ฝ่ายค้านอิสระ
ผู้เรียบเรียง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ
ความนำ
“ฝ่ายค้านอิสระ” เป็นคำที่ถูกกล่าวถึงภายหลังจากที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ในนามกลุ่มนิวเด็ม (New Dem) ได้โยนข้อเสนอ “ฝ่ายค้านอิสระ” ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองภายหลังจากผลการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2562 ออกมา และมีแนวโน้มว่าพรรคพลังประชารัฐซึ่งสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จะพยายามรวบรวมพรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์เพื่อจัดตั้งเป็นรัฐบาลผสม ข้อเสนอดังกล่าวต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์แสดงจุดยืนยึดมั่นในอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย ไม่ร่วมสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะเดียวกัน ก็เป็นจุดยืนที่ไม่เข้าร่วมกับพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดหมายกันว่าพรรคเพื่อไทยอันถือเป็นพรรคคู่แข่งทางการเมืองจะเป็นพรรคผู้นำฝ่ายค้าน ภายหลังจากมีข้อเสนอนี้ออกมาได้เกิดเป็นที่ถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากทั้งผู้ที่แสดงความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ขณะที่ทางพรรคประชาธิปัตย์เองก็มิได้ตอบสนองต่อข้อเสนอนี้เท่าใดนัก
ฝ่ายค้าน (ไม่) อิสระ
ในระบบการเมืองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา หากพรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียง หรือสามารถรวบรวมคะแนนเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรก่อนก็จะได้สิทธิจัดตั้งเป็นรัฐบาล ขณะที่พรรคที่เหลืออีกฝ่ายหนึ่งก็จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร คอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยการตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี รวมไปถึงการเปิดอภิปรายไม่วางใจฝ่ายบริหาร ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างมีการตั้งคณะกรรมการประสานงานของฝ่ายตนเอง หรือที่เรียกว่า “วิปรัฐบาล” และ “วิปฝ่ายค้าน” คอยประสานงานกับพรรคร่วมต่างๆ ให้มีแนวทางการทำงานสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น พรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงแบ่งออกเป็นฝ่ายหนึ่งคือรัฐบาล อีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายค้าน โดยสมาชิกของแต่ละฝ่ายต่างทำงานอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของพรรคและวิปฝ่ายตนเอง อย่างไรก็ตาม บางครั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีการออกเสียงลงคะแนนในทิศทางที่สวนกับมติของพรรคที่ตนเองสังกัด เพราะถือเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะบุคคลของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงกระทำได้ แต่ก็เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก
ขณะที่ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2562 อยู่ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ซึ่งถึงแม้ว่าจะกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีที่มาจากการโหวตเลือกของสมาชิกรัฐสภารวมทั้งสิ้น 750 คน อันประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คน และวุฒิสภาจำนวน 250 คน หากแต่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะมีเสถียรภาพมั่นคงได้นั้น รัฐบาลก็จำเป็นที่จะต้องมีจำนวนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกินกว่ากึ่งหนึ่ง และเป็นจำนวนที่มากกว่าฝ่ายค้านพอสมควร แต่ด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 เองกลับถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันมิให้มีพรรคการเมืองใดครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรแบบเด็ดขาด จึงทำให้สภาพการเมืองภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2562 พรรคขนาดใหญ่ที่มีคะแนนสูสีกัน ได้แก่ พรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐพยายามจับขั้วกับพรรคอื่น ๆ เพื่อชิงชัยกันจัดตั้งเป็นรัฐบาล
เมื่อมีแนวโน้มว่าพรรคพลังประชารัฐที่ประกาศสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ทว่าลำพังพรรคพลังประชารัฐเองก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จำเป็นต้องอาศัยจำนวนเสียงจากพรรคในลำดับรองลงมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย อย่างไรก็ตาม ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นได้เคยประกาศจุดยืนว่าจะไม่ให้การสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัยหนึ่ง เนื่องจากมองว่าการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จะสร้างปมความขัดแย้ง และยังขัดกับอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์อีกด้วย กระนั้น สื่อมวลชนต่างตั้งข้อสังเกตว่า การแถลงดังกล่าวของอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งกล่าวเพียงว่าไม่สนับพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่มิได้บ่งบอกว่าสุดท้ายแล้วพรรคประชาธิปัตย์จะตัดสินใจเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่[1]
