แถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน
ผู้เรียบเรียง นราภัทร เพชรมณี
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในระบบรัฐสภานั้น อำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของปวงชนชาวไทย โดยแบ่งองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย ให้รัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่บริหาร และศาลทำหน้าที่ตุลาการ โดยฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจในการออกกฎหมายบังคับใช้ภายในรัฐ มีอำนาจในการควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหาร และมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญ ๆ ของแผ่นดิน การเปิดโอกาสให้ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถควบคุมฝ่ายบริหารได้นั้นฝ่ายบริหารจะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน อันจะส่งผลให้คณะรัฐมนตรีต้องจัดเตรียมนโยบายที่จะนำมาแถลงชี้แจงต่อรัฐสภา และถือเป็นการเริ่มต้นควบคุมการปฏิบัติงานของคณะรัฐมนตรีให้บรรลุตามเป้าหมายและดำเนินไปตามกรอบของนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และถ้าหากรัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีการลงมติไว้วางใจในการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว การควบคุมฝ่ายบริหารโดยการแถลงนโยบายก่อนเข้าบริหารราชการแผ่นดินก็จะมีความหมายไปถึงการให้ความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีได้จัดตั้งขึ้นด้วย[1]
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและชี้แจงการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐโดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่ และเมื่อแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้วต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติราชการแต่ละปีก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีที่เข้ารับหน้าที่จะดำเนินการไปพลางก่อนเพียงเท่าที่จำเป็นก็ได้
สาเหตุที่คณะรัฐมนตรีต้องแถลงนโยบาย
สาเหตุที่คณะรัฐมนตรีต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภานั้น เนื่องมาจากว่า คณะรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ดังเช่นในกรณีของระบบประธานาธิบดี แต่คณะรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม ซึ่งประชาชนเป็นผู้เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเป็นตัวแทนในการทำหน้าที่นิติบัญญัติ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากเลือกสมาชิกด้วยกันคนหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งคณะรัฐมนตรี เพื่อนำนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาใช้เป็นนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน แต่ยังมีตัวแปรอื่น ๆ ที่อาจทำให้นโยบายที่ใช้ในการหาเสียงเป็นคนละแนวทางกับนโยบาย เช่น การจัดตั้งรัฐบาลผสม จึงต้องมีการผสมนโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ สาเหตุอีกประการหนึ่งคือ รัฐสภามีอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการควบคุมบริหารราชการแผ่นดิน จึงควรให้รัฐสภามีโอกาสเข้าตรวจสอบหรือควบคุมได้ตั้งแต่ในเบื้องต้น เพราะนโยบายของรัฐบาลอาจเป็นประเด็นที่เกี่ยวพัน หรืออาจนำไปสู่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในโอกาสต่อไป นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรีต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา[2]
การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี
การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาแต่ละครั้ง จะกระทำภายหลังจากที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว นโยบายที่นำมาแถลง ได้แก่ นโยบายทั่วไปที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องแสดงเจตนารมณ์ของคณะรัฐมนตรีว่า ภายในวาระการดำรงตำแหน่งของคณะรัฐมนตรีชุดนั้น ๆ จะบริหารราชการแผ่นดินอย่างไร มีแนวทางและเป้าหมายในการปฏิบัติหน้าที่อย่างกว้าง ๆ อย่างไรบ้าง และจะเสนอสิ่งที่ต้องการเข้าไปดำเนินการหรือแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วนอย่างไร รวมทั้งมีการวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะยาว เมื่อสมาชิกรัฐสภารับทราบนโยบายของคณะรัฐมนตรีแล้ว คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีจะเป็นข้อผูกมัดให้คณะรัฐมนตรีต้องบริหารราชการให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งจะทำให้สมาชิกรัฐสภาสามารถควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีได้อย่างถูกต้อง เมื่อคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามนโยบาย หรือปฏิบัติไม่เป็นไปตาม หรือขัดแย้งกับนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภาแล้ว จะเป็นแนวทางให้สภานิติบัญญัติดำเนินการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีในขั้นต่อไป[3]
