ผลต่างระหว่างรุ่นของ "พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ ผู้ทรงคุ..."
 
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
 
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 17:30, 6 พฤษภาคม 2563

ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ :  รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์

         พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมืองภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2490 ในฐานะนายทหารคนสนิทจอมพล ป.พิบูลสงครามและบุตรเขยจอมพลผิน_ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหาร เป็นผู้ปรับปรุงกรมตำรวจจนมีสมรรถนะเทียบเท่ากองทัพบก ได้รับการยกย่องจากสหรัฐอเมริกาว่าเป็น “บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย” ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2500 ได้ลี้ภัยในประเทศสวิสเซอร์แลนด์จนถึงแก่กรรม

 

ประวัติส่วนบุคคล

          พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2452 ที่ ตำบลบางขุนพรหม อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของ พันตำรวจโท พระพลาพิรักษ์เสนีย์ (พลุ้ย ศรียานนท์) และนางพงษ์ ศรียานนท์ พลตำรวจเอก เผ่าสอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนเบญจมบพิตรจากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก จนสำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2469

          ชีวิตครอบครัวพลตำรวจเอกเผ่าได้สมรสกับคุณหญิงอุดมลักษณ์ ศรียานนท์ (สกุลเดิมชุณหะวัณ) ธิดาคนโตของจอมพล ผิน ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2478[1]

 

ผลงานสำคัญ

          พลตำรวจเอกเผ่าเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้บังคับหมวด กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรัษาพระองค์ที่มีจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตเป็นผู้บังคับการกรม ต่อมาได้ย้ายไปอยู่กองพันทหารราบที่ 12 จังหวัดพิษณุโลก จนถึง พ.ศ.2481ได้รับแต่งตั้งเป็นนายทหารคนสนิท จอมพล ป.พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2485 ได้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และพ.ศ. 2486 เป็นเจ้ากรมเสมียนตรา กระทรวงกลาโหม [2] 

          ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อกองทัพสัมพันธมิตรจะทิ้งระเบิดในประเทศไทย จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีดำริจะย้ายเมืองหลวงไปที่นครบาลเพชรบูรณ์ โดยมีแผนการขนทรัพย์สมบัติอันมีค่าของชาติไปอยู่ในที่ปลอดภัยอย่างเร่งด่วน ในเดือน กันยายน พ.ศ.2486 ได้มีการตั้งคณะกรรมการขนย้ายทรัพย์มีค่าของชาติ มีพลตรีบริภัณฑ์ยุทธกิจเป็นประธาน พลตำรวจเอก เผ่าเป็นกรรมการและเลขานุการ[3] ในช่วงปลายสงครามฯ พ.ศ. 2487 พลตำรวจเอกเผ่าเป็นเจ้ากรมเชื้อเพลิง และเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลตำรวจเอก เผ่าได้ลาออกจากราชการไปประกอบอาชีพส่วนตัว[4]

          วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 เวลา 23.30 น. คณะรัฐประหารนำโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณได้ทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน พลตำรวจเอกเผ่าได้เข้าร่วมเป็นแกนนำของการรัฐประหารในครั้งนี้ในฐานะนายทหารคนสนิทจอมพล ป.พิบูลสงครามและบุตรเขยจอมพล ผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหาร เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจได้แล้วได้ส่งพลตำรวจเอกเผ่าไปเชิญจอมพล ป.พิบูลสงครามมาที่กองบัญชาการคณะรัฐประหาร กระทรวงกลาโหม[5]

          ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2490 พลตำรวจเอกเผ่าได้กลับเข้ารับราชการและโอนย้ายไปอยู่กรมตำรวจเพื่อดูแลความมั่งคงของของคณะรัฐประหารในตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายปราบปรามเมื่อ พ.ศ.2491และในปีเดียวกันได้ขึ้นเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ และได้ขึ้นเป็นอธิบดีกรมตำรวจเมื่อ วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2494 จากนั้นในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2494 ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง  

          พลตำรวจเอกเผ่ามีนโยบายในการปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง จนเป็นที่เชื่นชอบของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ทำให้ได้รับความช่วยเหลือปรับปรุงสมรรถนะของกรมตำรวจจนมีขีดความสามารถเท่าเทียมกองทัพบกโดยได้รับความช่วยเหลือจาก CIA ผ่าน Sea Supply Corporation[6] พลตำรวจเอกเผ่า ได้ก่อตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นใหม่อีกหลายหน่วยเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของตำรวจในการปราบปรามทั้งโจรผู้ร้าย คอมมิวนิสต์และนักการเมือง เช่น หน่วยตำรวจน้ำ หน่วยตำรวจพลร่ม หน่วยตระเวนชายแดน หน่วยตำรวจม้า หน่วยตำรวจรถเกราะ และเมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจในปี พ.ศ.2494 พลตำรวจเอกเผ่า ได้กำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม เป็นวันตำรวจ  โดยพลตำรวจเอกเผ่าได้มอบคำขวัญในวันตำรวจเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2494 ว่า “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ในทางที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและกฎหมายบ้านเมือง”  ประโยคดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทและอำนาจหน้าที่ของตำรวจว่ากรมตำรวจมีความพร้อมเทียบได้กับกองทัพในทุกด้านทั้งทางบก น้ำ อากาศ  นอกจากนี้พลตำรวจเอกเผ่ายังก่อตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจและสร้างกรมตำรวจและโรงพยาบาลตำรวจที่บริเวณปทุมวัน[7] พลตำรวจเอกเผ่ายังได้มอบรางวัลแก่ตำรวจที่ปฎิบัติหน้าที่ถูกใจตนโดยมอบแหวนทองลงยารูปตราแผ่นดินฝังเพชรให้เป็นรางวัล เรียกว่าแหวนอัศวิน[8]

          ในยุคสมัยของพลตำรวจเอกเผ่าเรียกได้ว่าเป็นยุคของ "รัฐตำรวจ" ที่ใช้บทบาทของตำรวจเป็นเครื่องมือในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

          วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 นายปรีดี พนมยงค์ได้ร่วมกับกำลังทหารเรือกลุ่มหนึ่งนำโดยพลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ ผู้บัญชาการมณฑลทหารเรือที่ 2 และรักษาการผู้บังคับกองพลนาวิกโยธิน[9]เรียกตนเองว่าขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492  ใช้กำลังเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามโดยใช้พระบรมมหาราชวังเป็นกองบัญชาการที่เรียกว่า “ กบฏวังหลวง[10] พลตำรวจเอกเผ่าได้เข้าร่วมในการปราบกบฏโดยนำกำลังตำรวจแบ่งเป็นสามสายเพื่อเตรียมบุกเข้ายึดพระบรมมหาราชวัง[11]การยึดอำนาจไม่ประสบผลสำเร็จ มีการเจรจาหยุดยิงในวันที่ 27 กุมภาพันธ์โดยนายปรีดีได้หลบหนีไปได้ ภายหลังเหตุการณ์มีการกวาดล้างศัตรูทางการเมือง โดยตำรวจได้จับกุม 4 อดีตรัฐมนตรีที่มีความใกล้ชิดกับนายปรีดี_พนมยงค์ ประกอบด้วยนายทองอินทร์_ภูริพัฒน์ นายถวิล_อุดล นายจำลอง_ดาวเรืองถูกจับกุมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์และนายทองเปลว_ชลภูมิถูกจับกุมในวันที่ 1 มีนาคม ต่อมาในวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2492 ระหว่างที่มีการย้ายผู้ต้องหาทั้ง 4 คนไปคุมขังที่สถานีตำรวจบางเขน เมื่อมาถึงระหว่างกิโลเมตรที่ 14 –15 ถนนพหลโยธิน ผู้ต้องหาทั้ง 4 ได้ถูกสังหารทั้งที่ถูกสวมกุญแจมืออยู่ กรมตำรวจอ้างว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากโจรจีนมลายูพยายามบุกเข้าแย่งชิงนักโทษ[12]

          เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามได้เกิดความขัดแย้งกับพลโทหลวงกาจสงครามรองหัวหน้าคณะรัฐประหาร พ.ศ.2490 ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก โดยหลวงกาจสงครามวางแผนเตรียมการยึดอำนาจ แต่ในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2493 หลวงกาจฯถูกแผนลวงให้มาประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลแล้วถูกพลตำรวจเอกเผ่าใช้ปืนพกจ่อที่ศรีษะ ทำให้หลวงกาจฯ ถูกปลดออกจากตำแหน่งและถูกเนรเทศไปอยู่ที่ฮ่องกง[13]

          วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 ทหารเรือกลุ่มหนึ่งนำโดย พลเรือตรี ทหาร_ขำหิรัญ นายทหารนอกราชการ อดีตผู้บัญชาการมณฑลทหารเรือที่ 2 และผู้บังคับกองพลนาวิกโยธิน นาวาเอก อานนท์_ปุณฑริกาภา ผู้บังคับการกองสำรองเรือรบ นาวาตรี มนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์ นาวาตรี_ประกาย_พุทธารี สังกัดกรมนาวิกโยธิน และนาวาตรี สุภัทร_ตันตยาภรณ์ สังกัดกรมนาวิกโยธิน ได้พยายามทำการยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยนาวาตรี มนัส จารุภา ได้ใช้ปืนกลจี้บังคับจอมพล ป. พิบูลสงครามขณะอยู่ในพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนชื่อ แมนฮัตตัน ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกามอบให้รัฐบาลไทย ไปลงเรือหลวงศรีอยุธยา[14] โดยเหตุผลหนึ่งที่ฝ่ายทหารเรือทำการยึดอำนาจคือความขัดแย้งกับฝ่ายตำรวจที่มีมาตั้งแต่กบฎวังหลวง พ.ศ.2492 และการตั้งกองบังคับการตำรวจน้ำที่ฝ่ายทหารเรือมองว่าเป็นการซ้ำซ้อนกับอำนาจของกองทัพเรือ[15] ฝ่ายตำรวจได้ปราบปรามฝ่ายกบฎอย่างหนักที่บริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้าและราชประสงค์

           วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 จอมพล ป. พิบูลสงครามได้ทำการรัฐประหารเพื่อกระชับอำนาจโดยประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสองประเภทจำนวนเท่ากัน คือ สมาชิกประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล รวมถึงการให้ข้าราชการประจำสามารถรับตำแหน่งทางการเมืองได้ รวมถึงจัดตั้ง “คณะกรรมการนิติบัญญัติ” ซึ่งมีจอมพล ป. เป็นประธาน คณะรัฐมนตรีทั้งหมดเป็นกรรมการ และ พล.ต.อ.เผ่า เป็นเลขานุการ[16]ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2494 ได้ส่งผลให้สถานการณ์การเมืองภายในประเทศไทยในช่วงปลายทศวรรษ 2490 เปลี่ยนแปลงไปสู่การแข่งขันและการขัดแย้งกันเองภายในคณะรัฐประหาร อันประกอบด้วย กลุ่มราชครู ที่มีพลตำรวจเอกเผ่า เป็นผู้นำ  กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ ที่มีจอมพลสฤษดิ์ เป็นผู้นำ และกลุ่มทหารอาวุโสที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำ[17] นอกจากจะมีการสะสมกำลัง อำนาจ บารมีทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมืองแล้ว ในด้านสื่อสารมวลชนยังมีการออกหนังสือพิมพ์ในการโจมตีฝ่ายตรงกันข้าม โดยพลตำรวจเอกเผ่าอยู่เบื้องหลังหนังสือพิมพ์เผ่าไทย ไทเสรี และหนังสือพิมพ์รายวันเช้าที่มีนายวรรโณทัย อมาตยกุล เป็นบรรณาธิการ ฝ่ายจอมพล สฤษดิ์มีหนังสือพิมพ์ สารเสรีที่มีนายทนง ศรัทธาทิพย์เป็นบรรณาธิการ ฝ่ายจอมพลสฤษดิ์ได้โจมตีพลตำรวจเอกเผ่าในเรื่องการค้าฝิ่นและการใช้อิทธิพลสังหารนักการเมือง ส่วนหนังสือพิมพ์ของฝ่าย พลตำรวจเอกเผ่าก็มุ่งโจมตีจอมพลสฤษดิ์ในเรื่องอิทธิพลทางเศรษฐกิจและเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศที่เหลวแหลก [18]

          วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 พลตำรวจเอกเผ่าได้เป็นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อีกตำแหน่งหนึ่งและอยู่ในตำแหน่งถึงวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2498

          หลังจากที่มีพระราชบัญญัติพรรคการเมืองในประเทศไทย คณะรัฐประหาร พ.ศ.2490 ได้จัดตั้งพรรคเสรีมนังคศิลาโดยจดทะเบียนในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2498 มี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าพรรค มีจอมพลผิน ชุณหะวัณ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล_ฟื้น_รณภากาศฤทธาคนีและ พล.ร.อ.หลวงยุทธศาสตร์โกศล เป็นรองหัวหน้าพรรค และพลตำรวจเอกเผ่าเป็นเลขาธิการพรรค[19]

          การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคเสรีมนังคศิลาได้จำนวนสมาชิกสภาประเภทที่ 1 จำนวน 86 คน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ 30 คน การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรก เพราะการนับคะแนนเป็นไปอย่างล่าช้าถึง 2 วัน 2 คืน เกิดเหตุไฟดับ และมีการใช้บัตรเลือกตั้งปลอมหรือที่เรียกว่า ไพ่ไฟ การนับคะแนนที่ไม่มีความเป็นธรรมเข้าข้างพรรคการเมืองของฝ่ายรัฐบาล  ส่งผลให้เกิดการประท้วงจากนิสิตนักศึกษาและประชาชน ให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ ขอให้มีการนับคะแนนใหม่และสอบสวนหาตัวผู้ที่กระทำความผิดในการเลือกตั้งที่สกปรกและไม่เป็นธรรม การประท้วงเริ่มมีแนวโน้มว่าจะรุนแรง รัฐบาลจึงประกาศภาวะฉุกเฉิน จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับมอบหมายให้สลายการชุมนุม จอมพล สฤษดิ์ได้สั่งการทหารมิให้กระทำรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุม จนในที่สุดกลุ่มผู้ชุมนุมยอมสลายตัวไป เมื่อเหตุการณ์สงบลงพรรคเสรีมนังคศิลาที่ชนะการเลือกตั้งและเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวที่ได้เสียงข้างมากในสภาได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล

          วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2500 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2500 มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

          เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2500 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้พยายามผลักดันมติคณะรัฐมนตรีให้รัฐมนตรีทุกคนถอนตัวจากธุรกิจการค้าและการอุตสาหกรรม มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ จนนำไปสู่การยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล สฤษดิ์และคณะนายทหารจำนวน 46 คน

          13 กันยายน พ.ศ.2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์และคณะนายทหารอีก 58 นาย ได้ยื่นคำขาดให้รัฐบาลลาออกทันทีและให้ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ลาออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ จอมพล ป. พิบูลสงครามได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีและยืนยันไม่ลาออก[20]     

          วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองโดยมีประกาศให้จอมพล ป.พิบูลสงครามและพลตำรวจเอกเผ่า เข้ารายงานตัวกับกองบัญชาการคณะปฏิวัติ ขณะที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้หนีไปทางชายแดนฝั่งประเทศกัมพูชา แต่พลตำรวจเอกเผ่าตัดสินใจเข้ารายงานตัว เมื่อเวลา 02.00 น. ของคืนวันที่ 16 กันยายน จอมพลสฤษดิ์ได้สอบถามพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ว่าจะไปต่างประเทศหรือจะออกบวช พลตำรวจเอกเผ่าเลือกที่จะไปต่างประเทศ โดยจอมพลสฤษดิ์ตัดสินใจส่งพลตำรวจเอกเผ่าและครอบครัวรวมทั้งคนสนิทไปยังประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในฐานะที่ปรึกษาประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบรินน์  ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ แต่เมื่อไปถึงประเทศสวิสเซอร์แลนด์ยังไม่ทันที่จะได้รายงานตัวก็มีคำสั่งจากคณะปฏิวัติให้ปลดพลตำรวจเอกเผ่าออกจากตำแหน่ง[21] 

          พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ได้ลี้ภัยอยู่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จนกระทั่งถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจขณะที่เล่นปิงปองกับ พันตำรวจตรีสวัสดิ์ ทุมโฆสิต เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503  [22]

 

หนังสือแนะนำ

พุฒ บูรณสมภพ. (ม.ป.ป.).ชัยชนะและความพ่ายแพ้ของบุรุษเหล็กแห่งเอเซีย.กรุงเทพ : ศิลปะสนองการพิมพ์.

อำรุง สกุลรัตนะ (2526).'ใครว่า อตร. เผ่าไม่ดี'.กรุงเทพฯ: สารมวลชน.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ.(2553).แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491 - 2500) พิมพ์ครั้งที่ 3 .กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก.

 

บรรณานุกรม

กบฏแมนฮัตตัน,สืบค้นจาก , http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=กบฎแมนฮัตตัน เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.

ความเป็นมาของ แหวนอัศวิน, สืบค้นจาก http://saranitet.police.go.th/museum/wp-content/uploads/show/qrbg2_point6/ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2559.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ,ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ.2475-2500, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2559 พิมพ์ครั้งที่ 6), หน้า 384.

