ผลต่างระหว่างรุ่นของ "หลวงวิจิตรวาทการ"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
 
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 17:45, 6 พฤษภาคม 2563

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


 

          “ข้าพเจ้ามิได้มีเชื้อสายเจ้า และก็ยังมิได้เข้าเป็นสมาชิกใน ‘คณะราษฎร’ แต่ในส่วนตัวข้าพเจ้าก็เป็นมิตรของบุคคลทั้งสองฝ่าย ข้าพเจ้าเคยมีนายที่เป็นเจ้า และเจ้าที่เป็นนายของข้าพเจ้า ก็เผอิญเป็นเจ้าที่ดี ส่วนในทาง ‘คณะราษฎร’ นี้ ผู้เริ่มก่อการทั้งหลาย ถึงแม้ข้าพเจ้าจะไม่รู้จักและทราบตัวทั่วไป ก็มีอยู่บางคนที่เป็นเพื่อนของข้าพเจ้า หรืออย่างน้อยข้าพเจ้าก็นับถือเขา เพราะเขาได้เคยมีบุญคุณแก่ข้าพเจ้ามา ฉะนั้นเสียงของข้าพเจ้าที่จะกล่าวอะไรออกไป จึงต้องถือว่าเป็นเสียงของคนกลางที่สุด”

หลวงวิจิตรวาทการ[1]

         

          “นักชาตินิยม” คงเป็นคำที่หลายคนใช้เรียกนักคิด นักเขียนและปัญญาชนคนสำคัญของการเมืองไทยอย่างหลวงวิจิตรวาทการ เพราะนอกจากจะเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลายตำแหน่งแล้ว ท่านยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ออกความเห็นและผลักดันนโยบายเพื่อปลูกฝังลัทธิชาตินิยมในหมู่ประชาชน ในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นอกจากนี้ท่านยังมีผลงานในการแต่งหนังสือประวัติศาสตร์ เป็นผู้ประพันธ์บทเพลงปลุกใจของชาติ และแต่งบทละครอิงประวัติศาสตร์เอาไว้หลายเรื่อง ทำให้หลวงวิจิตรวาทการเป็นปัญญาชนที่มีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนและสร้างความหมายของ "ความเป็นไทย" เพื่อตอบสนองต่อปัญหาและความจำเป็นของระบอบการเมืองการปกครองใหม่ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475[2]

ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว

          พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ มีนามเดิมว่ากิมเหลียง วัฒนปฤดา (ภายหลังเปลี่ยนเป็น วิจิตรวาทการ) มีบิดาชื่อ นายอิน วัฒนปฤดา และมารดาชื่อ นางคล้าย วัฒนปฤดา หลวงวิจิตรวาทการเกิดที่จังหวัดอุทัยธานี เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2441 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 8 คน ภายหลังสมรสกับภรรยาชื่อ คุณหญิงประภาพรรณ วิจิตรวาทการ (ประภา รพิพันธุ์)[3]

          หลวงวิจิตราวาทการ จบการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดขวิด ตำบลสะแกกรัง อำเภอน้ำซึม จังหวัดอุทัยธานีเมื่ออายุได้ 10 ขวบ และสอบได้เปรียญ 5 ประโยคจากสำนักวัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2459 จากนั้นจึงได้มีโอกาสไปศึกษาทางด้านกฎหมายที่ฝรั่งเศส ณ มหาวิทยาลัยปารีส แต่ไม่ทันได้รับปริญญาก็ต้องย้ายไปประจำที่สถานทูตไทยที่กรุงลอนดอนเสียก่อน ต่อมาก็เข้าศึกษาด้านรัฐศาสตร์พร้อมกับการศึกษากฎหมายที่กรุงปารีส แต่ต้องย้ายไปลอนดอนก่อนการสอบขั้นสุดท้าย และนอกจากนี้ยังได้รับปริญญาระดับดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ วิชาการทูตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ วิชาเศรษฐศาสตร์สหกรณ์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้รับปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[4]

หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ

            หลวงวิจิตรวาทการเริ่มต้นการทำงานด้วยการเข้ารับราชการเป็นเสมียน ในกองการกงสุลกระทรวงการต่างประเทศในปี พ.ศ. 2463 ต่อมาในปี พ.ศ. 2463 จึงได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการในสถานทูตไทย ณ กรุงปารีสและได้เลื่อนขั้นขึ้นเป็นตำแหน่งเลขานุการในเวลาต่อมา พอถึงปี พ.ศ. 2492 ได้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองการกงสุลจนถึงปี พ.ศ. 2493  และย้ายมาดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองการทูต กระทรวงการต่างประเทศตามลำดับ  ในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร หลวงวิจิตรวาทการดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ และยังเป็นผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์สากล ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 จึงมาดำรงตำแหน่งสำคัญในชีวิตของท่านคือการเป็นอธิบดีกรมศิลปากร เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน และเป็นผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์การปกครอง ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากนั้นในช่วงที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยแรกช่วง พ.ศ.2481 ถึง พ.ศ. 2487 หลวงวิจิตวาทการก็ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญในรัฐบาลของ จอมพล ป. คือรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงศึกษาธิการ ใน พ.ศ. 2483 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ใน พ.ศ. 2484 และได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ใน พ.ศ. 2485 ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2486 หลวงวิจิตรได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่น เมื่อพ้นจากตำแหน่งจึงได้กลับมาดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใน ปี พ.ศ. 2493 (ในเวลานั้นเรียกว่า ‘ผู้ประศาสน์การ’) และเป็นผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งเป็นสมัยที่สองระหว่าง ปี พ.ศ. 2491 ถึง พ.ศ. 2500 ซึ่งหลวงวิจิตรวาทการก็ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญอีก คือการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ใน พ.ศ. 2494 และใน พ.ศ. 2495 จึงมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการรวมทั้งเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศอินเดียในปีเดียวกัน ต่อมาใน พ.ศ. 2496 จึงย้ายไปดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรียและยูโกสลาเวีย และเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองกลายเป็นรัฐบาลภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  หลวงวิจิตรวาทการก็ยังได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคือเป็นปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ การเป็นกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการบริหารสภาการศึกษาแห่งชาติ และเป็นประธานคณะที่ปรึกษาองค์การของรัฐ ฯลฯ และในช่วงท้ายของชีวิตท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ แพทยศาสตร์ ศิลปากร รวมทั้งเป็นผู้สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีในส่วนราชการที่ได้รับมอบหมาย[5]

 

ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง

          จะเห็นได้ว่า หลวงวิจิตรวาทการนั้นเป็นบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในทางการเมืองมาหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะงานด้านการต่างประเทศและงานด้านการศึกษา และยังเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้นำของรัฐบาลทั้งฝ่ายของคณะราษฎรและฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อคณะราษฎร สมกับที่หลวงวิจิตรกล่าวว่าท่านคือ “คนกลางที่สุด”

          แต่ในทางการเมืองนั้น ดูเหมือนผลงานที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักที่สุดของท่านคือการทำหน้าที่เป็นปัญญาชนสาธารณะคนสำคัญซึ่งมีบทบาทในการผลักดันและส่งเสริมแนวความคิด 'ชาตินิยม' เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงครามในสมัยแรก นักวิชาการบางท่านถือว่าหลวงวิจิตรวาทการเป็นบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการนำเสนอการนิยามความหมายของ “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” ในช่วงสองทศวรรษแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475  โดยถือเป็นการนิยามความหมายที่สืบทอดและมีความต่อเนื่องจากวิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยที่มีมาก่อนหน้านั้นเป็นอย่างมาก[6]

          หลวงวิจิตรวาทการเริ่มต้นการเสนอความคิดชาตินิยมมาตั้งแต่ต้นของทศวรรษที่ 2470 แล้ว โดยการแต่งหนังสือชุด “ประวัติศาสตร์สากล” ซึ่งตีพิมพ์ระหว่าง พ.ศ. 2472 ถึง พ.ศ. 2474 โดยในหนังสือชุดนี้หลวงวิจิตรวาทการได้พยายามทำให้ประวัติศาสตร์ของชาติไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สากล โดยในหนังสือนั้นนอกจากมีการอภิปรายถึงปัญหาประวัติศาสตร์กฎหมายไทย การปกครองไทย ฐานะของพลเมือง สิทธิของคน และวีรกรรมของชาวบ้านบางระจันก่อนหน้าการเสียกรุงครั้งที่สอง โดยเน้นย้ำถึงความรักชาติและการเสียสละเพื่อชาติของชาวบ้านบางระจันอย่างมาก หนังสือชุดนี้ของหลวงวิจิตรวาทการยังให้ความสำคัญแก่การเสียกรุงทั้งสองครั้งและสงครามกอบกู้เอกราชของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเพื่อเน้นในเรื่องสำนึกของความรักชาติ นอกจากนี้หลวงวิจิตรวาทการยังได้เน้นความสำคัญของ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ตามแนวทางที่ปัญญาชนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เคยสถาปนาเอาไว้ให้เข้มข้นมากขึ้น[7]

          แม้ว่าตัวของหลวงวิจิตรวาทการเองจะเป็นคนจีนหรือ “ลูกจีน” โดยกำเนิด แต่ก็เป็นผู้ที่ได้รับการกล่อมเกลาในวัฒนธรรมทางความคิดของไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพราะโดยการศึกษาตั้งแต่วัยเด็กที่ผ่านการบวชเรียนจากวัดของพุทธศาสนาจนสอบได้เปรียญ 5 ประโยค และในระหว่างที่บวชเรียนก็ได้ติดตามอ่านบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบกับในเวลาต่อมาได้เข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศซึ่งทำหน้าที่ในนามของชาติไทยอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้หลวงวิจิตรเติบโตและใช้ชีวิตการทำงานโดยคลุกคลีอยู่กับเอกลักษณ์ของชาติไทยและความเป็นไทยอยู่เสมอ[8]

          ตลอดช่วงชีวิตของหลวงวิจิตรวาทการนั้นได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งงานเขียนทางประวัติศาสตร์ บทความ บทละคร บทเพลง การแสดงปาฐกถา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นไปเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐในสมัยนั้น ทำให้หลวงวิจิตรวาทการมีบทบาทอย่างมากในการปลูกฝังวิธีคิดเกี่ยวกับ “ชาติไทย” โดยเฉพาะมโนทัศน์ที่ว่า “ชาติไทย” เป็น “ชาติของคนเชื้อชาติไทย” และเป็นชาติอันเก่าแก่ที่มีความเป็นไทยอันเจริญรุ่งเรื่องมาแต่โบราณ และคนไทยควรเสียสละและทำทุกอย่างเพื่อให้ชาติไทยของตนมีเอกราชและมีความเจริญรุ่งเรื่องมากยิ่งขึ้น[9]

           หลวงวิจิตรวาทการถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจ เมื่อวันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2505 โดยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพ-ศิรินทราวาส ในวันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2505[10]  

           

บรรณานุกรม

วันเพ็ญ คงมั่น (บรรณาธิการ), รำลึก 100 ปี พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ: บทคัดสรรว่าด้วยชีวประวัติและผลงาน, (กรุงเทพฯ: ธีระการพิมพ์, 2541)

สายชล สัตยานุรักษ์, แนวคิดเกี่ยวกับ"ชาติไทย"และ"ความเป็นไทย"ของ หลวงวิจิตรวาทการ, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, (กรกฎาคม 2551), Retrieved From: http://v1.midnightuniv.org/midnighttext/0009999888.html, February 25, 2016.   

อ้างอิง

[1] วันเพ็ญ คงมั่น (บรรณาธิการ), รำลึก 100 ปี พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ: บทคัดสรรว่าด้วยชีวประวัติและผลงาน, (กรุงเทพฯ: ธีระการพิมพ์, 2541), น. 42-43.  

[2] สายชล สัตยานุรักษ์, แนวคิดเกี่ยวกับ"ชาติไทย"และ"ความเป็นไทย"ของ หลวงวิจิตรวาทการ, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, (กรกฎาคม 2551), Retrieved From: http://v1.midnightuniv.org/midnighttext/0009999888.html, February 25, 2016.  

[3] วันเพ็ญ คงมั่น (บรรณาธิการ), รำลึก 100 ปี พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ: บทคัดสรรว่าด้วยชีวประวัติและผลงาน, (กรุงเทพฯ: ธีระการพิมพ์, 2541), น. 3.  

[4] วันเพ็ญ คงมั่น (บรรณาธิการ), รำลึก 100 ปี พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ: บทคัดสรรว่าด้วยชีวประวัติและผลงาน, (กรุงเทพฯ: ธีระการพิมพ์, 2541), น. 3.

[5] วันเพ็ญ คงมั่น (บรรณาธิการ), รำลึก 100 ปี พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ: บทคัดสรรว่าด้วยชีวประวัติและผลงาน, (กรุงเทพฯ: ธีระการพิมพ์, 2541), น. 4-5.

[6] สายชล สัตยานุรักษ์, แนวคิดเกี่ยวกับ"ชาติไทย"และ"ความเป็นไทย"ของ หลวงวิจิตรวาทการ, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, (กรกฎาคม 2551), Retrieved From: http://v1.midnightuniv.org/midnighttext/0009999888.html, February 25, 2016.   

[7] สายชล สัตยานุรักษ์, แนวคิดเกี่ยวกับ"ชาติไทย"และ"ความเป็นไทย"ของ หลวงวิจิตรวาทการ, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, (กรกฎาคม 2551), Retrieved From: http://v1.midnightuniv.org/midnighttext/0009999888.html, February 25, 2016.   

[8] สายชล สัตยานุรักษ์, แนวคิดเกี่ยวกับ"ชาติไทย"และ"ความเป็นไทย"ของ หลวงวิจิตรวาทการ, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, (กรกฎาคม 2551), Retrieved From: http://v1.midnightuniv.org/midnighttext/0009999888.html, February 25, 2016.   

[9] สายชล สัตยานุรักษ์, แนวคิดเกี่ยวกับ"ชาติไทย"และ"ความเป็นไทย"ของ หลวงวิจิตรวาทการ, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, (กรกฎาคม 2551), Retrieved From: http://v1.midnightuniv.org/midnighttext/0009999888.html, February 25, 2016.   

[10] วันเพ็ญ คงมั่น (บรรณาธิการ), รำลึก 100 ปี พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ: บทคัดสรรว่าด้วยชีวประวัติและผลงาน, (กรุงเทพฯ: ธีระการพิมพ์, 2541), น.1.