แลนด์สไลด์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

          “แลนด์สไลด์” ในความหมายทางการเมือง หมายถึง ชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้ง โดยที่พรรคการเมืองหรือผู้สมัครได้รับคะแนนเสียงทิ้งห่างคู่แข่งอย่างท่วมท้นชัดเจน เป็นคำอุปมาอุปมัยจากปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาที่หมายถึงการเคลื่อนไหวของหินและดินจำนวนมากที่ถล่มลงไปตามทางลาด[1]

ปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งในต่างประเทศ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 1936

          การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 3 พฤศจิกายน 1936 เป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผลการเลือกตั้งขาดอย่างชัดเจนจนเรียกได้ว่าชัยชนะแลนด์สไลด์ เป็นการแข่งขันกันระหว่าง แฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต (Democratic Party) และประธานาธิบดีในขณะนั้น ซึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน กับ อัลฟ์ แลนดอน (Alf Landon) ผู้ว่าการรัฐแคนซัส ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากพรรครีพับลิกัน (Republican Party) เป็นตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ในจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) ทั้งหมด 531 คน รูสเวลท์ได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมด 523 เสียง ส่วนแลนดอนได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมดเพียง 8 เสียง ส่วนในด้านคะแนนเสียงมหาชน (popular vote) รูสเวลท์ได้คะแนนเสียงกว่า 27.7 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 60.8 ส่วนแลนดอนได้คะแนน 16.6 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 36.5 การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่แลนด์สไลด์ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา โดยที่รูสเวลท์ชนะในเกือบทุกมลรัฐ ยกเว้นเมน (Maine) และเวอร์มอนต์ (Vermont) ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ของรูสเวลท์ คือนโยบาย New Deal ที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจอเมริกาจากยุคเศรษฐกิจถดถอย (The Great Depression)[2]

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 1972

          การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 1972 เป็นการแข่งขันกันระหว่าง ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ประธานาธิบดีในขณะนั้นและเป็นผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน (Republican Party) ซึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน กับ จอร์จ แมคโกเวิร์น (George McGovern) วุฒิสมาชิกจากรัฐเซาท์ดาโกต้า (South Dakota) การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นในบริบทของสงครามเวียดนาม ซึ่งนิกสันสนับสนุนการเปิดความสัมพันธ์กับจีนและผ่อนคลายความตึงเครียดกับสหภาพโซเวียต ส่วนแมคโกเวิร์นมีจุดยืนต่อต้านสงครามเวียดนามอย่างแข็งขัน ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า จากจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) ทั้งหมด 537 คน นิกสันได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมด 520 เสียง ส่วนแมคโกเวิร์นได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมด 17 เสียง ส่วนในด้านคะแนนเสียงมหาชน (popular vote) นิกสันได้คะแนนเสียงกว่า 47.1 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 60.7 ส่วนแมคโกเวิร์นได้คะแนนเสียง 29.1 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 37.5 โดยที่นิกสันชนะได้ทั้งหมด 49 จาก 50 มลรัฐ ส่วนแมคโกเวิร์นชนะได้เพียงรัฐเดียว คือ แมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) และ ดิสตริกต์ ออฟ โคลัมเบีย (District of Columbia) ชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ของนิกสันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและนโยบายต่างประเทศจากการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนและการผ่อนคลายความตึงเครียดกับสหภาพโซเวียต[3]

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 1984

          การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 1984 เป็นการแข่งขันกันระหว่าง โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) ประธานาธิบดีในขณะนั้นและเป็นผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน (Republican Party) กับ วอลเตอร์ มอนเดล (Walter Mondale) อดีตรองประธานาธิบดีและผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต (Democratic Party) ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ในจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) 538 คน เรแกนได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมด 525 เสียง ส่วนมอนเดลได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมด 13 เสียง ในด้านคะแนนเสียงมหาชน (popular vote) เรแกนได้คะแนนเสียงกว่า 54.4 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 58.8 ส่วนมอนเดลได้คะแนนเสียง 37.7 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 40.6 โดยที่เรแกนชนะทั้งหมด 49 จาก 50 มลรัฐ ส่วนมอนเดลชนะเพียงมลรัฐเดียว คือ มินเนโซตา (Minnesota) และดิสตริคท์ ออฟ โคลัมเบีย (District of Columbia) ชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ของเรแกนเป็นผลสำคัญมาจากนโยบายเศรษฐกิจ “เรแกนโนมิกส์” (Reaganomics) ซึ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจอเมริกาที่ถดถอยในช่วงต้นทศวรรษ 1980[4]

