หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ฐิติกร สังข์แก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

บทนำ

          หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยเป็นตำแหน่งที่พรรคเพื่อไทย (พ.ศ. 2550 - ปัจจุบัน) ได้ตั้งขึ้นให้แก่ นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง บุตรสาวคนสุดท้องของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคไทยรักไทย (พ.ศ. 2541-2550)[1] เพื่อนำทีมลงแข่งขันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2566 ทั้งนี้ นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร เปิดตัวร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2564 ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม ท่ามกลางกระแสความสนใจจากสื่อมวลชนและประชาชนถึงบทบาทภายในพรรค รวมถึงโอกาสที่จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งปี 2566 ก่อนที่จะประกาศเปิดตัวนั่งตำแหน่ง “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” โดยมีนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ภายใต้แคมเปญ “ครอบครัวเพื่อไทย บ้านหลังใหญ่ หัวใจดวงเดิม” ซึ่งต้องการให้สมาชิกครอบครัวเพื่อไทยที่ได้กระจัดกระจายไปก่อนหน้านี้ได้กลับมารวมตัวกันในบ้านที่ชื่อเพื่อไทย ขณะเดียวกันก็ได้แต่งตั้งตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ อาทิ นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย[2] และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย[3]

เหตุผลและที่มาของ “ครอบครัวเพื่อไทย”

          ...ถ้าหากว่าเราไปนับว่าใครใหญ่กว่าเล็กกว่า มันไม่น่าจะไปวางสถานะแบบนั้น อย่างที่ผมบอกว่าเราทำงานกันเป็นทีม เรารู้ว่าสถานการณ์ที่เราเจอมันไม่เหมือนชาวบ้านชาวช่องเขา สิ่งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องเดินแบบนี้ต้องมาเกิดเป็นพรรคเป็นครอบครัว เพราะชะตากรรมที่เราประสบมา

...ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ[4]

         

          พรรคเพื่อไทย (พ.ศ.2550 - ปัจจุบัน) มีกำเนิดเกิดต่อเป็นทายาทของพรรคพลังประชาชน (ก่อตั้ง 2541 แต่มีบทบาทแทนที่พรรคไทยรักไทยระหว่าง พ.ศ. 2550-2551) และพรรคพลังประชาชนก็มีกำเนิดจากการเป็นทายาทของพรรคไทยรักไทย (พ.ศ. 2541-2550) อีกต่อหนึ่ง ทั้งนี้พรรคไทยรักไทยที่นำโดย ดร.ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2544 และ 2548 ก่อนที่จะถูกรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่นำโดย พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ในปี 2549 และพรรคไทยรักไทยก็ถูกยุบในอีกหนึ่งปีให้หลังจากกรณีละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง[5] เมื่อถึงการเลือกตั้ง 2550 พรรคพลังประชาชน ก็ยังคงชนะเลือกตั้งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลโดยมี นายสมัคร_สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กระนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งจากกรณีเป็นพิธีกรดำเนินรายการ “ชิมไปบ่นไป”[6] ครั้นเมื่อ นายสมชาย_วงศ์สวัสดิ์ (พี่เขยของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร) ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก นายสมัคร สุนทรเวช เพียง 3 เดือน ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำสั่งยุบพรรคจากกรณีที่กรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็นและไม่ป้องกันการทุจริตการเลือกตั้ง[7]

          การเมืองจึงเปลี่ยนขั้วมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จากปลายปี 2551 จนกระทั่งผ่านเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดงปี 2552 - 2553 และตัดสินใจยุบสภาในปลายปี 2554 ในที่สุด แต่การเลือกตั้งในปีนั้น พรรคเพื่อไทยซึ่งตั้งขึ้นใหม่แทนพรรคพลังประชาชนก็กลับสู่อำนาจอีกครั้ง ส่งผลให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (น้องสาวของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร) ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทว่าเวลาเพียง 3 ปี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองจากกรณีการเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมและการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)[8] เมื่ออยู่ในอำนาจได้ราว 5 ปี คสช. ก็จัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ในระหว่างนั้น พรรคไทยรักษาชาติ อันเป็นพรรคพันธมิตรสำคัญของพรรคเพื่อไทย ก็ถูกยุบก่อนการเลือกตั้งเพียง 27 วัน[9] เหตุการณ์เหล่านี้จึงน่าจะสะท้อนและสื่อความถึง “ชะตากรรมที่เราประสบมา” ตามคำกล่าวของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้เป็นอย่างดี

