ทหาร ขำหิรัญ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ทหาร ขำหิรัญ : อดีตผู้บังคับการกรมนาวิกโยธิน

          ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 ได้เกิดเหตุการณ์ระทึกใจขึ้นกลางพระนคร ที่บริเวณท่าราชวรดิษฐ โดยมีทหารเรือกลุ่มหนึ่ง มี น.ต.มนัส จารุภา เป็นผู้นำ ถืออาวุธร้ายแรงอยู่ในมือ จู่โจมเข้าจี้จับตัวนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่เป็นประธานในพิธีรับมอบเรือขุดชื่อแมนแฮตตัน จากอุปทูตอเมริกัน และนำตัวไปลงเรือเปิดหัวของกองทัพเรือไปควบคุมตัวไว้บนเรือรบหลวงศรีอยุธยา และประกาศยึดอำนาจให้รัฐบาลยอมจำนน แต่การก่อการที่ว่านี้ล้มเหลว เพราะผู้บัญชาการทหารเรือ หลวงสินธุสงครามชัย ไม่ได้ให้การสนับสนุน เหตุการณ์ครั้งนั้นมีคนตั้งคำถามว่ามีนายทหารเรือผู้ใหญ่เข้าร่วมด้วยหรือไม่ มาเมื่อไม่กี่วันมานี่เองมีคำบอกเล่าของบุตรีหลวงพิบูลสงคราม กล่าวถึงนายทหารเรือคนสำคัญว่าการจี้จับตัวหลวงพิบูลสงคราม

          “...นั้นเป็นฝีมือวางแผนของพลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ อดีตผู้บังคับการกรมนาวิกโยธิน...”
          ที่จริงพลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ท่านพ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยนาวิกโยธิน ไปตั้งแต่ปี 2492 หลังเหตุการณ์กบฏวังหลวงแล้ว เราลองมารู้จักชีวิตและงานทั้งด้านทหารและการเมืองของพลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ กันดูบ้าง เพราะหลังจากออกจากกองทัพเรือแล้วท่านได้เข้าเล่นการเมืองลงสนามเลือกตั้งและเข้าพรรคการเมืองอย่างพรรคประชาธิปัตย์

          ทหาร ขำหิรัญ เป็นคนเมืองธนบุรี เกิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2444 มีชื่อเดิมว่าทองหล่อ มีบิดาชื่อ ถมยา และมารดาชื่อ หลุย โดยมีบ้านอยู่ที่หมู่บ้านช่างทอง หน้าวัดศรีสุดาราม ดังนั้นการศึกษาในวัยเด็กจึงเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้านคือ โรงเรียนวัดศรีสุดาราม จากนั้นได้ไปเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนมัธยมวัดภาวนาภิตาราม จนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 แล้วจึงได้ไปเข้าเรียนที่โรงเรียนนายเรือ เจ้าตัวเคยเขียนเล่าว่า

“ เวลานั้นเพิ่งจะเริ่มใช้นามสกุลกัน และทางโรงเรียนนายเรือบังคับให้ใช้ชื่อสกุล ข้าพเจ้าก็ถือสกุล สุวรรณชีพ ของคุณหลวง(คือหลวงสังวรณ์ยุทธกิจ-ผู้เขียน)เรื่อย จนกระทั่งได้รับสัญญาบัตรยศนายเรือตรี เพิ่งมาเปลี่ยนนามสกุลภายหลัง ตามที่บิดาของข้าพเจ้าไปขอจดทะเบียนมา ”

          เมื่อเรียนจบแล้วจึงได้เข้ารับราชการเป็นนายทหารเรือ ส่วนชีวิตสมรสนั้นท่านได้แต่งงานกับคุณ แฉล้ม สุวรรณชีพ ในปี 2475 ขณะที่มียศนายเรือโท ท่านได้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินด้วย โดยอยู่ในสายทหารเรือที่มีหลวงสินธุสงครามชัยเป็นหัวหน้า แต่คนที่มาชวน นายเรือโท ทองหล่อ ขำหิรัญ เข้าร่วมงานใหญ่ครั้งนั้นคือ หลวงสังวรณ์ยุทธกิจ นายทหารเรือซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ที่มีศักดิ์เป็น “ น้า ” และในการร่วมงานยึดอำนาจซ้ำในวันที่ 20 มิถุนายน ปี 2476 ที่ฝ่ายทหารเรือมีนายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัยเป็นผู้นำร่วมกับฝ่ายทหารบกที่มีนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา กับนายพันตรีหลวงพิบูลสงครามเป็นผู้นำ ล้มรัฐบาลของ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และจัดให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรดังเดิม ครั้งนั้นท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 พร้อมกันกับหลวงสังวรณ์ฯด้วย และต่อมาเมื่อเกิดมีกรณีกบฏบวรเดช ในเดือนตุลาคม ปี 2476 ที่มีการยกกำลังทหารหัวเมืองเข้ามาเพื่อจะล้อมบีบให้รัฐบาลของพระยาพหลฯยอมจำนนนั้น นายเรือโท ทองหล่อ ก็อยู่ฝ่ายรัฐบาลตลอดเวลา จนกระทั่งรัฐบาลปราบกบฏได้