การเลือกตั้งทั่วไปอินเดีย 1984

          การเลือกตั้งทั่วไปอินเดีย ระหว่างวันที่ 24-28 ธันวาคม 1984 เป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญของอินเดีย เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นผลมาจากการการลอบสังหารนายกรัฐมนตรี อินทิรา คานธี (Indira Gandhi) โดยบอดีการ์ดชาวซิกข์ของเธอ ในวันที่ 31 ตุลาคม 1984 บุตรชายของอินทิรา คือ ราจีฟ คานธี (Rajiv Gandhi) ได้รับการสนับสนุนให้เป็นหัวหน้าพรรคคองเกรสแห่งอินเดีย (Indian National Congress: INC) แทนและนำพรรคเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคคองเกรสแห่งอินเดียชนะการเลือกตั้ง และได้จำนวนที่นั่งในโลกสภา (Lok Sabha) ซึ่งเป็นสภาล่าง (lower house) ของรัฐสภาอินเดีย เป็นจำนวนถึง 404 ที่นั่ง จากจำนวนที่นั่งทั้งหมด 514 ที่นั่ง ซึ่งถือเป็นจำนวนที่นั่งสูงสุดที่พรรคการเมืองหนึ่งเคยชนะในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของอินเดีย ก่อนที่ต่อมา ราจีฟ คานธี จะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอินเดีย ชัยชนะของพรรคคองเกรสแห่งอินเดียในการเลือกตั้งทั่วไป 1984 จึงถือได้ว่าเป็นชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ การลอบสังหาร อินทิรา คานธี มีส่วนสำคัญต่อชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ของพรรคคองเกรส[5]

การเลือกตั้งทั่วไปสหราชอาณาจักร 1997

          การเลือกตั้งทั่วไปสหราชอาณาจักร ในวันที่ 1 พฤษภาคม 1997 เกิดขึ้นในบริบทที่พรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative Party) อยู่ในอำนาจมาอย่างยาวนานกว่า 18 ปี นับตั้งแต่ปี 1979 โดยนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมในขณะนั้น คือ จอห์น เมเจอร์ (John Major) ลงแข่งขันกับพรรคคู่แข่งสำคัญ คือ พรรคแรงงาน (Labour Party) นำโดยหัวหน้าพรรค คือ โทนี่ แบลร์ (Tony Blair) ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า จากจำนวนที่นั่งทั้งหมด 659 ที่นั่งในสภาสามัญ (House of Commons) พรรคแรงงานได้จำนวนที่นั่งทั้งหมด 418 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ถึง 145 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคอนุรักษ์นิยมได้จำนวนที่นั่งทั้งหมด 165 ที่นั่ง ลดลงจากการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ถึง 165 ที่นั่ง พรรคแรงงานจึงครองเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งในสภาสามัญ และกลายเป็นชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของพรรค และได้จำนวนที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งสหราชอาณาจักรนับตั้งแต่ปี 1935 ต่อมา โทนี่ แบลร์ ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และชัยชนะของพรรคแรงงานในการเลือกตั้งครั้งนี้จึงถือได้ว่าเป็นชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ สาเหตุสำคัญมาจากการอยู่ในอำนาจมาอย่างยาวนานของพรรคอนุรักษ์นิยมกว่า 18 ปี ประกอบกับความเป็นผู้นำของโทนี่ แบลร์ ได้นำเสนอทางเลือกใหม่ให้แก่สหราชอาณาจักร[6]

การเลือกตั้งทั่วไปสหราชอาณาจักร 2024

          การเลือกตั้งทั่วไปสหราชอาณาจักร ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2024 เกิดขึ้นในบริบทที่พรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative Party) อยู่ในอำนาจมากว่า 14 ปี นับตั้งแต่ปี 2010 นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม คือ ริชี ซูแน็ค (Rishi Sunak) ลงแข่งขันกับพรรคคู่แข่งสำคัญคือ พรรคแรงงาน (Labour Party) นำโดยหัวหน้าพรรค เคียร์ สตาร์เมอร์ (Keir Starmer) ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ในจำนวนที่นั่งทั้งหมด 650 ที่นั่งในสภาสามัญ (House of Commons) พรรคแรงงานได้จำนวนที่นั่งถึง 412 ที่นั่ง เกิดกึ่งหนึ่งของสภา ส่วนพรรคอนุรักษ์นิยมได้จำนวนที่นั่งทั้งหมดเพียง 121 ที่นั่ง ชัยชนะของพรรคแรงงานในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นชัยชนะแบบแลนด์สไลด์อีกครั้งหนึ่ง ยุติช่วงเวลาการอยู่ในอำนาจของพรรคอนุรักษ์นิยมกว่า 14 ปีลง และ เคียร์ สตาร์เมอร์ ได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักร ชัยชนะครั้งนี้ส่วนสำคัญเกิดจากการอยู่ในอำนาจมาอย่างยาวนานของพรรคอนุรักษ์นิยม[7]

