28 มีนาคม พ.ศ. 2481
ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2481 เป็นวันที่สภาผู้แทนราษฎรของไทยที่ใช้ระบบสภาเดี่ยวได้มีมติขับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยกันออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ความเป็นมามีอย่างไรต้องย้อนไปสัก 3 วันคือในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2481 สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมหารือกันเรื่องที่จะกำหนดวันเปิดประชุมสามัญประจำปี ในการหารือวันนั้นผู้เสนอญัตติในเรื่องนี้เป็นผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งในจังหวัดยะลาจากภาคใต้ของประเทศ ชื่อนายแวเละ เบญอานัชร์ และก็ได้มีผู้เสนอในสภาผู้แทนราษฎรว่าให้กำหนดเอาวันที่ 24 มิถุนายน โดยถือว่าเป็นวันสำคัญของประเทศชาติ เพราะเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ
ข้อเสนอที่ว่านี้ฟังดูก็น่าจะดี แต่ในรัฐสภานั้นจะให้มีเสียงเห็นด้วยโดยไม่มีเสียงคัดค้านนั้นเป็นเรื่องยาก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่มีคนไม่เห็นด้วย ผู้ไม่เห็นด้วยเป็น ส.ส.มาจากการเลือกตั้งเหมือนกัน แต่มาจากภาคเหนือ คือจากจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ นายอินทร สิงหเนตร
ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ บันทึกเล่าตอนนี้เอาไว้ว่า
“นายอินทร สิงหเนตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ ได้อภิปรายคัดค้านความว่า การที่ถือเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันสำคัญของชาตินั้นไม่เห็นด้วย เพราะวันนั้นหากผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองทำการไม่สำเร็จก็ต้องเป็น “วันกบฏ” และเสนอความเห็นว่าควรเป็น “วันที่ 27 มิถุนายน” เพราะเป็นวันที่ราษฎรได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญ”
คำพูดของอินทร สิงหเนตร ทำให้มีผู้ไม่พอใจ
“นายซิม วีระไวทยะ สมาชิกประเภทที่ 2 ได้ประท้วงคำกล่าวนั้น และขอให้ผู้กล่าวถอนคำพูดที่ว่า วันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันกบฏเพราะได้มีการนิรโทษกรรมแล้ว นายอินทร สิงหเนตร ได้ยอมถอนคำพูดตามที่มีสมาชิกทักท้วง”
ที่ประชุมก็ตกลงกันได้เรื่องกำหนดวัน โดยให้เริ่มสมัยประชุมในวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งทุกคนที่อยู่นอกสภาก็คิดว่าเรื่องคงจบแค่นี้ที่ไหนได้ อีก 3 วันต่อมา ในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2481 ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และประเภทที่ 2 ที่มาจากการแต่งตั้ง ได้ร่วมกันเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎร ว่าการอภิปรายของอินทร สิงหเนตร เมื่อ 3 วันก่อนนั้นมีเจตนาร้าย มีความมุ่งหมายให้มีการดูหมิ่นเกลียดชังระบอบประชาธิปไตยไม่สมควรเป็นผู้แทนราษฎรในระบอบที่เป็นอยู่ในเวลานั้น โดยมีผลตามที่ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ บันทึกเอาไว้ว่า
“ที่ประชุมลงมติให้นายอินทร สิงหเนตร ออกจากสมาชิกภาพด้วยคะแนน 113 ต่อ 15 ซึ่งเกินกว่าจำนวน 2 ใน 3 ของสมาชิก ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ นายอินทร สิงหเนตร จึงพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”
นายอินทร สิงหเนตร ผู้นี้มีบันทึกว่าเป็นชาวเชียงใหม่ มีพี่น้องอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ หลายคน เคยเป็นนักเรียนโรงเรียนปรินซ์รอยแยลฯ และโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เรียนจบธรรมศาสตรบัณฑิต มีอาชีพเป็นทนายความ สนใจเล่นการเมือง ลงเลือกตั้งมาตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2480 และก็ได้รับเลือกตั้ง มีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ก็ชนะเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2481 แม้เมื่อถูกขับออกจากสมาชิกภาพแล้ว มีการเลือกตั้งอีก นายอินทร สิงหเนตร ก็ยังได้รับความไว้วางใจจากชาวเชียงใหม่ได้รับเลือกตั้งกลับเข้าสภาอีก
เหตุการณ์เรื่องการขับผู้แทนราษฎรออกจากสมาชิกภาพนี้เกิดขึ้นในสมัยที่รัฐบาลมีหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี มีพระยามานวราชเสวี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร