High Level Task Force

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง พัชร์ นิยมศิลป


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ ดร. ไชยวัฒน์ ค้ำชู


หน้าที่ของคณะทำงานระดับสูง (HLTF)

High Level Task Force (HLTF) หรือ คณะทำงานระดับสูง เกิดจากการรวมตัวของหัวหน้าผู้แทนของแต่ละประเทศสมาชิกทั้งสิบประเทศ ที่ถูกจัดตั้งเพื่อทำหน้าที่ในการยกร่างกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) เพื่อขับเคลื่อนเหล่าประเทศสมาชิกอาเซียน อันก่อให้เกิดให้เกิดผลสัมฤทธิ์ สูงสุดทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และ คุณภาพชีวิต โดยทางคณะทำงานระดับสูงจะกำหนดขอบเขตข้อมูลจากปฏิญญาของผู้นำแต่ละประเทศ ข้อมูลจากรัฐมนตรี รายงานและฉบับร่างกฎบัตรอาเซียนของคณะผู้ทรงคุณวุฒิ (ASEAN Eminent Persons Group: EPG) และนำข้อมูลเหล่านี้มายกร่างเป็นกฎบัตรอาเซียนให้แล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลาหนึ่งปีตามที่ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้ตกลงกันไว้ใน ค.ศ. 2007 ที่ประเทศสิงคโปร์

จุดมุ่งหมายของคณะทำงานระดับสูง (HLTF)

คณะทำงานระดับสูงนั้น นอกจากจะมีหน้าที่ในการยกร่างกฎบัตรอาเซียนแล้ว ยังมีจุดมุ่งหมายในการคัดเลือกสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งสิบประเทศมาบรรจุในกฎบัตรอาเซียน โดยเฉพาะด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) โดยทางคณะทำงานระดับสูง(HLTF) ได้กำหนดเป้าหมายสามข้อหลัก ในแผนงานการจัดทำ AEC เพื่อการขนส่งสินค้า บริการ และการลงทุน ไว้ ได้แก่ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจตามวิสัยทัศน์ของอาเซียนให้สำเร็จภายในปีค.ศ. 2015 เกิดตลาดเดียว และ การผลิตพื้นฐาน มีความสะดวกในการขนส่งสินค้า บริการ การลงทุน แรงงาน ภายในปีค.ศ.2015 มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ก้าวหน้าอย่างเด่นชัดภายในระยะเวลาที่เหมาะสม ก่อให้เกิดการเริ่มต้น และกระตุ้นให้เกิดสิ่งใหม่ๆต่อประชาคมเศรษฐกิจ

สมาชิกของคณะทำงานระดับสูง

ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่11ซึ่งถูกจัดขึ้นที่เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียนั้น ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการจัดทำกฎบัตรอาเซียนขึ้น ในปฏิญญาดังกล่าวได้มีการมอบหมายให้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนแต่งตั้ง คณะทำงานระดับสูงขึ้น เพื่อดำเนินการร่างกฎบัตรอาเซียนให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้คณะทำงานระดับสูงประกอบไปด้วยผู้แทนเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญจาก แต่ละประเทศสมาชิกจำนวน 1 คนพร้อมทั้งผู้ช่วยอีกจำนวนไม่เกิน 4 คน โดยวิธีการสรรหาคณะทำงานระดับสูงนั้น จะใช้วิธีสรรหาจากข้าราชการที่อาวุโสผู้ซึ่งมีความคุ้นเคยกับประวัติศาสตร์ของชาติอาเซียน และมีวิสัยทัศน์ต่ออนาคตของอาเซียน

