การชุมนุมประท้วงของนักเรียนมัธยม นักศึกษา และคนหนุ่มคนสาว พ.ศ. 2563

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:34, 31 พฤษภาคม 2565 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง :''' รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต '''ผู้ทร...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู

 

          พ.ศ. 2563 เป็นปีที่มีนักเรียนมัธยม นักศึกษามหาวิทยาลัย และคนหนุ่มคนสาวเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงรัฐบาลถี่มากที่สุดเท่าที่เคยปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะการออกมาชุมนุมประท้วงของนักเรียนระดับมัธยมโดยเอกเทศ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน[1] เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

          หากติดตามความเคลื่อนไหวของ นักเรียน นักศึกษา และคนหนุ่มสาวในการจัดชุมนุมประท้วงรัฐบาล เราจะพบว่าเริ่มขึ้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรคอนาคตใหม่ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา ขบวนการชุมนุมประท้วงรัฐบาลได้อุบัติขึ้น กว้างขวางกระจายหลายจุดทั่วประเทศ[2] และการชุมนุมประท้วงเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่และถี่มาก[3] จะมีช่วงเวลายกเว้นก็เฉพาะระหว่างเดือน มีนาคม-มิถุนายน ที่รัฐบาลประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ห้ามการชุมนุมสาธารณะ เพราะโรคระบาดโควิด-19 ไม่เพียงเท่านี้ การชุมนุมประท้วงรัฐบาลยังกระจายไปถึงคนไทยในต่างประเทศ เช่น ที่นครลอนดอน นครนิวยอร์ค[4]

          ทำไมคนหนุ่มคนสาวต้องเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงรัฐบาลด้วยเรื่องยุบพรรคอนาคตใหม่ หากยุบพรรคการเมืองอื่นพวกเขาจะเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงไหม คำตอบคงชัดเจนว่า “ไม่” และคงจะพอใจเป็นพิเศษหากมีการยุบพรรคที่เกี่ยวพันอยู่กับคณะรัฐประหาร แสดงว่าเยาวชนเหล่านี้มีใจผูกพันอยู่กับพรรคอนาคตใหม่ และคงเห็นว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการกระทำที่ “ไม่เป็นธรรม” ซึ่งพวกเขายอมรับไม่ได้ ที่กล่าวเช่นนี้ ไม่ได้เป็นการลงความเห็นว่าใครผิดใครถูก เป็นผลดีหรือผลร้ายต่อประเทศ แต่เป็นการพูดถึงสภาวะจิตใจของคนหนุ่มคนสาวที่เป็นเสมือนผ้าขาวบริสุทธิ์ มองอะไรแบบ “ดำ” กับ “ขาว” ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวพันได้เสียเหมือนกับผู้ใหญ่ที่ทำงานแล้ว มีตำแหน่งหน้าที่ มีผลประโยชน์เป็นเดิมพันได้เสีย ไม่มองปัญหาแบบคนหนุ่มสาวมอง มองว่าในดำมีขาว ในขาวมีดำ

          ประเด็นในที่นี้มีว่าทำไมคนหนุ่มสาวจึงไม่พอใจรัฐบาล หากมองย้อนกลับไปในช่วงของการรัฐประหารใหม่ใน พ.ศ. 2557 รัฐบาลของคณะรัฐประหารได้โหมประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐบาลว่าจะรีบจัดการกับปัญหาของบ้านเมือง แล้วจะคืออำนาจให้ประชาชนโดยไม่ชักช้า ดังเนื้อร้องของเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” ที่ประพันธ์เนื้อเพลงโดย พลเอก ประยุทธ์_จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหารครั้งดังกล่าวว่า

          วันที่ชาติและองค์ราชา มวลประชาอยู่มาพ้นภัย ขอดูแลคุ้มครองด้วยใจ นี่คือคำสัญญา วันนี้ชาติเผชิญพาลภัย ไฟลุกโชนขึ้นมาทุกครา ขอเป็นคนที่เดินเข้ามา ไม่อาจให้สายไป เพื่อนำรักกลับมา ต้องใช้เวลาเท่าไร โปรดจงรอได้ไหม จะข้ามผ่านความบาดหมาง เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา เราจะทำอย่างซื่อตรง ขอแค่เธอจงไว้ใจและศรัทธา แผ่นดินจะดีในไม่ช้า ขอคืนความสุขให้เธอ ประชาชน วันนี้ต้องเหน็ดเหนื่อยก็รู้ จะขอสู้กับอันตราย ชาติทหารไม่ยอมแพ้พ่าย นี่คือคำสัญญา...[5]

