28 มกราคม พ.ศ. 2502
ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2502 นั้น เป็นวันที่มีการประกาศใช้กติกาการปกครองประเทศของคณะทหาร โดยเรียกกติกาฉบับนี้ด้วยชื่อใหม่ว่า ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502
ธรรมนูญการปกครองฯ ฉบับนี้ผู้คนทั่วไปมักจะรู้จักมาตรา 17 ของธรรมนูญดีกว่าอย่างอื่น เพราะเป็นมาตราที่เขียนให้อำนาจนายกรัฐมนตรีไว้มากและเด็ดขาด ทำให้นายกรัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศได้สมใจ ที่น่าสังเกตประการแรก คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เรียกว่า “ธรรมนูญการปกครอง” ซึ่งน่าจะแสดงให้รู้ว่ามีความเป็น “ชั่วคราว” เพราะในความนำของธรรมนูญก็บอกไว้ว่าให้ใช้ไปพลางก่อน นั่นคือใช้ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญหลัก แต่ปรากฏว่า ธรรมนูญการปกครองฯ นี้ใช้อยู่ถึง 9 ปีกว่า มีนายกรัฐมนตรีปกครองประเทศถึง 2 คน คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้นยึดอำนาจยกเลิกรัฐธรรมนูญ ล้มรัฐบาลพวกเดียวกัน คือ พลโทถนอม กิตติขจร มาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 มาถึงวันประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองฯ นี้ ห่างกัน 90 กว่าวัน เมืองไทยร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกนานขนาดนี้ เป็นเวลา 90 วัน ที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับคณะปกครองโดยใช้ประกาศคณะปฏิวัติ
ดังนั้นธรรมนูญการปกครองฯ ฉบับวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2502 จึงมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองฯ ฉบับนี้บัญญัติเอาไว้ว่า
“ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวนหรือคุกคามความสงบที่ เกิดขึ้นภายใน หรือมาจากภายนอกราชอาณาจักรให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ”
อำนาจตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองฯ ฉบับนี้ นายกรัฐมนตรีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ใช้ทั้งในเรื่องการเมืองและเรื่องอื่น ๆ
เรื่องการเมืองที่มีการกล่าวกันมากก็เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีสั่งประหารผู้ต้องหาคดีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เราต้องไม่ลืมว่าในการยึดอำนาจล้มรัฐบาลและล้มรัฐธรรมนูญนั้นจอมพลสฤษดิ์และคณะก็อ้างภัยคอมมิวนิสต์มาแล้ว พอมีอำนาจเป็นรัฐบาลทางตำรวจก็ได้จับผู้ต้องหาคดีคอมมิวนิสต์ โดยทางตำรวจอ้างว่าได้ค้นพบเอกสารและใบปลิวโฆษณาและหนังสือของมาร์กซ์และเลนิน ที่เป็นตำราใช้ศึกษาเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ นายกรัฐมนตรีก็ไปเป็นผู้สอบสวนเอง และก็ใช้อำนาจตามมาตรา 17 สั่งประหารชีวิตผู้ต้องหาในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2502
คดีคอมมิวนิสต์นี้นายกรัฐมนตรีจอมพลสฤษดิ์ ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 17 ประหารชีวิตผู้ต้องหาคดีนี้อีก 2-3 คน จนทำให้ผู้คนเกรงกลัวว่าจะโดนคดีแบบนี้ และจะถูกประหาร
ส่วนคดีที่ไม่ใช่เรื่องการเมืองที่นายกรัฐมนตรีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้มาตรา 17 สั่งประหารผู้ต้องหา คือ คดีเกี่ยวกับการลอบวางเพลิง ซึ่งในตอนนั้นมีความเชื่อกันมากว่ามีการลอบวางเพลิงเพื่อหวังผลประโยชน์ ดังนั้น เมื่อจับกุมผู้ต้องสงสัย และนำมาสอบสวนแล้ว นายกรัฐมนตรีก็อาศัยมาตรา 17 ใช้อำนาจตัดสินสั่งประหารบุคคลที่เป็นผู้ต้องหาคดีลอบวางเพลิงไป 3 กรณี จนเป็นที่ฮือฮากันมากว่า นายกรัฐมนตรีเอาจริงกับเรื่องวางเพลิงเผาบ้านเรือนของประชาชน
อีกอย่างหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีดำเนินการอย่างรวดเร็วโดยใช้มาตรา 17 คือ คดีเฮโรอีน ที่ทางตำรวจจับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นนายทุนผลิตเฮโรอีน โดยกล่าวว่าได้ทั้งอุปกรณ์ในการผลิตและเฮโรอีนของกลาง นายกรัฐมนตรีก็ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองฯ สั่งประหารผู้ต้องหาคดีนี้
อำนาจตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองฯ นี้ได้คาอยู่ต่อมาหลังจากจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เสียชีวิตไป และจอมพลถนอม กิตติขจร ได้เป็นนายรัฐมนตรีต่อมา และก็เป็นนายกรัฐมนตรีอีกท่านหนึ่งที่ใช้อำนาจตามมาตรา 17 สั่งยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ หลังจากที่ทายาทจอมพลสฤษดิ์ ฟ้องร้องเป็นคดีมรดกอันอื้อฉาว จนมีคนบอกว่า มาตรา 17 นี้แรงจริง ๆ
ธรรมนูญการปกครองฯ ฉบับนี้ที่มีบทบัญญัติอยู่เพียง 20 มาตรา ได้ถูกใช้เป็นกติกาปกครองบ้านเมืองอยู่โดยไม่มีการเลือกตั้ง และร่างรัฐธรรมนูญอย่างล่าช้า ได้ดำเนินมาเกือบ 10 ปี จึงได้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2511 ออกมาใช้ เพื่อเปิดให้มีการเลือกตั้งกันอีกคราหนึ่ง