นรนิติ เศรษฐบุตร, วันการเมือง, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2555), หน้า 54.

พรรคเสรีมนังคศิลา,สืบค้นจาก , file:///C:/Users/Nok/Downloads/file_61783a6967b92b6b8280dae71782d08d%20(1).pdf  เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.

พุฒ บูรณสมภพ, ชัยชนะและความพ่ายแพ้ของบุรุษเหล็กแห่งเอเซีย, (กรุงเทพ : ศิลปะสนองการพิมพ์, ม.ป.ป.),

พีระพงษ์ สิทธิอมร,ประวัติศาสตร์การเมืองไทย, (กรุงเทพฯ : ซีแอนด์เอ็น, 2549), หน้า  83.

บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย พ.ศ.2475-2500, สืบค้นจาก http://kpi2.kpi.ac.th/wiki/index.php/บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย_พ.ศ.2475-2500  เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.

ประทีป สายเสน, กบฎวังหลวงกับสถานะของปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ : บริษัทฐานการพิมพ์ จำกัด, 2551 พิมพ์ครั้งที่ 2), หน้า 122.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491 - 2500) พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2553) หน้า 256.

เสถียร จันทิมาธร,เส้นทางสู่อำนาจพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ, (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มติชน, 2548).หน้า 31.

เหตุการณ์สังหาร 4 อดีตรัฐมนตรี, สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=เหตุการณ์สังหาร_4_อดีตรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.

เหตุการณ์การเมืองสามเส้า, สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=เหตุการณ์การเมืองสามเส้า เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.

 

อ้างอิง


[1]เสถียร จันทิมาธร,เส้นทางสู่อำนาจพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ, (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มติชน, 2548).หน้า 31.

[2] พีระพงษ์ สิทธิอมร,ประวัติศาสตร์การเมืองไทย, (กรุงเทพฯ : ซีแอนด์เอ็น, 2549), หน้า  83.

[3] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ,ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ.2475-2500, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2559 พิมพ์ครั้งที่ 6), หน้า 384.

[4] พีระพงษ์ สิทธิอมร,หน้า 87.

[5] พีระพงษ์ สิทธิอมร,หน้า 87.

[6]  ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, หน้า 486.

[7] พุฒ บูรณสมภพ, ชัยชนะและความพ่ายแพ้ของบุรุษเหล็กแห่งเอเซีย, (กรุงเทพ : ศิลปะสนองการพิมพ์, ม.ป.ป.),

[8] ความเป็นมาของ แหวนอัศวิน, สืบค้นจาก http://saranitet.police.go.th/museum/wp-content/uploads/show/qrbg2_point6/ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2559.

[9] ประทีป สายเสน, กบฎวังหลวงกับสถานะของปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ : บริษัทฐานการพิมพ์ จำกัด, 2551 พิมพ์ครั้งที่ 2), หน้า 122.

[10] นรนิติ เศรษฐบุตร, วันการเมือง, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2555), หน้า 54.

[11] ประทีป สายเสน, หน้า 85.

[12] เหตุการณ์สังหาร 4 อดีตรัฐมนตรี, สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=เหตุการณ์สังหาร_4_อดีตรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.

[13] เสถียร จันทิมาธร, หน้า 93.

[14] กบฏแมนฮัตตัน,สืบค้นจาก , http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=กบฎแมนฮัตตัน เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.

[15] พีระพงษ์ สิทธิอมร,หน้า 101.

[16] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ', แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491 - 2500) พิมพ์ครั้งที่ '3, (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2553) หน้า 256.

[17] เหตุการณ์การเมืองสามเส้า, สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=เหตุการณ์การเมืองสามเส้า เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.

[18] บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย พ.ศ.2475-2500, สืบค้นจาก http://kpi2.kpi.ac.th/wiki/index.php/บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย_พ.ศ.2475-2500  เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.

[19] พรรคเสรีมนังคศิลา,สืบค้นจาก , [file:///C:\Users\Nok\Downloads\file_61783a6967b92b6b8280dae71782d08d%20(1).pdf file:///C:/Users/Nok/Downloads/file_61783a6967b92b6b8280dae71782d08d%20(1).pdf]  เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.

[20] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, หน้า 504.

[21] พุฒ บูรณสมภพ,หน้า 375.

[22] พุฒ บูรณสมภพ,หน้า 415.