การเลือกตั้งทั่วไปญี่ปุ่น 2005

          การเลือกตั้งทั่วไปญี่ปุ่น ในวันที่ 1 กันยายน 2005 เป็นชัยชนะแลนด์สไลด์อีกครั้งหนึ่งของพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party: LDP) นำโดยนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคจุนอิชิโร่ โคอิซูมิ (Junichiro Koizumi) ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า จากจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) ทั้งหมด 480 ที่นั่ง พรรคเสรีประชาธิปไตยได้จำนวนที่นั่งถึง 296 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้ 59 ที่นั่ง และชนะเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎรด้วย ซึ่งเมื่อรวมกับพรรคพันธมิตร คือ พรรคนิวโคเมโตะ (New Komeito Party) ได้ที่นั่งทั้งหมด 31 ที่นั่ง จึงมีที่นั่งทั้งหมด 327 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปไตยแห่งญี่ปุ่น (Democratic Party of Japan: DPJ) ได้ที่นั่งเพียง 113 ที่นั่ง ลดลงจากการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้ 64 ที่นั่ง ชัยชนะของพรรคเสรีประชาธิปไตยนี้ทำให้โคอิซูมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่ง ซึ่งชัยชนะในครั้งนี้เป็นผลสำคัญมาจากนโยบายเศรษฐกิจ ความเป็นผู้นำของโคอิซูมิ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในพรรคเสรีประชาธิปไตย[8]

การเลือกตั้งทั่วไปญี่ปุ่น 2012

          การเลือกตั้งทั่วไปญี่ปุ่น ในวันที่ 16 ธันวาคม 2012 เกิดขึ้นในบริบทที่พรรคประชาธิปไตยแห่งญี่ปุ่น (Democratic Party of Japan) เป็นรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2009 แต่ก็ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวและภัยพิบัติฟุกุชิมะ พรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party: LDP) ได้เลือกให้ ชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคกลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้งเพื่อแข่งขันในการเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า จากจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) ทั้งหมด 480 คน พรรคเสรีประชาธิปไตยได้จำนวนที่นั่งถึง 294 ที่นั่ง ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนที่นั่งทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อรวมกับพรรคพันธมิตร คือ พรรคนิวโคเมโตะ (New Komeito Party) ซึ่งได้ที่นั่งทั้งหมด 31 ที่นั่ง จัดตั้งรัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุนเข้มแข็งถึง 325 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคประชาธิปไตยแห่งญี่ปุ่นได้ที่นั่งลดลงเหลือเพียง 57 ที่นั่ง จากเดิม 230 ที่นั่ง การเลือกตั้งครั้งนี้จึงถือเป็นชัยชนะแบบแลนด์สไลด์อีกครั้งหนึ่งของพรรคเสรีประชาธิปไตย ซึ่งมีส่วนสำคัญจากปัญหาเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลพรรค DPJ และการนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจที่เรียกว่า “อาเบะโนมิกส์” (Abenomics) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่น[9]

ปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งในประเทศไทย

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2548

          การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 เป็นชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ครั้งสำคัญของพรรคไทยรักไทย นำโดยหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือ พ.ต.ท.ทักษิณ_ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) ซึ่งอยู่ในอำนาจและเป็นรัฐบาลมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า จากจำนวน สส. ในสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 500 คน พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายและได้จำนวน สส. ถึง 377 คน ซึ่งเป็นชัยชนะและเสียงข้างมากที่ใหญ่ที่สุดของพรรคการเมืองพรรคเดียวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย อันเป็นผลมาจากความนิยมในพรรคไทยรักไทย และพ.ต.ท.ทักษิณ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักได้จำนวน สส. เพียง 96 คน รวมถึงพรรคการเมืองขนาดเล็กอื่น ๆ ก็ได้จำนวน สส. ลดลงจากการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้ ชัยชนะในการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์นี้ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน ก่อนที่จะพ้นจากตำแหน่งภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549[10]

