22 ตุลาคม พ.ศ. 2519

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2519 ฉบับที่ 11 ของไทย นับเป็นเวลา 16 วันหลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่มีพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ และคณะทหารได้ใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 การใช้กำลังทหารยึดอำนาจในครั้งนั้นได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งจะให้มีการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2519 แม้จะเรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” แต่ก็มีเนื้อหาอยู่น้อยเพียง 29 มาตรา แบบเดียวกับธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร และมีลักษณะของการเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว

แต่ที่ดูจะพิเศษกว่าฉบับอื่นก็คือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดระยะเวลาฟื้นฟูประเทศ 3 ช่วง ขั้นที่1 เวลาสีปีแรก “เป็นเวลาที่สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจะเป็นผู้ควบคุมการบริหารราชการ”

ขั้นที่สอง “ระยะที่ให้ราษฎรมีส่วนในการบริหารราชการแผ่นดินมากขึ้น” คือมีสภาสองสภาได้แก่สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งและวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง นับว่าเป็นช่วงสี่ปีที่สอง

ขั้นที่สาม หรือสี่ปีสุดท้าย “ขยายอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร...และลดอำนาจของวุฒิสภาลง...” และถ้าดำเนินไปดีก็อาจให้วุฒิสภาหมดไปได้

เวลา 12 ปีนานเกินไปสำหรับประชาชนชาวไทย จึงทำให้นักการเมืองและประชาชนไม่พอใจ ประกอบกับการปกครองของรัฐบาลชั่วคราวเองไม่เป็นที่พอใจของสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเข้าด้วย คณะปฏิวัติซึ่งก็คือสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ได้เข้ามายึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 จึงกลับมายึดอำนาจอีกครั้ง และยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่กลุ่มของตนนำเข้ามาใช้ เพื่อเปลี่ยนทั้งรัฐธรรมนูญและรัฐบาล และประกาศใช้รัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520 ออกมาใช้แทน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 ดังนั้นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2519 จึงใช้อยู่เพียงเกือบหนึ่งปีเท่านั้นเอง