การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2565

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:56, 9 กันยายน 2566 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2565

          การอภิปรายไม่ไว้วางใจการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2565 เป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์_จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลรวม 11 คน จาก 3 พรรคร่วมรัฐบาล จากพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน จำนวน 7 พรรค ได้เสนอญัตติเมื่อ วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565 และสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดกรอบการอภิปรายไว้ ระหว่าง วันที่ 19-22 กรกฎาคม และลงมติใน วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งถือเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายก่อนจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ. 2566

          ด้านสถานการณ์ทางการเมืองก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคเศรษฐกิจไทยได้ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลและประกาศเป็น ฝ่ายค้านอิสระ โดยทางพรรคมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 16 คน ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ให้คำจำกัดความตัวเองว่าเป็น "ฝ่ายค้านอิสระ" เพราะพรรคร่วมฝ่ายค้านยังไม่ได้ตอบรับให้เข้าร่วมกิจกรรมการเมืองอย่างเป็นทางการ และได้ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค ได้แก่ นายไผ่ ลิกค์ เลขาธิการพรรค และนายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ นายทะเบียนพรรคเศรษฐกิจไทย ลาออกจากคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ตั้งแต่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2565[1] ในขณะที่แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นผู้อภิปรายหลัก ต่างประชาสัมพันธ์และใช้แคมเปญในการอภิปรายครั้งนี้อย่างกว้างขวาง ได้แก่ พรรคเพื่อไทยเปิดตัวโปสเตอร์คล้ายภาพยนต์เกาหลีชื่อ "ยุทธการเด็ดหัว สอยนั่งร้าน" ในขณะเดียวกัน พรรคก้าวไกลเปิดตัวภาพคล้ายบัตรเชิญร่วมงานศพชื่อ "ตอกตะปูปิดตาย ทลายระบอบประยุทธ์"[2]

          ทั้งนี้ หากนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนใดได้รับเสียงไม่ไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภา (ประมาณ 240 เสียง) นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้นั้นก็จะต้องพ้นจากตำแหน่ง และหากนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งก็จะเป็นพ้นให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่ง และต้องมีการดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่[3]

 

ภาพ : ผังการขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลหรือทั้งคณะ[4]

No confidence motions (1).png
No confidence motions (1).png

ประเด็นการอภิปราย

          ตามญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล มีสาระสำคัญในเรื่องที่จะอภิปราย[5] มีดังนี้

          (1) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

               - กรณีการบริหารจัดการวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน

               - ปัญหาวิกฤติพลังงานที่ส่งผลกระทบค่าครองชีพ ราคาน้ำมัน ค่าไฟ ก๊าซหุงต้มขึ้นราคา

               - ปัญหาเงินเฟ้อพุ่งทำสถิติสูงสุดรอบ 14 ปี

               - ประชาชนหนี้ท่วมและการก่อหนี้สาธารณะ

               - การจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2565 ที่ส่งผลให้งบลงทุนต่ำกว่า 20% ขัดต่อพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ

               - โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ผ่านมาครึ่งทางแล้วยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร

               - โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เอื้อประโยชน์เอกชน

               - โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำไร้เครื่องยนต์

               - โครงการจัดหาอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ที่ไม่มีอาวุธ

               - โครงการจัดซื้อเครื่องบินรบ F35 ไม่มีอาวุธ

               - การปล่อยให้เครื่องบินรบของเทียนมารุกล้ำน่านฟ้าบริเวณหมู่บ้านวาเลย์ที่อยู่ชายแดนจังหวัดตาก

               - การเตรียมให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตซที่จังหวัดอุดรธานี

               - การทุจริตคอร์รัปชั่น กรณีจัดซื้อ iPad ให้ข้าราชการสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) 130 เครื่อง เป็นเงิน 10 ล้านบาท

               - สร้างเรื่องใหม่กลบเรื่องเก่า เรื่องคนจนจะหมดประเทศ 8 ปี

          (2) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

               - การบริหารราชการกระทรวงพาณิชย์ ปล่อยให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นจนกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและการดำเนินธุรกิจของเอกชนฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

          (3) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

               - กรณีการแก้ปัญหาโควิด-19 ล้มเหลว

               - การเปิดเสรีกัญชง-กัญชา โดยปลดล็อกให้พ้นจากยาเสพติด แต่กลับไม่มีกฎหมายลูกรองรับ ทำให้เกิดสุญญากาศ

               - ข้อหาดูดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทย เตรียมย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยเพื่อลงเลือกตั้งครั้งหน้า