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554

          การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในบริบทของความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นชัยชนะของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองลำดับที่สามที่ก่อตั้งสืบต่อจากพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า จากจำนวน สส. ในสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 500 คน พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและได้จำนวน สส. ถึง 265 คน เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรและสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ แต่ต่อมาพรรคเพื่อไทยก็ได้จัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน พรรคพลังชล พรรคมหาชน และพรรคประชาธิปไตยใหม่ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นรัฐบาลในขณะนั้น ได้จำนวน สส. ทั้งหมด 159 คน ผลจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์_ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ความนิยมในพรรคเพื่อไทย ซึ่งดำรงอยู่มาตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน มีส่วนอย่างสำคัญต่อชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้[11]

การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พ.ศ. 2566

          ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 พรรคเพื่อไทยได้ชูสโลแกน “เลือกเพื่อไทยแลนด์สไลด์” โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่จำนวน สส. 310 คน จากทั้งหมด 500 คน โดยก่อนหน้าที่จะถึงการเลือกตั้งนั้น พรรคเพื่อไทยได้เดินยุทธศาสตร์ “แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน” ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564 โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในขณะนั้นได้ประกาศยุทธศาสตร์นี้เป็นครั้งแรก โดยตั้งเป้าได้จำนวน สส. ไม่ต่ำกว่า 250 เสียง และในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2565 นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคเพื่อไทยได้ประกาศ “นโยบายมุ่งชนะแบบแลนด์สไลด์” เพื่อไทย เพื่อคนไทยทุกคน และในเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้นเอง ได้มีการเปิดตัว น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ก่อนที่ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2566 พรรคเพื่อไทยจะประกาศเป้าหมาย สส. ไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 310 เสียง และใช้สโลแกน “แลนด์สไลด์ ทั่วแผ่นดิน” อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า จากจำนวน สส. ทั้งหมด 500 คน พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง โดยได้จำนวน สส. ทั้งหมด 151 คน ในขณะที่พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ได้จำนวน สส. อันดับ 2 ที่ 141 คน[12]

 

อ้างอิง

[1] "What is a landslide and what causes one?." United States Geological Survey. เข้าถึงจาก <https://www.usgs.gov/faqs/what-a-landslide-and-what-causes-one>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[2] "1936 Presidential Election." 270toWin. เข้าถึงจาก <https://www.270towin.com/1936_Election>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[3] "Nixon reelected in landslide, Nov. 7, 1972." Politico (11 July 2018). เข้าถึงจาก <https://www.politico.com/story/2018/11/07/this-day-in-politics-november-7-963516>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[4] "1984 Presidential Election." 270toWin. เข้าถึงจาก <https://www.270towin.com/1984_Election/>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[5] Iqbal Narain, 1986. "India in 1985: Triumph of Democracy." Asian Survey. 26 (2): 253–269.

[6] "BBC Politics 97." BBC (1 May 1997). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.co.uk/news/special/politics97/background/pastelec/ge97.shtml>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[7] "UK election: What's happened and what comes next?." BBC News (5 July 2024). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/news/articles/c2v0e074jejo>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[8] "Koizumi wins Japan election by landslide." NBC News (10 September 2005). เข้าถึงจาก <https://www.nbcnews.com/id/wbna9278384>. เมื่อวันที่ 8 กรฎาคม 2567.

[9] "Japan Election Returns Power to Old Guard." The New York Times (16 December 2012). เข้าถึงจาก <https://www.nytimes.com/2012/12/17/world/asia/conservative-liberal-democratic-party-nearing-a-return-to-power-in-japan.html>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[10] "6 กุมภาพันธ์ 2548 – พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้ง สร้างประวัติศาสตร์กวาด ส.ส. 377 ที่นั่ง." The Standard (6 กุมภาพันธ์ 2566). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/onthisday06022548-2/>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[11] "ผลการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2554 อย่างเป็นทางการ." ประชาไท (6 กรกฎาคม 2554). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2011/07/35883>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.

[12] "ย้อนรอย"เพื่อไทย"ฝันสลาย จากแลนด์สไลด์ กลายเป็น"แลนด์ไถล." ฐานเศรษฐกิจ (16 พฤษภาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.thansettakij.com/thailand-elections/election-monitor/565387>. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567.