เงินผันและ SML

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล


เงินผันและ SML

เป็นนโยบายของพรรคกิจสังคมภายใต้การนำของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในปี พ.ศ. 2518 เพื่อสร้างงานในชนบท เป้าหมายคือการยกระดับมาตรฐานการดำเนินชีวิตของคนยากจนในชนบท เชื่อว่าการผันเงินจากส่วนกลางไปให้ท้องถิ่นในชนบทใช้จ่ายตามโครงการที่พวกเขากำหนดขึ้นมาเอง จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนในชนบทที่ยากจนมีโอกาสหารายได้และทำงานในยามว่างหลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผลแล้ว ในโครงการผันเงินนี้ พรรคกิจสังคมเชื่อว่าจะมีการรั่วไหลน้อยมาก ถ้าหากว่าประชากรชนบทสามารถควบคุมดูแลกันเองอย่างทั่วถึง เงินที่ส่วนกลางผันไปสู่ชนบทย่อมจะเอื้ออำนวยประโยชน์ให้ประชาชนในชนบทได้มีโอกาสนำไปใช้จ่ายสร้างสิ่งสาธารณูปโภคที่ขาดแคลน ขณะเดียวกันก็มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำงานในโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในท้องถิ่น นอกจากนี้ นโยบายเงินผันสู่ชนบทยังเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างสังคมเมืองกับชนบท และมุ่งหวังให้ประชากรทุกภาคส่วนได้รับผลของการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน (วารสารพรรคกิจสังคม ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม 2530 หน้า 27-28)

ในยุครัฐบาลทักษิณ นโยบายเงินผันมาในรูปของโครงการงบพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน SML เพื่อพลิกฟื้นหมู่บ้านให้มีพลังในการขับเคลื่อนสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน และการสร้างโอกาสให้ประชาชนอย่างยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณแผ่นดินปีละ 20,000 ล้านบาท ไปให้หมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ SML ที่เป็นคำต่อท้ายโครงการนั้นเป็นตัวย่อแทนความหมายข้างต้นนั่นเอง S มาจาก “small” M มาจาก “medium” และ L มาจาก “large” ในการจัดสรรเงินโครงการดังกล่าว รัฐบาลจะจัดสรรเงินตามขนาดของหมู่บ้านโดยหมู่บ้านขนาดเล็กจะได้เงินจัดสรรหมู่บ้านหรือชุมชนละ 20,000 บาท ขนาดกลาง 25,000 บาท และขนาดใหญ่ 30,000 บาท

โครงการ SML หรือนโยบายเงินผันทักษิณนี้ ประกาศในโอกาสครบรอบ 6 ปี พรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2546 และได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวาง เพราะไม่มีใครไม่ชอบเงิน และเป็นนโยบายใหม่ในการหาเสียงเตรียมรับฤดูกาลเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในเวลาอันไม่เกินรอ โครงการดังกล่าวได้ก่อเกิดปัญหาว่าเป็นโครงการที่ทำได้หรือไม่ในแง่ของรัฐธรรมนูญที่ห้ามการซื้อเสียงโดยการให้หรือสัญญาว่าจะให้ แต่ในที่สุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ลงมติว่า “ทำได้” ถ้าจ่ายจากงบประมาณแผ่นดิน “ทำไม่ได้” ถ้าจ่ายจากเงินของปัจเจกบุคคลหรือเอกชน ถือเป็นการซื้อเสียง (www.nidambe11.net/ekonomiz/2004q3/article2004july22p2.htm)