คณะรัฐมนตรีคณะแรก มีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่มีการแถลงนโยบาย แต่ได้ถือเอาหลัก 6 ประการของคณะราษฎรเป็นนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน การแถลงนโยบายมีขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 20 ธันวาคม 2475 โดยคณะรัฐมนตรีคณะที่ 2 ซึ่งมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร จนถึงคณะรัฐมนตรีคณะปัจจุบันได้มีการแถลงนโยบายทั้งสิ้น 54 ครั้ง โดยแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 21 ครั้ง แถลงต่อรัฐสภา จำนวน 23 ครั้ง แถลงต่อวุฒิสภา จำนวน 1 ครั้ง แถลงต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 ครั้ง แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 6 ครั้ง และแถลงต่อสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี จำนวน 1 ครั้ง
ประเด็นที่น่าสนใจในการแถลงนโยบาย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่ละฉบับที่ผ่านมา บัญญัติบทว่าด้วยการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีไว้เหมือน ๆ กัน แต่มีหลักเกณฑ์ในการแถลงนโยบายต่างกันออกไป ซึ่งก่อให้เกิดประเด็นพิจารณา 3 ประเด็นใหญ่ คือ
1. คณะรัฐมนตรีจะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนจึงเข้าบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่ ในประเด็นนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับการเข้ารับตำแหน่งและการเริ่มทำหน้าที่บริหารประเทศของคณะรัฐมนตรี กล่าวคือ เมื่อได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว คณะรัฐมนตรีจะเข้ารับตำแหน่งหรือทำหน้าที่ได้ทันทีหรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญหลายฉบับบัญญัติให้ต้องแถลงนโยบายก่อนเข้าบริหารราชการแผ่นดิน หากคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีท่านใดได้เข้าทำหน้าที่หรือกระทำการใด ๆ อันถือได้ว่าเป็นการบริหารราชการแผ่นดินก่อนที่จะมีการแถลงนโยบาย การกระทำดังกล่าวจะเป็นโมฆะ หรือไม่มีผลบังคับใช้ หรือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
2. การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีควรแถลงต่อสภาใด ในช่วงระยะเวลาที่ประเทศไทยมีเพียงสภาเดียว เช่น ในปี พ.ศ. 2502 คือสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2520 และปี พ.ศ. 2534 มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงไม่มีปัญหาในการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เพราะจะต้องแถลงนโยบายต่อสภาที่มีอยู่เพียงสภาเดียวเท่านั้น แต่ในระหว่างที่ประเทศไทยใช้ระบบสองสภา เช่น ปี พ.ศ. 2489 มีพฤฒสภา และสภาผู้แทนราษฎร หรือ ปี พ.ศ. 2512 มีวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับบัญญัติไว้แตกต่างกัน บางฉบับให้รัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร บางฉบับให้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา หากจะวิเคราะห์หลักความรับผิดชอบในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี รัฐบาลควรจะรับผิดชอบต่อรัฐสภาใด ระหว่างวุฒิสภาที่สมาชิกมาจากการแต่งตั้ง เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีหน้าที่กลั่นกรองงานนิติบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร กับสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน เป็นตัวแทนในรัฐสภา และเป็นตัวแทนในการบริหารบ้านเมือง
3. มีการลงมติความไว้วางใจในการแถลงนโยบายหรือไม่ การลงมติความไว้วางใจมี 2 แนวความคิดแตกต่างกัน คือ ฝ่ายที่หนึ่ง เห็นว่า การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภาเพื่อเปิดโอกาสให้คณะรัฐมนตรีได้ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ หากมีกรณีที่คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่เป็นผลเสียต่อประเทศชาติ สมาชิกรัฐสามารถสภาตั้งกระทู้ถาม หรือยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจได้อยู่แล้ว ส่วนฝ่ายที่สอง เห็นว่า การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ต้องมีการลงมติไว้วางใจในนโยบายของคณะรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นมาตรการในการควบคุมการบริหารทันทีที่เข้าดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหาร เนื่องจากนโยบายของคณะรัฐมนตรีมีความสำคัญต่อการบริหารประเทศ เป็นการกำหนดทิศทางในการบริหารประเทศ รัฐสภาผู้มอบความไว้วางใจแก่คณะรัฐมนตรีควรจะได้พิจารณาว่านโยบายของคณะรัฐมนตรีตอบสนองความต้องการของประชาชนและของประเทศชาติหรือไม่ เพียงใด หากรัฐสภาไม่เห็นชอบหรือไม่ให้ความไว้วางใจในนโยบายนั้นแล้ว ก็ไม่ควรที่จะมีการดำเนินการตามนโยบายนั้นต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นการป้องกันแทนที่จะต้องไปแก้ไขความเสียหายในภายหลัง กรณีตัวอย่างคณะรัฐมนตรีชุดที่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายก่อนเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ตามบทบัญญัติมาตรา 184 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ภายหลังการแถลงนโยบายแล้วได้มีการลงมติไม่ไว้วางใจในนโยบายของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ เป็นผลทำให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ลาออกจากตำแหน่งทั้ง ๆ ที่ยังมิได้เข้าบริหารราชการแผ่นดินเลย[4]
ประโยชน์ของการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
ประโยชน์ของการที่ให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนจะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ได้แก่
(1) สมาชิกสภาจะได้ทราบล่วงหน้าว่า คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีนั้นมีนโยบายอย่างไร เป็นการผูกมัดคณะรัฐมนตรีที่จะบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้นั้น
(2) เป็นแนวทางในการให้สมาชิกสภาควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินในเมื่อคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามนโยบาย หรือปฏิบัติผิดเพี้ยนหรือแย้งหรือขัดกับนโยบาย โดยใช้มาตรการตั้งกระทู้ถามหรือยื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีชี้แจง หรือแสดงความคิดเห็นว่าทำไมไม่ปฏิบัติตามนโยบายข้อนั้นข้อนี้ ตลอดจนสามารถยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อไม่ไว้วางใจได้
(3) เป็นแนวทางในการบริหารประเทศ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณจะร่วมกันจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นแผนการบริหารของรัฐบาล มีระยะเวลา 4 ปี โดยสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐตามรัฐธรรมนูญ และแผนพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ เพื่อกำหนดหัวข้อสำคัญในแต่ละเรื่อง ที่จะใช้เป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดินที่มีเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของงาน นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะร่วมกันจัดทำแผนนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นแผนด้านกฎหมายที่จะต้องจัดให้มีหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย เพื่อเป็นกลไกรองรับการดำเนินการตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งจะมีการกำหนดสาระสำคัญของกฎหมาย ผู้รับผิดชอบ และระยะเวลาการดำเนินการที่สอดคล้องกับระยะเวลาของแผนการบริหารราชการแผ่นดิน[5]
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้วจะเห็นได้ว่า การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเริ่มต้นบริหารงานของคณะรัฐมนตรี เพราะตราบเท่าที่ยังไม่มีการแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรีก็ยังไม่สามารถเข้ามาบริหารกิจการบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่ คงทำได้แต่เพียงการบริหารงานที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของประเทศเท่านั้น โดยกระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งจากความสำคัญตรงนี้ ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า สภาพบังคับของการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีนั้น มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน คือ ตราบเท่าที่ไม่มีการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีก็ไม่สามารถบริหารกิจการบ้านเมืองได้อย่างเต็มรูปแบบ[6]
อ้างอิง
- ↑ ปณิธาน วิสุทธากร “การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี:ศึกษาทางรัฐธรรมนูญไทย”, วิทยานิพนธ์ปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชานิติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535. หน้า 1.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 7.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 8-9.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 2.
- ↑ “พระราชกฤษฎีการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546” ในราชกิจจานุเบกษา, ตอนที่ 100 ก เล่มที่ 120 วันที่ 9 ตุลาคม 2546.
- ↑ การแถลงนโยบาย. (17 พฤษภาคม 2552).Available URL : http://www.vcharkarn.com/vblog/39920.
บรรณานุกรม
ปณิธาน วิสุทธากร. “การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี: ศึกษาทางรัฐธรรมนูญไทย”. วิทยานิพนธ์ปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชานิติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535.
“การแถลงนโยบาย”. (2551) [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://www.vcharkarn.com/vblog/39920. เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2552.
“การแถลงนโยบาย”. (2552) [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://library2.parliament.go.th/giventake/statement.html. เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2552.
“พระราชกฤษฎีการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546” ใน ราชกิจจานุเบกษา, ตอนที่ 100 ก เล่มที่ 120 วันที่ 9 ตุลาคม 2546.
ดูเพิ่มเติม
นนทพันธ์ ภักดีผดุงแดน, ผู้รวบรวม (2543) คำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา (พ.ศ. 2547-2543). กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด.
นิพัทธ์ สระฉันทพงษ์ (2544) รวมคำแถลงนโยบายของรัฐบาลตั้งแต่คณะแรกจนถึงคณะปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 3/2476 (วิสามัญ) หน้า 58-72
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2/2476 (สามัญ) หน้า 21-49
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 24/2477 (วิสามัญ) หน้า 1756-1845
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 22/2480 (วิสามัญ) หน้า 501-531
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 3/2480 (สามัญ) หน้า 24-127
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 3/2481 (สามัญ) หน้า 17-95
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 13/2485 (วิสามัญ) หน้า 266-337
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 8/2487 (สามัญ) หน้า 3-34
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16/2488 (สามัญ) หน้า 547-576
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 23/2488 (สามัญ) หน้า 862-921
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 3/2489 (สามัญ) หน้า 16-103
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16/2489 (สามัญ) หน้า 767-834
รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 2/2489 หน้า 10-56
รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 5/2489 หน้า 112-180
รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 8/2490 หน้า 342-425
รายงานการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 2/2490 (สามัญ) หน้า 20-91
รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 1/2491 (สามัญ) หน้า 5-119
รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 7/2491 หน้า 696-820
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 3/2492 (สามัญ) หน้า 19-156
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 3/2494 (วิสามัญ) หน้า 30-63
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 3/2495 (สามัญ) หน้า 38-161
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 3/2500 (สามัญ) หน้า 29-146
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 3/2500 (วิสามัญ) หน้า 14-69
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2501 (วิสามัญ) หน้า 54-165
รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 3/2502 หน้า 19-80
รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 158/2506 หน้า 888-920
รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 1/2512 หน้า 7-196
รายงานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2515 หน้า 28-44
รายงานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 32/2516 หน้า 247-270
รายงานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 36/2517 หน้า 549-599
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 3/2518 (สามัญ) หน้า 42-221
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 4/2518 (สามัญ) หน้า 238-438
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 3/2519 (สามัญ) หน้า 143-328
รายงานการประชุมสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ครั้งที่ 2/2519 หน้า 18-102
รายงานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2520 หน้า 46-95
รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 2/2522 (สามัญ) หน้า 13-171
รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 2/2523 (วิสามัญ) หน้า 25-170
รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2/2526 (สามัญ) หน้า 25-94
รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1/2529 (สามัญ) หน้า 173-305
รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1/2531 (สามัญ) หน้า 2-261
รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1/2534 (วิสามัญ) หน้า 14-396
รายงานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2534 หน้า 23-78
รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1/2535 (สามัญ) หน้า 2-127
รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 5/2535 (สามัญ) หน้า 258-415
รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1/2535 (สามัญ) หน้า 18-408
รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1/2538 (สามัญ) หน้า 24-345
รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1/2539 (สามัญ) หน้า 2-363
รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1/2540 (วิสามัญ) หน้า 9-298
รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1/2544 (สามัญทั่วไป) หน้า 2-297
รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1/2548 (สามัญทั่วไป) หน้า 3-341
รายงานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2549 หน้า 6-356
รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1/2551 (สามัญทั่วไป) หน้า 1-373
รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4/2551 (สามัญนิติบัญญัติ) หน้า 33-99
รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1/2551 (วิสามัญ) หน้า 1-59
หน้าหลัก |
---|