          ผลพวงของการยุบพรรคไทยรักไทยในปี 2550 และพรรคพลังประชาชน (รวมถึงพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย) ในปี 2551 ไม่เพียงแต่จะเกี่ยวโยงกับการยุบเลิกกิจการขององค์กรพรรคการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังมีผลตามมาในรูปการตัดสิทธิ์ทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี จำนวน 111 คน ในกรณีพรรคไทยรักไทย และ 37 คน ในกรณีพรรคพลังประชาชน (รวมถึงพรรคชาติไทย 43 คน และพรรคมัชฌิมาธิปไตย 29 คน) ปรากฏการณ์ดังกล่าวย่อมส่งผลให้พรรคทายาทของไทยรักไทยขาดขุมกำลังสำคัญทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและในการแข่งขันเลือกตั้ง ประสบการณ์ หรือ “ชะตากรรม” ตามคำกล่าวของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อนี้เอง น่าจะให้บทเรียนแก่พรรคเพื่อไทยเป็นการเฉพาะ ในแง่ที่ว่าตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคเป็นตำแหน่งทางการซึ่งมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและหากเกิดกรณีที่ปล่อยประละเลยไม่ควบคุมพฤติกรรมของ ส.ส. และผู้สมัคร ส.ส. ของพรรค ก็ย่อมมีความเสี่ยงที่จะถูกยุบพรรคและถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคตามไปด้วย เมื่อถึงคราวเลือกตั้งจึงมักจัดกรรมการบริหารพรรคให้เป็นตำแหน่งของนักการเมืองที่มีลำดับความสำคัญรองลงมา ขณะที่บุคคลสำคัญและขุมกำลังสำคัญของพรรคจะถูกจัดวางไว้เป็นผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับต้น ๆ แทน

          ตัวอย่างที่ชัดเจน ได้แก่ ในการเลือกตั้งปี 2554 นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ในบรรดากรรมการบริหารพรรค 21 คน ปรากฏชื่ออยู่ในผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อเพียง 8 คนจาก 40 รายชื่อแรกเท่านั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งรายชื่อผู้สมัครลำดับที่หนึ่ง คือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนั้น กลับไม่ได้มีตำแหน่งในกรรมการบริหารพรรคแต่อย่างใด[10] ขณะที่ในการเลือกตั้งปี 2562 พลตำรวจโทวิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นเลขาธิการพรรค และเลขาธิการพรรคโดยกรรมการบริหารพรรค 14 คน ชุดนี้ มีรายชื่ออยู่ใน 40 ลำดับแรกของผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อเพียง 6 คนเท่านั้น แม้พลตำรวจโทวิโรจน์  เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคจะมีรายชื่อเป็นลำดับแรก แต่แคตดิเดทนายกรัฐนตรี 3 คนของพรรคเพื่อไทย คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ กลับไม่ได้มีชื่อเป็นกรรมการบริหารพรรค[11] กล่าวได้ว่าวิถีปฏิบัติเช่นนี้มีเป้าประสงค์ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการหลบเลี่ยงความเสี่ยงที่จะถูกยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคนั่นเอง

บทบาทของ “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย”

          นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร ได้มีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการในกิจกรรมของพรรคเพื่อไทย ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 โดยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมพร้อม ๆ กับการดึง ส.ส. รุ่นใหม่ ให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นกรรมการบริหารพรรค โดยเปลี่ยนหัวหน้าพรรคจากนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ มาเป็นนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หลังจากนั้น นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร ก็เข้าร่วมกิจกรรมของพรรคเพื่อไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับฟังความคิดเห็น ส.ส. ของพรรคในประเด็นหารือว่าด้วยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (22 กุมภาพันธ์ 2565) กิจกรรมเวิร์คช็อปหัวข้อ “คิด-เปลี่ยน-โลก สร้างนวัตกรรมทางการเมือง” (2 มีนาคม 2565) กิจกรรม “นิทรรศกี: เพื่อผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า” ในวันสตรีสากล (8 มีนาคม 2565)[12] ก่อนที่จะเปิดตัวใน “ฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” ในกิจกรรมเปิดตัว “ครอบครัวเพื่อไทย บ้านหลังใหญ่ หัวใจดวงเดิม” ที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2565 โดยมีประชาชนเข้าร่วมราว 1,500 คน ทั้งนี้ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวปิดท้ายการปราศรัยว่า “เรามีความภาคภูมิใจที่จะประกาศว่า ผู้นำครอบครัวเพื่อไทยเป็นสายเลือด มีดีเอ็นเอของคนที่มีเจตนาจะสร้างบ้านสร้างเมืองนี้ในนามของไทยรักไทย หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยของเรา คือ นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร”[13] และหลังจากนั้น หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยก็เดินสายกิจกรรมเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง รวมถึงการหาสมาชิกเข้าร่วมครอบครัวเพื่อไทย (ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค ทว่าเป็นผู้สนับสนุนพรรคโดยไม่มีค่าธรรมเนียมใด ๆ) อย่างต่อเนื่อง

          ครั้นเมื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาเมื่อ วันที่ 20 มีนาคม 2566 และต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดให้จัดการเลือกตั้งขึ้นใน วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จึงเป็นที่แน่ชัดว่าหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยจะได้รับการเสนอชื่อให้เป็น 1 ใน 3 แคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย หากพิจารณาจากบทบัญญัติมาตรา 80 159 และ 160 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีมาจากการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแก่บุคคลที่ถูกเสนอชื่อโดยพรรคการเมืองที่มี ส.ส. อย่างน้อย ร้อยละ 5 (25 คนจาก ส.ส. ทั้งหมด 500 คน) มีสิทธิเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกินพรรคละ 3 คน โดยเป็นบุคคลที่ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.[14] ทั้ง ๆ ที่นักวิชาการและสื่อมวลชนเคยวิเคราะห์ว่ามาตรการนี้ถูกบัญญัติขึ้นอย่างจงใจเพื่อให้บุคคลจากคณะรัฐประหาร คสช. ใช้สืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้ง 2562[15] แต่เมื่อถึงการเลือกตั้ง 2566 มาตรการนี้ซึ่งเคยเป็นเครื่องมือของ คสช. เอาชนะฝ่ายต่อต้านในการเลือกตั้ง กลับถูกใช้โดยพรรคเพื่อไทยเพื่อชิงความได้เปรียบในอันที่จะส่ง “ดีเอ็นเอของคนที่มีเจตนาจะสร้างบ้านสร้างเมืองนี้ในนามของไทยรักไทย” ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือ อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อหวังดึงคะแนนจากผู้ที่เคยสนับสนุนพรรคไทยรักไทยให้ส่งต่อมาสู่การสนับสนุนพรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของ “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” อย่างนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร โดยไม่จำเป็นต้องดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค[16] หรือแม้แต่ลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคแต่อย่างใด ทั้งนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะถูกยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองเหมือนเช่นที่เคยประสบมาในอดีต

กระแสสังคมต่อ “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย”

          การขึ้นดำรงตำแหน่ง “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” ของนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นำมาซึ่งกระแสตอบรับของคนในพรรคและผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยเพราะปฏิเสธไม่ได้ว่านางสาวแพรทองธาร ชินวัตร คือทายาทสายตรงของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร และยังเป็นหลานอาของนางสาวยิ่งลักษณ์_ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกอีกด้วย ทั้งนี้มติชนสุดสัปดาห์ รายงานว่า แกนนำ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ต่างต้องการให้คนในตระกูลชินวัตรเข้าร่วมขับเคลื่อนทางการเมืองไปพร้อมกับพรรค[17] อาจด้วยเหตุที่ภายในพรรคเพื่อไทยมีกลุ่มการเมืองจำนวนมากและจะไม่สามารถทำงานได้อย่างเป็นเอกภาพหากปราศจากผู้นำที่เป็นสายเลือดเดียวกันกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่สำคัญก็คือ นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร มีหน้าตาละม้ายคล้าย ดร.ทักษิณ ชินวัตร มากที่สุดในบรรดาพี่น้อง 3 คน และมักแสดงออกอยู่เสมอว่าเป็น “ลูกพ่อ” จึงน่าจะเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับดึงความทรงจำและขอคะแนนเสียงจากผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยต่างรุ่นนับตั้งแต่รุ่นพ่อให้ส่งไม้ต่อไปยังการสนับสนุนรุ่นลูก[18] ดังที่นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร กล่าวปราศรัยตอนหนึ่ง ณ จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2566 ว่า “ตอนสมัยที่ไทยรักไทยเป็นรัฐบาล คุณพ่อเป็นนายกนะคะตอนนั้น อ้อ…ลืมบอก ลูกสาวคนหล่า ลูกสาวคนหล่า” และ “ฝากบอกกับคนที่ไม่มาว่า เอาลุงกลับบ้านไป เพื่อไทยมาแล้ว เอาลุงกลับไปเลี้ยงหลาน ลุงโทนี่ (นามสมมติของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร—ผู้เรียบเรียง) ก็น่าจะกลับมาเลี้ยงหลานบ้าง”[19]

          ในอีกด้านหนึ่ง นายพิชิต ไชมงคล แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย กลับเห็นว่าการแต่งตั้งให้ นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร ดำรงตำแหน่ง “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” นั้น เป็นตำแหน่งที่ไร้กฎหมายควบคุม หาทางเลี่ยงและอาศัยช่องว่างทางกฎหมายโดยไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อการกระทำใด ๆ ทั้ง ๆ ที่สามารถชักใยนักการเมืองอยู่เบื้องหลังได้อีกต่อหนึ่ง ขณะที่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือนักการเมือง (โดยเฉพาะกรรมการบริหารพรรค-ผู้เรียบเรียง) อันเป็นแผนเหนือชั้นอำมหิตของตระกูลชินวัตร[20] ส่วนนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เห็นว่าการใช้คำว่า “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” ตลอดจนกิจกรรมหาสมาชิกครอบครัวโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายนั้นไม่เข้าข่ายผิดกฎหมายพรรคการเมือง ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากไม่มีคำใดระบุถึงประเด็นครอบครัวและหัวหน้าครอบครัว แต่หากปรากฏพฤติการณ์ภายหลังว่ามีการครอบงำพรรค เช่น มีบทบาทในการกำหนดตัวผู้สมัคร ส.ส. จ่ายเงินให้ ส.ส. ภายในพรรค หรือชำระแทนค่าเบี้ยสมาชิกพรรค ก็จะเข้าข่ายผิดกฎหมายพรรคการเมืองได้เช่นกัน[21]

บรรณานุกรม

“2 ธันวาคม 2551 – ยุบ 3 พรรคการเมือง พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย.” The Standard (2 ธันวาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/onthisday02122551-2/>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

“22 พฤษภาคม 2557 – คสช. รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร.” The Standard (22 พฤษภาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/onthisday-22052557/>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

“ก้าวย่าง ‘อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร’ จากประธานคณะที่ปรึกษา สู่หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เป้าหมายแคนดิเดตนายกฯ.” มติชนสุดสัปดาห์ (21 มีนาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://www.matichonweekly.com/column/article_531580>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

“ชำแหละ แผนเหนือชั้นอำมหิต 'อุ๊งอิ๊ง' นั่งหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ตำแหน่งที่ไร้ความรับผิดชอบต่อกฏหมาย.” ไทยโพสต์ออนไลน์ (25 มีนาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/x-cite-news/111563/>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

“‘ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ รับตำแหน่ง ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย หวังถึงเป้า ‘แลนด์สไลด์’ ได้จริง.” ประชาไท (15 มิถุนายน 2565). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2022/06/99079>. เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566.

“ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 140 ตอนที่ 18 ง. 2 มีนาคม 2566, หน้า 97-98.

“ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 136 ตอนที่ 18ง. 7 มีนาคม 2562, หน้า 372.

“ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 128 ตอนพิเศษ 67ง. 17 มิถุนายน 2554, หน้า 18-19.

“ประธานศาลฎีกาชี้ ประกาศคปค.ย้อนหลัง ทำ 111 ทรท.เหลือสิทธิต่ำกว่าประชาชน.” ประชาไท (6 มิถุนายน 2550). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2007/06/12987>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

“เปิด 97 บัญชีรายชื่อเพื่อไทย 'บรรยิน'ลุ้นได้เป็นส.ส..” ไทยโพสต์ออนไลน์ (5 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/28393>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

“เปิดตัว ‘อุ๊งอิ๊ง’ หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ลุยสร้างบ้านหลังใหญ่หัวใจเดิม.” มติชนออนไลน์ (20 มีนาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_3242754>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

“เปิดประวัติ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ทายาทชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย.” มติชนออนไลน์ (22 มีนาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_3245808>. เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566.

“เปิดรายชื่อ 125 ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พร้อมผลเลือกตั้ง ส.ส.เขตทั่วประเทศ.” ผู้จัดการออนไลน์ (5 กรกฎาคม 2554). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9540000082139>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

“เพื่อไทย ตั้ง “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย.” ไทยรัฐออนไลน์ (1 มีนาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/2642483?optimize=a>. เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566.

“มีเรื่องLive Ep.68 - มิตร-ภาพ-การเมือง.” Youtube Channel: Jomquan (3 มีนาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.youtube.com/watch?v=TCZNl6yes8c&t=5819s>. เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566.

“ย้อนอ่านคำพิพากษาศาลรธน. ผลัก”สมัคร”ตกเก้าอี้นายกฯ ว่าด้วยปม”ลูกจ้าง-ค่าตอบแทน.” มติชนสุดสัปดาห์ (23 ธันวาคม 2559). เข้าถึงจาก <https://www.matichonweekly.com/featured/article_18922>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

“ยุบ “ไทยรักษาชาติ” เปิดชื่อ 13 กรรมการบริหารหมดอนาคตทางเมือง.” ไทยรัฐออนไลน์ (7 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1513236?optimize=a>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

“ส.ว.สมชาย’ชี้ตั้ง‘อุ๊งอิ๊ง’หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย-หาสมาชิก ไม่ผิดกม..” แนวหน้าออนไลน์ (23 มีนาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/643139>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. (2566). “เลือกตั้ง 2566 : ภารกิจ ปอ-ปิฎก สุขสวัสดิ์ หลังบ้าน “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย.” BBC (3 มีนาคม). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/articles/c512z1rp2vvo>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว. “นายกคนนอก.” สถาบันพระปกเกล้า. เข้าถึงจาก <http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=นายกคนนอก.>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

““อุ๊งอิ๊ง” ขึ้นเวที ประกาศลั่น เอาลุงกลับไป พท.มาแล้ว ย้ำนโนบายทำได้จริง.” Youtube Channel: Matichon TV (15 มกราคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.youtube.com/watch?v=eMvWWpGl25Q>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

อ้างอิง

[1] “เปิดประวัติ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ทายาทชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย,” มติชนออนไลน์ (22 มีนาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_3245808>. เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566.

[2] “เพื่อไทย ตั้ง “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย,” ไทยรัฐออนไลน์ (1 มีนาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/2642483?optimize=a>. เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566.

[3] “‘ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ รับตำแหน่ง ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย หวังถึงเป้า ‘แลนด์สไลด์’ ได้จริง,” ประชาไท (15 มิถุนายน 2565). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2022/06/99079>. เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566.

[4] “มีเรื่องLive Ep.68 - มิตร-ภาพ-การเมือง,” Youtube Channel: Jomquan (3 มีนาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.youtube.com/watch?v=TCZNl6yes8c&t=5819s>. เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566.

