23 มีนาคม พ.ศ. 2492
ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2492 เป็นวันที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญถาวรเป็นฉบับที่ 3 ของประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความสำคัญอยู่พอสมควร เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่จะออกมาใช้แทนรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2490 ของคณะรัฐประหารที่ได้เข้ามาล้มรัฐบาลและล้มรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ทั้งยังเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างกันโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ สภาแรกของประเทศ ดังที่ปรากฏในความนำของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ถึงองค์ประกอบของสภาร่างรัฐธรรมนูญ
“...ประกอบด้วยสมาชิก ซึ่งรัฐสภาเลือกตั้งจากสมาชิกวุฒิสภา 10 คน จากสมาชิกสภาผู้แทน 10 คน และจากผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 4 ประเภท...ประเภทละ 5 คน”
รูปแบบของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คงยึดการมีสองสภา แต่เปลี่ยนเรียกสภาสูงว่า “วุฒิสภา” และให้ความสำคัญแก่วุฒิสภามาก โดยให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา แต่สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 100 คนนั้นมีที่มาตามมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญว่า
“วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนหนึ่งร้อยคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือก และแต่งตั้งจากผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง...”
ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา”
นอกจากนั้นได้มีการบัญญัติเรื่องที่ใหม่มากเข้ามาในรัฐธรรมนูญ คือ การบัญญัติหมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐไว้เป็นครั้งแรก จำนวน 19 มาตรา ซึ่งเป็นต้นแบบที่ทำให้รัฐธรรมนูญไทยฉบับถาวรที่มีต่อมาทุกฉบับได้คงหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐไว้ตลอดมา ทั้ง ๆ ที่มีเสียงวิจารณ์ว่าไม่น่าบัญญัติไว้ก็ตาม
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างและประกาศใช้ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และคณะทหารมีอำนาจครอบงำการเมืองสูง ได้ใช้ต่อมาประมาณ 2 ปี ถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 คณะทหารที่มีอำนาจดูแลรัฐบาลนั่นเองก็เข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาล และล้มรัฐธรรมนูญ โดยเรียกตัวเองว่า “คณะบริหารประเทศชั่วคราว”