3 ป.

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          “3 ป.” เป็นคำเรียกกลุ่มนายทหาร 3 นายพล ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งมีชื่อเล่นว่า "'ป๊อก"' ซึ่งดำรงตำแหน่งทั้งในรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 และในคณะรัฐมนตรี ชุดที่ 62 จากการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 (10 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 - 20 มีนาคม พ.ศ. 2566) ซึ่งนายพลทั้งสามคนต่างเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและใน "บ้านทหารเสือ" หรือ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) ค่ายนวมินทราชินี ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี[1] หรือที่เรียกว่า "บูรพาพยัคฆ์"[2] มาก่อนเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง

 

ภาพ : “3 ป.” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา (จากซ้ายไปขวา)[3]

RTENOTITLE
RTENOTITLE

 

บทบาททางการเมืองของ “3 ป.”

          บทบาททางการเมืองของกลุ่ม 3 ป. นั้นได้ปรับจากภาพลักษณ์ของนายทหารมาสู่การเป็นนักการเมืองที่เด่นชัดขึ้นนับตั้งแต่การทำการรัฐประหารรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีจุดประสงค์หลักของการรัฐประหาร คือ การใช้กฎอัยการศึกในการยุติการชุมนุมประท้วงและนำประเทศกลับสู่ความเป็นระเบียบ โดยจะมีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นตามกำหนดเวลาของการดำเนินการปฏิรูปและจัดให้มีการเลือกตั้ง[4] โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็น 3 นายพลที่มีอิทธิพลและบทบาทในการเมืองไทย ทั้งในช่วงเวลาหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2557 จนถึงตลอดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกว่า 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา (ระหว่าง พ.ศ. 2557-2566)  โดยเป็นการแบ่งบทบาทนำในการกำกับและควบคุมอำนาจทางการเมือง โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐดูแลในส่วนของกลุ่มนักการเมืองและพรรคร่วมรัฐบาลรวมไปถึงกลุ่มพรรคเล็ก ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีดูแลข้าราชการและกองทัพ ในขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา กำกับดูแลกระทรวงมหาดไทยและถือเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ครองตำแหน่งยาวนานรองจาก จอมพลประภาส จารุเสถียร

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เดือนกรกฎาคม 2565

          ผลการลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งมีรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้ง 11 คนนั้น เมื่อพิจารณาถึงผลการลงมติที่มีต่อ กลุ่ม 3 ป. พบว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจมากที่สุดและเป็นผู้ที่ได้คะแนนเสียงไว้วางใจมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นฝ่ายรัฐบาล เป็นผลมาจากมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคฝ่ายค้านลงมติไว้วางใจให้ ได้แก่  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเศรษฐกิจไทย จำนวน 15 คน พรรคก้าวไกล จำนวน 4 คน และ พรรคประชาชาติ 1 คน

          ในขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนเสียง “ไม่ไว้วางใจ” มากที่สุด เป็นผลมาจากการลงมติไม่ไว้วางใจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย จำนวน 13 เสียง ที่นำโดย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคในขณะนั้น รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคฝ่ายรัฐบาลลงมติไม่ไว้วางใจด้วยถึง 8 เสียง โดยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจาก “กลุ่มปากน้ำ” ของพรรคพลังประชารัฐ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคประชาธิปัตย์ ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับคะแนนความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นอันดับที่สี่ โดยมีเพียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล จำนวน 3 คน ที่ลงมติไม่ไว้วางใจจากพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 2 คน และ จากพรรคเศรษฐกิจใหม่อีก 1 คน

 

ตารางที่ 1 : แสดงผลการลงมติหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2565[5]

ชื่อ

ไว้วางใจ

ไม่ไว้วางใจ

งดออกเสียง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

268

193

11

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

245

212

13

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

256

206

9

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี

          จากการกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตั้งแต่ วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2565 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอันเนื่องมาจากประเด็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ห้ามไม่ให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปี ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี[6] โดยในช่วงระยะเวลา 38 วัน ของการรักษาการ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้นำเสนอภาพลักษณ์ของผู้นำรัฐบาลที่รายล้อมไปด้วยนักการเมืองและท่าทีที่เป็นมิตรซึ่งแตกต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งไม่มีบุคลิกให้ความใกล้ชิดสนิทสนมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงผู้มากบารมีและผู้บริหารประเทศของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในแบบฉบับผสมผสานระหว่างนายทหารและนักการเมือง[7]

ความขัดแย้งระหว่าง 3 ป.

          ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคพลังประชารัฐและอำนาจในรัฐบาลได้รับการกล่าวถึงในฐานะเหตุแห่งความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะการปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีข่าวว่านับตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ร.อ.ธรรมนัส มีความพยายามจะรวมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ออกเสียงไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์[8] ซึ่งในเวลาต่อมา ร.อ.ธรรมนัส ได้ลาออกจากเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐและออกไปตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย และในเวลาต่อมาในช่วงเวลาของการเตรียมความพร้อมก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในปี พ.ศ. 2566 พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ในขณะที่ก่อนจะมีการประกาศออกมาจากพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้าเป็นสมาชิกและเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐที่มีต่อการแยกออกไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า “ผมถามท่านนายกฯ ว่าอยากอยู่ พปชร. ไหม ถ้าจะเป็นนายกฯ อยากเป็นหัวหน้าพรรคก็เป็น แต่ผมขอเป็นประธานที่ปรึกษา ท่านนายกฯ ก็หายไป แล้วกลับมาบอกว่าผมไปอยู่พรรคใหม่ดีกว่า” [9] ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อการเข้าร่วมพรรครวมไทยสร้างชาติว่า “วันนี้ทางพรรครวมไทยสร้างชาติก็ได้เสนอมาแล้วว่ายินดีสนับสนุนผมในการเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ผมก็ต้องทำให้เกิดความชัดเจน แต่วันนี้พลังประชารัฐก็ได้มีการตกลงใจในการเสนอชื่อหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว เพราะฉะนั้นผมก็ได้ตัดสินใจวันนี้แล้วกัน จริง ๆ ก็ได้เตรียมการไว้พอสมควรแล้วว่าจะไปอยู่กับรวมไทยสร้างชาติ”[10] ซึ่งภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ กลุ่ม 13 ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทยได้ย้ายกลับเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเช่นเดิม

          ทั้งนี้ การปะทะกันระหว่าง พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกตั้งข้อสังเกตจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคพลังประชารัฐรวมถึงพลเอกประวิตร ได้สนับสนุนให้ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน แทนที่การใช้ระบบที่เอื้อต่อพรรคขนาดเล็กที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้การสนับสนุน ซึ่งมีการแสดงความเห็นในสื่อมวลชนว่า พล.อ.ประวิตร ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐต่อไปและไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ ย้ายไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งจะทำให้พรรครวมไทยสร้างชาติมีโอกาสเกิดและเติบโตยากขึ้นในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566[11]

 

ภาพ : พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดตัวสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ในการจัดประชุมใหญ่วิสามัญพรรครวมไทยสร้างชาติ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพ[12]

3P (2).jpg
3P (2).jpg

 

          นอกจากนี้แล้วความขัดแย้งและการแข่งขันทางการเมืองระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรคและผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ปรากฏชัดเจนขึ้นในการลงพื้นที่พบปะประชาชนและปราศรัยใหญ่ในจังหวัดต่าง ๆ[13] รวมถึงการแย่งชิงความเป็นเจ้าของนโยบายของรัฐบาลที่สำคัญ อาทิ นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ[14] เป็นต้น นอกจากนี้แล้วหลังจากดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมากว่า 8 ปี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้ประกาศเตรียมวางมือการเมืองก่อนมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในปี พ.ศ. 2566 โดยให้เหตุผลเรื่องอายุที่มากขึ้นและคำนึงถึงความเหมาะสมในการทำงานการเมืองในอนาคต[15]

