน และตามห้องประชุมของมหาวิทยาลัย เป็นต้น
![]() |
สัญญลักษณ์แห่งความทรงจำ คือ หมุด 2475 “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” หมุดนี้เป็นจุดที่หัวหน้าคณะราษฎรยืนอ่านแถลงการณ์ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปัจจุบันซึ่งฝังอยู่ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าเบื้องซ้ายของพระรูปหน้าประตูสนามเสือป่า เป็นหมุดทองเหลืองฝังไว้เมื่อปี พ.ศ. 2483 เป็นที่รำลึกถึงการปฏิวัติของคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดแทนองค์บุคคล |
ซึ่งได้อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ได้ประทับอยู่ ณ สวนไกลกังวล หัวหิน ขณะนั้นคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้ให้ นายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัย นำเรือหลวงสุโขทัย ไปหัวหิน เพื่อนำหนังสือกราบบังคมทูลเพื่ออัญเชิญให้เสด็จกลับสู่นครทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป หนังสือกราบบังคมทูลนั้น มีความดังต่อไปนี้
ทั้งนี้คณะราษฎรได้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่บัญชาการ และเชิญพระราชวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่เห็นสมควรบางท่านมาควบคุมไว้ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระตำหนักราชฤทธิ์ และในตึกกองรักษาการณ์ เพื่อเป็นการประกันความปลอดภัยของคณะราษฎร
“พระที่นั่งอนันตสมาคม
วันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475
ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
ด้วยคณะราษฎร ข้าราชการ ทหาร พลเรือน ได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ได้แล้ว และได้เชิญสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ มีสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมนครสวรรค์วรพินิต เป็นต้น ไว้เป็นประกัน
ถ้าหากคณะราษฎรนี้ถูกทำร้ายด้วยประการใด ๆ ก็จะต้องทำร้ายเจ้านายที่คุมไว้เป็นการตอบแทน คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งชิงราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันใหญ่ยิ่งก็เพื่อที่จะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกลับคืนสู่พระนคร ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไปโดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ซึ่งคณะราษฎรได้สร้างขึ้น ถ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทตอบปฏิเสธก็ดี หรือไม่ตอบภายใน 1 ชั่วนาฬิกา นับแต่ได้รับหนังสือนี้ก็ดี คณะราษฎรก็จะได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน โดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่นที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปประทับที่วังสุโขทัย ในวันที่ 26 มิถุนายน โปรดเกล้าฯ ให้คณะราษฎรเข้าเฝ้าที่วังสุโขทัย เวลา 11.00 นาฬิกา ในการนี้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ผู้แทนคณะราษฎร ได้นำพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 และพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นผู้สร้างเตรียมไว้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475 ณ บัดนั้น ส่วนพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวนั้น ทรงรับไว้และพระราชทานพระกระแสรับสั่งขอเวลาพิจารณาสักหนึ่งวัน คณะผู้แทนราษฎรจึงได้กราบถวายบังคมทูลลากลับ และในวันที่ 27 มิถุนายน ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ได้ทรงพระอักษร กำกับต่อท้าย ชื่อพระราชบัญญัติว่า “ชั่วคราว” (ซึ่งมีความหมายว่า การจัดรูป การปกครองของระบอบใหม่ มิใช่สิ่งที่ผู้นำของคณะราษฎรจะกำหนดได้ฝ่ายเดียวอีกต่อไป จะต้องมีการประนีประนอมออมชอมกับฝ่ายอื่นต่อไป) พระราชทานให้แก่คณะราษฎรตามที่เสนอขอพระราชทานไป จึงถือได้ว่าประเทศสยามได้มีรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศเป็นฉบับแรกตั้งแต่วันนั้น โดยมีคำปรารภของธรรมนูญการปกครองฉบับแรกนี้ มีว่า
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า
โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม เพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น และโดยที่ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยมาตราต่อไปนี้” “...โดยบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองประเทศฉบับนี้มีรัฐสภาเพียงสภาเดียว เรียกว่าสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลไม่มีอำนาจยุบสภา ส่วนสภามีอำนาจมาก ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกสภาด้วย ....”
ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
วันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมในพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เวลา 10.00 นาฬิกา ท่ามกลางอุดมสันนิบาต มีพระบรมวงศานุวงศ์และทูตานุทูต ผู้แทนนานาประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนามาตย์ราชบริพาร เฝ้าเบื้องบาทบงกช พรั่งพร้อมกันอาลักษณ์ ได้อ่านพระราชปรารภในการพระราชทานรัฐธรรมนูญเพื่อให้สยามราชอาณาจักรได้มีการปกครองตามวิสัยอารยประเทศในสมัยปัจจุบัน...และเสด็จพระราชดำเนินไป ณ สีหบัญชรทักษิณของพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่ง ณ ที่นั้นมีทหารกองเกียรติยศ นายกรัฐมนตรี ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภา ข้าราชการ และประชาชนยืนอยู่ ซึ่งเป็นการแสดงให้ประชาชนได้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนแล้ว ต่างแสดงส่งเสียงไชโยโห่ร้อง แสดงความยินดีในการที่ได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ จึงตกลงพระทัยสละราชสมบัติ ทรงลาออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ในวันที่ 2 มีนาคม พุทธศักราช 2477 ดังปรากฏความในเอกสารความว่า[2] “.... ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”
ย้อนอดีตแห่งความทรงจำ
ซึ่งคุณกระจ่าง ตุลารักษ์ วัย 87 ปี ชาวบ้านแห่งอำเภอบางคล้า เมืองแปดริ้ว เป็นอดีตสมาชิกคณะราษฎรคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ หวนรำลึก ความหลัง ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเช้ามืดของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นทรัพย์สมบัติของประชาชนคนรุ่นหลัง”
อ้างอิง
- ↑ ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, (2517) “รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517)”. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ชุมชนช่าง : กรุงเทพมหานคร, หน้า 8-9.
- ↑ รัฐสภา, (2542) “พระราชประวิติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”. บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด : กรุงเทพมหานคร, หน้า 97.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. การเมืองการปกครองไทย : พ.ศ. 1762-2500. เสมาธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 4, พ.ศ. 2549.
บรรณานุกรม
ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, (2517) “รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517)”. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ชุมชนช่าง : กรุงเทพมหานคร.
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนนต์, (2548) “เอกสารประกอบการศึกษาดูงาน โครงการยุวชนประชาธิปไตย ประจำปี 2548”. สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
รัฐสภา, (2542 “พระราชประวิติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”. บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด : กรุงเทพมหานคร.
http://th.wikipedia.org/wiki. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2552.