ผลต่างระหว่างรุ่นของ "วิลาศ โอสถานนท์"
สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''' ศรันยา สีมา ---- '''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำ..." |
ล Apirom ย้ายหน้า วิลาศ โอสถานนท์ (ศรันยา สีมา) ไปยัง วิลาศ โอสถานนท์ โดยไม่สร้างหน้าเปลี่ยนทา... |
||
(ไม่แสดง 1 รุ่นระหว่างกลางโดยผู้ใช้ 1 คน) | |||
บรรทัดที่ 126: | บรรทัดที่ 126: | ||
*[[คณะราษฎร|คณะราษฎร]] | *[[คณะราษฎร|คณะราษฎร]] | ||
[[Category:ประธานรัฐสภา]] [[Category:ศรันยา สีมา]] | |||
[[Category:ประธานรัฐสภา]] |
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 20:59, 6 พฤษภาคม 2563
ผู้เรียบเรียง ศรันยา สีมา
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ เป็นบุคคลที่มีความสำคัญบุคคลหนึ่งของประเทศไทย เป็นผู้มีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลายเหตุการณ์ ทั้งเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยต่อต้านการรุกรานของประเทศญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลอดจนได้รับตำแหน่งสำคัญทางการเมืองหลายตำแหน่ง จนกระทั่งได้ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองเป็นประธานรัฐสภา
ประวัติส่วนตัว[1]
พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2443 ณ บ้านริมคลองโอ่งอ่าง สำราญราษฎร์ เป็นบุตรคนโตของพระยาประชากิจกรจักร (ชุบ โอสถานนท์) และคุณหญิงนิล ชื่อ “วิลาศ” นั้นได้รับประทานนามจากสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ แปลว่า ฝรั่งอังกฤษ เนื่องจากพระยาประชากิจกรจักร (ชุบ โอสถานนท์) เป็นนักเรียนอังกฤษก็เลยตั้งชื่อลูกเป็นลูกอังกฤษ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 9 คน คือ พันตรี วิลาศ โอสถานนท์, นางระยับ สุพล (สมรสกับนายอารีย์ สุพล), เด็กชายศิริ โอสถานนท์, ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชัชวาล โอสถานนท์, นายปชา โอสถานนท์, นายทวีลาภ โอสถานนท์, นางชำนัญ สุขุม (สมรสกับนายประวัติ สุขุม), นายชาลี โอสถานนท์, นางอินทิรา นาคะเสถียร (สมรสกับ พลตำรวจโท สุรพงษ์ นาคะเสถียร) และพี่น้องต่างมารดา 2 คน คือ นายเจริญลาภ โอสถานนท์, นางนงนุช ศรีไชยยันต์ (สมรสกับนายสุคนธ์ศักดิ์ ศรีไชยยันต์)พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ สมรสกับ คุณหญิง อมร สีบุญเรือง มีบุตร 2 คน คือ นายวิระ โอสถานนท์ และ นายอภิลาศ โอสถานนท์ ต่อมาได้สมรสกับ นางบุญเรือน โอสถานนท์ มีบุตรธิดา 2 คน คือ นายประสาน โอสถานนท์ และนางกาญจนา สิงหเสนี (สมรสกับ นายเชื้อสิงห์ สิงหเสนี)
ประวัติการศึกษา[2]
พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ เริ่มศึกษาที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงตั้งแต่ พ.ศ. 2453 เป็นเวลา 9 ปี จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 ต่อมารับการศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานทุนสำหรับกรมชลประทาน และได้เปลี่ยนเป็นทุนพระราชทานสำหรับกระทรวงเกษตราธิการ จนสำเร็จการศึกษาเทียบเท่าปริญญาตรี (B.D.F.A.) จาก City & Guild Engineering College School of University of London ทางวิศวกรรมและทางด้านเกษตรกรรมจาก Sylhale Agricultural College, Devenshire อุปสมบท ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ได้รับฉายาว่า “วิลาโส” พระอุปัชฌาย์ คือ สมเด็จพระวันรัตน์ (ปลด) ซึ่งต่อมาดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช และเจ้าคุณกิตติวงศ์เวที ซึ่งต่อมาดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เป็นพระพี่เลี้ยง
ประวัติการทำงาน[3]
พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ เริ่มรับราชการในปี 2472 และมีความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ราชการตามลำดับดังนี้
16 ตุลาคม 2472 ผู้ช่วยเจ้าพนักงานนา กรมเกษตร
1 เมษายน 2474 ผู้จัดการนาทดลองคลองรังสิต
24 มิถุนายน 2475 ร่วมในคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
1 ธันวาคม 2475 สารวัตร ชั้น 1 กรมสหกรณ์
1 ตุลาคม 2476 เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงธรรมการ
16 มีนาคม 2478 เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ
1 มิถุนายน 2478 ข้าหลวงพาณิชย์ต่างประเทศคนแรกของกระทรวงเศรษฐการประจำประเทศจีน โดยมีสำนักงานอยู่ที่ฮ่องกง
1 มกราคม 2482 หัวหน้าสำนักงานโฆษณาการ
4 พฤษภาคม 2482 รัฐมนตรี อธิบดีกรมโฆษณาการคนแรก
20 สิงหาคม 2484 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
24 พฤษภาคม 2489 รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกพฤฒสภา
4 มิถุนายน 2489 ประธานพฤฒสภาและประธานรัฐสภา
31 สิงหาคม 2489 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
3 กุมภาพันธ์ 2502 สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
1 กันยายน 2508 ประธานสมาชิกสภาจังหวัดชลบุรี
ตำแหน่งหน้าที่พิเศษ