          จากเนื้อเพลงจะเห็นได้ว่า คสช. หรือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นสัญญาไว้อย่างมั่นเหมาะแก่ประชาชน ซึ่งแน่นอนมีความหลากหลายทั้งรักทั้งชัง แต่การให้คำมั่นสัญญาแล้วทำไม่ได้ตามสัญญาก็ทำให้คนรักเปลี่ยนใจเป็นชังได้ และคนที่ชั่งอยู่แล้วยิ่งชังมากขึ้นไปอีก ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่คนหนุ่มคนสาวที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ย่อมถือคำมั่นสัญญาเป็นสำคัญ เมื่อรัฐบาลคณะรัฐประหารผิดสัญญา อีกทั้งยังคุกคามนักเรียนนักศึกษาที่สนใจการเมือง จึงเกิดปฏิกิริยาเป็นเรื่องธรรมดา[6] เพราะเรื่องการรักษาคำมั่นสัญญาเป็นเรื่องที่สังคมไทยให้คุณค่า และก็สั่งสอนกันต่อมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวิชาลูกเสือที่ว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์”

          เรื่องเกี่ยวกับการเสียสัตย์ทางการเมืองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่คราวที่ พลเอก สุจินดา_คราประยูร สัญญากับประชาชนว่า “จะไม่สืบทอดอำนาจหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2534” แต่แล้วก็กลับคำ หลังเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2535 กลับเข้ารับตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล ทำให้เกิดการประท้วงอย่างกว้างขวางและยืดเยื้อในใจกลางกรุงเทพฯ จนบานปลายกลายเป็นเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”

          อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วงรัฐบาลของนักเรียนระดับมัธยมโดยตรง คือ การที่ครูและอาจารย์ในโรงเรียนปฏิบัติตัวอยู่ในโอวาทของกระทรวงศึกษาอย่างเคร่งครัดในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของนักเรียนในการแสดงออกทางการเมือง ทำให้นักเรียนไม่พอใจต่อครูและโรงเรียนที่ขาดความตระหนัก และความตื่นตัวในทางการเมือง ยอมให้คณะรัฐประหารและนักการเมืองกดหัว ในขณะที่สื่อสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์โจมตีรัฐบาล และคณะรัฐประหารอย่างหนักอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังมีเรื่องซุบซิบในทางลบเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันเบื้องสูงอยู่มากบ้างน้อยบ้างเสมอมา ในสื่อสังคมออนไลน์ประกอบกับความไม่พอใจของนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่มองว่าครูและโรงเรียนเคร่งครัดในเรื่องการแต่งกายและทรงผมของนักเรียนมากเกินไป ในขณะที่ไม่ทุ่มเทพัฒนาในเรื่องคุณภาพการเรียนการสอนให้ทันยุคทันสมัย ห่วงใยแต่เฉพาะความก้าวหน้ามั่นคงของตัวเอง ไม่ห่วงใยอนาคตของนักเรียน

          สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ของไทยได้ทำการสัมภาษณ์นักเรียนและครูโรงเรียนมัธยมจำนวนหนึ่งมีข้อสรุปว่า นักเรียนชุมนุมประท้วงรัฐบาลเป็นเพราะ “ถูกคุกคาม จึงต้องลุกขึ้นมาพูด อยากเห็นอนาคตที่ดี ท่ามกลางชีวิตที่สิ้นหวัง เหตุผลนักเรียนมัธยมฯ ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในโรงเรียน ครูบางส่วนพร้อมเปิดพื้นที่รับฟัง แต่ครูส่วนหนึ่งยังมองว่าโรงเรียนควรเป็นกลางทางการเมือง”[7]

          ตามสถิติที่ของ BBC ในช่วงหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 มีนักเรียนนักศึกษาของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจัดชุมนุมประท้วงรัฐบาล กระแสความไม่พอใจของกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่มียอดทวิต มากกว่า 1 ล้านครั้ง[8] และเมื่อรัฐบาลยกเลิกการใช้บังคับพระราชการกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ห้ามการชุมนุมสาธารณะ เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนในปีเดียวกัน การชุมนุมในเดือนถัด ๆ มาของนักเรียนนักศึกษาก็อุบัติขึ้นเกือบจะเป็นรายวัน โดยเป็นการชุมนุมแบบแฟลชม็อบในลักษณะของการแสดงสัญลักษณ์ชูป้าย ชู 3 นิ้ว ผูกโบว์ขาว คัดค้านรัฐบาล พร้อมทั้งเรียกร้อง 3 ข้อ คือ หยุดคุกคามประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญ และยุบสภา แล้วเลิกราในวันเดียว ส่วนการนัดหมายการชุมนุมทำแบบกะทันหันผ่านทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ นัดสถานที่ นัดเวลาชุมนุม เพื่อหลีกเลี่ยงการขัดขวางของตำรวจ