3 ป. กับการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2566

          บทบาทและชื่อของ “3 ป.” ได้ถูกหยิบยกมากล่าวถึงในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในปี พ.ศ. 2566 อันเป็นผลจากความไม่พอใจในการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และผลพวงจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 นำมาสู่การนำเสนอนโยบายและข้อเสนอในการหาเสียงเลือกตั้งจากพรรคฝ่ายค้าน อาทิ “ปิดสวิตซ์ 3 ป. เอาพรรค คสช. ออกจากการเมืองไทย” โดยพรรคก้าวไกลว่าพรรคก้าวไกลจะไม่ร่วมรัฐบาลกับทั้งพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา[16] รวมทั้ง “การปิดสวิตช์ 3 ป. ล้างมรดก คสช. ให้สูญพันธุ์” คือแนวทางเพื่อการแก้ไขอดีต โดยเอาพรรคการเมืองที่นำโดยทหารทั้งสองพรรคออกจากการเมืองไทยและเอารัฐธรรมนูญที่ร่างโดยกลไกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกไปจากสังคมไทย[17] รวมไปถึงคำประกาศ “มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง” ในการหาเสียงของพรรคก้าวไกล เพื่อตัดวงจรรัฐประหาร คืนศรัทธาให้ระบบรัฐสภาไทย และคืนศรัทธาให้ประชาธิปไตยของประเทศ[18] ในขณะที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอแคมเปญ เลือกเพื่อไทยทั้ง 2 ใบ 3 ป. ไปทันที” ซึ่งเป็นทั้งนโยบายหาเสียงหลักและเป้าหมายของพรรค เพื่อให้พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลและปิดโอกาสรัฐบาลเผด็จการ[19] เป็นต้น อย่างไรก็ดีผลการเลือกตั้งที่พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคใหม่อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติพ่ายแพ้ต่อพรรคร่วมฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยทั้งการเลือกตั้งระบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อได้สะท้อนให้เห็นถึงความถดถอยและการไม่ยอมรับต่อการมีอำนาจนำทางการเมืองของ 3 ป. 

 

ภาพ : แสดงนโยบายหาเสียง “ปิดสวิตช์ 3 ป.” ของพรรคก้าวไกล (ซ้าย) [20] และการปราศรัยเพื่อไทยแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย (ขวา)[21]

3P (3).jpg RTENOTITLE

 

          อย่างไรก็ดี ภายหลังการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลผสมที่นำโดย พรรคเพื่อไทย พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติและยุติบทบาททางการเมืองหลังจากสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566 หลังจากครองอำนาจ 9 ปี นับจากรัฐประหาร พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา[22] ในขณะที่ พล.อ.ประวิตร ลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อ แต่ยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐต่อไป ซึ่งทำให้ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐได้เลื่อนลำดับเป็นสมาชิกสภาผู้แทนแทนตำแหน่งของ พล.อ.ประวิตร[23]

อ้างอิง

[1] “พี่น้อง 3ป. "ประวิตร" เปิดบ้านปั้น อนุพงษ์ – ประยุทธ์”. สืบค้นจาก https://www.komchadluek.net/scoop/481858 (13 เมษายน 2566).

[2] “ปิยะภพ อเนกทวีกุล ย้อนเส้นทางบูรพาพยัคฆ์ เติบโตยุคทักษิณ ชินวัตร ก่อนหยั่งรากครองตำแหน่ง ผบ.ทบ. กว่าทศวรรษ”. สืบค้นจาก https://thestandard.co/burapa-payak/ (13 เมษายน 2566).

[3] ““ลุงตู่” โชว์ปึ้ก 3 ป.ชูรวมไทยสร้างชาติกินรวบอำนาจ !?”. สืบค้นจาก https://mgronline.com/politics/detail/9630000065307 (13 เมษายน 2566).

[4] “รายงานเรื่องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลชั่วคราว (พฤษภาคม – ตุลาคม 2557)”. สืบค้นจาก https://www. nhrc.or.th/ News/Information-News/รายงานเรื่องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ-(คสช-)-และรัฐบ.aspx (26 มกราคม 2566).

[5] “ผลอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2565: "3 ป.เสียงแตก" "พปชร. ร้าว" ปชป.รั้งบ๊วย" "ภูมิใจไทยเลี้ยงูเห่า”. สืบค้นจาก  https://ilaw.or.th/ node/6207 (26 มกราคม 2566) และดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน “ข้อมูลการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 14 เป็นพิเศษ วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.01 – 10.42 น.”. สืบค้นจาก  https://msbis.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/ parliament_report/ main_warehouse. php?id=1&m_id=4407#detail (26 มกราคม 2566).

[6] “ครม. เห็นชอบมอบหมายให้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี”. สืบค้นจาก https:// www.thaigov.go.th/news/contents/details/58613 (26 มกราคม 2566).

[7] “จับตา "ประวิตร คอนเนกชัน" บนเส้นทางรักษาการนายกฯ”. สืบค้นจาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/318797(26 มกราคม 2566).