          (4) พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

               - การแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์

               - ปัญหาอุทกภัย

          (5) พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

               - ปมการขยายอายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

          (6) ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

               - กรณีการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

               - กรณีกรมที่ดินไม่ได้เพิกถอนโฉนดที่ดินเขากระโดงใน จ.บุรีรัมย์

          (7) ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

               - กรณีที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์

               - การปิดกั้นเสรีภาพประชาชน

          (8) จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

               - คดีค้ามนุษย์ที่ จ.สุราษฎร์ธานี

          (9) สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

               - กรณีส่อทุจริตประมูลโครงการท่อส่งน้ำในพื้นที่อีอีซี มูลค่า 25,000 ล้านบาท ภายใต้กรมธนารักษ์ ซึ่งเกิดข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใสในการประมูลคัดเลือก

               - ค่าจ้างบำรุงรักษากล้อง CCTV กรมศุลกากร

               - ค่าจ้างบำรุงรักษาซ่อมเครื่องบำรุงตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์

          (10) นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

               - กรณีไม่จ่ายค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ 2 คันให้แก่บริษัทเอกชน สมัยเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา

               - กรณีเขากระโดง การรุกป่าเขาใหญ่ ในฐานะดูแลกรมที่ดิน

          (11) สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

               - ค่าหัวคิวแรงงานต่างด้าว เอื้อให้เอกชนรายใหญ่ใช้ประโยชน์จากแรงงานโดยผิดกฎหมาย

 

ภาพ : ประชาสัมพันธ์การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล[6]

No confidence motions (2).jpg
No confidence motions (2).jpg
No confidence motions (3).jpg
No confidence motions (3).jpg

 

          ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดลำดับรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย โดยฝ่ายค้านได้เวลาอภิปราย 45 ชั่วโมง (วันละ 11 ชั่วโมง) และฝ่ายคณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล ได้เวลาชี้แจง 19 ชั่วโมง (วันละ 2 ชั่วโมง) ก่อนลงมติใน วันที่ 23 กรกฎาคม โดยการอภิปรายวันที่ 1 จะเริ่มที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นคนแรก ต่อด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ, นายสุชาติ ชมกลิ่น, นายจุติ ไกรฤกษ์ และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส่วนการอภิปรายวันที่ 2 เริ่มจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, นายนิพนธ์ บุญญามณี และนายสันติ พร้อมพัฒน์ โดยการอภิปรายใน 2 วันสุดท้าย จะเป็นการอภิปราย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถูกอภิปรายถึง 30 ชั่วโมง[7]

ผลการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ตาราง : แสดงผลการลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีปี พ.ศ. 2565[8]

ลำดับ

รายชื่อ

จำนวนผู้ลงมติ

ไว้วางใจ

ไม่ไว้วางใจ

งดออกเสียง

มติ

1

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกฯ และ รมว.กลาโหม

471

256

206

9

ไว้วางใจ

2.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รมว.พาณิชย์

471

241

207

23

ไว้วางใจ

3.

อนุทิน ชาญวีรกูล
รมว.สาธารณสุข

472

264

205

3

ไว้วางใจ

4.

ประวิตร วงษ์สุวรรณ
รองนายกฯ

472

268

193

11

ไว้วางใจ

5.

อนุพงษ์ เผ่าจินดา
รมว.มหาดไทย

470

245

212

13

ไว้วางใจ

6.

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
รมว.คมนาคม

472

262

205

5

ไว้วางใจ

7.

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
รมว.ดิจิทัลฯ

472

249

205

18

ไว้วางใจ

8.

จุติ ไกรฤกษ์
รมว.การพัฒนาสังคมฯ

470

244

209

17

ไว้วางใจ

9.

สันติ พร้อมพัฒน์
รมช.คลัง

471

249

204

18

ไว้วางใจ

10

นิพนธ์ บุญญามณี
รมช.มหาดไทย

472

246

206

20

ไว้วางใจ

11.

สุชาติ ชมกลิ่น
รมว.แรงงาน

471

243

208

20

ไว้วางใจ

 

          อย่างไรก็ดี แม้ว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้ง 11 คน ได้รับความไว้วางใจจากเสียงข้างมากและไม่ต้องพ้นตำแหน่งหน้าที่จากการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ในครั้งนี้ แต่ผลของการอภิปรายและลงมติที่เกิดขึ้นได้รับการวิเคราะห์ถึงความขัดแย้งแตกแยกภายในฝ่ายรัฐบาลอันเป็นผลจากคะแนนที่ได้รับจากการลงมติ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งในพรรค ความต้องการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีบางตำแหน่ง ตลอดจนการมีเป้าหมายในการสังกัดพรรคการเมืองอื่นในอนาคต[9] อาทิ เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้คะแนนเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค มีเพียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคประชาธิปัตย์ 2 คน คือ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ และนายอันวาร์ สาและ ที่ลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ฝ่ายค้านทุกพรรคก็ลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ยกเว้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทย 7 คน ที่ลงมติงดออกเสียง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล จำนวน 4 คน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาชาติอีก 1 คน ที่ลงมติไว้วางใจ ขณะที่พรรคเศรษฐกิจไทย 11 คน ที่นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ลงมติไม่ไว้วางใจนายก แต่มีสมาชิกพรรค อีก 4 คน ลงมติไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา

          ในขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนไว้วางใจต่ำที่สุดในบรรดารัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย เนื่องจากได้คะแนนเสียงไว้วางใจจากพรรคร่วมรัฐบาลไม่ครบ เนื่องจากมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคชาติไทยพัฒนาบางส่วนลงมติงดออกเสียง รวมทั้งกลุ่ม 16 พรรคขนาดเล็ก บางส่วนลงมติงดออกเสียงและลงมติไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายอันวาร์ สาและ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีปัญหาไม่ลงรอยกับนายจุรินทร์มาตลอด ก็ลงมติไม่ไว้วางใจ

          นอกจากนี้แล้ว พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนไม่ไว้วางใจสูงสุด จากบรรดารัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้ง 11 คนนั้น พบว่านอกจากคะแนนไม่ไว้วางใจจากพรรคฝ่ายค้านทุกพรรคแล้ว ยังได้รับการลงมติไม่ไว้วางใจจากกลุ่มปากน้ำ หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด สมุทรปราการและบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการของบประมาณในพื้นที่ที่ไม่เคยได้รับการสนองตอบจาก พล.อ.อนุพงษ์ และเป็นกลุ่มที่เคยเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร มาเป็น รมว.มหาดไทยแทน พล.อ.อนุพงษ์ ในที่ประชุมพรรคพลังประชารัฐ เป็นต้น[10]

อ้างอิง

[1] “อภิปรายไม่ไว้วางใจ : เศรษฐกิจไทยประกาศเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” ก่อนศึกซักฟอกครั้งสุดท้ายของรัฐบาลประยุทธ์”, สืบค้นจาก https:// www.bbc.com/thai/thailand-62176164 (23 พฤษภาคม 2566).

[2] “อภิปรายไม่ไว้วางใจ 2565: ยุทธการเดือดเชือดรัฐมนตรี ถ้ามีคนมาบอกคุณว่า ‘ขออภิปรายไม่ไว้วางใจ’ คุณจะเข้าใจหรือไม่ว่าเขาจ้องจะเล่นคุณ?”, สืบค้นจาก https://waymagazine.org/thai-censure-motion-2565/(23 พฤษภาคม 2566).

[3] “อภิปรายไม่ไว้วางใจ 65 ประมวล "บาดแผล" รัฐบาลก่อนสภาลงมติ”, สืบค้นจาก https://ilaw.or.th/node/6200 (23 พฤษภาคม 2566).

[4] “ผังการขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลหรือทั้งคณะ”, สืบค้นจาก https://library.parliament.go.th/th/ infographic/2020-02-04-01(23 พฤษภาคม 2566).

[5] “เปิดประเด็นไม่ไว้วางใจ 11 รมต. ตามฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายฯ”, สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2022/06/99080 (23 พฤษภาคม 2566).

[6] “PoliticalView: เก็งข้อสอบอภิปรายซักฟอก 11 รมต.รัฐบาลประยุทธ์”, สืบค้นจาก https://www.infoquest.co.th/2022/217580 (23 พฤษภาคม 2566), “เชิญพี่น้องประชาชนร่วมฟังอภิปรายและโหวตไม่ไว้วางใจ ตอกตะปูปิดตาย ทลายระบอบประยุทธ์”, สืบค้นจาก https://www. moveforwardparty.org/news/13793/ (23 พฤษภาคม 2566).

[7] “อภิปรายไม่ไว้วางใจ : พล.อ. ประยุทธ์ท้าหัวหน้าพรรคเพื่อไทย บอกมีคนฉลาด-ทำงานดีกว่า “เอากลับมาให้ได้ก็แล้วกัน”, สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-62217630 (23 พฤษภาคม 2566).

[8] “อภิปรายไม่ไว้วางใจ 2565 รัฐบาล ใครบ้าง 11 รัฐมนตรีถูกข้อหาอะไร อ่านเลย”, สืบค้นจาก https://www.thansettakij.com/ politics/532974 (23 พฤษภาคม 2566).

[9] “บาดแผลหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร”, สืบค้นจาก https://www.matichonweekly.com/ column/article_583508(23 พฤษภาคม 2566).

[10] “เปิดเบื้องหลังละเอียดยิบ ผลโหวต 11 รมต. 'งูเห่า-หักหลัง-แค้นฝังหุ่น' เพียบ! ”, สืบค้นจาก https://www.thaipost.net/hi-light/ 186444/(23 พฤษภาคม 2566).