ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา
ผู้เรียบเรียง : นางวิลาสินี สิทธิโสภณ
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง
โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 279 ได้กำหนดมาตรฐาน ทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในประมวลจริยธรรมที่กำหนดขึ้น โดยข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภานั้น จะต้องมีกลไกและระบบในการดำเนินงาน เพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นข้อบังคับที่กำหนดให้สมาชิกทั้งสองสภา ต้องประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบและครรลองที่ดีงาม มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ รวมทั้งศีลธรรมจริยธรรม อันเหมาะสม เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมและอนุชนรุ่นหลัง ทั้งในการดำเนินชีวิตส่วนตัวและการปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชน สามารถสร้างความเชื่อถือและความไว้วางใจแก่ประชาชน โดยมีอุดมคติ ที่มุ่งเน้นการเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม และมีจริยธรรมเกี่ยวกับการดำรงตน ครอบครัวและผู้อื่น เพื่อมิให้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะต้องยึดถือปฏิบัติอยู่ภายใต้บังคับของข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกแต่ละสภาที่กำหนดขึ้น ซึ่งสาระสำคัญได้กำหนด อุดมคติ การปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิก จริยธรรมต่อประชาชน และจริยธรรมเกี่ยวกับการดำรงตน อุดมคติของสมาชิก ซึ่งมาจากคำปฏิญาณตนและความเป็นกลางทางการเมือง การนำหลักคุณธรรมจริยธรรม มาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อาจพิจารณาได้ว่าเป็นกลไกที่ช่วยส่งเสริมให้การประพฤติปฏิบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความเหมาะสมมากขึ้น รวมทั้งยังทำให้แนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเป็นที่ยอมรับของสังคม
ความหมายของจริยธรรม
จริยธรรม หมายถึง พฤติกรรมในการประพฤติปฏิบัติตนในสิ่งที่ควรปฏิบัติที่ดีงามเหมาะสม และเป็นที่นิยมชมชอบหรือยอมรับของสังคม เพื่อความสันติสุขแห่งตนเองและความสงบเรียบร้อยของสังคมส่วนรวม ซึ่งจริยธรรมของสังคมไทยขึ้นอยู่กับระบบศีลธรรมของพุทธศาสนา ว่ากำหนดหลักในการปฏิบัติในชีวิตประจำไว้อย่างไร หลักจริยธรรมก็จะกำหนดให้ปฏิบัติตามนั้น นอกจากนี้ จริยธรรม หมายถึง คุณสมบัติทางความประพฤติ ที่สังคมมุ่งหวังให้คนในสังคมนั้นประพฤติมีความถูกต้องในความประพฤติ มีเสรีภาพภายในขอบเขตของมโนธรรม (Conscience) เป็นหน้าที่ ที่สมาชิกในสังคมพึงประพฤติปฏิบัติต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อสังคม ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองขึ้น ในสังคม การที่จะปฏิบัติให้เป็นไปเช่นนั้นได้ ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด
ความเป็นมา
ตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 จนถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการควบคุมจริยธรรมของฝ่ายนิติบัญญัติมีลักษณะใกล้เคียงกัน กล่าวคือ เป็นจุดเริ่มต้นของการควบคุม เรื่องการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์สาธารณะ เช่น การไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐหรือบริษัทของรัฐ การไม่รับสัมปทานจากรัฐ หรือเป็นคู่สัญญากับรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม การไม่รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ เป็นพิเศษในฐานะที่ตนได้ปฏิบัติงานในฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นต้น ในอดีตที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญหลายฉบับได้มีความพยายามที่จะให้มีข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณของสมาชิก โดยมีบทกำหนดโทษถึงต้องพ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิก แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะไม่เคยได้รับการบังคับใช้เป็นตัวบทกฎหมายอย่างจริงจัง ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา ซึ่งเริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ มิได้มีบทบัญญัติที่ว่าด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับจรรยาบรรณของสมาชิกแต่ประการใด เพียงแต่บัญญัติไว้กว้างๆ ด้วยข้อความที่ว่า “ในกรณีที่สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดกระทำการอันเป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของการเป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แล้วแต่กรณี จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก เพื่อให้วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยให้สมาชิกผู้นั้นพ้นจากสมาชิกภาพได้” ต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มิได้มีบทบัญญัติว่าด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับจรรยาบรรณของสมาชิกไว้โดยเฉพาะ แต่ได้บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในการตราประมวลจริยธรรมของสมาชิกและกรรมาธิการ โดยอาศัยอำนาจตามความในรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้จัดทำมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการและพนักงานหรือลูกจ้างอื่นของรัฐ เพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ3 