1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518
ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 เป็นวันที่ประเทศไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือที่เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า “จีนแดง” บ้าง “จีนคอมมิวนิสต์” บ้าง ใคร ๆ ก็ทราบดีว่าประเทศไทยนั้นต่อต้านคอมมิวนิสต์มาตั้งแต่เริ่มมีประเทศคอมมิวนิสต์ในโลกนี้ประเทศแรกคือ สหภาพโซเวียต ซึ่งรัฐบาลไทยได้ยอมสถาปนาความสัมพันธ์ด้วยตั้งแต่ พ.ศ. 2484
ในกรณีของจีนหรือสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีเมาเซตุงเป็นผู้นำที่ได้อำนาจในกรุงปักกิ่งแผ่นดินจีนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2492 นั้นไทยไม่ได้รับรอง และไทยได้เลือกรับรองและมีความสัมพันธ์กับจีนไต้หวันของรัฐบาลเจียงไคเชคเรื่อยมา โดยรัฐบาลไทยมีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างแรงกล้า มีกฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
แต่เมื่อวันเวลาผ่านมาถึง พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงในดินแดนอินโดจีนค่อนข้างมาก เพราะกองกำลังเขมรแดงซึ่งเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ชนะสงครามเข้ายึดกรุงพนมเปญของประเทศกัมพูชา ได้ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 และกองกำลังของเวียดนามเหนือก็บุกเข้ากรุงไซ่งอน เวียดนามใต้ได้ในวันที่ 30 เมษายน ปีเดียวกัน
สมัยนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีของไทยที่มีแนวคิดที่จะปรับนโยบายต่างประเทศของไทย โดยยอมรับประเทศคอมมิวนิตส์มากขึ้น ดังจะเห็นได้ที่รัฐบาลไทยได้ประกาศรับรองรัฐบาลใหม่ของเขมรแดงในทันที
การคบหากับประเทศคอมมิวนิสต์นี้ ถ้าเป็นนักการเมืองคนอื่นเป็นนายกรัฐมนตรีก็อาจถูกโจมตีมาก หากแต่เป็น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ซึ่งต่อต้านคอมมิวนิสต์มาก่อน และแสดงตนชัดเจนว่าไม่ได้เป็นนักการเมืองฝ่ายซ้าย หรือผู้ฝักไฝ่คอมมิวนิสต์ ทางรัฐบาลได้ส่งนักการทูตไทยไปติดต่อประสานกับทางรัฐบาลจีนเพื่อขอสถาปนาความสัมพันธ์ ทำให้ทางสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยนายกรัฐมนตรี โจ เอินไหล ของจีนได้เชิญนายกรัฐมนตรีไทยไปเยือนจีน
ต่อมา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทยจึงได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 และในการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งนั้น ได้มีการลงนามแถลงการณ์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518