ทวี บุณยเกตุ : นายกรัฐมนตรีและประธานสภาฯสั้นที่สุด แต่สำคัญนัก

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:40, 6 พฤษภาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (Apirom ย้ายหน้า ทวี บุณยเกตุ (นรนิติ เศรษฐบุตร) ไปยัง [[ทวี บุณยเกตุ : นายกรัฐมนตรีและประธานสภาฯ...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ทวี บุณยเกตุ : นายกรัฐมนตรีและประธานสภาฯสั้นที่สุด แต่สำคัญนัก

             ผู้คนรู้จักนาย ทวี บุณยเกตุ ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุดของประเทศไทย คือเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31_สิงหาคม_พ.ศ._2488 ถึงวันที่ 17 กันยายน ปีเดียวกัน เรื่องนี้ก็มีเหตุมาจากการที่ประเทศไทยได้ประกาศสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2488 หลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงสองวัน ตอนนั้นนายควง อภัยวงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี นายควง ได้นำคณะรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง เปิดทางให้หานายกฯคนใหม่ ซึ่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้หารือกันกับประธานสภาฯ และมีความเห็นว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่น่าจะเป็น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็นหัวหน้าเสรีไทยสายอมริกา เพราะจะได้ดำเนินการประสานกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้ดี หากแต่ ม.ร.ว.เสนีย์ ยังไม่อาจเดินทางกลับมาได้ทันที จึงเห็นควรให้นายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกฯไปก่อน เพราะมีภารกิจที่จะต้องเจรจากับฝ่ายที่ชนะสงครามในระยะแรกด้วย นายทวีจึงเป็นนายกฯรอการกลับมาของ ม.ร.ว.เสนีย์

             ที่น่าสนใจก็คือทำไมจึงเป็นนายทวี แต่ถ้าได้สังเกตดูที่ประกาศพระบรมราชโองการประกาศสันติภาพ ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2488 จะพบว่าผู้ที่ลงนามสนองพระบรมราชโองการนั้น คือ นายทวี บุณยเกตุ ผู้เป็นรัฐมนตรี มิใช่นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี มีข้อเท็จจริงอีกว่าในสมัยที่นายควงเป็นนายกรัฐมนตรีนี้ ท่านได้ไว้วางใจและมอบอำนาจให้นายทวีทำการแทนอยู่แล้วหลายครั้ง ทั้งสองท่านเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสายพลเรือนมาด้วยกัน ลองมาดูชีวิตและงานของนายทวีกันตามลำดับ

          นายทวี บุณยเกตุ นั้นเป็นคนจังหวัดตรัง เพราะเกิดที่อำเภอกันตัง เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2447 เป็นบุตรพระยารณชัยชาญยุทธ์(ถนอม) กับคุณหญิงทับทิม ภริยาของนายทวี คือคุณหญิงอาภาศรี ด้านการศึกษานั้นท่านไม่ได้เรียนที่จังหวัดตรัง หากแต่ไปเรียนที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ที่จังหวัดจันทบุรี แล้วมาเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ และโรงเรียนราชวิทยาลัย ก่อนที่จะไปเรียนต่อที่ คิงส์คอลเลจ ประเทศอังกฤษ จากนั้นก็ไปเรียนวิชาด้านกสิกรรม ตอนที่เรียนอยู่ที่เมืองนอกนี่เอง นายทวีได้ถูกชักชวนโดยนายแนบ พหลโยธิน เข้าร่วมในคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง

             ปี 2468 นายทวีศึกษาจบกลับมาเมืองไทย เข้ารับราชการที่กระทรวงเกษตราธิการ และนายทวีนี่เองที่ได้ชักชวนคนเข้าร่วมก่อการด้วยอีกหลายคน เช่น นาย จรูญ สืบแสง นายวิลาศ โอสถานนท์ และคนอื่นๆ ตอนที่ยึดอำนาจนั้นนายทวีต้องลางานจากจังหวัดขอนแก่นมาซุ่มรอเวลาที่กรุงเทพฯ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกที่มาจากการแต่งตั้งด้วย ครั้นต่อมาสมัยที่หลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี นายทวีก็ได้เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

             นายทวี ได้เป็นรัฐมนตรี(ลอย) ครั้งแรกในรัฐบาลของหลวงพิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ปี 2485 ซึ่งเป็นการตั้งรัฐมนตรีเพิ่มเติม ตอนนั้นหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีมาได้ประมาณสี่ปีเศษแล้ว ความมั่นคงทางการเมืองก็เริ่มจะลดลง ต่อมาเมื่อหลวงพิบูลสงครามจัดตั้งรัฐบาลใหม่ทั้งชุดในเดือนมีนาคม ปีเดียวกัน นายทวีก็ได้กลับเข้ามาเป็นรัฐมนตรีที่ไม่ประจำกระทรวงใดๆอีกวาระหนึ่ง แต่ร่วมรัฐบาลผ่านไปได้ประมาณหนึ่งปี ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2486 นายทวีก็ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี (ลอย). พร้อมกับนายควง อภัยวงศ์ ที่ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เหตุผลในการลาออกจากรัฐบาลของท่านทั้งสองก็คือ “นโยบายไม่ตรงกับนายกรัฐมนตรี” แม้จะไม่ได้ระบุว่าเรื่องใด แต่ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าแนวคิดทางการเมืองของเพื่อนผู้ก่อการฯทั้งสองกับหลวงพิบูลสงครามแยกทางกันแล้ว

ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2486 หลังเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทางสภาฯซึ่งได้โอนอ่อนผ่อนปรน ตามใจนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม มาหลายปีก็กล้าท้าทายโดยมีมติเลือกนายทวี บุณยเกตุเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และเลือกนายควง อภัยวงศ์ เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ที่คาดไม่ถึงก็คือนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับท้าทายสภาผู้แทนราษฎรกลับมา ด้วยการส่งชื่อคนทั้งสองที่สภาฯมีมติเลือกให้เป็นประมุขและรองประมุขฝ่ายนิติบัญญัติคืนสภาฯโดย “ไม่กราบบังคมทูลให้โปรดเกล้าแต่งตั้ง” และสภาฯก็ยอมกลับมาพิจารณาใหม่

             เมื่อเวลาผ่านมาจนถึงปี 2487 ฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่ 2 มีทีท่าว่าจะเป็นผู้แพ้สงคราม การเมืองภายในของไทยจึงมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ สภาฯลงมติไม่รับร่างกฎหมายอนุมัติพระราชกำหนดที่รัฐบาลออกไป 2 ฉบับ ในเวลาที่ห่างกันไม่ถึง 7 วัน หลวงพิบูลสงครามจึงต้องยอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและนายควง อภัยวงศ์ ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาล ในรัฐบาลใหม่นี้ นายทวีได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ที่นายกฯมอบหมายให้สั่งการแทนบางเรื่อง ช่วยกันประคับประคองรัฐบาลจนสามารถออกประกาศสันติภาพได้ และรับเป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาล “ชั่วคราว” รอนายกฯ ซึ่งรู้ตัวตนที่แน่นอนแล้วจะกลับจากต่างประเทศมาตั้งรัฐบาล

             นายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกฯอยู่เพียงไม่กี่วันก็ตาม แต่ก็มิได้อยู่เฉยๆ แต่ได้ทำเรื่องสำคัญที่น่าจะบอกเล่าสู่กันฟังอยู่สองเรื่อง กรณีแรกคือออกประกาศกลับไปใช้ชื่อประเทศเป็นภาษาอังกฤษว่า “Siam” ตามเดิม

             การเปลี่ยนชื่อประเทศภาษาอังกฤษมาเป็น Siam หลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรี หลวงพิบูลสงคราม ได้เคยออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรียกชื่อประเทศว่า Thailand เมื่อวันชาติในขณะนั้นคือวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2483 ครั้งนั้นจึงเป็นการโต้กลับหลวงพิบูลสงครามไปด้วย ดังจะดูได้จากเนื้อความในประกาศของรัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2488 ที่ว่า


             “บัดนี้รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า โดยที่ชื่อของประเทศเราเป็นที่นิยมเรียกกันทางต่างประเทศว่า ‘Siam’ จนแพร่หลาย เป็นที่รู้จักกันอย่างดีทั่วไปมาช้านานแล้ว ฉะนั้น จึงให้ชื่อประเทศในภาษาอังกฤษว่า ‘Siam’ กับชื่อประชาชนและสัญชาติให้ใช้ว่า ‘Siamese’ สำหรับในภาษาต่างประเทศอื่นให้ใช้โดยอนุโลม ส่วนชื่อในภาษาไทยให้คงใช้ว่า ไทย’ ไปตามเดิม”

             แต่ที่กระทบต่อตัวหลวงพิบูลสงครามโดยตรงนั้นก็คือเรื่องที่ 2 ที่รัฐบาลของนายทวี บุณยเกตุ ประกาศยกเลิกตำแหน่งที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ที่หลวงพิบูลสงครามหรือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีดำรงอยู่ในขณะนั้น  ตำแหน่งนี้ นายควง อภัยวงศ์ ขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรีได้ตั้งขึ้นและให้หลวงพิบูลฯเป็นหลังจากให้หลวงพิบูลฯพ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหาร และตั้งพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้บัญชาการทหารแทน นับว่าเป็นความกล้าของนายทวี บุณยเกตุ ในอดีตหลวงพิบูลฯตอนที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็เคยขัดมติสภาผู้แทนราษฎรไม่ยอมเสนอชื่อตั้งนายทวี เป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติมาแล้ว เช่นกัน

             นายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรี รอ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อยู่จริงจนถึงวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2488 จึงได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เปิดทางให้สภาผู้แทนราษฎรเลือก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทนต่อไป ลาออกจากนายกรัฐมนตรีและมีการเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว นายทวี ก็ยังมิได้หายไปไหนยังอยู่ร่วมในรัฐบาลที่ตามมาของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ เพราะโดยแท้จริงแล้วรัฐบาลชุดนี้ก็น่าจะเป็นรัฐบาลสามัคคีเอาทุกฝ่ายที่ไม่ใช่กลุ่มเก่าของหลวงพิบูลฯเข้ามารวมกันช่วยแก้ปัญหาของชาติไทยภายหลังสงครามนั่นเอง นายทวีได้ตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลคือเป็นรัฐมนตรีว่าการกรเทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในเรื่องความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และรัฐบาลก็ได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 19 กันยายน ปี 2488 ที่มีความเกี่ยวกับเรื่องนี้ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลจะพยายามที่จะ “รักษาความสงบภายในให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย” อย่างเร่งด่วน

             แต่รัฐบาลที่มองว่าจะต้องสามัคคีสมานฉันท์กันก็อยู่กันได้ไม่นาน นายกรัฐมนตรีที่สั่งมาจากนอกเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาให้บ้านเมืองได้เพียงเดือนกว่าๆก็ใช้มาตรการยุบสภาผู้แทนราษฎร อ้างกันว่าสมาชิกสภาชุดนี้อยู่มานานเพราะต่ออายุเนื่องจากภาวะสงคราม จึงควรจะไปเลือกตั้งกันใหม่ให้ประชาชนตัดสินใจ ฟังดูดีแน่ๆ แต่ก็คงมีปัญหาการเมืองที่ไม่อยากบอกรวมอยู่ด้วย หลังการเลือกตั้งใหม่ในเดือนมกราคม ปี 2489 มีสภาฯชุดใหม่แล้วก็ต้องหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ มีข่าวว่าสภาฯอยากได้นายปรีดี พนมยงค์ แต่นายปรีดีปฏิเสธ เลยมาตกที่นายควง อภัยวงศ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง รัฐบาลของนายควงนั้น แม้จะมีผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองร่วมเป็นรัฐมนตรีอยู่หลายคน แต่ก็ไม่มีนายทวี บุณยเกตุ อยู่ในคณะรัฐมนตรี ทั่งที่เคยถูกมองว่าเป็นผู้ที่นายควงไว้ใจมากตอนที่ร่วมรัฐบาลนายควง ยามสงคราม งานด้านเกษตรที่นายทวีมีความถนัด กลับมีพระยาอัฐราชสิริ ผู้เป็นคนหน้าใหม่ทางการเมืองเข้ามาเป็นรัฐมนตรี

             อย่างไรก็ตามรัฐบาลนายควงชุดนี้ก็มีอายุสั้น เจอมรสุมการเมืองในสภาฯ เพราะสมาชิกสภากลุ่มหนึ่งเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชน นั่นก็คือจะบังคับให้ผู้ค้าขายติดป้ายราคาสินค้า ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าไม่ควรทำในเวลานั้น เพราะจะทำให้สินค้าหายจากตลาดไปสู่ “ตลาดมืด” นายกรัฐมนตรีจึงบอกว่าถ้าสภาฯรับร่างกฎหมายนี้รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ ปรากฏว่าสภาฯมีมติรับหลักการ นายควงจึงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 18 มีนาคม ปี 2489 คราวนี้สภาฯมีมติขอให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาล ในรัฐบาลชุดใหม่นี้นายทวีก็ได้ร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการและอยู่ร่วมรัฐบาลกับนายปรีดีตลอดมาจนนายปรีดีพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมาเป็นรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ แม้จะพวกเดียวกันนายทวีก็ไม่ได้ร่วมรัฐบาล จนเกิดการรัฐประหารล้มรัฐบาลหลวงธำรงฯและจอมพล ป.พิบูลสงครามกลับมามีอำนาจ นายทวีเห็นว่าสถานการณ์ไม่น่าไว้ใจจึงพาภรรยาลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่ปีนัง จนพ้นสมัยรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในปี 2500 เมื่อจอมพล_สฤษดิ์_ธนะรัชต์ ยึดอำนาจล้มรัฐบาลหลวงพิบูลฯ นายทวีจึงเดินทางกลับมาตุภูมิ และเมื่อมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วยในปี 2502 นายทวีก็เป็นผู้ก่อการฯคนหนึ่งที่ได้เป็นสมาชิกสภาแห่งนี้ และนายทวีก็ได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาที่มีพล อ.หลวงสุทธิสารณกรเป็นประธาน ครั้นถึงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2511 หลวงสุทธิสารณกรถึงอสัญกรรม นายทวี จึงได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาแทนในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2511โดยได้เร่งร่างรัฐธรรมนูญจนเสร็จ ประกาศใช้ได้ในวันที่ 20_มิถุนายน_พ.ศ._2511 ท่านจึงเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติ ที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุดเพียง 50 วัน

             นายทวี บุณยเกตุ พ้นจากวงการเมืองโดยมีชีวิตอยู่มาจนถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ปี 2514