ข้อเสนอฝ่ายค้านอิสระ
ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังตกอยู่ภายใต้กระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมถึงจุดยืนของพรรคที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเข้าร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่นั้น ก็มีข้อเสนอออกมาจากนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ นักการเมืองรุ่นใหม่ของพรรค (ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของนายอภิสิทธิ์) ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มนิวเด็ม (New Dem) หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ ข้อเสนอดังกล่าวเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์แสดงจุดยืนเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” กล่าวคือ ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาลที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ และเพื่อแสดงความยึดมั่นในอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย หรือการทำการเมือง “ประชาธิปไตยสุจริต” เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนที่ขาดหายไป[2] แต่ขณะเดียวกันก็ไม่เข้าร่วมกับขั้วพรรคเพื่อไทยที่ถูกมองว่ายังคงอยู่ภายใต้ระบอบทักษิณ
แนวทางฝ่ายค้านอิสระนี้ดูเป็นเรื่องใหม่ในการเมืองไทย ทว่าก็เคยมีกรณีที่เทียบเคียงกันได้ในต่างประเทศ กล่าวคือ การเมืองในอังกฤษเคยมีแนวทางฝ่ายค้านอิสระที่เรียกว่า Confidence and Supply โดยแนวทางนี้ยึดหลักข้อตกลงระหว่างพรรคการเมืองที่มีความผูกพันน้อยกว่าการร่วมรัฐบาลผสม เป็นข้อตกลงระหว่างพรรคการเมืองหนึ่งกับพรรคที่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยพรรคที่ดำเนินนโยบาย Confidence and Supply จะไม่ส่งคนเข้าร่วมในคณะรัฐมนตรี แต่พร้อมสนับสนุนรัฐบาลให้สามารถบริหารประเทศได้ โดยเฉพาะการออกเสียงสนับสนุนญัตติที่มีความสำคัญ เช่น ร่างกฎหมายงบประมาณ หรือญัตติไม่ไว้วางใจ เป็นต้น ขณะเดียวกันฝ่ายค้านอิสระนี้ก็ยังทำหน้าที่ตรวจสอบและพร้อมคัดค้านรัฐบาลในเรื่องที่ตนไม่เห็นด้วย[3]
ข้อเสนอการเป็นฝ่ายค้านอิสระของนายพริษฐ์ ได้กลายมาเป็นที่สนใจและถกเถียงของสังคมในวงกว้าง มีทั้งผู้ที่แสดงความเห็นไปในทิศทางที่เห็นด้วย ขณะที่บางส่วนก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอดังกล่าวอย่างรุนแรง อาทิ พลโทนันทเดช เมฆสวัสดิ์ กรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) และอดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ได้แสดงความคิดเห็นเชิงตำหนิว่าความคิดดังกล่าวแม้จะฟังแล้วดูดี แต่ก็จะเป็นผลทำให้การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับขั้วของระบอบทักษิณเกือบจะเป็นไปไม่ได้ ทั้งยังนำความยุ่งยากมาสู่ประเทศ[4] หรือกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนบางสำนักที่มองว่าการเป็นฝ่ายค้านอิสระก็เท่ากับการเข้าร่วมอยู่ในฝ่ายของระบอบทักษิณ เป็นต้น ซึ่งนายพริษฐ์ก็ได้พยายามถกเถียงแก้ไขความเข้าใจในส่วนนี้[5]
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ได้นำมาสู่ความขัดแย้งตึงเครียดระหว่างแกนนำ และ สมาชิกบางส่วนของกลุ่มนิวเด็มกับการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารพรรค จนนำมาสู่การที่แกนนำ และสมาชิกของกลุ่มหลายคนทยอยลาออก บางส่วนตัดสินใจยุติบทบาททางการเมืองไปจนในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ก็ตัดสินใจแถลงยุบกลุ่มนิวเด็มลง โดยสมาชิกบางส่วนที่ยังคงทำงานกับพรรคต่อไปจะเข้าร่วมกับโครงการยุวประชาธิปัตย์ (Young Democrat) ซึ่งพรรคได้ดำเนินการมานานแล้ว พร้อมกันนี้ข้อเสนอเรื่องฝ่ายค้านอิสระจึงค่อยๆ เงียบหายลงไป
ประเด็นเรื่องฝ่ายค้านอิสระกลับมาเป็นที่สนใจของสังคมอีกครั้ง ภายหลังจากที่มีกระแสข่าวว่าพรรคขนาดเล็กที่เข้าร่วมรัฐบาลจำนวน 5 พรรค ได้แก่ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคประชาธรรมไทย และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน เกิดความไม่พอใจแนวทางการบริหารงานของพรรครัฐบาลจึงได้ออกประกาศทบทวนการเข้าร่วมรัฐบาล โดยจะขอเป็น “ฝ่ายค้านในรัฐบาล” หรือ “ฝ่ายค้านอิสระ”[6] หากพรรคขนาดเล็กทั้ง 5 พรรค ซึ่งมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคละ 1 คน ถอนตัวจากการเข้าร่วมรัฐบาลจริงก็จะทำให้ตัวเลขจำนวนสมาชิกของฝั่งรัฐบาลเหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และตกเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในทันที อย่างไรก็ตาม เมื่อการเจรจาไกล่เกลี่ยลงตัว พรรคส่วนใหญ่ได้กลับเข้าไปร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ เหลือแต่เพียงพรรคไทยศรีวิไลย์ ซึ่งมีนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค ยังคงยืนยันที่จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านอิสระต่อไป[7]
