15 ธันวาคม พ.ศ. 2500
ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 เป็นวันที่มีการเลือกตั้งทั่วไปซ้ำอีกเป็นครั้งที่ 2 ในปีเดียวกัน การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นก็เพราะหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 แล้ว แม้พรรคเสรีมนังคศิลาของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จะชนะการเลือกตั้งได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม แต่มีการกล่าวหาว่าได้จัดการเลือกตั้งอย่างสกปรกเพราะมีการโกงการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดพระนคร อันเป็นเมืองหลวงของประเทศ จึงมีการประท้วงของนิสิต นักศึกษา และประชาชน จนนำไปสู่การยึดอำนาจของคณะทหารที่นำโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะทหารได้ล้มสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจะจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยไปเชิญ นายพจน์ สารสิน เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ.) มาเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2500
นายพจน์ สารสิน ได้เข้าเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2500 โดยรู้กันทั่วว่าจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ลาพักงานจากเลขาธิการองค์การซีโต้ วันเดียวกันกับที่เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้รัฐบาลเลย มีรัฐมนตรีจำนวน 20 คน โดยไม่นับท่านนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีก็ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกตำแหน่งหนึ่ง คนที่ดูรายชื่อรัฐมนตรีแล้วมักจะบอกว่าเป็นรัฐมนตรีที่ฝ่ายคุมกำลังเลือกมาให้โดยแท้
ทั้งตำแหน่งประธานสภาในตอนนั้นก็เป็นทหาร ในรัฐบาลก็มีทหารเป็นรัฐมนตรีอยู่หลายตำแหน่ง ทั้งกลาโหมและมหาดไทย ทหารคุมหมด
อีก 3 วันต่อมานายกรัฐมนตรีก็นำคณะรัฐมนตรีเข้าแถลงนโยบาย เป็นการแถลงนโยบายที่เรียบง่าย นายกรัฐมนตรีกล่าวไปหลายอย่าง แต่ที่สำคัญก็คือ งานเลือกตั้ง
“รัฐบาลนี้จะจัดให้การเลือกตั้งที่จะต้องกระทำภายใน 90 วันตามประกาศพระบรมราชโองการ เรื่องการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ลงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2500 เป็นไปตามกฎหมายโดยสุจริต เที่ยงธรรม จึงขอแถลงยืนยันถึงเจตจำนงข้อนี้ให้ปรากฏเสมือนเป็นคำสัตย์ปฏิญาณให้ไว้ในสภาผู้แทนราษฎรนี้ด้วย”
การเลือกตั้งที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีพจน์ สารสินจะต้องจัดการให้เรียบร้อยนั้นก็คือการเลือกตั้งในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ดังนั้น พ.ศ. 2500 จึงเป็นปีที่มีการเลือกตั้งทั่วไป 2 ครั้ง
รัฐมนตรีที่จะต้องดูแลการเลือกตั้งคือ รัฐมนตรีมหาดไทย พลโทประภาส จารุเสถียร
ในการเลือกตั้งในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 นั้นนายกรัฐมนตรีพจน์ สารสิน ไม่ได้ลงเลือกตั้งด้วย รัฐมนตรีมหาดไทยก็ไม่ได้ลงเลือกตั้งด้วย แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ ผู้เป็นหัวหน้าพรรคสหภูมิ กับนายสงวน จันทรสาขา น้องชายร่วมมารดากับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้เป็นเลขาธิการพรรคสหภูมิและเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงเลือกตั้งด้วย
พรรคฝ่ายค้านในอดีตของรัฐบาลก่อนคือ พรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรีควง อภัยวงศ์ จึงเป็นพรรคคู่แข่งสำคัญของพรรคสหภูมิ
ดังนั้น รัฐบาลจึงระมัดระวังตัวพอสมควร
การเลือกตั้งในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 นี้มีผู้ออกมาใช้สิทธิร้อยละ 40.10 จังหวัดที่มีผู้ใช้สิทธิมากที่สุดคือจังหวัดระนอง และจังหวัดที่มีผู้ใช้สิทธิน้อยที่สุดคือจังหวัดอุบลราชธานี
ผลของการเลือกตั้งครั้งนั้นประชาชนได้เลือกตั้งผู้แทนราษฎรกระจายกันออกไป พรรคสหภูมิได้ที่นั่งมากเป็นลำดับหนึ่งได้ 44 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งลำดับรองลงมาได้ 39 ที่นั่ง และมี ส.ส. ที่ไม่สังกัดพรรคอีก 59 คน ที่เหลืออีก 18 ที่นั่ง แบ่งไปตามพรรคเล็ก ๆ อีก 6 พรรค
ประชาชนดูจะเลือกที่ตัวบุคคลมากกว่าพรรค
พอเลือกตั้งเสร็จก็เป็นอันเสร็จงานชั่วคราวของอดีตนักการทูตอย่างคุณพจน์ ที่ไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมา เป็นชั่วคราวก็เหนื่อยพอแล้ว พรรคการเมืองก็ไม่มีเป็นขอตัวเอง ให้นายทหารเขาไปคิดกันเอาเองกับพรรคการเมืองก็แล้วกัน
คุณพจน์ สารสิน จึงอยู่เป็นนายกรัฐมนตรีจนสิ้นปี พ.ศ. 2500 เท่านั้น
ในวันที่ 1 มกราคม 2501 พลโทถนอม กิตติขจร จึงเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมา