อารยะขัดขืน
ผู้เรียบเรียง วนัส ปิยะกุลชัยเดช และ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ประวัติ
คำว่า อารยะขัดขืน ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกโดยชัยวัฒน์ สถาอานันท์[1] โดยเป็นการถอดศัพท์จากคำภาษาอังกฤษว่า Civil Disobedience คำดังกล่าวชัยวัฒน์ใช้เพื่อต้องการแทนที่การแปลคำว่า 'Civil Disobedience' เป็น “สิทธิการดื้อแพ่งต่อกฎหมาย” ที่นำเสนอโดยสมชาย ปรีชาศิลปกุล[2] ในการต่อสู้ทางการเมืองไทย มีการนำคำคำนี้มาใช้โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตรในปีพุทธศักราช 2549 และรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชและนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ในปี 2550-2551
ความหมายของ อารยะขัดขืน
ชัยวัฒน์ อาศัยนิยามของจอห์น รอลส์ (John Rawls) ที่ให้นิยามการกระทำในลักษณะที่เป็น Civil Disobedience ว่าหมายถึง “การกระทำทางการเมืองซึ่งมีลักษณะเป็นสาธารณะ (public) สันติวิธี (nonviolent) และมีมโนธรรมสำนึก (conscientious) ที่ขัดต่อกฏหมาย ปรกติเป็นสิ่งที่ทำโดยมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมาย (in the law) หรือในนโยบายของรัฐบาล”[3] โดยการกระทำดังกล่าวต้องกระทำในสังคมที่ใกล้จะเป็นธรรมเท่านั้น[4]
- ตามทัศนะของชัยวัฒน์การกระทำที่ถือเป็นอารยะขัดขืนจะต้องประกอบด้วยลักษณะ 7 ประการดังต่อไปนี้
1) เป็นการละเมิดกฎหมาย หรือตั้งใจละเมิดกฎหมาย
2) ใช้สันติวิธี (nonviolent)
3) เป็นการกระทำสาธารณะโดยแจ้งให้ให้ฝ่ายรัฐรับรู้ล่วงหน้า
4) ประกอบด้วยความเต็มใจที่จะรับผลทางกฏหมายของการละเมิดกฎหมายดังกล่าว
5) ปรกติกระทำไปเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือนโยบายของรัฐบาล
6) มุ่งเชื่อมโยงกับสำนึกแห่งความยุติธรรมของผู้คนส่วนใหญ่ในบ้านเมือง
7) มุ่งเชื่อมโยงกับสำนึกแห่งความยุติธรรมซึ่งโดยหลักแล้วเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายและสถาบันสังคม
การให้นิยามและลักษณะการกระทำที่ถือเป็นอารยะขัดขืนที่ชัยวัฒน์ใช้ข้างต้น จึงเป็นการกำหนดพื้นที่ เป้าหมายและเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองแบบอารยะขัดขืน กล่าวคือในประเด็นแรก พื้นที่ที่จะใช้อารยะขัดขืน จะต้องกระทำบนสังคมที่ใกล้จะเป็นธรรมที่หมายถึง “'สังคมที่ส่วนใหญ่มีการจัดระเบียบอย่างดี แต่ก็มีการละเมิดความยุติธรรมปรากฏอยู่บ้าง'” เท่านั้น
ในประเด็นที่สอง หากการกระทำอารยะขัดขืนต้องกระทำต่อสังคมที่ค่อนข้างจะเป็นธรรม เป้าหมายของอารยะขัดขืนของชัยวัฒน์จึงจำกัดอยู่เพียงการเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือรูปแบบการปกครองแต่อย่างใด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คืออารยะขัดขืนเป็นการกระทำทางการเมืองที่มุ่งปรับปรุงรัฐหรือสังคมที่เป็นธรรมอยู่บ้างแล้ว ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้นต่อไป ไม่ใช่การต่อสู้เพี่อโค่นล้มรัฐที่อยุติธรรม (unjust) แล้วสร้างรัฐที่เป็นธรรมขึ้นมา
นอกจากนี้ ในประเด็นสุดท้ายการกระทำอารยะขัดขืนต้องใช้วิธีการอะไรก็ตามที่เป็นการตั้งใจกระทำผิดกฎหมาย, การใช้สันติวิธีและการยอมรับผลจากการละเมิดกฎหมายนั้นๆ วิธีการทั้งสามมีไว้เพื่อทำให้สมาชิกอื่นของสังคมเห็นว่าการละเมิดกฎหมายนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะได้ผลประโยชน์ส่วนตัว เพราะโดยทั่วไปแล้วการละเมิดกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวมักจะกระทำในที่ลับและพยายามแสดงให้เห็นว่าไม่ได้เกิดจากความตั้งใจเพื่อหลีกเลี่ยงผลทางกฎหมายที่จะเกิดขึ้นจากการละเมิดกฎหมายนั้น ผู้กระทำอารยะขัดขืนจึงต้องมีความจงใจที่จะเปิดเผยให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างความถูกต้องทางศีลธรรมกับความถูกต้องทางกฎหมาย และขยายความขัดแย้งดังกล่าวเข้าสู่สำนึกของมหาชนทั่วไปในสังคม เพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือนโยบายที่ไม่ถูกต้องทางศีลธรรมหรืออยุติธรรม การต่อสู้ทางการเมืองด้วยวิธีการอารยะขัดขืนจึงเป็นการต่อสู้จากแรงผลักดันทางศีลธรรมของตัวผู้ต่อสู้และมุ่งสร้างจิตสำนึกและยกระดับทางศีลธรรมของสังคมโดยรวมด้วย ในสังคมหรือรัฐที่ค่อนข้างจะมีความยุติธรรมอยู่บ้าง
อ้างอิง
- ↑ ในงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “สิทธิดื้อแพ่งในสังคมไทย” ที่จัดโดยสถาบันพัฒนาการเมือง และคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2543
- ↑ โปรดดู สมชาย ปรีชาศิลปกุล, การดื้อแพ่งต่อกฎหมาย (กรุงเทพฯ: สถาบันพัฒนาการเมือง, 2543), น. 22-32.
- ↑ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, “อารยะขัดขืน (Civil Disobedience),” รัฐศาสตร์สาร 24 (2546): 39. ตัวเน้นโดยต้นฉบับ
- ↑ เรื่องเดียวกัน, น. 39-40, 58. สังคมที่ใกล้จะเป็นธรรม (nearly just society) นี้รอลส์ได้ให้รายละเอียดว่าหมายถึง สังคมที่การละเมิดความยุติธรรมอย่างรุนแรงไม่เกิดขึ้น และสังคมดังกล่าวยังต้องปกครองแบบประชาธิปไตยด้วย (democratic regime) โปรดดู John Rawl, A theory of justice, rev. ed. (Oxford: Oxford University Press, 1999), p. 319.