มิติใหม่ในการเมืองไทย
แม้ว่าแนวคิดเรื่องฝ่ายค้านอิสระจะถูกเสนอขึ้นบนเงื่อนไขทางการเมืองที่มีลักษณะเฉพาะ นั่นคือ เงื่อนไขที่สร้างความอึดอัดใจให้กับสมาชิกบางส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ในด้านหนึ่งหากเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ก็จะเป็นการสนับสนุนกการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ และ คสช. ซึ่งขัดกับอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยและจุดยืนของพรรค ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง หากเข้าร่วมกับพรรคฝ่ายค้านก็จะต้องร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยซึ่งถือเป็นพรรคคู่แข่งทางการเมืองและถูกตีตราว่าเป็นเครือข่ายของระบอบทักษิณที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามต่อสู้มาโดยตลอด ในแง่นี้ข้อเสนอเรื่องฝ่ายค้านอิสระจึงนับได้ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ทางการเมืองในบริบทสังคมไทย หรือเป็นข้อเสนอที่สามารถทำให้พรรคการเมืองหลุดจากกรอบปฏิบัติของการเมืองแบบเดิม ๆ ที่ผู้คนคุ้นชิน และยังเร่งเร้าให้แต่ละช่วงจังหวะทางการเมืองมีความน่าสนใจและติดตามยิ่งขึ้น
บรรณานุกรม
กาแฟดำ, “อะไรคือ 'ฝ่ายค้านอิสระ'?.” ไทยโพสต์ออนไลน์. (5 เมษายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/32996>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.
ธนกร วงษ์ปัญญา, “ไอติมประกาศจุดยืน ‘ฝ่ายค้านอิสระ’ เรียกร้องหัวหน้าประชาธิปัตย์คนใหม่ เพื่อความสง่างามและความอยู่รอดของพรรค.” the standard. (29 มีนาคม 2019). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/thailandelection2562-parit-wacharasindhu/>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.
“'นันทเดช' ติง 'ไอติม' เสนอฝ่ายค้านอิสระ ประเทศยุ่งยากทันที.” กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. (31 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/831231>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.
“ฝ่ายค้านอิสระ.” ข่าวสดออนไลน์. (10 สิงหาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/hottopics/news_2784682>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.
“มงคลกิตติ์ ประกาศยืนเดี่ยวเป็นฝ่ายค้านอิสระ-ไม่สนับสนุน “ประยุทธ์” เป็นนายกฯ.” เวิร์คพอยท์นิวส์ออนไลน์. (13 สิงหาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://workpointnews.com/2019/08/13/mongkonkit190813/>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.
“‘อภิสิทธิ์’ ประกาศจุดยืนชัด ‘ไม่เอาประยุทธ์ เป็นนายกฯ’ ขัดอุดมการณ์ ประชาธิปัตย์!.” ข่าวสดออนไลน์. (10 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/election-2019/news_2293736>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.
“‘ไอติม’ โต้สำนักข่าว หลังระบุ ‘ฝ่ายค้านอิสระ = หนุนทักษิณ’.” มติชนออนไลน์. (9 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1488078>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.
[1] “‘อภิสิทธิ์’ ประกาศจุดยืนชัด ‘ไม่เอาประยุทธ์ เป็นนายกฯ’ ขัดอุดมการณ์ ประชาธิปัตย์!,” ข่าวสดออนไลน์, (10 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/election-2019/news_2293736>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.
[2] ธนกร วงษ์ปัญญา, “ไอติมประกาศจุดยืน ‘ฝ่ายค้านอิสระ’ เรียกร้องหัวหน้าประชาธิปัตย์คนใหม่ เพื่อความสง่างามและความอยู่รอดของพรรค,” the standard, (29 มีนาคม 2019). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/thailandelection2562-parit-wacharasindhu/>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.
[3] กาแฟดำ, “อะไรคือ 'ฝ่ายค้านอิสระ'?,” ไทยโพสต์ออนไลน์, (5 เมษายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/32996>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.
[4] “'นันทเดช' ติง 'ไอติม' เสนอฝ่ายค้านอิสระ ประเทศยุ่งยากทันที,” กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, (31 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/831231>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.
[5] “‘ไอติม’ โต้สำนักข่าว หลังระบุ ‘ฝ่ายค้านอิสระ = หนุนทักษิณ’,” มติชนออนไลน์, (9 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1488078>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.
[6] “ฝ่ายค้านอิสระ,” ข่าวสดออนไลน์, (10 สิงหาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/hottopics/news_2784682>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.
[7] “มงคลกิตติ์ ประกาศยืนเดี่ยวเป็นฝ่ายค้านอิสระ-ไม่สนับสนุน “ประยุทธ์” เป็นนายกฯ,” เวิร์คพอยท์นิวส์ออนไลน์, (13 สิงหาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://workpointnews.com/2019/08/13/mongkonkit190813/>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.