ผลต่างระหว่างรุ่นของ "การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 7 วันที่ 5 มิถุนายน 2492"
ลไม่มีความย่อการแก้ไข |
ล การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 7 วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2492 ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น [[กา... |
(ไม่แตกต่าง)
|
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:59, 28 กรกฎาคม 2554
ผู้เรียบเรียง ชาย ไชยชิต
รายนามผู้ทรงคุณวุฒิ รองศาสตราจารย์ นรนิติ เศรษฐบุตร รองศาสตราจารย์ ดร. นิยม รัฐอมฤต และ ศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ เครืองาม
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 7 วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2492
การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มเติมตามจำนวนพลเมืองตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 เป็นการเลือกตั้งทางตรง โดยวิธีรวมเขตเรียงเบอร์ โดยถือเอาจังหวัดหนึ่งเป็นเขตเลือกตั้งหนึ่ง จำนวนผู้แทนราษฎรในแต่ละจังหวัดคิดคำนวณโดยถือจำนวนประชาชน 150,000 คนต่อผู้แทนราษฎร 1 คน เนื่องจากการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มเติม จึงมีการจัดการเลือกตั้งเฉพาะใน 19 จังหวัด ทำให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นมาอีก 21 คน จากที่มีอยู่เดิม 99 คน ผลการเลือกตั้งพบว่า จากจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด 3,518,276 คน มีผู้มาใช้สิทธิทั้งสิ้น 870,208 คน คิดเป็นร้อยละ 24.27 จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดคือ จังหวัดสกลนคร คิดเป็นร้อยละ 45.12 และจังหวัดอุดรธานีมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุดคือร้อยละ 12.02
การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 ซึ่งกำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีระบบสองสภา คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มเติมจำนวน 21 คน จากการเลือกตั้งใน 19 จังหวัดในครั้งนี้ เป็นผลให้พรรคประชาธิปัตย์มีเสียงในสภามากที่สุด คือ ประมาณ 40 ที่นั่ง รองลงมาคือ พรรคประชาชนของนายเลียง ไชยกาล มี 31 ที่นั่ง นอกนั้นเป็นพรรคอิสระ 14 ที่นั่ง พรรคธรรมาธิปัตย์ 12 ที่นั่ง และไม่สังกัดพรรคอีก 24 ที่นั่ง ซึ่งการมีเสียงข้างมาในสภาผู้แทนราษฎรมีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลค่อนข้างมาก เนื่องจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการลงมติแสดงความไว้วางใจต่อรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว โดยที่วุฒิสภาไม่มีอำนาจเช่นนั้น
ด้วยเหตุนี้ การจัดตั้งรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายหลังการเลือกตั้ง จึงมีการเคลื่อนไหวในการรวมกลุ่มของพรรคการเมืองที่สนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม และการพยายามดึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคอื่น ๆ ให้เข้ามาสนับสนุนรัฐบาล โดยเฉพาะการจัดสรรโควต้าตำแหน่งรัฐมนตรีให้กับพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ให้การสนับสนุนตน การระดมพลังสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่สนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงครามเข้าด้วยกันนี้ ก่อให้เกิดการแนวร่วมพรรคการเมืองที่ชื่อว่า “สหพรรค” ขึ้นในสภาผู้แทนราษฎร ความพยายามดังกล่าวส่งผลให้การจัดตั้งรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 63 ต่อ 31 เสียง หลังจากที่ใช้เวลาในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเป็นเวลาถึง 11 วัน ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่คัดค้านรัฐบาลก็คือฝ่ายสมาชิกที่สังกัดพรรคประชาธิปัตย์เป็นหลัก
ที่มา
บุญทัน ดอกไธสง, การเปลี่ยนแปลงทางการบริหารและการเมืองไทย, กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2522
ฝ่ายพัฒนาการเมืองและการปกครอง สำนักนโยบายและแผนมหาดไทย, อนุสารการเมือง, มีนาคม 2522
โคทม อารียา, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่องที่ 5 ระบบการเลือกตั้ง, กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2544
ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, กำเนิดพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2510
สุจิต บุญบงการ, การพัฒนาการเมืองของไทย: ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหาร สถาบันทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531