ทองเปลว ชลภูมิ
ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ดร.ทองเปลว ชลภูมิ : รัฐมนตรีผู้ถูกยิงทิ้ง
ดร.ทองเปลว ชลภูมิ เป็นนักการเมือง หรืออดีตรัฐมนตรีหนึ่งในสี่คนที่ถูกฆ่าทิ้ง เพราะเหตุทางการเมือง เมื่อนานกว่า 60 ปีที่ผ่านมา ที่ชานกรุงเทพมหานคร อันเป็นเมืองหลวงของประเทศนี่เอง แต่วันโน้นชานเมืองหรือเส้นทางถนนพหลโยธิน ที่เลยจากสามแยก(สมัยนั้น)มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังเป็นถนนสายเล็กๆและเปลี่ยว ไม่ค่อยจะมีผู้คนสัญจรไปมามากหรือรถติดเหมือนเช่นทุกวันนี้ เราลองมารู้จักชีวิตนักการเมืองผู้โชคร้ายท่านนี้กันดูบ้าง
บ้านเกิดของ นายทองเปลว ชลภูมิ อยู่ที่ภาคกลางนี่เอง ท่านเกิดที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2455 ในครอบครัวของพ่อแม่ที่มีอาชีพค้าขาย ซึ่งอาจต้องเดินทางไปมาค้าขายอยู่หลายจังหวัด จึงเห็นได้ว่าการเข้าโรงเรียนของนายทองเปลว ได้ย้ายไปเรียนอยู่หลายจังหวัด โดยเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนประจำจังหวัดอ่างทอง และย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนที่จะเข้ามาเรียนชั้นมัธยมศึกษาในกรุงเทพฯที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ จนจบการศึกษาในปี 2472 แล้วจึงเข้าทำงาน ต่อมาได้เข้าศึกษาวิชากฎหมาย ที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม และได้เป็นลูกศิษย์ของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ นายทองเปลวได้เป็นศิษย์ที่ศึกษาและเรียนรู้อย่างใกล้ชิดกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ จึงถูกชวนให้ร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ.2475 ของคณะราษฎรในสายพลเรือน ซึ่งในเวลานั้นนายทองเปลว ยังไม่จบการศึกษาวิชากฎหมาย ท่านไปจบการศึกษาตอนที่โรงเรียนกฎหมายได้ย้ายไปอยู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาจบแล้วได้มีโอกาสมาช่วยงานที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่มีอาจารย์ของตนคือนายปรีดี พนมยงค์ ทำหน้าที่เลขาธิการอยู่ ทำงานช่วยอาจารย์ที่รัฐสภาอยู่ประมาณ 2 ปี ในปี 2479 ท่านได้รับทุนไปศึกษาต่อวิชากฎหมายที่ฝรั่งเศส จบการศึกษาได้ปริญญาเอกจากฝรั่งเศสกลับไทยในปี พ.ศ.2484 จึงได้แต่งงานกับคุณนิ่มนวล ครั้นถึงเดือนสิงหาคม ปีเดียวกันนี้ ในสมัยที่ พระยามานวราชเสวี เป็นประธานสภาฯ และหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการโอน ดร.ทองเปลว ให้รักษาการตำแหน่งเลขาธิการสภา รักษาการอยู่ประมาณสามเดือน ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2484 ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการสภา ตอนที่รับราชการอยู่นี้ ดร.ทองเปลวก็ได้ไปเป็นผู้บรรยายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีผู้เล่าว่าท่านเป็นคนเข้มงวดให้คะแนนยากคนหนึ่ง สมัยนั้นมหาวิทยาลัยยังมีอาจารย์ประจำเพียงไม่กี่คน หลังเหตุการณ์วันญี่ปุ่นบุกไทย 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 และรัฐบาลของหลวงพิบูลฯยอมให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย ทั้งต่อมารัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร จึงมีคนไทยรวมตัวกันตั้งกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่น ที่ต่อมาเป็นขบวนการเสรีไทย ที่นำโดย นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการฯ ตอนนั้นการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ที่สมาชิกได้รับการต่ออายุมาโดยไม่มีการเลือกตั้ง เพราะภาวะสงครามตามความในรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขใหม่ การชิงไหวชิงพริบทางการเมืองในสภาฯ เพื่อบีบให้หลวงพิบูลฯพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนนรีจึงเกิดขึ้น และดร.ทองเปลว ในตำแหน่งเลขาธิการสภา ได้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการในรัฐสภา จนเมื่อมีการเลือกประธานสภาและรองประธานสภากันใหม่ สภาผู้แทนฯจึงมีมติเลือกนายทวี บุณยเกตุ และนายควง อภัยวงศ์ เป็นประธานและรองประธานสภาฯตามลำดับ ทั้งๆที่ในเวลานั้นบุคคลทั้งสองมีเรื่องขัดใจกับหลวงพิบูลฯจนได้ขอลาออกจากรัฐบาลมาแล้ว หลวงพิบูลฯในฐานะนายกรัฐมนตรีไม่ยอมเสนอแต่งตั้ง แต่กลับส่งเรื่องให้สภาฯเลือกคนใหม่ และด้วยเหตุนี้หลวงพิบูลฯซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็ใช้คำสั่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดปลด ดร.ทองเปลว ออกจากเลขาธิการสภาในวันที่ 30 มิถุนายน พ. ศ.2486
ดร.ทองเปลว จึงหมดบทบาททางการเมืองไปและต้องระมัดระวังตัว จนกระทั่งหลังเดือนกรกฎาคม ปี2487 เมื่อรัฐบาลของหลวงพิบูลฯแพ้มติเกี่ยวกับร่างกฎหมายในสภา 2 ครั้งติดกันจึงต้องยอมลาออก และนายควง เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ดร.ทองเปลว จึงกลับเข้ามาในวงการเมืองอีก ครั้นมีการเลือกตั้งซ่อมในพระนคร เนื่องจากขุนสมาหารหิตะคดีถึงแก่กรรมตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม ปี 2488 ดร.ทองเปลวจึงลงสมัครเข้ารับเลือกตั้ง แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ผู้ที่ชนะเลือกตั้งในวันที่ 16 มิถุนายน ปีนั้นคือนายโชติ คุ้มพันธ์ ครั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ยุบสภาในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2488 ดร.ทองเปลวได้มีบทบาททางการเมืองในการตั้งพรรคแนวรัฐธรรมนูญ โดยรวมพวกคณะราษฎรบางส่วนกับสมาชิกประเภทที่ 2 ของสภาเพื่อสนับสนุนกลุ่มนายปรีดี ทั้งนี้มีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นหัวหน้าพรรค แต่ตัวท่านเองก็ยังไม่ได้ลงเลือกตั้ง ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2489 ท่านมาลงเลือกตั้งในการเลือกตั้งเพิ่มเติมวันที่ 5 สิงหาคม ปี 2489 ที่จังหวัดปราจีนบุรี และก็ได้เป็นผู้แทนฯสมใจ รวมทั้งได้เป็นรัฐมนตรี(ลอย) ในรัฐบาลหลวงธำรงฯ ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม ปี 2489 ถึง 30 พฤษภาคม ปี 2490 วันที่เขายึดอำนาจล้มรัฐบาล เมื่อ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 ดร.ทองเปลวจึงไม่ได้อยู่ในรัฐบาลแต่ก็ถูกจับตัวในข้อหาทุจริต แต่ไม่นานทางตำรวจก็ปล่อยตัว และมาถูกจับอีกครั้งเมื่อทางการจับผู้ต้องหาคดีกบฏเสนาธิการ ครั้งนี้ถูกคุมขังอยู่นาน 2 เดือน เมื่อได้รับการปล่อยตัวจึงเดินทางไปลี้ภัยอยู่ที่ปีนัง ใน มาเลเซีย หลังเหตุการณ์ที่เรียกกันว่ากบฎวังหลวง ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ท่านถูกทางรัฐบาลลวงให้เดินทางกลับ และส่งตำรวจไปจับตัวที่สนามบินดอนเมืองมาคุมขังตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ปีเดียวกัน อีกสามวันต่อมาท่านก็ถูกตำรวจนำตัวย้ายที่คุมขังในยามวิกาล และท่านถูกยิงเสียชีวิตพร้อมกับเพื่อนอดีตรัฐมนตรีอีก 3 คนที่ริมถนนพหลโยธินเลยสามแยกเกษตรไปไม่มาก