ผลต่างระหว่างรุ่นของ "รัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476"
ลไม่มีความย่อการแก้ไข |
ลไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 26: | บรรทัดที่ 26: | ||
==อ้างอิง== | ==อ้างอิง== | ||
<references/> | <references/> | ||
[[หมวดหมู่:เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย สมัย พ.ศ. 2475-2500]] | [[หมวดหมู่: เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย สมัย พ.ศ. 2475-2500]] | ||
[[หมวดหมู่: สุวัสดี โภชน์พันธุ์]] |
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 15:44, 25 สิงหาคม 2554
ผู้เรียบเรียง สุวัสดี โภชน์พันธุ์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ.2476
ภายหลังการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ รัฐบาลชุดพระยามโนปกรณ์ดูเหมือนจะควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งในกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ.2476 ความตึงเครียดทางการเมืองก็เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อ “สี่ทหารเสือ” ของคณะราษฎร คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองและตำแหน่งทางการทหาร ด้วยข้ออ้างว่า มีอาการเจ็บป่วยอยู่เนืองๆ และไม่สามารถรับราชการได้อย่างเต็มควรแก่การ[1] โดยในใบลาออกได้ระบุวันลาออกจากราชการไว้ล่วงหน้า คือ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2476
ในการนี้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงพิจารณา ซึ่งพระองค์ทรงยอมรับให้ลาออกโดยไม่มีการทักท้วงแต่อย่างใด ส่งผลให้รัฐบาลมีประกาศเรื่องการลาออกจากราชการของนายทหารทั้งสี่อย่างเป็นทางการในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2476 และในวันเดียวกันรัฐบาลก็ได้มีประกาศแต่งตั้งให้พระยาพิชัยสงครามเป็นผู้รักษาในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแทนพระยาพหลพลพยุหเสนา, ให้พระยาศรีสิทธิสงคราม เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้ากรมยุทธการทหารบกแทนพระยาทรงสุรเดช และให้หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งเป็นรองผู้บังคับการทหารปืนใหญ่อยู่ในขณะนั้นเลื่อนขึ้นเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการแทนพระยาทรงสุรเดช (แต่เดิมพระยาทรงสุรเดชควบอยู่สองตำแหน่ง)[2] ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2476 เป็นต้นไป
คำประกาศให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการทหารในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นี้เป็นเรื่องที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และสามารถคาดคะเนไปได้หลายทาง[3] แต่สำหรับข้าราชการทหารรุ่นหนุ่ม การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการคุกคามต่อชีวิตและความปลอดภัยของพวกตนโดยตรง ดังเช่นที่ อนันต์ พิบูลสงคราม กล่าวไว้ว่า
- พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงครามได้จัดการโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่ของนายทหารเป็นว่าเล่น ไม่พอใจใครก็ย้ายเข้า การพิจารณาโยกย้ายนายทหารนั้นต้องกระทำเป็นความลับ ผู้ถูกย้ายไม่รู้ตัวจนกระทั่งคำสั่งจะได้ออกมาแล้ว แต่ข่าวการย้ายล่าสุดก็ได้เล็ดรอดออกมาว่า พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงครามกำลังดำเนินการออกคำสั่งด่วนย้ายนายทหารผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งสิ้นให้พ้นไปจากการบังคับบัญชาหน่วยทหาร[4]
จากสภาพการณ์ดังกล่าว กลุ่มนายทหารหนุ่มของคณะราษฎรจึงได้ทำการรวมกำลังกัน โดยมีหลวงพิบูลสงครามเป็นหัวหน้าฝ่ายทหารบก และหลวงศุภชลาศัยเป็นหัวหน้าฝ่ายทหารเรือ เพื่อทำการรัฐประหารล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในการดำเนินงานครั้งนี้หลวงพิบูลสงครามคงตระหนักดีว่าตนยังไม่ใช่ “ชั้นผู้ใหญ่” พอที่จะเข้าคุมกองทัพได้ จึงได้เชิญพระยาพหลพลพยุหเสนามาเป็นผู้นำของคณะ โดยการติดต่อกับพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นไปอย่างยากลำบาก ทั้งในแง่ของการตรวจตราจากฝ่ายรัฐบาลและการเปลี่ยนใจพระยาพหลพลพยุหเสนาให้กลับมาเป็นผู้นำในทางการเมืองอีกครั้ง เข้าใจว่าผู้แทนของกลุ่มนายทหารหนุ่มซึ่งไปเจรจากับพระยาพหลพลพยุหเสนาแทนหลวงพิบูลสงครามคือพระยาสุริยานุวัตร กับหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์[5] ซึ่งทั้งสองคนนี้เป็นคนที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นอย่างดี รวมทั้งยังเป็นบุคคลที่กลุ่มทหารหนุ่มให้ความไว้วางใจ
การรัฐประหารได้เกิดขึ้นในตอนเช้ามืดของวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 มีการนำกำลังเข้ายึดและควบคุมที่ทำการของรัฐบาลและจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในพระนคร เช่น วังปารุสกวัน พระที่นั่งอนันตสมาคม กระทรวงกลาโหม สำนักงานไปรษณีย์กลาง โดยมีหลวงโกวิท อภัยวงศ์เป็นผู้ควบคุมตัดการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ และมีการส่งกำลังทหารและรถเกราะเข้าคุมประตูวิเศษชัยศรี พระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นทำเนียบรัฐบาลในขณะนั้น ส่วนกำลังทหารเรือเข้าคุมท่าราชวรดิษฐ์และรักษาสถานการณ์ในแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ยังได้มีการบุกจับกุมพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและบุคคลสำคัญในรัฐบาล และบีบบังคับให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาและคณะรัฐมนตรีลาออกในวันเดียวกัน เหตุการณ์ทั้งหมดนี้กลุ่มนายทหารที่ทำการรัฐประหารสามารถควบคุมสถานการณ์ได้หมดในเวลาอันรวดเร็วและไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ เกิดขึ้น[6] พร้อมกันนั้นก็ได้มีการแจกประกาศแถลงการณ์แก่ประชาชนถึงเหตุผลของการรัฐประหารว่า “ด้วยคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน ณ บัดนี้ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้นปิดสภาผู้แทนราษฎร แล้วงดใช้รัฐธรรมนูญ คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน จึงได้ดำเนินการเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ…”[7]
ถัดมาเจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางโดยรถไฟขบวนพิเศษไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อกราบบังคมทูลลงพระปรมาภิไธยให้มีประกาศประกาศแต่งตั้งพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับให้มีประกาศเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2476[8] และการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญก็เริ่มขึ้นอีกครั้งในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2476 หลังจากที่ปิดไปเป็นเวลากว่า 81 วัน การยึดอำนาจในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นจุดจบทางการเมืองของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา
อ้างอิง
- ↑ เสถียร ลายลักษณ์ (รวบรวม), ประชุมกฎหมายประจำศก เล่มที่ 46, พระนคร: โรงพิมพ์นิติเวชช์, 2476), หน้า 213 – 214.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 215.
- ↑ ดูรายละเอียดใน ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ, (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543), บทที่ 5.
- ↑ อ. พิบูลสงคราม, จอมพล ป.พิบูลสงคราม, เล่ม 1 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มนตรี, 2518), หน้า 168–169.
- ↑ จำลอง อิทธะรงค์, ละครการเมือง (พระนคร: บริษัทสหอุปกรณ์, 2492), หน้า 170 – 171 และ Thawatt Mokarapong, History of Thai Revolution: A Study in Political Behavior (Bangkok: Chalermnit, 1972), p. 198.
พระยาสุริยานุวัตรเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งสนใจวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีบทบาทน้อยมากในสมัยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา แต่ก็เป็นที่วางใจของกลุ่มนายทหารหนุ่มเนื่องด้วยมีฐานะเป็นบิดาของนายประจวบ บุนนาค สมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน ส่วนหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นสมาชิกคณะราษฎรสายทหารเรือรุ่นหนุ่ม เขามีความรู้ทั้งในเรื่องการทหารเรือและวิชากฎหมาย (เป็นเนติบัณฑิตสยาม) ซึ่งยังไม่ได้มีบทบาทเท่าใดนักในช่วงปีแรกของการปฏิวัติสยาม 2475. - ↑ ดู ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ, หน้า 326 – 327.
- ↑ กจช. สร.0201.12/45 เรื่องการยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 อ้างถึงใน เรื่องเดียวกัน, หน้า 326 - 327.
- ↑ เสถียร ลายลักษณ์ (รวบรวม), ประชุมกฎหมายประจำศก เล่มที่ 46, หน้า 216–217.