[8] “รวมไทยสร้างชาติ เปิดตัวประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ”, สืบค้นจาก   https://www.benarnews.org/thai/news/th-election-prime-minister-candidate-01092023174031.html(31 สิงหาคม 2566).

[9] “เลือกตั้ง 2566 : ประวิตร “ฟิตเปรี๊ยะ” พร้อมเป็นนายกฯ เผยมีดีลประยุทธ์-ไม่คุยทักษิณ”, สืบค้นจาก  https://www.bbc.com/thai/ articles/ c4nqw76ngp4o (31 สิงหาคม 2566).

[10] “ประยุทธ์ประกาศร่วมพรรครวมไทยสร้างชาติชิงเก้าอี้นายก”. สืบค้นจาก https://www.benarnews.org/thai/news/th-political-move-12232022151829.html (31 สิงหาคม 2566).

[11] “ต้นเหตุแห่งความร้าว 2 ป. ถึงเวลาต้องแยกทาง และแผนการที่อยู่ข้างหลัง”. สืบค้นจาก https://themomentum.co/feature-2p-power/ (31 สิงหาคม 2566).

[12] “ พล.อ.ประยุทธ์ และรวมไทยสร้างชาติ “ประเทศต้องไปต่อ” และจุดขายสร้างความปรองดอง ”. สืบค้นจาก https://plus.thairath. co.th/topic/speak/102648(31 สิงหาคม 2566).

[13] “เช็กลิสต์ประวิตรลงพื้นที่ปาดหน้าประยุทธ์ เมื่อพี่น้อง 2 ป. ชิงเหลี่ยมการเมือง?”. สืบค้นจาก https://thestandard.co/prawit-vs-prayut-site-visit/(20 พฤษภาคม 2566).

[14] “สถานการณ์ “ประยุทธ์-ประวิตร” ชิงเหลี่ยมเลือกตั้ง: 2 ป.แตกหัก “ทักษิณ” เสียบ”. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/ news/ politic/2608653 (20 พฤษภาคม 2566).

[15] “จ่อเหลือแค่ 2ป.! “บิ๊กป๊อก” เมินไป รทสช.พิจารณาตัวเองไม่น่าเหมาะเล่นการเมืองต่อ”. สืบค้นจาก https://mgronline.com/ politics/detail/9650000123569 (28 มกราคม 2566).

[16] “‘พิธา’ ชี้ ปิดสวิตซ์ 3 ป. คือทางออกของประเทศ”. สืบค้นจาก https://www.thereporters.co/tw-politics/2801231732/ (28 มกราคม 2566).

[17] “พิธา ประกาศ 100 วันแรกหากได้เป็นนายกฯ ทำประชามติแก้ รธน. ทันที ขอสู้ศึกเลือกตั้งล้างมรดก คสช.-ปิดสวิตช์ 3 ป.”. สืบค้นจาก https://thestandard.co/tim-pita-pm-first-100-days-action/(20 พฤษภาคม 2566).

[18] “เลือกตั้ง 2566 : “พิธา” ประกาศพร้อมเป็นนายกฯ มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง”. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/ politic/ 2693469(20 พฤษภาคม 2566).

[19] เลือกตั้ง’66: เพื่อไทย ทิ้งทวนปราศรัยขอแลนด์สไลด์ ปิดสวิตช์ ส.ว.-3 ป. พาประเทศพ้นหลุมดำ”. สืบค้นจาก https://www.infoquest. co.th/2023/300506 (20 พฤษภาคม 2566).

[20]  ก้าวไกล โหมโรงเลือกตั้ง ติดป้ายทั่วกรุง ‘ปิดสวิตช์ 3ป.’ โซเชียลแชร์กระหึ่ม https://www.khaosod.co.th/politics/news_7482028 (29 มกราคม 2566).

[21] “ร่วมกันปิด ส.ว. ปิดสวิตช์ 3 ป. เพื่อทำให้คนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ขอให้ช่วยพาพรรคเพื่อไทยเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล”. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=824619269033724&set=a.508934057268915  (31 สิงหาคม 2566).

[22] “ปิดฉาก 9 ปี ระบอบประยุทธ์”. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/articles/cje092e991xo (31 สิงหาคม 2566).

[23] “รู้หรือไม่? หาก "ประวิตร" ลาออก ใครขยับขึ้นนั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พลังประชารัฐ แทน”. สืบค้นจาก https://www.sanook.com/ news/8997062/(31 สิงหาคม 2566).