23 พฤษภาคม 2483 กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด
24 มิถุนายน 2483 กรรมการอำนวยการ บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด
8 มีนาคม 2484 ได้รับพระราชทานยศ พันตรี สื่อสารทหารบก
27 เมษายน 2484 ไปราชการพิเศษของกระทรวงกลาโหม เพื่อขอจัดซื้อน้ำมันต่าง ๆ ให้แก่รัฐบาลไทยจากชวา สุมาตรา และสิงคโปร์ และได้รับประกาศนียบัตรสมนาคุณจากกระทรวงกลาโหม
4 มิถุนายน 2490 ผู้พิพากษากลางเมือง
17 มิถุนายน 2490 ประธานกรรมการพิจารณากักควบคุมกิจการหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ
ตลอดจนเป็นผู้ก่อตั้ง ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด, ธนาคารเกษตร จำกัด (ธนาคารกรุงไทย จำกัด ในปัจจุบัน) อีกด้วย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
2482 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก
2484 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย
2504 ตติยจุลจอมเกล้า
บทบาททางการเมือง
ในช่วง พ.ศ. 2475 ได้มีการเตรียมการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาชาธิปไตย โดยคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือ “คณะราษฎร” ซึ่งมีสมาชิกทั้งสิ้นจำนวน 102 นาย แบ่งออกเป็น 3 สาย คือ สายทหารบก 34 นาย มีนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นหัวหน้า สายทหารเรือ 18 นาย มีนายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) เป็นหัวหน้า และสายพลเรือน 50 นาย มี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นหัวหน้า ทั้ง 3 สายตกลงให้พระยาพหลพลพยุหเสนาซึ่งเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุดเป็นหัวหน้าคณะราษฎร[4] พันตรี วิลาส โอสถานนท์ ถูกชักชวนให้เข้าร่วมคณะราษฎรสายพลเรือนภายหลังจากที่เดินทางกลับมาจากประเทศอังกฤษได้ไม่นานโดยเพื่อนรักที่เรียนร่วมกันมา คือ นายทวี บุณยเกตุ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นวันดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ ได้ถูกกำหนดให้ไปปฏิบัติการร่วมกับ นายควง อภัยวงศ์ และ นายประจวบ บุนนาค ในการทำลายสายโทรเลขที่กรมไปรษณีย์โทรเลข เชิงสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า)[5] ภายหลังจากที่คณะราษฎรก่อการได้สำเร็จ ได้มีการกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งขณะนั้นได้ประทับอยู่ที่สวนไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เสด็จกลับพระนครเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไปภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน[6] ในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดให้มีสภาผู้แทนราษฎร โดยกำหนดให้คณะราษฎรซึ่งมีคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจแทนจัดตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้นเป็นจำนวน 70 นาย เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ใช้ธรรมนูญการปกครองฉบับนี้จนกว่าจะถึงเวลาที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสมัยที่ 2 จะเข้ารับตำแหน่ง[7] ซึ่งพันตรี วิลาศ โอสถานนท์ ได้รับการจัดตั้งเป็นผู้แทนราษฎรชั่วคราวในครั้งนี้ด้วย[8] เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ในรัฐสภา[9] และได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี[10] และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม[11] ในคณะรัฐมนตรี ชุดที่ 9 ซึ่งมีนายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
24 พฤษภาคม 2489 พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกพฤฒสภา[12] และได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานรัฐสภาและประธานพฤฒสภา ระหว่างวันที่ 4 มิถุนายน 2489 - 24 สิงหาคม 2489[13] หลังจากพ้นจากตำแหน่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์[14] ในคณะรัฐมนตรี ชุดที่ 17 ซึ่งมี พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีนอกจากนั้นแล้วยังได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในปี พ.ศ. 2502 อีกด้วย[15]
บั้นปลายชีวิต[16]
พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ ได้ใช้ชีวิตช่วงปลายอย่างสุขสงบ ท่ามกลางครอบครัวและบุตรหลาน มีสุขภาพและความทรงจำดีกว่าคนในวัยเดียวกัน แม้ว่าจะเข้ารับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงเป็นครั้งคราว จนกระทั่งเริ่มล้มเจ็บลงด้วยโรคหวัด ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2539 ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมิติเวช เรื่อยมา และถึงแก่อสัญกรรมด้วยระบบหัวใจล้มเหลว ด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2540 สิริอายุได้ 96 ปี 2 เดือน 5 วัน
อ้างอิง
- ↑ วิลาศ โอสถานนท์, “อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ ป.ม., ท.ช., ต.จ.”, (กรุงเทพฯ : ศิริชัยการพิมพ์), 2540, หน้า 20.
