แผนพัฒนาจังหวัด

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

เรียบเรียงโดย..อาจารย์บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ และคณะ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ..รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล




ความหมายของแผนพัฒนาจังหวัด

“แผนพัฒนาจังหวัด” หมายความว่า รายการเกี่ยวกับโครงการและแผนงานต่าง ๆ ของจังหวัดที่จำเป็นต้องจัดทำเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และทิศทางการพัฒนาของจังหวัดในอนาคต โดยต้องคำนึงถึงความต้องการและศักยภาพของประชาชนใน ท้องถิ่นในจังหวัด รวมตลอดถึง ความพร้อมของภาครัฐและภาค ธุรกิจเอกชน และยุทธศาสตร์ระดับชาติ มีกระบวนการรับฟังหรือให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดความต้องการในการพัฒนาพื้นที่ของจังหวัดมาพิจารณาให้เกิดความผสมผสานไม่ขัดแย้งในด้านใดด้านหนึ่ง โดยมีระยะเวลาของแผนพัฒนาจังหวัด 4 ปี[1]


ความสำคัญของแผนพัฒนาจังหวัด

แผนพัฒนาจังหวัดเป็นแนวทางในการพัฒนาจังหวัดแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทุกมิติในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและความมั่นคง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสและอาชีพให้สนองต่อความต้องการของประชาชนในจังหวัด โดยต้องแสดงวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย กลยุทธ์ และแนวทางหรือมาตรการการพัฒนาให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ทิศทางการพัฒนาประเทศ ศักยภาพของพื้นที่ และปัญหาความต้องการของประชาชน

แผนพัฒนาจังหวัด เป็นแผนยุทธศาสตร์ที่เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาหรือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาโดยการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ระดมความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อให้ได้จุดมุ่งหมายในการพัฒนา วิธีดำเนินการเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมาย โดยนำเอาแนวความคิดการพัฒนาแบบองค์รวม และการบูรณาการเป็นกรอบแนวทางดำเนินการตั้งแต่ขั้นการวางแผนกลยุทธ์ จนถึงขั้นการวางแผนปฏิบัติการ[2]

แผนพัฒนาจังหวัดเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำนโยบายของรัฐบาล และทิศทาง การพัฒนาประเทศไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ และปัญหาความต้องการของประชาชน และเป็นแผนชี้นำการพัฒนาจังหวัดในภาพรวมระยะยาว (4 ปี) แต่ไม่ยึดมั่นว่าจะต้องใช้ระยะเวลาเท่าใด ขึ้นอยู่กับปัญหาและความต้องการของประชาชนในขณะนั้น จึงสามารถปรับเปลี่ยนแผนได้ตามความเหมาะสม รวมทั้งการปรับเปลี่ยนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลและทิศทางการพัฒนาของประเทศ


กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด

1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

ได้กำหนดให้รัฐจัดระบบการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้มีขอบเขต อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบที่ชัดเจน เหมาะสมแก่การพัฒนาประเทศ และสนับสนุนให้จังหวัดมีแผนและงบประมาณเพื่อพัฒนาจังหวัด เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ (มาตรา 78) และกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (มาตรา 87)

2.พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550

ให้จังหวัดจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดให้สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับชาติ/ความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประชุมหารือร่วมกับ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น รวมทั้งภาคประชาสังคม/ผู้แทนภาคเอกชน ทั้งนี้ การสรรหาให้เป็นไปตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนด(มาตรา 53/1)


กระบวนการหลักในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด

กระบวนการหลักในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดต้องประกอบด้วยขั้นตอน อย่างน้อย 10 ขั้นตอนหลัก ดังนี้[3]

1.การเตรียมการจัดทำแผน โดยมีขั้นตอนย่อย ๆ ดังนี้

1.1 การรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูล (Database)

1.2 การรวบรวมปัญหา/ความต้องการพัฒนาที่สำคัญของจังหวัด

1.3 การแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและคณะอนุกรรมการ ได้แก่ คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ) และคณะอนุกรรมการประเด็นยุทธศาสตร์ในแต่ละประเด็นยุทธศาสตร์

2. การวิเคราะห์เพื่อประเมินศักยภาพการพัฒนาจังหวัดในปัจจุบัน เป็นการวิเคราะห์ถึงโอกาส ภาวะคุกคาม ที่เป็นสภาวะแวดล้อมภายนอก ที่มีผลต่อการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของจังหวัด รวมทั้งวิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อนของจังหวัด อันเป็นสภาวะแวดล้อมภายในจังหวัด ซึ่งทั้งหมดเป็นการวิเคราะห์เพื่อประเมินศักยภาพของจังหวัดในปัจจุบัน โดยเป็นการตอบคำถามว่า “ปัจจุบันจังหวัดมีศักยภาพการพัฒนาอยู่จุดไหน?” สำหรับใช้เป็นประโยชน์ในการกำหนดการดำเนินงานในอนาคตต่อไป ทั้งนี้โดยใช้เทคนิค SWOT Analysis เป็นเครื่องมือ

3. การจัดทำวิสัยทัศน์การพัฒนาจังหวัด (Vision) ซึ่งหมายถึง การพัฒนาที่จังหวัดต้องการจะเป็นในอนาคตตามห้วงระยะเวลาที่กำหนด โดยระบุเป็นข้อความที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นเกี่ยวกับทิศทางและจุดยืนที่ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น เป็นจุดหมายปลายทางร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการตอบคำถามว่า “จังหวัดต้องการเป็นอะไรในอนาคต”

โดยการกำหนดวิสัยทัศน์ที่ดี อย่างน้อยต้องมีลักษณะ ดังนี้

- มีความเป็นไปได้ เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง

- ท้าทาย สามารถใช้เป็นกรอบชี้นำให้สมาชิกดำเนินกิจกรรมเพื่อบรรลุจุดยืนที่ต้องการ

- เป็นข้อความง่าย ๆ ที่สามารถสื่อให้เห็นทิศทางในอนาคตของจังหวัด

- ตรวจสอบและวัดผลสำเร็จได้

- ได้รับการสนับสนุนและเป็นที่ยอมรับจากผู้ปฏิบัติ เป็นต้น

4. การกำหนดพันธกิจ (Mission) เป็นการกำหนดกรอบหรือขอบเขตการดำเนินงานของจังหวัด ที่จะใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจ กำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ต่อไป

5. การกำหนดเป้าประสงค์ (Goal) คือ การระบุหรือบอกให้ทราบเกี่ยวกับสิ่งที่องค์กรจะทำให้ได้หรือสิ่งที่องค์กรต้องการจะเป็นสำหรับระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง

6. การกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ (Strategic Issues) เป็นการกำหนดประเด็นหลักที่ต้องพัฒนาเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่จังหวัดตั้งไว้ โดยประเด็นยุทธศาสตร์สามารถทำได้โดยการนำพันธกิจแต่ละข้อมาพิจารณา

7. การกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ (Key Performance Indicators : KPI) เป็นสิ่งที่จะบ่งชี้ว่าจังหวัดสามารถปฏิบัติงานบรรลุเป้าประสงค์ที่วางไว้ได้หรือไม่ โดยต้องมีการกำหนดค่าเป้าหมายที่ชัดเจนสามารถวัดได้

8. การกำหนดกลยุทธ์ (Strategy) คือ สิ่งที่จังหวัดจะต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ โดยกลยุทธ์นี้ จะกำหนดขึ้นจากการพิจารณาว่า ในการบรรลุเป้าประสงค์ข้อหนึ่ง ๆ นั้น จะมีปัจจัยใดบ้างที่มีผลต่อความสำเร็จ และเราจำเป็นต้องทำอย่างไรเพื่อไปสู่จุดนั้นได้ ทั้งนี้ ในแต่ละกลยุทธ์ก็จะมีแผนงาน/โครงการที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้กลยุทธ์สำเร็จ

9. การกำหนดแผนงาน/โครงการ (Project Idea) เป็นการกำหนดแผนงาน/โครงการสำคัญที่จะไปขับเคลื่อนกลยุทธ์ ตัวชี้วัด เป้าประสงค์ ในแต่ละประเด็นยุทธศาสตร์ให้บรรลุผลสำเร็จ โดยเน้นทำงานร่วมกันระหว่างจังหวัด กระทรวง/กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรเอกชนในจังหวัด ทั้งนี้ โดยยึดพื้นที่เป้าหมาย (Areas) เป็นหลัก มีการนำภารกิจ Function ของแต่ละส่วนราชการ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการร่วมกัน ในลักษณะของความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) และมีรูปแบบการบริหารจัดการแบบผู้จัดการโครงการ (Project Manager) เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด เป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจน ก็จะมีหน่วยงานสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนาฝีมือแรงงาน , สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดรับผิดชอบให้ความรู้กระบวนการผลิตและวิสาหกิจขนาดกลาง/ย่อม , ชลประทาน รับผิดชอบจัดหาแหล่งน้ำ ในขณะเดียวกัน สำนักงานพัฒนาชุมชนก็รับผิดชอบเกี่ยวกับพัฒนาองค์กรชุมชน กระบวนการเรียนรู้วิสาหกิจชุมชน เป็นต้นเพื่อให้การดำเนินงานตามแผนมีความเชื่อมโยง สอดคล้อง และสนับสนุนซึ่งกันและกัน นำไปสู่เป้าหมายในทิศทางเดียวกัน

10. การกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ (Agencies) เป็นการกำหนดหน่วยงานเจ้าภาพ หน่วยงานสนับสนุนในแต่ละแผนงาน/โครงการ


องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด

ในการดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดจะมีคณะกรรมการ 3 ชุดคือ

1. คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.)

2. คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.ก.)

3. คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.)


การดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ.2551

1. คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.)กำหนดกรอบ นโยบาย ขั้นตอน และวิธีการการจัดทำแผนพัฒนาและงบประมาณของจังหวัดส่งให้จังหวัด

2. จังหวัดรวบรวมข้อมูลศักยภาพของจังหวัด และสำรวจความต้องการของประชาชนในจังหวัดส่งให้กลุ่มจังหวัด (ตามมาตรา 18)

3. คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) ประชุมเพื่อจัดทำร่างแผนพัฒนาจังหวัด

4. คณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ(ก.บ.ก.) ส่งแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด(พร้อมบัญชีรายการโครงการที่ต้องการให้สนับสนุน) ให้ คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.)

5. แต่ละจังหวัดจัดประชุมปรึกษาหารือกับทุกภาคส่วนในจังหวัดเพื่อพิจารณาแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดและแผนพัฒนาจังหวัดในคราวเดียวกัน (มาตรา 19)

6. คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.)

1) เสนอความเห็นของที่ประชุมเกี่ยวกับแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด ส่งคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.ก.)

2) ปรับปรุงแผนพัฒนาจังหวัดให้สมบูรณ์ และส่งคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.)

7. คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.ก.) ปรับปรุงแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดให้สมบูรณ์ และส่งคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.)

8. คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.)กลั่นกรองและเสนอความเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ความเห็นชอบ

9. คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด/จังหวัด


อ้างอิง

  1. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ.2551
  2. สำนักงานจังหวัดชัยนาท, คู่มือการปฏิบัติงานของกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดจังหวัดชัยนาท, (ชัยนาท : สำนักงานจังหวัดชัยนาท , ป.ป.ป.), หน้า 2.
  3. เพิ่งอ้าง, หน้า 15.


หนังสืออ่านประกอบ

ประสิทธิ์ การกลาง, รายงานการศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนาขีดสมรรถนะจังหวัดในการจัดทำแผนและงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด, (กรุงเทพมหานคร  : สถาบันดำรงราชานุภาพ, 2552).

สำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด กระทรวงมหาดไทย, วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดและจังหวัด, (กรุงเทพมหานคร: สำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด, 2547).

สำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย, รายงานการศึกษาวิจัยเรื่องการบริหารจัดการของกลุ่มจังหวัดในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระดับพื้นที่, (กรุงเทพมหานคร  : สถาบันดำรงราชานุภาพ, 2548).