36 อรหันต์ทองคำ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ฐิติกร สังข์แก้ว และดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร


ความหมาย

หลังจากที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยให้คงใช้บังคับอยู่เฉพาะหมวด 2 พระมหากษัตริย์ โดยต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งมีบทบัญญัติส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ระบุถึงเป้าหมายในการวางกติกาทางการเมืองให้รัดกุม เหมาะสม ป้องกันและปราบปรามการทุจริต สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นธรรม

คำว่า “36 อรหันต์ทองคำ” เป็นคำที่สื่อมวลชนใช้เรียกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 36 คน ซึ่งมาจากในกระบวนการของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะต้องประกอบไปด้วยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 36 คน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ก่อนส่งต่อให้สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนประกาศใช้บังคับต่อไป

สาระสำคัญตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

“...คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะร่างอย่างไรก็ตาม แต่ต้องคำนึงถึงหลัก 3 ประการ คือ 1. การรับฟังกรอบหรือขอบเขตตามที่สภาปฏิรูปฯ มอบหมาย 2. การต้องบรรจุหลักสำคัญบางเรื่องตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน...”

วิษณุ เครืองาม[1]

ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 35 ได้บัญญัติให้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมเรื่องดังต่อไปนี้[2]

1) การรับรองความเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้

2) การให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เหมาะสมกับสภาพสังคมของไทย

3) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกลไกในการกำกับและควบคุมให้การใช้อำนาจรัฐเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน

4) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด

5) กลไกที่มีประสิทธิภาพที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมือง สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลหรือคณะบุคคลใด ๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

6) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการสร้างเสริมความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม และการสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วนและทุกระดับ

7) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน และป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว

8) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปอย่างคุ้มค่าและตอบสนองต่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนโดยสอดคล้องกับสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ และกลไกการตรวจสอบและเปิดเผยการใช้จ่ายเงินของรัฐที่มีประสิทธิภาพ

9) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมิให้มีการทำลายหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญจะได้วางไว้

10) กลไกที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องสำคัญต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ต่อไป

อีกทั้ง ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าที่ต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่จำเป็นต้องมี ให้พิจารณามาตรการที่จะให้การดำเนินงานขององค์กรดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วย

รายชื่อและประวัติการทำงานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 32 กำหนดให้มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน 36 คน ซึ่งประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่งตั้งจากบุคคลดังต่อไปนี้[3]

1) ประธานกรรมาธิการตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเสนอ

2) ผู้ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอ จำนวน 20 คน

3) ผู้ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติเสนอฝ่ายละ 5 คน

โดยมีรายชื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 36 คน ตามประกาศสภาปฏิรูปแห่งชาติ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้[4]

สัดส่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 6 คน

ไฟล์:คสช.jpg

สัดส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 5 คน

ไฟล์:ครม.jpg

สัดส่วนของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 20 คน

ไฟล์:สปช.jpg

แทนตำแหน่งที่ว่างลงของนางทิชา ณ นคร[5]

ไฟล์:ที่ว่าง.jpg

สัดส่วนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 5 คน

ไฟล์:สนช.jpg

อ้างอิง

  1. วิษณุ เครืองาม, “รัฐธรรมนูญฉบับที่ 19,” เดลินิวส์ออนไลน์, (25 กรกฏาคม 2557), เข้าถึงจาก<http://m.dailynews.co.th/Article.do?contentId=254552>. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2558.
  2. “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนที่ 55 ก (22 กรกฎาคม 2557), หน้า 12.
  3. “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนที่ 55 ก (22 กรกฎาคม 2557), หน้า 11.
  4. “ประกาศสภาปฏิรูปแห่งชาติ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนพิเศษ 222 ง (4 พฤศจิกายน 2557), หน้า 1-2, และดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน “เปิดประวัติ ’36 อรหันต์’ ยกร่างรธน.,” สยามรัฐ, (5 พฤศจิกายน 2557), 2.
  5. "กอบศักดิ์" ฉลุย นั่ง กมธ.ยกร่างฯ," เดลินิวส์ออนไลน์ (3 มีนาคม 2558), เข้าถึงจาก <http://www.dailynews.co.th/Content/politics/304983>. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2558.

บรรณานุกรม

"กอบศักดิ์" ฉลุย นั่ง กมธ.ยกร่างฯ," เดลินิวส์ออนไลน์, (3 มีนาคม 2558), เข้าถึงจาก <http://www.dailynews.co.th/Content/politics/304983>. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2558.

“เปิดประวัติ ’36 อรหันต์’ ยกร่างรธน.,” สยามรัฐ, (5 พฤศจิกายน 2557), 2.

“ประกาศสภาปฏิรูปแห่งชาติ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนพิเศษ 222 ง (4 พฤศจิกายน 2557).

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนที่ 55 ก (22 กรกฎาคม 2557).

“วิษณุ เครืองาม, “รัฐธรรมนูญฉบับที่ 19” เดลินิวส์ออนไลน์, (25 กรกฎาคม 2557), เข้าถึงจาก <http://m.dailynews.co.th/Article.do?contentId=254552>. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2558.

“ออกทุกตำแหน่ง! "ทิชา ณ นคร" ยื่นไขก๊อกสปช.-กมธ.ยกร่างฯ มีผล 1 มี.ค.58 นี้," มติชนออนไลน์, (28 กุมภาพันธ์ 2558), เข้าถึงจาก <http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1425094022>. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2558.