- ↑ เรื่องเดียวกัน. หน้า 21.
- ↑ เรื่องเดียวกัน. หน้า 21-22.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, “ประวัติการเมืองไทย 2475-2500”, (กรุงเทพฯ : เรือนแก้ว), 2549,หน้า 47.
- ↑ วิลาศ โอสถานนท์, “อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ ป.ม., ท.ช., ต.จ.”, หน้า 72.
- ↑ นคร พจนวรพงษ์ และอุกฤษ พจนวรพงษ์, “ข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองไทย”, (กรุงเทพฯ : ขวัญนคร), 2549, หน้า 76.
- ↑ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 49, 27 มิถุนายน 2475, หน้า 166-179.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49, 17 กรกฎาคม 2475, หน้า 1338-1342.
- ↑ พระราชกฤษฎีกาตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 พุทธศักราช 2476, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 50, 9 ธันวาคม 2476, หน้า 816-821.
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศการแต่งตั้งและตั้งเพิ่มรัฐมนตรี, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 56, 7 สิงหาคม 2482, หน้า 712-713.
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตราธิการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 58, 23 สิงหาคม 2484, หน้า 1006-1007.
- ↑ รัฐสภา, “67 ปี สมาชิกรัฐสภาไทย พ.ศ. 2475-2542”, (กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร), 2542, หน้า 424.
- ↑ ประกาศตั้งประธานและรองประธานพฤฒสภา, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 63 ตอนที่ 40, 11 มิถุนายน 2489, หน้า 398-399.
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 63 ตอน 56 ก ฉะบับพิเศษ, 26 สิงหาคม 2489, หน้า 3-5.
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 76 ตอน 21 ก ฉบับพิเศษ, 3 กุมภาพันธ์ 2502, หน้า 1-14.
- ↑ วิลาศ โอสถานนท์, “อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ ป.ม., ท.ช., ต.จ.”, หน้า 23.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
1. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย 2475-2500. (กรุงเทพฯ : เรือนแก้ว). 2549.
2. นคร พจนวรพงษ์ และอุกฤษ พจนวรพงษ์. ข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองไทย. (กรุงเทพฯ : ขวัญนคร), 2549.
3. รัฐสภา. 67 ปี สมาชิกรัฐสภาไทย พ.ศ. 2475-2542. (กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร), 2542,
4. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. เสรีไทย : ประมวลเหตุการณ์และบุคคลที่เกี่ยวข้องในขบวนการเสรีไทย ระหว่าง พ.ศ. 2484-2488. (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์). 2538.
5. วิลาศ โอสถานนท์. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ ป.ม., ท.ช., ต.จ.. (กรุงเทพฯ : ศิริชัยการพิมพ์), 2540.
บรรณานุกรม
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย 2475-2500. (กรุงเทพฯ : เรือนแก้ว), 2549.
นคร พจนวรพงษ์ และอุกฤษ พจนวรพงษ์. ข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองไทย. (กรุงเทพฯ : ขวัญนคร), 2549.
วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. เสรีไทย : ประมวลเหตุการณ์และบุคคลที่เกี่ยวข้องในขบวนการเสรีไทย ระหว่าง พ.ศ. 2484-2488. (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์). 2538.
วิลาศ โอสถานนท์. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ ป.ม., ท.ช., ต.จ.. (กรุงเทพฯ : ศิริชัยการพิมพ์), 2540.