3 มีนาคม พ.ศ. 2492
ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2492 เป็นวันที่มีการลอบสังหารผู้ต้องหาซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรี 4 คนบนถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 13 ใกล้สถานีตำรวจนครบาลบางเขน ผู้ตายทั้ง 4 ท่านนี้ ได้แก่ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง และนายทองเปลว ชลภูมิ เวลาที่มีการลอบสังหารเป็นเวลากลางคืน สถานที่เกิดเหตุอยู่ไม่ห่างจากสถานีตำรวจนครบาลบางเขนก็เพราะเป็นจุดหมายปลายทาง ที่ทางการได้สั่งย้ายการคุมขังผู้ต้องหาจาก ที่คุมขังส่วนกลางจะเอาไปฝากขังไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน
ต้นปี พ.ศ. 2492 ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นั้นได้มีเหตุการณ์ทาการเมืองที่สำคัญ เรียกว่า “กบฏวังหลวง” มีกลุ่มบุคคลที่แต่งกายคล้ายทหารเรือได้นำกำลังเข้ายึดกระทรวงการคลังที่ตั้งอยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวังและมีการประกาศปลดจอมพล ป.พิบูลสงคราม ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้ง นายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรีแทน แต่ความพยายามในการยึดอำนาจล้มรัฐบาลครั้งนั้นไม่สำเร็จ รัฐบาลสั่งปราบได้เรียบร้อย หลังจากนั้นก็ได้ส่งตำรวจเข้าจับกุมผู้ที่สงสัยว่าจะร่วมการกบฏด้วยหลายราย อดีตรัฐมนตรี 4 ท่านนี้ถูกจับกุมด้วย โดยเฉพาะ 3 คนแรกนั้นเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจาก ภาคอีสานและเป็นผู้ที่เคยร่วมงานกับขบวนการเสรีไทยมากบ้างน้อยบ้าง เป็นสมาชิกของพรรคสหชีพ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ และรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่ถูกคณะรัฐประหารใช้กำลังทหารเข้ายึดแย่งอำนาจมาก่อน ส่วนนายทองเปลว ชลภูมิ นั้นเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรจากจังหวัดปราจีนบุรี เป็นผู้ที่สนับสนุน นายปรีดี พนมยงค์ และรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์อีกเช่นกัน เจ้าหน้าที่จับกุมตัวมาสอบสวน
การย้ายผู้ต้องหานั้นกระทำในเวลาค่ำ โดยใช้รถยนต์ของกรมตำรวจ มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่คุมไป ระหว่างทางตรงที่เกิดเหตุได้มีกลุ่มคนร้ายที่อ้างกันว่าเป็นโจรจีนมาลายูมาแย่งชิงผู้ต้องหา ทำให้ผู้ต้องหาถูกกระสุนปืนตาย แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่เป็นอันตรายเลย เรื่องนี้เป็นที่สงสัยของผู้คนมาก หากแต่พูดไม่ได้ เพราะผู้มีอำนาจในตอนนั้นมีอำนาจเต็มเมือง
หลังการยึดอำนาจของคณะทหารในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 และได้มีการนำเอาเรื่องนี้มารื้อฟื้นจนดำเนินคดีฟ้องร้องไปถึงศาล ได้ต่อสู้คดีกัน 3 ศาล ถึงศาลฎีกาจึงได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 ให้จำคุกนายพลตำรวจ 2 คนกับสิบตำรวจเอกอีกคนหนึ่งรวม 3 คน ไว้ตลอดชีวิต