[5] “ประธานศาลฎีกาชี้ ประกาศคปค.ย้อนหลัง ทำ 111 ทรท.เหลือสิทธิต่ำกว่าประชาชน,” ประชาไท (6 มิถุนายน 2550). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2007/06/12987>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

[6] “ย้อนอ่านคำพิพากษาศาลรธน. ผลัก”สมัคร”ตกเก้าอี้นายกฯ ว่าด้วยปม”ลูกจ้าง-ค่าตอบแทน,” มติชนสุดสัปดาห์ (23 ธันวาคม 2559). เข้าถึงจาก <https://www.matichonweekly.com/featured/article_18922>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

[7] “2 ธันวาคม 2551 – ยุบ 3 พรรคการเมือง พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย,” The Standard (2 ธันวาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/onthisday02122551-2/>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

[8] “22 พฤษภาคม 2557 – คสช. รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร,” The Standard (22 พฤษภาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://thestandard.co/onthisday-22052557/>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

[9] “ยุบ “ไทยรักษาชาติ” เปิดชื่อ 13 กรรมการบริหารหมดอนาคตทางเมือง,” ไทยรัฐออนไลน์ (7 มีนาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1513236?optimize=a>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

[10] โปรดดูเปรียบเทียบ “ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 128 ตอนพิเศษ 67ง, 17 มิถุนายน 2554, หน้า 18-19. และ “เปิดรายชื่อ 125 ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พร้อมผลเลือกตั้ง ส.ส.เขตทั่วประเทศ,” ผู้จัดการออนไลน์ (5 กรกฎาคม 2554). เข้าถึงจาก <https://mgronline.com/politics/detail/9540000082139>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

[11] โปรดดูเปรียบเทียบ “ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 136 ตอนที่ 18ง, 7 มีนาคม 2562, หน้า 372. และ “เปิด 97 บัญชีรายชื่อเพื่อไทย 'บรรยิน'ลุ้นได้เป็นส.ส.,” ไทยโพสต์ออนไลน์ (5 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/28393>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

[12] “ก้าวย่าง ‘อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร’ จากประธานคณะที่ปรึกษา สู่หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เป้าหมายแคนดิเดตนายกฯ,” มติชนสุดสัปดาห์ (21 มีนาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://www.matichonweekly.com/column/article_531580>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

[13] “เปิดตัว ‘อุ๊งอิ๊ง’ หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ลุยสร้างบ้านหลังใหญ่หัวใจเดิม,” มติชนออนไลน์ (20 มีนาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_3242754>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

[14] อรรถสิทธิ์ พานแก้ว, “นายกคนนอก,” สถาบันพระปกเกล้า. เข้าถึงจาก <http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=นายกคนนอก.>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

[15] โปรดดู กระแสตอบรับและต่อต้านนายกคนนอกใน เรื่องเดียวกัน.

[16] โปรดดู รายชื่อกรรมการบริหารพรรคใน “ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 140 ตอนที่ 18 ง, 2 มีนาคม 2566, หน้า 97-98.

[17] “ก้าวย่าง ‘อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร’ จากประธานคณะที่ปรึกษา สู่หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เป้าหมายแคนดิเดตนายกฯ,” มติชนสุดสัปดาห์ (21 มีนาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://www.matichonweekly.com/column/article_531580>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

[18] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, “เลือกตั้ง 2566 : ภารกิจ ปอ-ปิฎก สุขสวัสดิ์ หลังบ้าน “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย,” BBC (3 มีนาคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/articles/c512z1rp2vvo>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

[19] ““อุ๊งอิ๊ง” ขึ้นเวที ประกาศลั่น เอาลุงกลับไป พท.มาแล้ว ย้ำนโนบายทำได้จริง,” Youtube Channel: Matichon TV (15 มกราคม 2566). เข้าถึงจาก <https://www.youtube.com/watch?v=eMvWWpGl25Q>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

[20] “ชำแหละ แผนเหนือชั้นอำมหิต 'อุ๊งอิ๊ง' นั่งหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ตำแหน่งที่ไร้ความรับผิดชอบต่อกฏหมาย,” ไทยโพสต์ออนไลน์ (25 มีนาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/x-cite-news/111563/>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.

[21] “‘ส.ว.สมชาย’ชี้ตั้ง‘อุ๊งอิ๊ง’หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย-หาสมาชิก ไม่ผิดกม.,” แนวหน้าออนไลน์ (23 มีนาคม 2565). เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/643139>. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566.