          ท่านมีความเจริญต่อมาในกองทัพเรือ ในปี 2482 สมัยที่หลวงพิบูลสงครามขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และมีหลวงสินธุสงครามชัยเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ นายนาวาเอก ทองหล่อ ขำหิรัญ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการกรมนาวิกโยธินของกองทัพเรือเป็นคนแรก ดังนั้นทหารเรือที่กรมนาวิกโยธินจึงรักและเคารพท่านมาก และในสมัยหลวงพิบูลฯเป็นนายกรัฐมนตรีนี่เองที่ท่านเปลี่ยนชื่อจากทองหล่อ มาเป็นทหาร เพื่อให้สมกับอาชีพ ครั้นสิ้นสมัยนายกฯหลวงพิบูลฯในปี 2487 นายควง อภัยวงศ์ ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลชุดใหม่นี้ นาวาเอก ทหาร ขำหิรัญ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีลอย ในคณะรัฐบาลที่มีนายทหารเรือเข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีอยู่ถึง 5 คน รัฐบาลของนายควง ชุดนี้อยู่ได้ประมาณ 1 ปี จึงได้ลาออกหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม ปี 2488 นาวาเอก ทหาร จึงพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีไปด้วย

          ทหาร ขำหิรัญ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว แต่ก็ยังมีตำแหน่งสำคัญประจำอยู่ที่กองทัพเรือ แต่เมื่อเกิดกรณีกบฏวังหลวงที่มีนาย ปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าและมีทหารเรือส่วนหนึ่งเข้าร่วมด้วยนั้น พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ได้ถูกรัฐบาลเพ่งเล็งว่าเข้าข้างกบฏ เพราะมีข่าวว่าท่านนำกำลังทหารเรือจากที่สัตหีบจะเข้ามาร่วมล้มรัฐบาล แต่ติดขัดอยู่ที่บางปะกง เวลาผ่านมาอีก 2 ปี ในเดือนมิถุนายน ปี 2494 ทหารเรือกลุ่มหนึ่งที่นำโดย นาวาตรี มนัส จารุภา ได้จี้จับตัวนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นำไปคุมตัวไว้บนเรือรบหลวงศรีอยุธยา และประกาศให้รัฐบาลลาออก ทำให้เกิดการสู้รบกันระหว่างทหารบกฝ่ายรัฐบาลกับกองกำลังทหารเรือบางส่วน ท้ายที่สุดรัฐบาลเป็นฝ่ายชนะ รัฐบาลจึงได้เล่นงานทหารเรืออย่างหนัก นายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ ตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ถูกจับกุมดำเนินคดีหลายคนบางคนก็ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ
          พลเรือตรี ทหาร ต้องพ้นหน้าที่จากกองทัพเรือ แต่เมื่อหลวงพิบูลถูกลูกน้องตัวเองยึดอำนาจ และมีการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม ปี 2500 ทหาร ขำหิรัญ ก็ลงสนามเลือกตั้งและชนะได้เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรี สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากนั้นขณะที่ยังไม่มีการเลือกตั้งผู้แทนฯ ท่านยังเคยได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาเทศบาลธนบุรีในปี 2511 ครั้นมีการเลือกตั้งผู้แทนฯท่านก็ยังได้เป็นผู้แทนฯจังหวัดธนบุรีในปี 2512 และผู้แทนฯเขต 8 ฝั่งธนบุรี ในการเลือกตั้งปี 2518 ด้วย โดยสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ทุกครั้ง

          พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ มีชีวิตอยู่ดูการเมืองต่อมา จนถึงวันที่ 11 กันยายน ปี 2524 จึงถึงแก่อนิจกรรม