          จุดเด่นในการชุมนุมของนักเรียนมัธยมในครั้งนี้ประการหนึ่ง คือ มีการชุมนุมเรียกร้องและชุมนุมประท้วงหน้ากระทรวงศึกษาธิการ โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม โดยกลุ่มที่เรียกตัวเองแบบประชดว่า กลุ่ม “นักเรียนเลว” เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ประชุมครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2563 มีนักเรียนระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายกว่า 30 โรงเรียน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ต่อรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ คือ

         1. หยุดคุกคามนักเรียน[9]

         2. ยกเลิกกฎระเบียบล้าหลัง และ

          3. ปฏิรูปการศึกษา พร้อมกับเงื่อนไขว่าหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการทำไม่ได้ให้ลาออก[10]

          หลังการประชุมครั้งดังกล่าวนี้ยังมีการชุมนุมไล่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของนักเรียนในโอกาสต่าง ๆ เช่น การชุมนุมเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน[11] วันที่ 21 พฤศจิกายน และวันที่ 1 ธันวาคม[12]

          โรงเรียนที่เป็นหัวหอกในการชุมนุมประท้วงที่โดดเด่น ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนศึกษานารี โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โรงเรียนบดินทร์เดชา โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) ฯลฯ ในส่วนของมหาวิทยาลัยของรัฐ
ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ต่างมีการจัดชุมนุมกันต่อเนื่องเป็นระลอกตลอดปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 ก็ยังไม่หยุด

          ส่วนการชุมนุมที่จุดประเด็นร้อนแรงในสังคมไทย คือ การชุมนุมช่วงเย็นถึงหัวค่ำของวันที่ 7 สิงหาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ภายใต้ชื่อ “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” มีผู้เข้าร่วมจากหลายกลุ่มและหลายมหาวิทยาลัย ประมาณ 3,000 คน ใช้คำขวัญว่า “เราไม่ทนต่อการปฏิรูป เราต้องการปฏิวัติ” มีการประกาศข้อเสนอ 10 ข้อ เพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และวันที่ 26 สิงหาคม กลุ่มนักศึกษายื่นข้อร้องเรียน รวมทั้งข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อสภาผู้แทนราษฎร นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้คนในบ้านเมืองตกใจอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ไม่กล้าทำ แต่เด็กนักเรียนนักศึกษาทำไปอย่างไร้เดียงสาตามที่ทฤษฎีชี้นำ[13] นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงในลักษณะต่าง ๆ นานา ทั้งในด้านบวกและด้านลบ

          ในด้านบวกมองว่า หากมีการปฏิรูปตามข้อเสนอจะเป็นการธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ยืนยาวและมั่นคง เพราะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองอันจะทำให้สถาบันถูกโจมตีวิพากษ์วิจารณ์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ อุปมาการเรียกร้องให้ปฏิรูป 10 ข้อ ดังกล่าวเสมือนเด็กที่ไปตะโกนว่า “The king is naked” ในนิทานอีสปเรื่อง “พระราชากับชุดล่องหน”[14] ในแง่ลบมองว่าเป็นการล่วงละเมิดพระราชอำนาจ เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งนำไปสู่การจับกุมฟ้องร้องนักเรียนนักศึกษาและผู้ชุมนุมในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจำนวนหลายราย

          การชุมนุมเรียกร้องให้ปฏิรูปทางการเมืองและการศึกษาต่าง ๆ เหล่านี้ กดดันรัฐบาลและนักการเมืองให้ต้องแสดงท่าทีสนองตอบต่อข้อเรียกร้องของนักเรียนและนักศึกษาไม่มากก็น้อย และเป็นผลให้พรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา
ในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 และที่ประชุมรัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 18 พฤศจิกายน[15] แต่การรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะมีผลให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยอย่างที่นักเรียนนักศึกษาเรียกร้องหรือไม่คงต้องรอดูกันต่อไป เพราะกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นยากและยาวนานมาก บางเสียงก็บอกว่า “เป็นเกมซื้อเวลา” ฝันคงเป็นจริงยาก

 

อ้างอิง

[1] 2563..ปีแห่งการชุมนุม ทลายเพดานและคดีความทางการเมือง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights), tlhr2014.com, 14/06/2021

