6 มกราคม พ.ศ. 2489
ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 4 ของประเทศไทย
เดือนมกราคม พ.ศ. 2489 เพิ่งผ่านปีใหม่มาหมาด ๆ และเมืองไทยก็เพิ่งจะมานับเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่มาได้เพียง 3 ปีเท่านั้น วันนั้นเป็นวันเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทั่วราชอาณาจักร จำนวน 96 คน ขณะนั้นยังมีการใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 อยู่ ประชาชนเลือกผู้แทนราษฎรได้เพียงครึ่งเดียวผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือกตั้งมานี้เรียกว่า “ส.ส.ประเภทที่ 1” ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเรียกว่า “ส.ส.ประเภทที่ 2” คือผู้ที่มาจากการแต่งตั้ง
ในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 4 ของประเทศ และการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 3 ที่ประชาชนเลือกผู้แทนได้โดยตรงแต่ก็เป็นแบบแบ่งเป็นเขตเลือกตั้งเล็ก มีผู้แทนเขตละคน จำนวนราษฎรสองแสนคนต่อผู้แทนราษฎรหนึ่งคน ในครั้งนั้นพรรคการเมืองยังไม่ได้เข้ามามีบทบาททางการเมือง แม้จะมีคนหรือนักการเมืองที่อยากจะใช้พรรคการเมืองเป็นตัวช่วยในการดำเนินการทางการเมืองและหาผู้สนับสนุนมาบ้างแล้วก็ตาม
นักการเมืองจะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาก็ได้ แม้ว่าจะยังไม่มีพระราชบัญญัติพรรคการเมืองออกมาใช้ แต่นักการเมืองอีกหลายคนก็ไม่เห็นความสำคัญของพรรคการเมือง
การเลือกตั้งครั้งนี้มีข้อที่น่าสังเกตก็คือมีนักการเมืองสำคัญที่ต่อมาจะมีบทบาทเด่นในวงการเมืองไทยได้ลงสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย คือ นายควง อภัยวงศ์ กับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นักการเมืองทั้งสองท่านนี้ ต่อมาได้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีชื่อเสียง คือนายควง อภัยวงศ์ ได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่นักการเมืองแนวอนุรักษนิยมได้รวมตัวร่วมกันตั้งขึ้นในเดือน เมษายน พ.ศ. 2489 นั่นเอง ส่วน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เล่นการเมืองโดยตั้งพรรคก้าวหน้าและต่อมาได้เขาร่วมในพรรคประชาธิปัตย์ ท้ายที่สุดก็มาเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคมที่ดังมาก หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516
นักการเมืองเรืองนามทั้ง 2 ท่านนี้ได้ลงสมัครเข้ารับเลือกตั้ง ให้ประชาชนตัดสินใจในเขตเลือกตั้งในจังหวัดพระนคร ซึ่งก็คือกรุงเทพฯ ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ไม่รวมจังหวัดธนบุรีนั่นเอง
ที่ว่าท่านทั้ง 2 เป็นนักการเมืองสำคัญก็เพราะนายควง อภัยวงศ์ นั้นก่อนจะลงเลือกตั้งครั้งนี้ก็เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อนแล้วและหลังจากเลือกตั้งก็ยังได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีก สำหรับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นั้นต่อมาหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2518 ท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรี
การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 นี้จะว่าสำคัญมากก็ได้ จะว่าสำคัญไม่มากก็ได้ แล้วแต่จะยกเอาเรื่องมาพูด ที่ว่าไม่สำคัญก็เพราะเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เพียงกึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้นผลการเลือกตั้งทั้งมวลอาจไม่ได้เป็นตัวกำหนดนายกรัฐมนตรีก็ได้
แต่ที่ว่าสำคัญก็เพราะเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นการเลือกตั้งทั่วไปที่ห่างจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 3 ใน พ.ศ. 2481 จึงนับเป็นเวลานานมาก “ทั้งนี้นับว่าเป็นเวลานานเกินควร ย่อมเป็นเหตุให้จิตใจและความคิดเห็นของสมาชิกส่วนมาก เหินห่างจากเจตนารมณ์และความประสงค์อันแท้จริงของราษฎร”
ความที่คัดมาข้างบนนั้นอยู่ในแถลงการณ์ของรัฐบาลตอนที่ยุบสภา ยืดอายุสภา ไม่ได้เลือกตั้งกันมา 8 ปี นาน ๆ ทีมาเลือกตั้งก็ต้องสำคัญ
ที่น่าคิดก็คือในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 วันขึ้นปีใหม่ขณะที่แทบทุกคนจะยุ่งกับการฉลองปีใหม่ ข่าวการเมืองที่ออกมาก็คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 จำนวน 2 คน ได้แก่ นายควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายวิลาศ โอสถานนท์ ได้ลาออกจากตำแหน่งสมาชิก เพื่อสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร
เพียง 5 วัน ก่อนการเลือกตั้ง ทำไม 2 ท่านจึงลาออกมาสมัครโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีคุณควง อภัยวงศ์
ผลการเลือกตั้งคุณควง อภัยวงศ์ ชนะเลือกตั้งได้เป็น ส.ส. แต่คุณวิลาศ โอสถานนท์ ไม่ชนะ มีคนบอกว่าเวลาหาเสียงไม่นานนั้นคนบางคนยังจำได้ถึงวลีที่ว่า “เหล็กวิลาศหรือจะสู้ตะปูควง”
ที่จังหวัดพระนครนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ชนะได้เป็นผู้แทนราษฎร แต่คนพระนครก็เลือก ดร.โชติ คุ้มพันธ์ ที่มีฉายาว่า “ผู้แทนคนยาก” ที่ขี่สามล้อหาเสียงได้เป็นผู้แทนด้วย ส่วนอีกท่านหนึ่งที่ได้เป็นผู้แทนราษฎรคือนายรังสฤษฏ์ เชาวนศิริ ผู้อำนวยการวิทยาลัยมุสลิมคนแรก
การเลือกตั้งครั้งที่ 4 นี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 6,431,827 คน มีผู้มาใช้สิทธิเพียง 2,091,788 คน จังหวัดที่ขึ้นชื่อว่ามีผู้ใช้สิทธิมากที่สุดคือ จังหวัดบุรีรัมย์
หลังเลือกตั้ง แล้วการเมืองแบบที่ยังไม่มีพรรคการเมืองเป็นหลักก็ให้คุณควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาล แต่รัฐบาลที่มีพรรคการเมืองอ่อนแอ หรือรัฐบาลที่ไม่มีพรรคการเมืองหนุนอย่างจริงจังก็ต้องล้มเพราะแพ้มติ ตามครรลองประชาธิปไตยในเวลาประมาณ 6 สัปดาห์เท่านั้นเอง.