และต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในมาตรา 134 มาตรา 279 มาตรา 280และมาตรา 304 และข้อ 182 ของข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 กำหนดให้ดำเนินการจัดทำประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ จึงได้กำหนดให้มีข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 25534 มาใช้บังคับกับสมาชิก โดยกำหนดให้สมาชิกต้องมีอุดมคติ ต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ทั้งสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามและรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ต้องมีอุดมการณ์ในการทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างเต็มความสามารถด้วยความรับผิดชอบ ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสิ่งสูงสุดเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตนและต้องวางตัวเป็นกลางในทางการเมือง
ในส่วนของข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภา ได้ริเริ่มกำหนดให้มีการจัดทำมาตรฐานคุณธรรมและจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาขึ้นในปี พ.ศ. 2545 เพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติ มิชอบ ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 กำหนดฝ่ายนิติบัญญัติ เพียงสภาเดียวคือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวก็ได้มีการจัดทำประมวลจริยธรรมขึ้นด้วย ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในมาตรา 134 มาตรา 279 มาตรา 3045 และ ข้อ 190 ของข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาพ.ศ. 2551 ให้ดำเนินการจัดทำประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ จึงได้กำหนดข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ. 2553 มาใช้บังคับกับสมาชิก โดยกำหนดให้สมาชิกต้องมีอุดมคติ ต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ทั้งสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จักต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามและรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ต้องมีอุดมการณ์ในการทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างเต็มความสามารถด้วยความรับผิดชอบ ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสิ่งสูงสุดเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน ต้องวางตัวเป็นกลางในทางการเมือง
ความจำเป็นของการมีจริยธรรมของนักการเมือง จริยธรรมเป็นแนวคิดที่ต้องการควบคุมพฤติกรรมของคน ทั้งนี้ ในฐานะที่สมาชิกเป็นบุคคลที่ถือเป็นบุคคลสาธารณะ และมีความเกี่ยวข้องกับภารกิจที่สำคัญของประเทศ ทั้งในเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีคณะกรรมการจริยธรรม ซึ่งมีความสำคัญ ในฐานะเป็นกลไกในการควบคุมพฤติกรรมและมาตรฐานของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบและเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่
กล่าวโดยสรุป ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากอดีต – ปัจจุบัน คือ ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2542 ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2550 และข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2553 ส่วนข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาจากอดีต – ปัจจุบัน คือ ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ. 2545 ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ. 2553 สาระสำคัญของข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมในแต่ละสมัย มีสาระสำคัญคล้ายๆกัน โดยเน้นอุดมคติของการเป็นสมาชิก การปฏิบัติหน้าที่และจริยธรรมเกี่ยวกับการดำรงตน ครอบครัวและผู้อื่น รวมทั้งการให้มีคณะกรรมการจริยธรรมเพื่อควบคุมให้เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรม
การปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา
กระบวนการตราข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2553 เป็นข้อบังคับที่กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ ต้องปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี จงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและข้อบังคับสภาผู้แทนราษฎร โดยเคร่งครัด มีความรับผิดชอบซื่อสัตย์สุจริต ยึดถือประโยชน์ประเทศชาติและประชาชน สุจริตเที่ยงธรรม เป็นอิสระ เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น อุทิศเวลาให้แก่การประชุมตรงต่อเวลา และต้องไม่ขาดการประชุม โดยไม่จำเป็น ดังนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะต้องเป็นบุคคลที่ต้องได้รับความไว้วางใจจากประชาชนและจำเป็นต้องสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน เพื่อมิให้ถูกตรวจสอบในทางสาธารณะในเรื่องส่วนตัวและความประพฤติที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่อย่างเปิดเผย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีความเกี่ยวข้องกับภารกิจที่สำคัญของประเทศในเรื่องเกี่ยวข้องกับการอนุมัติเงินงบประมาณแผ่นดิน การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายบริหาร การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่ตราพระราชบัญญัติเพื่อให้ข้าราชการประจำที่มีหน้าที่รับไปปฏิบัติทางการปกครองให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย หากนักการเมืองใช้อำนาจหน้าที่โดยมีการฝ่าฝืนจริยธรรม ย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมในขอบเขตที่กว้างขวาง
การปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภานั้น สมาชิกและกรรมาธิการจักต้องปฏิบัติหน้าที่และแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เที่ยงธรรม มีความเป็นอิสระ มีจิตสำนึกที่ดี มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบและเสียสละ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติ มีสำนึกในบทบาทหน้าที่ ดำรงไว้ซึ่งความสามัคคีในหมู่คณะเพื่อรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของวุฒิสภา สมาชิกและกรรมาธิการจักต้องเคารพและปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาและมติของที่ประชุมโดยเคร่งครัด ส่วนในการพิจารณา สรรหา กลั่นกรอง หรือแต่งตั้งบุคคลใดเข้าสู่ตำแหน่ง ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น สมาชิกและกรรมาธิการจะต้องพิจารณาให้เป็นไปตามระบบคุณธรรมและคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลดังกล่าวด้วย สมาชิกและกรรมาธิการจักต้องให้เกียรติและเคารพสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ไม่แสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้ายหรือเสียดสีบุคคลใดหรือนำเอาเรื่องที่เป็นเท็จมาอภิปรายแสดงความเห็นในการประชุม ต้องเคารพในความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกและกรรมาธิการอื่น รวมทั้งต้องอุทิศเวลาให้แก่การประชุม โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน ตลอดจนต้องให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน ถูกต้องและไม่ใช้หรือไม่บิดเบือนข้อมูล ข้อเท็จจริงหรือวิจารณ์ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายเพื่อให้ผู้อื่นหรือประชาชนเข้าใจผิด หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือบุคคลอื่นใด
ในการปฏิบัติหน้าที่ต้องมีจริยธรรมต่อประชาชน สมาชิกและกรรมาธิการจักต้องประพฤติ และปฏิบัติตนเพื่อให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาและเป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่ประชาชนในการปฏิบัติตามกฎหมาย ต้องพิจารณารับเรื่องร้องทุกข์ รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชน ตลอดจนพึงให้บริการแก่ประชาชนด้วยความรวดเร็ว มีอัธยาศัยเสมอภาค เท่าเทียม เป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ สมาชิกและกรรมาธิการพึงเป็นแบบอย่างที่ดีในการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม รวมทั้งการรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นไทยและการรักษาชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีของวุฒิสภา
ข้อบังคับเกี่ยวกับประมวลจริยธรรมของสมาชิกและกรรมาธิการทั้งของสภาผู้แทนราษฎรและของวุฒิสภาดังกล่าวข้างต้น ตามรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับนั้น เมื่อได้นำมาประกาศใช้แล้ว ถือเป็นส่วนหนึ่ง ของข้อบังคับการประชุมของแต่ละสภา ซึ่งหมายความว่าสมาชิกผู้ใดฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับจรรยาบรรณของสมาชิก ก็ให้ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการประชุมสภาด้วย (อ้างใน คณิน บุญสุวรรณ)
การควบคุมให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรม
ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของแต่ละสภา กำหนดให้มีคณะกรรมการจริยธรรม เพื่อเป็นผู้ควบคุมการบังคับใช้ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแล การรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ตรวจการแผ่นดิน ในกรณีที่มีการกล่าวหาว่าสมาชิกหรือกรรมาธิการกระทำผิด การพิจารณา สอบสวน วินิจฉัยคำร้องเรียนและลงโทษ วางหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบในการพิจารณาและสอบสวน
วิธีพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรม
วิธีพิจารณาของคณะกรรมการอย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐาน เรื่องการพิจารณาโดยเปิดเผย การให้โอกาสคู่กรณีแสดงพยานหลักฐานและความเห็นของตนก่อนการวินิจฉัย การให้สิทธิคู่กรณีขอตรวจดูเอกสารที่เกี่ยวกับตน การเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านกรรมการ องค์ประชุมของคณะกรรมการต้อง ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการให้ถือเอาคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และอย่างน้อยจะต้องประกอบด้วยเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย ความเป็นมาหรือคำกล่าวหา สรุปข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการพิจารณา ตลอดจนบทบัญญัติของกฎหมายหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ให้กรรมการทำคำวินิจฉัยส่วนตนเป็น ลายลักษณ์อักษรไว้ด้วย
ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่ามีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักรับฟังได้ และที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยว่า สมาชิกหรือกรรมาธิการผู้ใดฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมข้อใด ให้คณะกรรมการมีอำนาจที่จะพิจารณาลงโทษสมาชิกหรือกรรมาธิการผู้นั้น ในกรณีที่คณะกรรมการมีมติว่าเป็นความผิดไม่ร้ายแรงให้ลงโทษโดยการตักเตือน ตำหนิให้ขอโทษต่อที่ประชุมตามที่คณะกรรมการกำหนด หรือประณามให้เป็นที่ประจักษ์ในกรณีที่คณะกรรมการมีมติว่าเป็นความผิดร้ายแรง ให้ลงโทษโดยการเสนอถอดถอนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน
มาตรฐานทางจริยธรรม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ในมาตรา 279 ได้กำหนดให้มีการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท ให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมที่กำหนดขึ้น การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดทางวินัย และมาตรา 280 กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีอำนาจหน้าที่ เสนอแนะหรือให้คำแนะนำในการจัดทำหรือปรับปรุงประมวลจริยธรรมและส่งเสริมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ ของรัฐ มีจิตสำนึกในด้านจริยธรรม วิธีพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดิน ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบรายงาน ถ้าเห็นว่าไม่ฝ่าฝืนก็เป็นอันยุติ ถ้าหากเห็นว่าฝ่าฝืนก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการจริยธรรมในการบังคับให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรม และหากเป็นการกระทำผิดร้ายแรงให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาดำเนินการแล้วรายงานต่อรัฐสภา
ในกรณีที่การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมมีลักษณะร้ายแรงหรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการดำเนินการของผู้รับผิดชอบจะไม่เป็นไปด้วยความเป็นธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดินจะไต่สวนและเปิดเผยผลการไต่สวนต่อสาธารณะก็ได้
สรุป
ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เป็นกลไกสำคัญในการควบคุมดูแลความประพฤติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาซึ่งถือเป็นผู้ที่อยู่ในฐานะนักการเมือง ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะและมีความเกี่ยวข้องกับภารกิจที่สำคัญในการบริหารและพัฒนาประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการอนุมัติเงินงบประมาณแผ่นดินต่างๆ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายบริหารการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่ตราพระราชบัญญัติเพื่อให้ฝ่ายประจำที่มีหน้าที่รับผิดชอบรับไปปฏิบัติ นอกจากนี้ยังต้องเป็นผู้มีความสามารถในด้านการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดีทั้งใน ๓ ด้าน คือ บริหารงาน บริหารคน บริหารเศรษฐกิจ คือ สามารถบริหารได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทั้งต้องเป็นผู้ที่ชอบเรียนรู้ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น อยู่ตลอดเวลา เพื่อรู้จักพัฒนาตนเองให้ก้าวทันโลก ดังนั้น หากนักการเมืองที่อยู่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาใช้อำนาจและหน้าที่โดยมีการฝ่าฝืนจริยธรรม ย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมและผู้คนภายในประเทศอย่างแน่นอน
แม้ว่าคำว่า “จริยธรรม” จะเป็นนามธรรม และอยู่ภายใต้จิตสำนึกของบุคคลแต่ละคน ซึ่งเป็นสิ่งที่วัดกันได้ยาก จะสามารถรู้หรือสัมผัสได้จากการสังเกตจากการกระทำหรือพฤติกรรมที่บุคคลนั้นแสดงออกมา แต่ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาควรมีการตรวจสอบจริยธรรมภายในตัวบุคคลของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาอยู่ตลอดเวลา เช่น การตรวจสอบการบันทึกกิจกรรมที่ได้กระทำแต่ละวัน ทำให้ได้ข้อมูลเพื่อใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงความรับผิดชอบ ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจะต้องยอมรับความผูกพันและความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน ถ้าหากเกิดความผิดพลาดก็พร้อมที่จะออกมาแสดงความรับผิดชอบของการกระทำ และรีบดำเนินการแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าหากความผิดพลาดก่อให้เกิดความเสียหาย นักการเมืองต้องพร้อมที่จะพิจารณาตน และหลีกทางให้ผู้อื่นที่มีความพร้อมและความสามารถในการแก้ไขปัญหาเข้ามาดำรงแทนตนเองโดยกระบวนการตามกฎเกณฑ์ของสังคมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
อ้างอิง
<\reference>
หนังสือแนะนำให้อ่านเพิ่มเติม
1. รายงานการวิจัย เรื่อง พัฒนาการด้านจริยธรรมของวุฒิสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมาธิการจริยธรรมวุฒิสภา, กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2554.
2.ประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์. จริยธรรมที่พึงประสงค์สำหรับนักการเมืองไทย.,กรุงเทพฯ: มปพ, 2553.
3.เอกสารการสัมมนา เรื่อง ประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่น, วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า, 2553.
บรรณานุกรม
แสง จันทร์งาม. 80 ปี เชียงใหม่. กรุงเทพฯ : หจก. ธนุชพริ้นติ้ง, 2550.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รวมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (2475 – 2549). กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2549.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2553. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2555.
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ. 2553. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2555.