[2] “แฟลชม็อบนักเรียน-นักศึกษา ประกายไฟในกระทะหรือเพลิงลามทุ่ง” BBC News I ไทย  28 กุมภาพันธ์ 2020 (bbc.com) 13/06/2564

[3] จากช่วงเวลาที่มีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ถึง 31 กรกฎาคม 2563 มีการชุมนุมหรือกิจกรรมประท้วง 75 ครั้ง ใน 44 จังหวัดของประเทศ การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563-2564.. การแสดงอาระขัดขืนต่อรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และผู้เกี่ยวข้อง (th.m.wikipedia.org) 13/06/2564

[4] การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563-2564.. การแสดงอาระขัดขืนต่อรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และผู้เกี่ยวข้อง (th.m.wikipedia.org) 13/06/2564

[5] บทเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” นี่คือคำสัญญาจากสัญญาจากใจพลเอก ประยุทธ์ 16 มิถุนายน 2557  (https://www.voicetv.co.th>content) 13/06/2564.

[6] คำสัมภาษณ์ของน้องบี (นามสมมุติ) นักเรียน ม. 6 แห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “ผมออกไปชุมนุมนอกโรงเรียนนั่งแถวหน้าสุด แต่ถูกถ่ายภาพไปออกข่าวจนคนที่โรงเรียนรู้ แล้วมาบอกว่าผมจะจัดม็อบในโรงเรียน ทั้งที่ผมยังไม่รู้เรื่องวันต่อมาก็มีตำรวจมาตามถึงที่บ้าน โรงเรียนไม่ออกมาปกป้องหรือพูดอะไรเลย” Q&A: นักเรียนกำลังคิดอะไรอยู่- ครูรู้สึกแบบไหน ? #ชุมนุมใน รร.  (ข่าวไทยพีบีเอส 23 สิงหาคม 2563)

[7] Q&A: นักเรียนกำลังคิดอะไรอยู่- ครูรู้สึกแบบไหน ? #ชุมนุมใน รร. (ข่าวไทยพีบีเอส 23 สิงหาคม 2563)

[8] “แฟลชม็อบนักเรียน-นักศึกษา ประกายไฟในกระทะ หรือ เพลิงลามทุ่ง” BBC News/ ไทย 28 กุมภาพันธ์ 2020 (bbc.com) 14/06/2564

[9] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่ามีนักเรียนและนักศึกษาอย่างน้อย 103 คนที่ถูกคุกคามหลังร่วมชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง หรือแสดงออกทางการเมืองในเดือนสิงหาคม 2563 โครงการอินเทอร์เน๊ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่ามีนักเรียนอย่างน้อย 34 คน ในกรุงเทพฯ นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ราชบุรี ร้อยเอ็ด ฯลฯ ถูกคุกคามในรูปแบบต่างๆ ดู “นักเรียนเลว..การศึกษาห่วยแตก เราจึงต้องเรียกร้องให้ปฏิรูป ข่าวจริง วันที่ 13 ตุลาคม 2020 (benarnews.org) 14/06/2564 

[10] “กลุ่มนักเรียนเลว” ยื่น 3 ข้อเสนอ กร้าวถ้าทำไม่ได้ รมว.ศธ.ต้องลาออก” MGR ONLINE, 6 กันยายน 2563 (mgronline.com) 14/06/2564

[11] “กลุ่มนักเรียนเลวยกระดับเคลื่อนไหว นัดชุมนุมใหญ่ 21 พ.ย.นี้ ให้เสียงนักเรียนไปถึงนายกฯ หลัง รมว.ศึกษาฯ ไม่ตอบสนอง” The Standard Team 06/11/2020

[12] “กลุ่มนักเรียนเลว นัดรวมตัวทำกิจกรรมหน้า ก. ศึกษาธิการ” ข่าวไทยพีบีเอส 1 ธันวาคม 2563 ค้นคว้า 14/06/2564

[13] การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563-2564.. การแสดงอาระขัดขืนต่อรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และผู้เกี่ยวข้อง (th.m.wikipedia.org) 13/06/2564

[14] “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน”.. นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์ปรากฏการณ์ “ขยับเพดาน” BBC News/ ไทย  11 สิงหาคม 2020 (bbc.com) 14/06/2564

[15] “ประชุมรัฐสภา..รัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขรธน.มาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร. ของฝ่ายค้านและรัฐบาล” BBC News/ไทย
18 พฤศจิกายน 2020 (bbc.com) ค้นคว้า 14/06/2564