ซึ่งรายนามคณะทำงานระดับสูงมีดังต่อไปนี้

Countries Name 1. Brunei Pengiran Dato Paduka Osman Patra

2. Cambodia Dr. Kao Kim Hourn

3. Indonesia Dian Triansyah Djani

4. Laos Bounkeut Sangsomsak

5. Malaysia Tan Sri Ahmad Fuzi Haji Abdul Razak

6. Myanmar Aung Bwa

7. Philippines Rosario Manalo

8. Singapore Tommy Koh

9. Viet Nam Nguyen Trung Thanh

10. Thailand Pradap Pibulsonggram

หน้าที่และผลลัพธ์

หน้าที่ของคณะทำงานระดับสูง(HLTF) นั้น คือ การรวบรวมข้อมูลต่างๆที่ได้รับจากรัฐบาลของแต่ละประเทศ และ ของคณะผู้ทรงคุณวุฒิ( EPG ) มาวิเคราะห์ แล้วนำมายกร่างเป็นกฎบัตรอาเซียน ดังนั้นทางคณะทำงานระดับสูงซึ่งเป็นตัวแทนจากทั้งสิบประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการประชุม ปรึกษาหารือ เพื่อหาแนวทางที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศสมาชิก โดยการประชุมคณะทำงานระดับสูงนั้นได้จัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศไทยในวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 2003 โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ของไทยเป็นประธาน และเกิดการประชุมอย่างต่อเนื่องอีกสองครั้งภายในปี ค.ศ. 2003 ณ ประเทศมาเลเซีย และ สหภาพเมียนมาร์ ซึ่งการประชุมดังกล่าวนั้นได้มุ่งเน้นถึงการเปิดการค้าเสรี และ มอบหมายหน้าที่ประสานงานด้านธุรกิจให้แก่ทั้งสิบประเทศ ในการนี้ ประเทศไทย รับผิดชอบดูแลด้านการท่องเที่ยว ต่อมาในปี ค.ศ. 2007 ซึ่งเป็นปีที่คณะทำงานระดับสูงมีผลงานสำคัญ กล่าวคือ มีการจัดการประชุมทั้งหมด 13 ครั้ง ภายในระยะเวลาประมาณหนึ่งปี เพื่อที่จะยกร่างกฎบัตรอาเซียนขึ้น และได้มีการลงนามในสัญญาเป็นครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการจัดทำกฎบัตรอาเซียนซึ่งสามารถทำให้เกิดผลบังคับใช้ได้ในปี ค.ศ. 2008

สรุป

คณะทำงานระดับสูงหรือ High Level Task Force คือกลุ่มคณะทำงานที่ถูกจัดตั้งขึ้นจากตัวแทนของสิบประเทศสมาชิกในอาเซียน ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลทั้งจาก ปฏิญญาของแต่ละประเทศ ท่านผู้นำ หน่วยงานคณะผู้ทรงคุณวุฒิ (EPG) และคัดเลือกประเด็นสำคัญต่างๆมาจัดทำวางกรอบกฎหมายและโครงสร้างที่ชัดเจน

ทั้งนี้ข้อเสนอหลักสำคัญจาก คณะผู้ทรงคุณวุฒิ ( EPG) ที่คณะทำงานระดับสูง(HTLF) นำมาไตร่ตรองในการร่างกฎบัตรเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ คือ ทำอย่างไรจะให้กฎบัตรอาเซียนมีหลักการและวัตถุประสงค์ที่ทันสมัย เสริมสร้างความสามัคคีและความสามารถในการปรับตัวในระดับภูมิภาค และประการสำคัญคือ ต้องสนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพซึ่งตั้งอยู่บนหลักประชาธิปไตย หลักธรรมาภิบาล หลักกฎหมาย และเคารพต่อสิทธิมนุษยชน สำหรับประการหลังสุดนี้ คณะทำงานระดับสูงตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนจึงเสนอให้มีองค์กร ASEAN Human Rights Body ขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นอีกก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์อาเซียน เนื่องจากตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรอาเซียนมา ประเทศสมาชิกต่างหลีกเลี่ยงที่จะยกประเด็นเรื่องประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชนขึ้นเนื่องมาตากความแตกต่างของระบอบการปกครอง สังคมวัฒนธรรมและกฎหมาย

เอกสารอ้างอิง

กองเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ.2547.ความเป็นมาและความคืบหน้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN economic community: AEC). http://intra.oie.go.th/pdf/AEC.doc (accessed 29 June 2014)

องค์ความรู้ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน2014.ประเทศอาเซียน 10 ประเทศ.http://www.thai-aec.com/ประเทศอาเซียน-10-ประเทศ (accessed 29 June 2014)

อรณิช รุ่งธิปานนท์. ภูมิภาคนิยมกับอาเซียน. กรุงเทพฯ:สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้เเทนราษฏร.,2557.

Koh,Manalo&Woon.The Making of ASEAN Charter. Singapore:World Scientific Publishing Company.,2009.

The ASEAN Secretariat.2014.Activities of the high level task force on the drafting of the ASEAN charter (HLTF). http://www.asean.org/archive/HLTF-Activities.pdf (accessed 29 June 2014)

The ASEAN Secretariat.2014.Members of the high level task force on the drafting of the ASEAN charter. http://www.asean.org/archive/ACP-HLTFMember.pdf (accessed 29 June 2014)

The ASEAN Secretariat. 2014.Recommendations of the high-level task force on ASEAN economic integration. http://www.asean.org/news/item/recommendations-of-the-high-level- task-force-on-asean-economic-integration (accessed 29 June 2014)

The ASEAN Secretariat.2014. TERMS OF REFERENCE HIGH LEVEL TASK FORCE ON THE DRAFTING OF THE ASEAN CHARTER (HLTF). http://www.asean.org/images/2013/asean/hltf-tor%20of%20asean%20charter.pdf (accessed 11 August 2014)